งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของสารสกัดจากเมล็ดมะรุม เมล็ดกระเจี๊ยบแดง และเมล็ดมะขาม ในการเป็นสารช่วยตกตะกอนในแหล่งน้ำผิวดินเพื่อการปรับปรุงคุณภาพน้ำ สารสกัดจากเมล็ดมะรุม เมล็ดกระเจี๊ยบแดง และเมล็ดมะขาม เป็นสารตกตะกอนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นทางเลือกในการปรับปรุงคุณภาพของน้ำผิวดิน แหล่งน้ำผิวดินมีความขุ่นอยู่ในช่วง 14-24 NTU นำมาทำการตกตะกอนความขุ่นในน้ำด้วยวิธีการทดลองจาร์เทส (Jar test) โดยการใช้สารสกัดจากเมล็ดมะรุม เมล็ดกระเจี๊ยบแดง และเมล็ดมะขาม เป็นสารตกตะกอน (Coagulant) และ เป็นสารช่วยตกตะกอน (Coagulant aid) โดยวิธีการคือนำเมล็ดมะรุม เมล็ดกระเจี๊ยบแดง และเมล็ดมะขามมาบดให้ละเอียด จากนั้นสกัดด้วยสารละลายโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) 0.5 โมลาร์ และนำสารสกัดที่ได้มาใช้เป็นสารตกตะกอนเพื่อลดความขุ่นและปรับปรุงคุณภาพน้ำ โดยแต่ละความเข้มข้นใช้ปริมาตรน้ำ 300 มิลลิลิตร ผลการศึกษาบ่งชี้ว่าสารสกัดจากเมล็ดมะรุมที่ความเข้มข้น 2,000 มิลลิกรัมต่อลิตร มีประสิทธิภาพมากที่สุด และมีประสิทธิภาพในการลดความขุ่นประมาณ 73.19% โดยมีค่าใช้จ่าย 0.0309 บาทต่อน้ำ 300 มิลลิตร รองลงมาเป็นสารสกัดจากเมล็ดมะขามที่มีความเข้มข้น 4000 มิลลิกรัมต่อลิตร มีประสิทธิภาพในการลดความขุ่นประมาณ 56.75% โดยมีค่าใช้จ่าย 0.0933 บาทต่อน้ำ 300 มิลลิตร และเมล็ดกระเจี๊ยบแดงที่มีความเข้มข้น 6000 มิลลิกรัมต่อลิตร มีประสิทธิภาพในการลดความขุ่นประมาณ 32.67% โดยมีค่าใช้จ่าย 0.0567 บาทต่อน้ำ 300 มิลลิตร
น้ำเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อมนุษย์ใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค ใช้ในภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและภาคอื่น ๆ โดยน้ำจืดในธรรมชาติสามารถแยกออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ น้ำผิวดิน (Surface Water) และน้ำใต้ดิน (Ground Water) โดยลักษณะสำคัญของน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน คือ น้ำผิวดินจะมีความขุ่นและมีปริมาณแร่ธาตุที่เจือปนอยู่น้อย ในขณะที่น้ำใต้ดินจะมีความใสกว่าและมีแร่ธาตุเจือปนอยู่มาก น้ำผิวดินเป็นแหล่งน้ำที่นำมาใช้ประโยชน์กันมากเนื่องจากมีปริมาณน้ำค่อนข้างมากเพียงพอต่อความต้องการและไม่ต้องมีการขุดเจาะผ่านชั้นหินชั้นดินที่ยากและราคาค่อนข้างสูง คุณภาพน้ำโดยทั่วไปจะขึ้นอยู่กับลักษณะของดิน หินและบริเวณโดยรอบที่น้ำไหลผ่านส่วนมากจะมีคุณภาพทางกายภาพที่ไม่ดีมากนัก คือ มีความขุ่น กลิ่น สี รส น้ำที่มีความขุ่นมักจะพบสารแขวนลอยเป็นจำนวนมากทำให้ไม่เป็นผลดี น้ำที่มีความขุ่นมากจะส่งผลทำให้ต้นไม้หรือพืชผักไม่สามารถเจริญเติบโตได้ดีพอ ความขุ่นยังสามารถทำให้อุณหภูมิของน้ำเปลี่ยนแปลงทำให้อุณหภูมิของน้ำสูงกว่าปกติ ส่งผลต่อปริมาณการละลายของออกซิเจนในน้ำ ทำให้เป็นอันตรายต่อพืช ดังนั้นก่อนนำน้ำผิวดินมาใช้ประโยชน์ควรจะมีการปรับปรุงคุณภาพน้ำก่อนเพื่อกำจัดสิ่งเจือปนในน้ำให้เหลือน้อยที่สุดและผ่านมาตรฐานคุณภาพน้ำก่อนนำมาใช้ประโยชน์ ในปัจจุบันผักผลไม้ไทยมีหลากหลายสายพันธุ์ที่ได้ออกสู่ตลาด ทำให้มีผู้คนนิยมรับประทานผักผลไม้เป็นจำนวนมาก แต่หลังจากรับประทานผักผลไม้นั้นเสร็จแล้วผู้คนนั้นจะทำการทิ้งเปลือกและเมล็ดของผักผลไม้ทำให้เกิดขยะจากเมล็ดผลไม้เป็นจำนวนมาก ซึ่งขยะจากเมล็ดผักผลไม้ที่ถูกทิ้งเป็นจำนวนมากนั้นไม่ส่งผลให้เกิดประโยชน์ใด ๆ และไม่มีมูลค่า ผู้วิจัยจึงมีความคิดที่จะนำเมล็ดผักผลไม้ที่เป็นขยะมาเพิ่มมูลค่าและทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยนำเมล็ดผักผลไม้มาใช้ประโยชน์เป็นสารช่วยตกตะกอนในน้ำ จึงได้มีการนำผลไม้ที่หาง่ายในท้องถิ่น เช่น เมล็ดมะรุม เมล็ดกระเจี๊ยบแดงและเมล็ดมะขาม มาศึกษาประสิทธิภาพในการตกตะกอนความขุ่นและสีในน้ำเพื่อการปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ดีขึ้น
คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ
โครงการ Project Urban House เป็นแนวคิดการพัฒนาและออกแบบที่อยู่อาศัยในเมือง เพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรเมืองที่เพิ่มขึ้น โดยมุ่งเน้นการใช้พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ ความยั่งยืน และการออกแบบที่รองรับไลฟ์สไตล์คนเมืองในปัจจุบัน โครงการนี้ให้ความสำคัญกับการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การจัดสรรพื้นที่สีเขียว และการบูรณาการเทคโนโลยีสมาร์ทโฮมเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย
คณะแพทยศาสตร์
ความเป็นมา: ยีน RGL3 มีบทบาทในการส่งสัญญาณระดับเซลล์ที่สำคัญ และมีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูงเนื่องจากการกลายพันธุ์ของยีนในเอ็กซอน 6 การศึกษาความสัมพันธ์เชื่อมโยงในจีโนม (GWAS) แสดงให้เห็นว่า RGL3 เกี่ยวข้องกับภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งทำให้เห็นถึงข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพื้นฐานทางพันธุกรรมของภาวะนี้ และอาจช่วยให้ค้นพบผลที่สามารถปกป้องหัวใจและหลอดเลือดจากยีนนี้ แม้ว่าจะมีการค้นพบดังกล่าว แต่ปัจจุบันก็ยังขาดข้อมูลที่ยืนยันบทบาทที่ชัดเจนของ RGL3 ในภาวะความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ ผลกระทบทางด้านโครงสร้าง และหน้าที่ของการแปรผันทางพันธุกรรมที่ไม่ทราบนัยยะสำคัญ (VUS) ยังคงไม่มีข้อมูลอธิบายชัดเจน วัตถุประสงค์: การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ในการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างโปรตีน RGL3 ที่เกิดจากการกลายพันธุ์และตรวจสอบตำแหน่งของจุดที่จับลิแกนด์ วิธีการ: รูปแบบการแปรผันทางพันธุกรรมของยีน RGL3 จะถูกสืบค้นจากฐานข้อมูล NCBI ClinVar การแปรผันทางพันธุกรรมที่ไม่ทราบนัยยะสำคัญ และการแปรผันทางพันธุกรรมที่มีแนวโน้มเป็นปกติจะถูกนำมาวิเคราะห์ รูปแบบการแปรผันทางพันธุกรรมจะถูกจัดเรียงตามลําดับเบสหลายลําดับโดยใช้ BioEdit v7.7.1 โปรแกรม AlphaFold 2 จะถูกใช้ในการทำนายโครงสร้าง 3D ของทั้งสองกลุ่ม จากนั้นจะทำการประเมินคุณภาพโดยใช้ PROCHECK โดเมน RasGEF, RasGEF_NTER และ RA ของโปรตีนจะถูกนำมาวิเคราาะห์ และ BIOVIA Discovery Studio Visualizer 2024 จะถูกใช้ในการประเมินการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างและลักษณะทางฟิสิกส์เคมี ผลการศึกษา: การวิเคราะห์รูปแบบการแปรผันทางพันธุกรรมของ RGL3 จำนวน 81 ตัว พบว่ามี 5 ตัวที่มีแนวโน้มเป็นปกติ และ 76 ตัวที่เป็นการแปรผันทางพันธุกรรมที่ไม่ทราบนัยยะสำคัญ (VUS) ซึ่งทั้งหมดเป็นการกลายพันธุ์แบบ missense การสร้างแบบจำลองโครงสร้างโดยใช้ AlphaFold 2 แสดงให้เห็นโดเมนที่สำคัญสามโดเมน ได้แก่ RasGEF_NTER, RasGEF และ RA ซึ่งการกลายพันธุ์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้าง จากการตรวจสอบโดยใช้ Ramachandran plot พบว่ามีกรดอะมิโน 79.7% อยู่ในพื้นที่ที่ถูกต้อง ทำให้โครงสร้างโดยรวมเชื่อถือได้ นอกจากนี้ การกลายพันธุ์ในโดเมน RasGEF และ RA ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของค่าความเป็นขั้ว ประจุ และความเสถียร ซึ่งอาจส่งผลส่อประสิทธิภาพในการทำงานของโปรตีน ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงผลกระทบทางโครงสร้างของการกลายพันธุ์ของยีน RGL3 และช่วยในการศึกษาเกี่ยวกับหน้าที่เชิงโมเลกุลต่อไป อภิปรายและสรุป: การกลายพันธุ์ที่พบใน RGL3 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางฟิสิกส์เคมีในโดเมนสำคัญ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงประจุ ความเป็นขั้ว และความยืดหยุ่น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้น่าจะส่งผลต่อการปฏิสัมพันธ์กับ Ras-like GTPases การแลกเปลี่ยน GDP-GTP และการส่งสัญญาณในเซลล์ การวิเคราะห์ทางโครงสร้างแสดงให้เห็นว่าการกลายพันธุ์ในโดเมน RasGEF และ RA อาจรบกวนสภาพการถูกกระตุ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อหน้าที่และความเสถียรของโปรตีน การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าการกลายพันธุ์ในยีน RGL3 อาจมีผลกระทบในเชิงหน้าที่ของโปรตีน โปรตีนดังกล่าวจึงควรถูกศึกษาเพิ่มเติมถึงคุณสมบัติเชิงโมเลกุลที่อาจมีผลต่อการเกิดโรค
คณะทันตแพทยศาสตร์
Aggregatibacter actinomycetemcomitans เป็นเชื้อก่อโรคหลักของโรคปริทันต์ โดยสามารถทำลายเอ็นยึดปริทันต์และกระดูกเบ้าฟันผ่านการสร้างไบโอฟิล์ม D-LL-31 ซึ่งเป็นเปปไทด์ต้านจุลชีพที่ถูกดัดแปลงทางวิศวกรรม แสดงศักยภาพที่สูงในการกำจัดเชื้อที่ฝังตัวในไบโอฟิล์มได้ดีกว่าวิธีรักษาแบบดั้งเดิม ขณะที่ DNase I ช่วยเสริมประสิทธิภาพโดยการสลายเมทริกซ์ของไบโอฟิล์ม โดยวัตถุประสงศ์ของงานวิจัยนี้ต้องศึกษาผลของ D-LL-31 ร่วมกับ DNase I ต่อไบโอฟิล์มของ A. actinomycetemcomitans ผลการทอลองพบว่า D-LL-31 สามารถกำจัดไบโอฟิล์มได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเมื่อใช้ร่วมกับ DNase I จะช่วยเพิ่มการทำลายไบโอฟิล์มได้มากขึ้น โดยไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์เยื่อบุเหงือก ดังนั้นการใช้ D-LL-31 ร่วมกับ DNase I มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นน้ำยาบ้วนปาก เพื่อช่วยรักษาสุขภาพช่องปากและลดความเสี่ยงของโรคปริทันต์