รวมสุดยอดนวัตกรรมแห่งอนาคต ที่พัฒนาโดยนักวิจัยไทย! พบกับเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดจาก KMITL ที่จะเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตและอุตสาหกรรมของเรา
คณะอุตสาหกรรมอาหาร
กากกาแฟเป็นวัสดุเหลือใช้ที่เกิดจากกระบวนการชงกาแฟ ซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามความนิยมในการบริโภคกาแฟทั่วโลก ภายในกากกาแฟมีสารที่เป็นประโยชน์ เช่น โพลีแซ็กคาไรด์ เส้นใยอาหาร และสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ รวมถึงการสกัดพรีไบโอติก งานวิจัยนี้มุ่งเน้นการสกัดสารพรีไบโอติกจากกากกาแฟโดยใช้วิธีการไฮโดรไลซิสด้วยกรดและการย่อยสลายทางเอนไซม์ เพื่อนำสารที่ได้มาประเมินศักยภาพในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อระบบทางเดินอาหาร ผลการวิจัยคาดว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับของเหลือจากอุตสาหกรรมกาแฟ ลดปริมาณขยะอินทรีย์ และเป็นแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์พรีไบโอติกที่สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและสุขภาพ ทั้งนี้ การศึกษานี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
คณะวิศวกรรมศาสตร์
โครงงานนี้มุ่งเน้นการพัฒนาระบบอ่านป้ายทะเบียนรถยนต์แบบอัตโนมัติ ซึ่งรองรับทั้งป้ายทะเบียนรูปแบบปกติและพิเศษของประเทศไทย โดยใช้เทคโนโลยี Machine Learning เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการอ่านป้ายทะเบียน ระบบนี้สามารถรองรับข้อมูลได้ทั้งภาพนิ่งและวิดีโอ ผู้ใช้สามารถลงทะเบียนและชำระค่าบริการแบบ Subscription เพื่อนำส่งข้อมูลให้ระบบประมวลผลผ่าน RESTful API, WebSocket, และกล้อง IP ที่ลงทะเบียนกับระบบ
คณะวิทยาศาสตร์
เนื่องจากสายพันธุ์ Enterococcus lactis มีความใกล้ชิดกับ E. faecium และ ด้านคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์และมีผลทางโปรไบโอติก ในการศึกษานี้ สายพันธุ์ RRS4 ถูกแยกจากหัวไช้เท้าดอง (Raphanus sativus Linn.) และทำการระบุชนิดโดยอาศัยลักษณะทางฟีโนไทป์และจีโนไทป์ สายพันธุ์ RRS4 แสดงความสามารถในการอยู่รอดในสภาวะแวดล้อมที่มี NaCl 2-8% ค่า pH ระหว่าง 4 ถึง 9 และอุณหภูมิระหว่าง 4°C ถึง 45°C การวิเคราะห์จีโนมแบบครอบคลุมยืนยันว่า RRS4 เป็น E. lactis นอกจากนี้ E. lactis RRS4 ยังแสดงฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ E. faecalis JCM 5803 ที่ดื้อต่อวานโคมัยซิน การประเมินความปลอดภัยโดยใช้วิธี in silico รวมถึงการวิเคราะห์ด้วย KEGG annotation พบว่า E. lactis RRS4 ไม่มียีนที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงของเชื้อหรือยีนที่ไม่พึงประสงค์ การวิเคราะห์ด้วย VirulenceFinder พบว่ายีนที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงของเชื้อมีความสอดคล้องกับยีนใน E. lactis สามสายพันธุ์ และ E. faecium สี่สายพันธุ์ แม้ว่าจะพบว่ายีนต้านทานยาปฏิชีวนะยังคงมีอยู่ แต่ไม่มีความสัมพันธ์กับลักษณะการก่อโรคที่สำคัญ นอกจากนี้ การประเมินความปลอดภัยยังชี้ให้เห็นว่า E. lactis RRS4 มีความปลอดภัยโดยทั่วไป แม้ว่าจะมียีนที่เกี่ยวข้องกับการดื้อยาปฏิชีวนะก็ตาม สุดท้ายนี้ เราขอเสนอแนวทางในการประเมินความปลอดภัยของสายพันธุ์จุลินทรีย์โดยใช้การวิเคราะห์จีโนมทั้งหมด ซึ่งผลการศึกษานี้เป็นก้าวสำคัญในการวิจัยโปรไบโอติก
คณะวิศวกรรมศาสตร์
ปัจจุบันแบตเตอรี่ลิเทียมถูกใช้งานอย่างแพร่หลายในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้การประมาณสถานะสุขภาพ (State of Health: SOH) ของแบตเตอรี่มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากสามารถช่วยยืดอายุการใช้งาน ลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา และป้องกันปัญหาด้านความปลอดภัย เช่น ความร้อนสูงเกินหรือการระเบิด โครงงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและวิเคราะห์แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของแบตเตอรี่ ตลอดจนพัฒนาเทคนิคการประมาณสถานะสุขภาพโดยใช้โครงข่ายประสาทเทียม (Neural Networks) เพื่อเพิ่มความแม่นยำและความรวดเร็วในการประเมิน การทดลองได้ทำการเก็บข้อมูลการประจุและคายประจุของแบตเตอรี่ลิเทียมจำนวน 3 เซลล์ ภายใต้อุณหภูมิที่ควบคุม และใช้กระแสคงที่ในการชาร์จและคายประจุไฟฟ้า พร้อมทั้งบันทึกค่ากระแส แรงดัน และเวลา จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อหาค่าความจุของแบตเตอรี่ในแต่ละรอบการใช้งาน และใช้เป็นข้อมูลฝึกสอนโครงข่ายประสาทเทียม ผลลัพธ์ที่ได้ช่วยให้สามารถคาดการณ์สถานะสุขภาพของแบตเตอรี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลจากโครงงานนี้สามารถนำไปพัฒนาระบบจัดการแบตเตอรี่ (Battery Management System) เพื่อช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพและยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ ทั้งยังเป็นแนวทางในการนำเทคนิคปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้ในงานด้านพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
คณะวิทยาศาสตร์
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของสารสกัดจากเมล็ดมะรุม เมล็ดกระเจี๊ยบแดง และเมล็ดมะขาม ในการเป็นสารช่วยตกตะกอนในแหล่งน้ำผิวดินเพื่อการปรับปรุงคุณภาพน้ำ สารสกัดจากเมล็ดมะรุม เมล็ดกระเจี๊ยบแดง และเมล็ดมะขาม เป็นสารตกตะกอนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นทางเลือกในการปรับปรุงคุณภาพของน้ำผิวดิน แหล่งน้ำผิวดินมีความขุ่นอยู่ในช่วง 14-24 NTU นำมาทำการตกตะกอนความขุ่นในน้ำด้วยวิธีการทดลองจาร์เทส (Jar test) โดยการใช้สารสกัดจากเมล็ดมะรุม เมล็ดกระเจี๊ยบแดง และเมล็ดมะขาม เป็นสารตกตะกอน (Coagulant) และ เป็นสารช่วยตกตะกอน (Coagulant aid) โดยวิธีการคือนำเมล็ดมะรุม เมล็ดกระเจี๊ยบแดง และเมล็ดมะขามมาบดให้ละเอียด จากนั้นสกัดด้วยสารละลายโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) 0.5 โมลาร์ และนำสารสกัดที่ได้มาใช้เป็นสารตกตะกอนเพื่อลดความขุ่นและปรับปรุงคุณภาพน้ำ โดยแต่ละความเข้มข้นใช้ปริมาตรน้ำ 300 มิลลิลิตร ผลการศึกษาบ่งชี้ว่าสารสกัดจากเมล็ดมะรุมที่ความเข้มข้น 2,000 มิลลิกรัมต่อลิตร มีประสิทธิภาพมากที่สุด และมีประสิทธิภาพในการลดความขุ่นประมาณ 73.19% โดยมีค่าใช้จ่าย 0.0309 บาทต่อน้ำ 300 มิลลิตร รองลงมาเป็นสารสกัดจากเมล็ดมะขามที่มีความเข้มข้น 4000 มิลลิกรัมต่อลิตร มีประสิทธิภาพในการลดความขุ่นประมาณ 56.75% โดยมีค่าใช้จ่าย 0.0933 บาทต่อน้ำ 300 มิลลิตร และเมล็ดกระเจี๊ยบแดงที่มีความเข้มข้น 6000 มิลลิกรัมต่อลิตร มีประสิทธิภาพในการลดความขุ่นประมาณ 32.67% โดยมีค่าใช้จ่าย 0.0567 บาทต่อน้ำ 300 มิลลิตร
คณะอุตสาหกรรมอาหาร
ปัจจุบันการบริโภคผลิตภัณฑ์จากพืชได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสุขภาพและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมอาหารจึงมีการพัฒนาเนื้อเทียมที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ งานวิจัยนี้มุ่งศึกษาคุณสมบัติทางเคมีและกายภาพของเบอร์เกอร์เนื้อเทียมจากถั่วลูกไก่และเบอร์เกอร์แบบผสมเนื้อหมู โดยใช้กระบวนการปรุงสุกแบบซูวีด ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยรักษาคุณภาพของอาหาร ทั้งในด้านเนื้อสัมผัส ความชุ่มชื้น และคุณค่าทางโภชนาการ ในการทดลอง ได้ทำการศึกษาคุณสมบัติต่างๆ ของเบอร์เกอร์ทั้งสองประเภท โดยวิเคราะห์การสูญเสียน้ำระหว่างการปรุง (Cooking loss) ความสามารถในการอุ้มน้ำ (Water holding capacity) ค่าแรงตัดเฉือน (Shear force) ค่า pH และการวิเคราะห์สี นอกจากนี้ยังมีการทดสอบทางประสาทสัมผัส โดยให้กลุ่มผู้บริโภคประเมินด้านรสชาติ เนื้อสัมผัส และความชอบโดยรวม ผลการศึกษาจะนำไปสู่ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการซูวีดที่เหมาะสมสำหรับการผลิตเบอร์เกอร์จากพืชและแบบผสม เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดี และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มองหาทางเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ผลการศึกษานี้ยังสามารถเป็นแนวทางสำหรับอุตสาหกรรมอาหารในการพัฒนาผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยลดการใช้เนื้อสัตว์ลง ซึ่งช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมความยั่งยืนในภาคการผลิตอาหาร การวิจัยนี้จึงมีความสำคัญทั้งในเชิงวิทยาศาสตร์อาหารและการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดอาหารแห่งอนาคต
คณะเทคโนโลยีการเกษตร
โครงงานสวนสาธารณะ : เเอนเซียนท์ ซี ปาร์ค เป็นสวนสาธารณะเเห่งใหม่ที่อ่างศิลา จังหวัดชลบุรี สร้างเพื่อการเรียนรู้เเละการท่องเที่ยว ในเเนวคิดท้องทะเลเมื่อ65ปีก่อน
คณะเทคโนโลยีการเกษตร
ต่อยอดจากโปรเจ็คออกแบบสวนสาธารณะ สู่การออกแบบพื้นที่วิทยาเขต บนพื้นที่ 50 กว่าไร่ในตำบลอ่างศิลา อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี เพื่อเป็นทั้งสถานศึกษาและพื้นที่พักผ่อนและให้การเรียนรู้แก่ผู้คนโดยรอบ
วิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต
นักดนตรีบางคนที่พิการทางการได้ยิน บางคนจบอาชีพการงาน แต่บางคนยังคงทำงานต่อไปโดยที่หูหนวกนั้นยากกว่านักดนตรีปกติมาก บางคนใช้เครื่องช่วยฟังในชีวิตประจำวันและใช้เครื่องช่วยฟังแบบอินเอียร์ในการแสดง สดซึ่งดูเหมือนปกติ แต่ในอินเอียร์ของพวกเขา ได้ยินเพียงเครื่องเมตรอนอมและกลองเท่านั้น เราจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของอินเอียร์มอนิเตอร์ให้ดีขึ้นจนใกล้เคียงปกติได้อย่างไร