โครงการ "อีโคแมงโก้แพ็ค: บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน" มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์สำหรับมะม่วงน้ำดอกไม้ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผลไม้ อายุการเก็บรักษา และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วัสดุที่เลือกใช้ประกอบด้วยตัวกล่องที่ทำจากไม้กาบมะพร้าว นอกจากนี้ โครงการยังได้นำก้านผักตบชวาอบแห้งมาประยุกต์ใช้เป็นวัสดุรองรับภายในบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มความสามารถในการกันกระแทก ตลอดจนการนำกากกาแฟอบแห้งใส่ในบรรจุภัณฑ์เพื่อยืดอายุของผลมะม่วง ทั้งนี้ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ยังคำนึงถึงการใช้งานของเกษตรกรรายย่อย โดยพัฒนาให้สามารถผลิตได้ในระดับวิสาหกิจชุมชนและลดต้นทุนการผลิต โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของไทย สนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และส่งเสริมการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์
มะม่วงน้ำดอกไม้เป็นผลไม้เศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทยที่มีมูลค่าการส่งออกสูง โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพของผลไม้และมาตรฐานบรรจุภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม ปัญหาหลักที่พบในกระบวนการขนส่งและจำหน่ายมะม่วง ได้แก่ ความเสียหายจากแรงกระแทก การเน่าเสียก่อนถึงมือผู้บริโภค และการปนเปื้อนจากแมลงหรือสารเคมี ทำให้เกิดการสูญเสียผลผลิตและลดโอกาสในการแข่งขันของเกษตรกรไทยในตลาดโลก ปัจจุบัน แนวโน้มของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์มุ่งเน้นไปที่การใช้ วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-friendly Packaging) ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และการลดการใช้พลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ โครงงาน "อีโคแมงโก้แพ็ค: บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน" จึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับมะม่วงน้ำดอกไม้ที่ มีความแข็งแรง ป้องกันแรงกระแทก ลดการปนเปื้อนจากแมลง และช่วยยืดอายุการเก็บรักษาผลไม้ โครงงานนี้นำเสนอการใช้ กระดาษลูกฟูกกันกระแทกและเศษยางพารา ซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในประเทศไทย และสามารถนำมาใช้เป็นวัสดุรองรับภายในบรรจุภัณฑ์เพื่อลดแรงกระแทก นอกจากนี้ ยังออกแบบให้เกษตรกรสามารถผลิตและใช้งานได้จริงในระดับ วิสาหกิจชุมชน เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์มะม่วงน้ำดอกไม้ของไทย โครงการนี้ไม่เพียงช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์เกษตร แต่ยังช่วยส่งเสริมการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดขยะพลาสติก และสนับสนุนการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าในภาคการเกษตรของประเทศ ความสำคัญของโครงงาน 1. ช่วยลดการสูญเสียผลผลิตจากการขนส่งและจำหน่าย โดยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยป้องกันการช้ำและการเสียหายของมะม่วงน้ำดอกไม้ 2. ส่งเสริมการใช้วัสดุทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกและสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน 3. เพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์เกษตรไทย โดยช่วยให้มะม่วงน้ำดอกไม้สามารถรักษาคุณภาพได้ดีขึ้น และเพิ่มโอกาสในการแข่งขันในตลาดโลก 4. สนับสนุนเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน โดยออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สามารถผลิตได้เอง ลดต้นทุน และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ โครงงานนี้จึงเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์เพื่อการเกษตรของไทยให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์
งานวิจัยนี้เป็นการออกแบบและสร้างเครื่องต้นแบบระบบปัญญาประดิษฐ์ของสรรพสิ่งสำหรับติดตามและควบคุมการให้น้ำพืชโดยใช้ข้อมูลสภาพอากาศ โดยระบบประกอบไป 4 ส่วนสำคัญ คือ ส่วนที่ 1 สถานีตรวจวัดสภาพอากาศ (Weather Station) ประกอบไปด้วยเซ็นเซอร์ต่าง ๆ เช่น อุณหภูมิอากาศ ความชื้นสัมพัทธ์ ความเร็วลม และความยาวนานของแสง เป็นต้น ส่วนที่ 2 หน่วยประมวลผล (Controller Unit) โดยจะมีการติดตั้งอัลกอริทึมหรือแบบจำลองการเรียนรู้ของเครื่องเพื่อใช้ประเมินค่าการคายระเหยน้ำของพืชอ้างอิง (ETo) และจะใช้คำนวณร่วมกับค่าสัมประสิทธิ์การใช้น้ำของพืชนั้น ๆ (Crop Coefficient: Kc) และข้อมูล อื่น ๆ เกี่ยวกับพืชนั้น ๆ เพื่อประเมินปริมาณการใช้น้ำตามความต้องการของพืชโดยอัตโนมัติ ส่วนที่ 3 ส่วนติดต่อผู้ใช้งานและหน้าจอแสดงผล (User Interface (UI) and Display) เป็นส่วนที่ให้เกษตรกรหรือผู้ใช้งานสามารถป้อนข้อมูลเกี่ยวกับชนิดของพืช ชนิดของดินที่ปลูก ประเภท ของระบบการให้น้ำ จำนวนหัวจ่ายน้ำ ระยะปลูก และช่วงการเจริญเติบโตของพืช เป็นต้น และส่วนที่ 4 หน่วยควบคุมและหัวจ่ายน้ำ (Irrigation Unit)
คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ
งานชิ้นนี้ได้ถูกสร้างขึ้นภายใต้แนวคิดหลักของสภาวะโลกร้อนและโลกหลังยุคล่มสลาย ที่ได้ส่งผลกระทบให้ระบบนิเวศเกิดการแทรกแซงและความวุ่นวาย และการดำรงอยู่ของหลายๆสิ่งมีชีวิตบนโลกต้องสูญหายไป ซึ่งเกิดจากการกระทำของมนุษย์ การแก้ไขและซ่อมแซมโลกใบนี้จึงอาจเป็นความหวังที่ไม่อาจเกิดขึ้นจริง เชื่อมโยงกับประสบการณ์ส่วนตัวของข้าพเจ้าที่ต้องสูญเสียสิ่งที่รัก และความทุกข์จากการตั้งความหวังที่ยิ่งใหญ่ ผ่านกระบวนการศิลปะโดยใช้สื่อ Animation Art และ Sound art
คณะวิศวกรรมศาสตร์
ในปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาฝุ่น PM2.5 ทั่วประเทศ ซึ่งมีแหล่งกำเนิดของฝุ่นได้จากหลายแหล่งที่มา เช่น ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ การเผาในที่โล่ง ไฟป่า และอื่นๆ ดังนั้น แหล่งที่มาของฝุ่นในแต่ละพื้นที่จึงมีแนวโน้มที่จะแตกต่างกันไป ในปัจจุบันโดยเป็นการวิเคราะห์เชิงเคมีเป็นหลัก ทางคณะผู้จัดเสนอแนวทางใหม่ในการศึกษาแหล่งที่มาของฝุ่นโดยวิธีการทางกายภาพโดยวิเคราะห์จากขนาดของอนุภาคและโครงสร้างเชิงนาโน การวิเคราะห์ข้างต้นนี้ตัวอย่างฝุ่นจำเป็นที่จะต้องถูกเก็บมาแบบแห้งในระยะเวลาจำกัด โดยไม่ควรใช้แผ่นกรองกระดาษในการเก็บฝุ่น เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการลอกของแผ่นกรองออกมาด้วยในขั้นตอนการนำฝุ่นออกมา ทางคณะผู้จัดทำเห็นสมควรว่าเครื่อง Electrostatic Precipitator (ESP) หรือ เครื่องดักฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิตย์ นั้นมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะนำมาเป็นเครื่องดักฝุ่นเพื่อนำไปทดสอบทางกายภาพตามที่กล่าวไว้ข้างต้น โดยในงานวิจัยนี้มุ่งเน้นไปในส่วนของการออกแบบและสร้างเครื่อง ESP ที่ใช้ในจุดประสงค์เฉพาะดังกล่าวข้างต้น โดยคณะผู้จัดทำสามารถสร้างเครื่องที่เก็บฝุ่นได้อย่างน้อย 100 mg ภายใน 1 วัน ซึ่งเพียงพอกับการนำไปศึกษาโครงสร้างเชิงนาโนใน 1 ครั้ง นอกจากนี้ จากการทดสอบการทำงานเบื้องต้นพบว่าเครื่องมีประสิทธิภาพในการดักฝุ่นถึง 80% (ซึ่งมากกว่าเครื่อง ESP ที่หามาได้ตามท้องตลาด) และยังพบอีกว่าประสิทธิภาพในการดักฝุ่นแปรผกผันกับความเร็วอากาศขาเข้า โดยความเร็วอากาศแนะนำจากการทดลองไม่เกิน 2 m/s อย่างไรก็ตามเครื่อง ESP ที่ใช้ในจุดประสงค์เฉพาะนี้ยังมีจุดที่สามารถพัฒนาได้อีก เช่น ความสะดวกในการเก็บฝุ่นที่เกี่ยวเนื่องมาจากลักษณะโครงสร้างเครื่อง และการปรับขนาดของเครื่องให้กระทัดรัดและเหมาะสมกับการใช้งาน เป็นต้น