KMITL Innovation Expo 2025 Logo

ระบบเว็บอัจฉริยะสำหรับการคัดเลือกพนักงานด้วยปัญญาประดิษฐ์

รายละเอียด

การสรรหาบุคลากรเป็นกระบวนการสำคัญที่ช่วยให้องค์กรสามารถคัดเลือกบุคลากรที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของตำแหน่งงาน อย่างไรก็ตาม กระบวนการนี้มักเผชิญกับปัญหาด้านการจัดการข้อมูล ความล่าช้า และอคติของมนุษย์ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบและพัฒนาเว็บแอปพลิเคชันอัจฉริยะสำหรับการสรรหาพนักงานโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อช่วยประเมินและให้คะแนนความเหมาะสมของผู้สมัครกับตำแหน่งงาน โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลจากประวัติย่อ (Resume) และกระบวนการจับคู่คุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด ระบบที่พัฒนาขึ้นตามหลักการอาไจล์ (Agile ) ใช้เทคโนโลยีการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing: NLP) ในการวิเคราะห์ประวัติย่อ พิจารณาคุณสมบัติ ทักษะ และประสบการณ์ของผู้สมัคร พร้อมทั้งใช้การเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) ในการคาดการณ์และจัดลำดับความเหมาะสม ระบบสามารถรวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่งให้อยู่ในฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อลดความซ้ำซ้อนและข้อผิดพลาดจากการป้อนข้อมูล และนำเสนอข้อมูลผ่านแดชบอร์ดเพื่อให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลสามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วัตถุประสงค์

กระบวนการสรรหาพนักงานมีความซับซ้อนและใช้เวลานาน เนื่องจากองค์กรต้องจัดการข้อมูลจากหลายช่องทาง เช่น เว็บไซต์สมัครงาน หน้าเว็บของบริษัท และการแนะนำจากพนักงานภายใน ซึ่งแต่ละช่องทางอาจมีแบบฟอร์มสมัครงานที่แตกต่างกัน ทำให้การรวมรวมข้อมูลผู้สมัครลงในฐานข้อมูลเดียวกันเกิดข้อผิดพลาดและซ้ำซ้อน เนื่องจากการกรอกข้อมูลยังต้องดำเนินการโดยฝ่ายทรัพยากรบุคคลด้วยตนเอง ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการวิเคราะห์ข้อมูล และทำให้การพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้สมัครไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ อีกทั้ง ระบบเดิมที่ใช้ Google Sheets ในการจัดการข้อมูลมีข้อจำกัดในการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ ส่งผลให้เกิดความล่าช้าและขาดประสิทธิภาพในการแสดงผลข้อมูลของผู้สมัคร ส่งผลต่อการตัดสินใจในการคัดเลือกบุคลากรที่เหมาะสมกับตำแหน่งงาน จากปัญหาดังกล่าว คณะผู้วิจัยจึงได้พัฒนาเว็บแอปพลิเคชันอัจฉริยะที่สามารถรวมข้อมูลจากหลายแหล่งให้อยู่ในระบบเดียวกัน ลดความซ้ำซ้อน และลดโอกาสเกิดข้อผิดพลาดของมนุษย์ โดยใช้เทคโนโลยี AI และ Machine Learning ในการวิเคราะห์และให้คะแนนความเหมาะสมของผู้สมัครอย่างแม่นยำ พร้อมทั้งพัฒนาแดชบอร์ดที่ช่วยให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลสามารถดูข้อมูล วิเคราะห์ และตัดสินใจคัดเลือกบุคลากรได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ทำให้กระบวนการสรรหาพนักงานมีประสิทธิภาพและลดภาระงานของฝ่ายสรรหาได้อย่างมีนัยสำคัญ

นวัตกรรมอื่น ๆ

ผลของความเข้มข้นของซอร์บิทอลในฐานะสารเพิ่มความยืดหยุ่นต่อฟิล์มละลายในช่องปากที่มีสารสกัดจากพริก

คณะอุตสาหกรรมอาหาร

ผลของความเข้มข้นของซอร์บิทอลในฐานะสารเพิ่มความยืดหยุ่นต่อฟิล์มละลายในช่องปากที่มีสารสกัดจากพริก

ฟิล์มละลายในช่องปาก (Oral Disintegrating Film: ODF) สามารถละลายในช่องปากได้ทันทีเมื่อสัมผัสกับน้ำลายโดยไม่จำเป็นต้องใช้น้ำ งานวิจัยนี้มุ่งศึกษาผลของความเข้มข้นของซอร์บิทอลที่มีผลต่อคุณสมบัติของฟิล์มละลายในช่องปากที่มีสารสกัดจากพริก (Capsicum Oleoresin) ซึ่งมีคุณสมบัติในการกระตุ้นการหลั่งน้ำลาย ส่งผลให้การกลืนยาเป็นไปได้ง่ายขึ้น ฟิล์มดังกล่าวได้รับการพัฒนาเพื่อลดปัญหาการกลืนยา โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีภาวะกลืนลำบาก การเตรียมฟิล์มประกอบด้วยการใช้ซอร์บิทอลในปริมาณที่แตกต่างกัน ซึ่งจะถูกทดสอบในแง่ของคุณสมบัติทางรีโอโลยี คุณสมบัติทางกล ปริมาณความชื้น ปริมาณน้ำอิสระ ความหนา เวลาในการสลายตัว มุมสัมผัส ค่าสี และฤทธิ์สารต้านอนุมูลอิสระ จากผลการศึกษาพบว่า ซอร์บิทอลมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มความยืดหยุ่นและลดความเปราะบางของฟิล์ม นอกจากนี้ ความเข้มข้นของซอร์บิทอลที่เหมาะสมช่วยรักษาความคงตัวของสารสกัดจากพริกและเพิ่มประสิทธิภาพในการกระตุ้นการหลั่งน้ำลาย ซึ่งช่วยให้การกลืนสะดวกขึ้นและลดความฝืดในช่องปาก ฟิล์มที่พัฒนาขึ้นในงานวิจัยนี้แสดงถึงศักยภาพในการเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่มีภาวะกลืนลำบาก

ไพรวารี

คณะอุตสาหกรรมอาหาร

ไพรวารี

ผลิตภัณฑ์ "ไพรวารี" คือเครื่องดื่มเจลลี่สมุนไพรที่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยควบคุมน้ำหนักและส่งเสริมสุขภาพด้วยคุณค่าจากสมุนไพรไทย 4 ชนิด ได้แก่ กระเจี๊ยบแดง ดอกคำฝอย เก๊กฮวย และมะระขี้นก ซึ่งอุดมด้วยสารสำคัญ เช่น Flavonoid, Beta-Carotene และ Anthocyanin ที่ช่วยลดไขมันในเลือด ป้องกันการอักเสบ และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ผลิตภัณฑ์นี้เน้นความสะดวกและตอบโจทย์คนรักสุขภาพ ผ่านกระบวนการผลิตที่ทันสมัย เช่น Inverse และ External Gelation เพื่อสร้างเม็ดสเฟียร์ที่กักเก็บสารสำคัญ นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ยังคำนึงถึงความยั่งยืนและการเพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทยในชุมชน

ผลิตภัณฑ์นายฮ้อยหัวฟู

วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์

ผลิตภัณฑ์นายฮ้อยหัวฟู

การศึกษาปรสิตในปลาหมอคางดำและการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ปรสิตเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพของปลาและความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล การศึกษาปรสิตในปลาจึงมีบทบาทสำคัญในการประเมินสถานภาพประชากรปลาและผลกระทบต่อระบบนิเวศ งานวิจัยนี้มุ่งเน้นการสำรวจปรสิตเบื้องต้นในปลาหมอคางดำ (Sarotherodon melanotheron) ในน่านน้ำจังหวัดชุมพร เพื่อตรวจสอบว่าปลาชนิดนี้มีการติดเชื้อปรสิตหรือไม่ ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาจะช่วยเป็นแนวทางสำคัญสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล รวมถึงแนวทางในการนำปลาหมอคางดำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อลดจำนวนประชากรของปลาชนิดนี้ในระบบนิเวศ หนึ่งในแนวทางการแปรรูปปลาหมอคางดำ คือ ผลิตภัณฑ์ "นายฮ้อยหัวฟู" ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อนำเนื้อปลามาทอดให้กรอบและฟู ก่อนนำมายำกับมะม่วงเพื่อเพิ่มรสชาติให้น่ารับประทานมากยิ่งขึ้น การแปรรูปนี้ไม่เพียงช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับปลา แต่ยังเป็นแนวทางในการบริหารจัดการประชากรปลาหมอคางดำที่อาจมีผลกระทบต่อระบบนิเวศ จากผลการศึกษา พบว่าไม่มีการติดเชื้อปรสิตทั้งภายในและภายนอกของปลาหมอคางดำที่เก็บตัวอย่าง ซึ่งบ่งชี้ว่าสภาพแวดล้อมทางทะเลในพื้นที่ศึกษามีความเหมาะสมต่อสุขภาพของปลา อย่างไรก็ตาม ควรมีการศึกษาต่อเนื่องเพื่อเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศในระยะยาว และประเมินผลกระทบของปลาหมอคางดำต่อความสมดุลของระบบนิเวศ เพื่อให้สามารถจัดการทรัพยากรได้อย่างยั่งยืน