KMITL Innovation Expo 2025 Logo

รายการนวัตกรรม

รวมสุดยอดนวัตกรรมแห่งอนาคต ที่พัฒนาโดยนักวิจัยไทย! พบกับเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดจาก KMITL ที่จะเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตและอุตสาหกรรมของเรา

การผลิตน้ำมันไพโรไลซิสจากขยะพลาสติกฝังกลบเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทน

คณะวิทยาศาสตร์

การผลิตน้ำมันไพโรไลซิสจากขยะพลาสติกฝังกลบเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทน

งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาการผลิตน้ำมันไพโรไลซิสจากขยะพลาสติกฝังกลบที่ผ่านการคัดแยกจากหลุมฝังกลบขยะมูลฝอยอายุ 15 ปี จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี เพื่อนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงทดแทนด้วยเตาปฏิกรณ์แบบเบดนิ่ง (Fixed-Bed Reactor) ที่อุณหภูมิ 450 องศาเซลเซียส ระยะเวลา 1 ชั่วโมง 30 นาที โดยใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เป็นเชื้อเพลิงในการให้ความร้อน มีการออกแบบการทดลองออกเป็น 4 สภาวะ คือ ตัวอย่างขยะพลาสติกฝังกลบที่ยังไม่ผ่านการล้างแต่ทำการตัดลดขนาด ตัวอย่างขยะพลาสติกฝังกลบที่ผ่านการล้างและตัดลดขนาด ตัวอย่างขยะพลาสติกฝังกลบที่ยังไม่ผ่านการล้างและตัดลดขนาด และตัวอย่างขยะพลาสติกฝังกลบยังไม่ผ่านการล้างแต่ทำการตัดลดขนาด และใช้ถ่านกัมมันต์เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา พบว่าผลิตภัณฑ์ที่ได้มีทั้งหมด 3 ประเภท คือ น้ำมัน (Py-oil) ถ่าน (Char) และก๊าซ (Gas) ในปริมาณที่แตกต่างกันออกไป นอกจากนี้ยังมีการเปรียบเทียบลักษณะและคุณภาพของน้ำมันไพโรไลซิสจากขยะพลาสติกฝังกลบ ได้แก่ ค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ค่าความร้อน (Heating Value) ค่าความชื้น (Moisture content) เถ้า (Ash) และหมู่ฟังก์ชั่น (Functional group) รวมไปถึงองค์ประกอบทางเคมี โดยใช้การอ้างอิงมาตรฐานน้ำมันเตาตามประกาศกรมธุรกิจพลังงานเป็นเกณฑ์ ผลการวิเคราะห์ ที่ได้จึงสามารถอธิบายได้ว่าน้ำมันจากการไพโรไลซิสขยะพลาสติกฝังกลบในสภาวะใดที่มีความเหมาะสมและมีความคุ้มค่ากับการนำมาผลิตเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันเตาที่มีการใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้ งานวิจัยนี้เป็นอีกหนึ่งแนวทางเลือกที่ช่วยในการจัดการขยะพลาสติกในบ่อฝังกลบให้มีปริมาณลดน้อยลง โดยเปลี่ยนขยะมูลฝอยให้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

นวัตกรรมสารสกัดจากเคี่ยม ในรูปแบบ nano silver เพื่อรักษาแผลเบาหวาน

วิทยาลัยการจัดการนวัตกรรมและอุตสาหกรรม

นวัตกรรมสารสกัดจากเคี่ยม ในรูปแบบ nano silver เพื่อรักษาแผลเบาหวาน

โรคเบาหวานเป็นปัญหาทางสุขภาพที่สำคัญทั่วโลก โดยเฉพาะภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับแผลเบาหวาน ซึ่งพบว่า ผู้ป่วยเบาหวานประมาณ 15-25% มีโอกาสเกิดแผลที่เท้า และมากกว่า 50% ของแผลเบาหวานที่รุนแรงนำไปสู่การตัดขา ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยลดลงอย่างมาก การรักษาแผลเบาหวานในปัจจุบันยังเผชิญกับปัญหาการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาและกระบวนการสมานแผลที่ล่าช้า ทำให้มีความจำเป็นในการพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยเร่งกระบวนการหายของแผลและลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียอวัยวะ เคี่ยม (Cotylelobium lanceolatum Craib) เป็นพืชสมุนไพรที่ถูกนำมาใช้ทางการแพทย์แผนไทยมานาน โดยเฉพาะในการรักษาอาการอักเสบและสมานแผล งานวิจัยนี้มุ่งเน้นไปที่การพัฒนา สารสกัดจากเคี่ยมในรูปแบบนาโนซิลเวอร์ (Nano Silver) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาแผลเบาหวาน เทคโนโลยี นาโนซิลเวอร์ ช่วยให้สารออกฤทธิ์สามารถซึมผ่านเข้าสู่ชั้นผิวได้ลึกขึ้น ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้อย่างมีประสิทธิภาพ และกระตุ้นกระบวนการสมานแผลโดยลดการอักเสบและส่งเสริมการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์จาก นาโนซิลเวอร์ที่ได้จากสารสกัดเคี่ยม คาดว่าจะช่วยลดอัตราการเกิดแผลเรื้อรังในผู้ป่วยเบาหวาน ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และลดโอกาสในการถูกตัดขาหรือเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของแผลเบาหวาน งานวิจัยนี้จึงเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาทางเลือกใหม่สำหรับการรักษาแผลเบาหวานที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อีโคแมงโก้แพ็ค: บรรจุภัณฑ์มะม่วงรักษ์โลก

คณะเทคโนโลยีการเกษตร

อีโคแมงโก้แพ็ค: บรรจุภัณฑ์มะม่วงรักษ์โลก

โครงการ "อีโคแมงโก้แพ็ค: บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน" มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์สำหรับมะม่วงน้ำดอกไม้ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผลไม้ อายุการเก็บรักษา และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วัสดุที่เลือกใช้ประกอบด้วยตัวกล่องที่ทำจากไม้กาบมะพร้าว นอกจากนี้ โครงการยังได้นำก้านผักตบชวาอบแห้งมาประยุกต์ใช้เป็นวัสดุรองรับภายในบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มความสามารถในการกันกระแทก ตลอดจนการนำกากกาแฟอบแห้งใส่ในบรรจุภัณฑ์เพื่อยืดอายุของผลมะม่วง ทั้งนี้ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ยังคำนึงถึงการใช้งานของเกษตรกรรายย่อย โดยพัฒนาให้สามารถผลิตได้ในระดับวิสาหกิจชุมชนและลดต้นทุนการผลิต โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของไทย สนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และส่งเสริมการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์

เลย์ลาหุ่นยนต์โรงแรม

คณะศิลปศาสตร์

เลย์ลาหุ่นยนต์โรงแรม

เลย์ลาหุ่นยนต์โรงแรม มีหน้าที่ช่วยนำกระเป๋าไปส่งยังห้องพักแขก มี Map ช่วยนำพาไปจุดต่างๆในโรงแรม มีระบบ AI ตอบโต้พูดคุยได้ 3 ภาษาหลัก ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน

การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกะปิคลองด่านชุมชน 3 ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ

คณะเทคโนโลยีการเกษตร

การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกะปิคลองด่านชุมชน 3 ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาปัญหาความต้องการในการออกแบบบรรจุภัณฑ์กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ฯ 2) เพื่อพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ฯ และ 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจต่อรูปแบบบรรจุภัณฑ์ของสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกะปิคลองด่านชุมชน 3 ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 9 คน ผลการศึกษาพบว่า สภาพปัญหาของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ฯ นั้นขาดบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมแก่การเป็นของฝากและมีความต้องการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีลักษณะเหมาะสมแก่การเป็นของฝากโดยวัสดุที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์คือกระดาษ มีรูปแบบบรรจุภัณฑ์เป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าพร้อมหูจับสำหรับพกพา สามารถพับเก็บขนส่งสะดวก และซ้อนทับเพื่อเรียงเป็นชั้นได้มีความแข็งแรงทนทาน สีบรรจุภัณฑ์ที่ใช้คือสีน้ำตาลอ่อน ส่วนสีฉลากคือสีขาว มีรายละเอียดที่ระบุในฉลากดังนี้ สูตรทำน้ำพริกกะปิ ส่วนประกอบ วันผลิตและวันหมดอายุ ความเป็นมาของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ฯ QR Code เบอร์โทรศัพท์ เรื่องราวสั้น ๆ ชื่อกลุ่ม สถานที่ผลิต พร้อมทั้งใช้ภาพประกอบเป็นที่ตั้งของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ฯ และภาพเคยแดง ผลการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ฯ พบว่าการออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือของสินค้า ทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่นในตัวผลิตภัณฑ์ และความพึงพอใจต่อรูปแบบบรรจุภัณฑ์ของสมาชิกกลุ่ม ฯ พบว่าบรรจุภัณฑ์รูปแบบที่ 1 มีระดับความพึงพอใจมากที่สุด ( x ̅ = 4.57, S.D.= 0.22) โดยมีด้านสีได้ระดับความพึงพอใจมากที่สุด ( x ̅ = 4.74, S.D.= 0.06) รองลงมาคือด้านฉลากมีระดับความพึงพอใจมากที่สุด ( x ̅ = 4.69, S.D.= 0.10) น้อยที่สุดคือ ด้านคุณสมบัติระดับความพึงพอใจปานกลาง ( x ̅ = 3.83, S.D.=1.58) ตามลำดับ

การผลิตกากชานอ้อยพร้อมใช้สำหรับใช้รมควันเนื้อสัตว์

คณะอุตสาหกรรมอาหาร

การผลิตกากชานอ้อยพร้อมใช้สำหรับใช้รมควันเนื้อสัตว์

ผู้วิจัยมีแนวคิดพัฒนากากชานอ้อยผสมโมลาสเพื่อใช้เป็นวัสดุรมควันเนื้อสัตว์ โดยเพิ่มกลิ่นและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ตอบโจทย์ธุรกิจอาหารและความต้องการของผู้บริโภค ทั้งยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้วัสดุเหลือใช้จากโรงงานน้ำตาล ลดของเสีย และส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

เเขนกลระบบรางเพื่อการเกษตรอัฉริยะ

วิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง

เเขนกลระบบรางเพื่อการเกษตรอัฉริยะ

การเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture) ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต เเละลดต้นทุน โดยกระดับคุณภาพการทำเกษตรกรรมในปัจจุบัน ซึ่งนวัตกรรมที่สำคัญในด้านนี้คือ แขนกลระบบราง ซึ่งถูกออกแบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน โดยใช้ระบบรางที่มีความแม่นยำและประสิทธิภาพสูง การใช้งานของแขนกลนี้ครอบคลุมหลายกระบวนการ เช่น การปลูกพืช การคัดเเยก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว รวมถึงการจัดการทรัพยากรต่างๆ โดยที่สามารถทำงานได้ต่อเนื่องและลดการใช้แรงงานมนุษย์ในงานที่ซ้ำๆเเละมีความเสี่ยงสูง ผลการศึกษาพบว่า การใช้แขนกลระบบรางในภาคการเกษตรสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดต้นทุนการผลิต และช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการใช้หุ่นยนต์ในกระบวนการเกษตรสามารถลดการปนเปื้อน ลดความเสี่ยงที่จะทำให้พืชเสียหาย ทำให้การเกษตรมีความยั่งยืนมากขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มความแม่นยำในการดำเนินงานในพื้นที่จำกัดหรือฟาร์มที่มีการปลูกพืชหลากหลายชนิด จากผลการวิจัยนี้สามารถสรุปได้ว่า การนำเทคโนโลยีแขนกลระบบรางมาใช้ในเกษตรกรรมไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในระยะยาว แต่ยังเป็นการส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืนและใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อรองรับความต้องการในอนาคตของในด้านการเกษตร

ระบบควบคุม (DCS) สำหรับหม้อไอน้ำในโรงงานน้ำตาล

คณะวิศวกรรมศาสตร์

ระบบควบคุม (DCS) สำหรับหม้อไอน้ำในโรงงานน้ำตาล

รายงานสหกิจศึกษาฉบับนี้ เป็นการนำเสนอโครงงานการสร้างระบบควบคุม (DCS) สำหรับหม้อไอน้ำในโรงงานน้ำตาล ซึ่งต้องการพัฒนาระบบควบคุมหม้อไอน้ำ 1-8 ให้ทำงานร่วมกันได้ภายใต้ระบบ DCS ของ ABB โดยใช้โปรแกรม ABB Ability™ System 800xA ภาพรวมการทำงานของระบบคือการสร้างโปรแกรมควบคุมที่เริ่มจากรับกากอ้อยที่เหลือจากการหีบอ้อยในการผลิตน้ำตาลมาใช้เป็นเชื้อเพลิงให้หม้อไอน้ำ ควบคุมการทำงานของหม้อไอน้ำตั้งแต่การดูดอากาศเข้าห้องเชื้อเพลิง ควบคุมการทำงานภายในหม้อไอน้ำ ตลอดจนการบำบัดอากาศที่ออกจากหม้อไอน้ำก่อนปล่อยออกสู่บรรยากาศ โดยโครงงานเริ่มตั้งแต่การสร้างโปรแกรม DCS ออกแบบและจัดทำกราฟิกหน้าจอแสดงผล HMI ศึกษาและออกแบบระบบควบคุมการทำงานของหม้อไอน้ำ จัดทำเอกสารเกี่ยวกับโครงงานและกระบวนการควบคุมด้วยระบบ DCS โดยใช้โปรแกรม ABB Ability™ System 800xA ตลอดจนถึงผลลัพธ์ของการปฏิบัติงาน

วัลนาแชท

คณะวิศวกรรมศาสตร์

วัลนาแชท

โครงงานนี้นำเสนอการพัฒนาแชทบอทปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ออกแบบมาเพื่อจัดการกับช่องโหว่ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับ Common Vulnerabilities and Exposure (CVE) และระบบ Common Vulnerability Scoring System (CVSS) โครงงานนี้มีศักยภาพในการปรับปรุงแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการมีเครื่องมือที่เข้าถึงได้ง่ายและให้ข้อมูลสำหรับการทำความเข้าใจและลดความเสี่ยงจากช่องโหว่