รวมสุดยอดนวัตกรรมแห่งอนาคต ที่พัฒนาโดยนักวิจัยไทย! พบกับเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดจาก KMITL ที่จะเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตและอุตสาหกรรมของเรา
คณะวิทยาศาสตร์
แผงโซลาร์เซลล์ที่ใช้กันในครัวเรือน ในปัจจุบันยังขาดระบบตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด งานวิจัยนี้มีเป้าหมายในการออกแบบระบบตรวจสอบผ่านเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) และ Machine Learning มาใช้ในการคาดการณ์กระแส และแรงดันไฟฟ้าที่ผลิตโดยแผงโซลาร์เซลล์ การศึกษาทดลองพบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างการสะสมของฝุ่นกับกระแสไฟฟ้าที่แผงโซลาร์เซลล์สามารถผลิตได้ ระบบที่นำเสนอสามารถคาดการณ์เวลาที่เหมาะสมในการทำความสะอาด
คณะวิศวกรรมศาสตร์
ระบบไฮโดรโปนิกส์แบบควบคุมอัตโนมัติสำหรับใช้ในครัวเรือนได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์ผู้ที่มีพื้นที่น้อยแต่ต้องการปลูกผักสลัดเองในบ้านอย่างสะดวกและง่ายดาย ระบบนี้ออกแบบมาให้สามารถควบคุมการให้ธาตุอาหารโดยอัตโนมัติผ่านการตั้งค่าสภาพการนำไฟฟ้า (EC) และ pH ที่เหมาะสมสำหรับผักสลัดที่ต้องการปลูก มีแสงประดิษฐ์ร่วมเพื่อให้สามารถปลูกในพื้นที่จำกัดที่อาจมีแสงอาทิตย์ไม่เพียงพอได้ และยังเป็นระบบที่มีต้นทุนต่ำกว่าที่มีจำหน่ายในท้องตลาด จากการตรวจสอบระบบการควบคุมค่า EC และ pH พบว่าระบบปลูกนี้สามารถทำงานได้ดีและควบคุมการให้ธาตุอาหารจนถึงค่า EC และ pH ที่ตั้งไว้ได้ภายในเวลาไม่เกิน 30 นาที และรักษาค่าที่ตั้งไว้ได้ตลอดการเปิดทำงานของระบบ ในการทดลองปลูกผักสลัดกรีนโอ๊คโดยจำลองการตั้งระบบปลูกบริเวณระเบียง พบว่าต้นกรีนโอ๊คมีการเจริญเติบโตด้วยอัตราการเติบโตที่สูงกว่าการปลูกตามปกติ โดยเฉพาะเมื่อใช้แสงประดิษฐ์ร่วม
คณะอุตสาหกรรมอาหาร
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตกรดแกมมา-อะมิโนบิวทิริก (GABA) ในน้ำสับปะรดหมักโดยใช้โพรไบโอติกและแบคทีเรียกรดอะซิติก (AAB) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีศักยภาพในการเพิ่มปริมาณ GABA กระบวนการนี้ได้รับการพัฒนาเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการของน้ำหมักสับปะรด และช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตสับปะรดไทยที่มีราคาต่ำมาเป็นเวลานาน การศึกษานี้มุ่งเน้นไปที่การหาสภาวะที่เหมาะสมสำหรับการผลิต GABA โดยพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ เช่น ปริมาณน้ำตาล ค่า pH ระยะเวลาการหมัก และความเข้มข้นของ L-glutamate รวมถึงการเพาะเลี้ยงร่วมกันระหว่างโพรไบโอติกและแบคทีเรียกรดอะซิติก การทดลองดำเนินการโดยใช้เทคนิคการหมักแบบควบคุม และวิเคราะห์องค์ประกอบทางชีวภาพของน้ำหมักโดยใช้เครื่องมือขั้นสูง เช่น HPLC และ GC-MS ผลการวิจัยคาดว่าจะนำไปสู่การพัฒนาสูตรและกระบวนการผลิตเครื่องดื่มน้ำสับปะรดที่มีปริมาณ GABA สูง ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น ช่วยลดความเครียด ส่งเสริมการทำงานของสมอง และเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมอาหารหมักในประเทศไทย
คณะเทคโนโลยีการเกษตร
ปลากระเบนตุ๊กตา (Brevitrygon heterura) เป็นปลากระเบนที่พบได้บ่อยในตลาดท้องถิ่น แต่เช่นเดียวกับปลากระเบนชนิดอื่นๆ ปลากระเบนตุ๊กตาก็เผชิญกับการคุกคามจากการประมงเกินขนาดและการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย ดังนั้น การระบุชนิดของปลาที่ถูกต้องจึงมีความสำคัญ เนื่องจากมาตรการอนุรักษ์อาจแตกต่างกันตามชนิดของปลา งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความแปรผันทางลักษณะภายนอกของ B. heterura ในอ่าวไทยโดยการศึกษาทางสัณฐานวิทยาและการวิเคราะห์พันธุกรรม ในระหว่างเดือนตุลาคม 2565 ถึงกุมภาพันธ์ 2566 ได้เก็บตัวอย่างจำนวน 49 ตัวอย่างจากท่าเรือที่จอดเรือ พบว่ามีสองกลุ่มที่แตกต่างกันตามลักษณะทางสัณฐานวิทยาโดยพิจารณาจาก 40 สัดส่วน ตัวอย่างจากจังหวัดจันทบุรี ระยอง ชลบุรี สมุทรสาคร นครศรีธรรมราช และสงขลา ซึ่งเรียกว่ากลุ่ม A มักมีความยาวปากยาวกว่าตัวอย่างจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเรียกว่ากลุ่ม B ตามลักษณะทางสัณฐานภายนอกที่ใช้ในการระบุชนิดของปลา มีสัดส่วนทางสัณฐานวิทยา สาม สัดส่วนที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกลุ่ม A และกลุ่ม B ลักษณะหลักที่อธิบายความแปรผันภายในชนิดระหว่างกลุ่ม A และกลุ่ม B จะได้รับการอภิปรายเพิ่มเติม การศึกษารหัสพันธุกรรมดีเอ็นเอบาร์โค้ดจากชิ้นส่วนของยีน cytochrome c oxidase subunit I (COI) จากตัวอย่าง 41 ตัวอย่างจากกลุ่ม A และ 8 ตัวอย่างจากกลุ่ม B พบว่าเปอร์เซ็นต์ความแตกต่างของลำดับรหัสพันธุกรรม (p-distance) ระหว่างกลุ่ม A และกลุ่ม B อยู่ที่ 0.0-2.5 การศึกษานี้ช่วยเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับความแปรผันของรูปแบบและพันธุกรรมของ B. heterura ในอ่าวไทย
คณะวิทยาศาสตร์
การผลิตน้ำตาลจากอ้อยเป็นกระบวนการที่มีความซับซ้อนและต้องการการควบคุมที่แม่นยำ หนึ่งในปัญหาสำคัญคือการสูญเสียน้ำตาล ซึ่งอาจเกิดจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะ “การเผาอ้อย” ก่อนนำเข้าหีบ ที่ลดคุณภาพอ้อยและประสิทธิภาพการสกัดน้ำตาล รวมถึง ประสิทธิภาพเครื่องจักรและคุณสมบัติของอ้อย ที่ส่งผลต่อปริมาณน้ำตาลที่ได้ งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการสูญเสียน้ำตาลในกระบวนการผลิตน้ำตาลจากอ้อย โดยใช้ข้อมูลเชิงปริมาณจากโรงงานน้ำตาล ครอบคลุม 9 ตัวแปร ได้แก่ ประสิทธิภาพเครื่องจักร (Mechanical efficiency), จำนวนชั่วโมงหยุดเครื่องจักรในหนึ่งวัน (Stoppage), จำนวนชั่วโมงหยุดรออ้อยในหนึ่งวัน (Due to Cane), ปริมาณทรายในน้ำอ้อย (Sand), ประสิทธิภาพการหีบสกัดอ้อย (Pol Extraction), ประสิทธิภาพเวลาการทำงานโดยรวม (Overall Time), ค่าความบริสุทธิ์ของน้ำอ้อย (Purity), ค่าปริมาณน้ำตาลในอ้อย (C.C.S.), และปริมาณอ้อยไฟไหม้ (Burn Cane) โดยจะทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าสหสัมพันธ์ (Correlation) เพื่อตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร และแบบจำลองการถดถอย (Regression Model) เพื่อพยากรณ์การสูญเสียน้ำตาล ผลการวิจัยพบว่า ประสิทธิภาพเครื่องจักร, ค่าปริมาณน้ำตาลในอ้อย และปริมาณทรายหรือสิ่งปนเปื้อนในน้ำอ้อย มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับการสูญเสียน้ำตาล โดยประสิทธิภาพเครื่องจักร มีความสัมพันธ์โดยตรงกับปริมาณอ้อยเข้าหีบ ซึ่งช่วยเพิ่มผลผลิตน้ำตาล ขณะที่ อ้อยไฟไหม้หรืออ้อยที่ถูกเผาก่อนการเก็บเกี่ยว ส่งผลให้การสกัดน้ำตาลลดลงและกระทบต่อคุณภาพน้ำตาล ดังนั้น การลดการสูญเสียน้ำตาลในกระบวนการผลิตสามารถทำได้โดย การเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักร, ลดสิ่งปนเปื้อนในน้ำอ้อย และจัดการอ้อยไฟไหม้ ซึ่งจะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลให้สูงขึ้นได้ในอนาคต
คณะวิทยาศาสตร์
การสรรหาบุคลากรเป็นกระบวนการสำคัญที่ช่วยให้องค์กรสามารถคัดเลือกบุคลากรที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของตำแหน่งงาน อย่างไรก็ตาม กระบวนการนี้มักเผชิญกับปัญหาด้านการจัดการข้อมูล ความล่าช้า และอคติของมนุษย์ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบและพัฒนาเว็บแอปพลิเคชันอัจฉริยะสำหรับการสรรหาพนักงานโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อช่วยประเมินและให้คะแนนความเหมาะสมของผู้สมัครกับตำแหน่งงาน โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลจากประวัติย่อ (Resume) และกระบวนการจับคู่คุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด ระบบที่พัฒนาขึ้นตามหลักการอาไจล์ (Agile ) ใช้เทคโนโลยีการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing: NLP) ในการวิเคราะห์ประวัติย่อ พิจารณาคุณสมบัติ ทักษะ และประสบการณ์ของผู้สมัคร พร้อมทั้งใช้การเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) ในการคาดการณ์และจัดลำดับความเหมาะสม ระบบสามารถรวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่งให้อยู่ในฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อลดความซ้ำซ้อนและข้อผิดพลาดจากการป้อนข้อมูล และนำเสนอข้อมูลผ่านแดชบอร์ดเพื่อให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลสามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คณะวิทยาศาสตร์
วาเนเดียมไดออกไซด์เป็นวัสดุเปลี่ยนเฟส โดยคุณสมบัติเฉพาะคือโครงสร้างผลึกจะเปลี่ยนแปลงเมื่อเพิ่มความร้อนจนถึงอุณหภูมิเปลี่ยนเฟสและโครงสร้างจะเปลี่ยนเฟสกลับเมื่อลดอุณหภูมิให้ต่ำกว่าอุณหภูมิเปลี่ยนเฟส หากเทียบกับวัสดุทั่วไปแล้วการเปลี่ยนเฟสจะส่งผลให้คุณสมบัติทางแสงเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เราสามารถใช้คุณสมบัตินี้ในการออกแบบอุปกรณ์ฟิล์มบางเพื่อการใช้งานเป็นโหมดได้ ในงานวิจัยนี้ ผู้ทำได้เลือกอุปกรณ์ฟิล์มบางสองประเภทที่ทำจากวาเนเดียมไดออกไซด์ มาออกแบบเพื่อเพิ่มโครงสร้างสั่นพ้องแบบไม่สมมาตรขึ้นมาใหม่ โดยโครงสร้างถูกออกแบบมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของชั้นวาเนเดียมไดออกไซด์ที่อยู่ตรงกลาง และมีลักษณะลดการสะท้อนในโหมดการทำงานปกติ อภิปรายถึงช่องสั่นพ้อง, ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อใช้วัสดุเปลี่ยนเฟส, ข้อดีและข้อจำกัดของวิธีการออกแบบใหม่นี้ด้วย
คณะวิทยาศาสตร์
ปัญหาพิเศษนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของวิธีการเรียนรู้ด้วยเครื่อง ในการพยากรณ์ข้อมูลอนุกรมเวลา โดยใช้วิธีช่วงเวลาที่ล่าช้ากว่ากัน แบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา คือ ช่วงเวลาที่ช้ากว่ากัน 10 หน่วย ช่วงเวลาที่ช้ากว่ากัน 15 หน่วย และช่วงเวลาที่ช้ากว่ากัน 20 หน่วย มาใช้เป็นตัวแปรอิสระ และใช้วิธีการเรียนรู้ด้วยเครื่องมีทั้งหมด 4 วิธี ได้แก่ วิธีต้นไม้ตัดสินใจ วิธีป่าสุ่ม วิธีเพื่อนบ้านใกล้เคียงสุด K อันดับ และวิธีซัพพอร์ตเวกเตอร์แมชชีน โดยการจำลองข้อมูลอนุกรมเวลาที่เป็นตัวแปรอิสระที่มีลักษณะหลากหลาย ได้แก่ ข้อมูลที่มีลักษณะการเดินแบบสุ่ม ข้อมูลที่มีลักษณะมีแนวโน้ม และข้อมูลที่มีลักษณะไม่เชิงเส้น ซึ่งมีขนาดตัวอย่าง 100, 300, 500 และ 700 วิธีดำเนินการวิจัยนี้ทำการแบ่งข้อมูลเป็นฝึกฝน 90% และข้อมูลทดสอบ 10% โดยใช้โปรแกรมอาร์ในการจำลองและวิเคราะห์ข้อมูล โดยทำซ้ำเป็นจำนวน 1000 รอบ และทำการหาค่าเฉลี่ยของค่าคลาดเคลื่อนกำลังสองเฉลี่ย และค่าเฉลี่ยของค่าเฉลี่ยเปอร์เซ็นต์ความคลาดเคลื่อนสัมบูรณ์ที่ต่ำที่สุดเพื่อแสดงว่าวิธีใดดีที่สุด ผลการวิจัยพบว่าข้อมูลมีลักษณะการเดินแบบสุ่มวิธีที่ดีสุด คือวิธีป่าสุ่มและวิธีซัพพอร์ตเวกเตอร์แมชชีน ข้อมูลมีลักษณะแนวโน้มวิธีที่ดีสุด คือวิธีป่าสุ่มและข้อมูลมีลักษณะไม่เชิงเส้นวิธีที่ดีสุด คือวิธีซัพพอร์ตเวกเตอร์แมชชีน และเมื่อนำมาทดสอบกับข้อมูลจริง พบว่าข้อมูลค่าเงิน 1 ยูโร ต่อบาทวิธีที่ดีสุด คือวิธีป่าสุ่มและวิธีซัพพอร์ตเวกเตอร์แมชชีน ข้อมูลดัชนี S&P 500 ในรูปของดอลลาร์สหรัฐวิธีที่ดีสุด คือวิธีป่าสุ่ม และข้อมูลดัชนี Bank of America Corp ในรูปของดอลลาร์สหรัฐวิธีที่ดีสุด คือวิธีซัพพอร์ตเวกเตอร์แมชชีน
คณะบริหารธุรกิจ
โครงงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของ thesis ของนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ หลักสูตร นานาชาติ ในหัวข้อ Business Plan เกี่ยวกับ recycled fabric นำมาผลิตเป็น blazers และ trousers