KMITL Innovation Expo 2025 Logo

เว็บแอปพลิเคชันการจัดเส้นทางการขนส่งอาหารกุ้ง : กรณีศึกษาร้านจำหน่ายอาหารสัตว์แห่งหนึ่ง

รายละเอียด

ปัญหาด้านการจัดส่งสินค้าให้มีประสิทธิภาพต้องมีการพัฒนาเครื่องมือมาช่วยอำนวยความสะดวก งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดเส้นทางการขนส่งของร้านอาหารสัตว์แห่งหนึ่ง และพัฒนาเว็บแอปพลิเคชันการจัดเส้นทางการเดินรถ ในการศึกษาครั้งนี้ทำการเปรียบเทียบด้วยวิธีการแตกกิ่งและจำกัดขอบเขต (Branch & Bound Method) และวิธีการจัดกลุ่มร่วมกับอัลกอริทึมการแตกกิ่งและจำกัดขอบเขต (Clustering with Branch & Bound Method) จากนั้นทำการเปรียบเทียบการจัดเส้นทางทั้ง 2 วิธี ร่วมกับเส้นทางเดิม ด้วยการทดสอบความแตกต่างของระยะทางเฉลี่ย 3 กลุ่มที่ไม่เป็นอิสระกัน โดยใช้วิธีการวิเคราะห์ความแปรปรวนเมื่อมีการวัดซ้ำ (Repeated Measures ANOVA) พบว่าระยะเฉลี่ยต่อวันที่ได้จากทั้ง 3 วิธี มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ที่ระดับ 0.05 โดยเส้นทางที่ให้ค่าระยะทางเฉลี่ยต่อวันน้อยที่สุด คือ วิธีอัลกอริทึมการแตกกิ่งและจำกัดขอบเขต (Branch and Bound Method) และจากการทดสอบระยะทางรวมต่อวันเป็นรายคู่ด้วยการทดสอบทีแบบจับคู่ (Paired t-test) พบว่าเส้นทางที่จัดด้วยวิธีอัลกอริทึมการแตกกิ่งและจำกัดขอบเขต (Branch and Bound Method) ให้ผลลัพธ์ระยะทางที่สั้นที่สุดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ 0.05 ซึ่งหากใช้การจัดเส้นทางด้วยวิธีอัลกอริทึมการแตกกิ่งและจำกัดขอบเขต (Branch and Bound Method) จะสามารถลดระยะทางลงได้ 957.51 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 30.88 ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนด้านน้ำมันเชื้อเพลิงได้ถึง 2,579.45 บาทต่อเดือน จากนั้นจึงเลือกวิธีอัลกอริทึมการแตกกิ่งและจำกัดขอบเขต (Branch and Bound Method) มาพัฒนาเป็นเว็บแอปพลิเคชันที่มีหน้าต่างผู้ใช้งาน รายการสินค้า และแนะนำเส้นทางการขนส่งสินค้าในแต่ละวันให้กับร้านค้ากรณีศึกษา และเมื่อพัฒนาเว็บแอปพลิเคชันแล้วได้ทำการทดลองใช้งานจริงกับร้านกรณีศึกษา โดยพบว่าสามารถแนะนำเส้นทางการขนส่งที่อยู่ในรูปแบบแผนที่ซึ่งสามารถใช้งานได้ง่าย และสามารถใช้งานได้จริงผ่านโทรศัพท์มือถือทั่วไป

วัตถุประสงค์

การขนส่งเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือในแง่ของการเคลื่อนย้ายสินค้าไปยังผู้บริโภค การขนส่งทำให้เกิดประโยชน์ทางด้านสถานที่และเวลา มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมการขนส่ง คือ ปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจให้มีความมั่นคง ในปี พ.ศ. 2565 - 2567 คาดว่าธุรกิจขนส่งสินค้าทางถนนจะขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามความต้องการขนส่ง สินค้าที่เพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ แต่การแข่งขันที่รุนแรง ต้นทุนค่าแรงงานและเชื้อเพลิงที่ยังทรงตัวสูง อาจฉุดรั้งผลประกอบการของธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็ก และผู้ประกอบการที่ไม่มีเครือข่ายพันธมิตร (ปิยะนุช, 2565) จึงทำให้กดดันผู้ประกอบการอย่างมาก ผู้ประกอบการรายเล็กที่ไม่มีกำลังมากพอในการใช้บริษัทขนส่ง และต้องส่งสินค้าทีละมาก ๆ ทำให้ต้นทุนที่ใช้เพิ่มขึ้นสูง กำไรที่ได้จากการขายสินค้าลดลง ซึ่งผู้ประกอบการที่ใช้รถส่วนตัวในการส่งสินค้า จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่ง เช่น ค่าน้ำมัน ค่าจ้างคนขับรถ และการขนส่งที่ใช้เวลามากเกินไป อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อสินค้าได้ ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงคุณภาพของสินค้า และการส่งมอบสินค้าใช้ระยะเวลาและระยะทางที่สั้นที่สุด เพื่อให้ลดต้นทุนค่าขนส่ง และส่งมอบได้ตรงตามความต้องการและความพึงพอใจของผู้อุปโภคบริโภค กล่าวคือมีความสะดวกรวดเร็ว ความปลอดภัย ตรงต่อเวลาและประหยัด ระบบขนส่งที่ดีนั้นจำเป็นที่จะต้องอาศัยการวางแผนการขนส่งที่ทำอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ทำให้มีการวางแผนการขนส่งที่จะทำให้การจัดเส้นทางการเดินรถขนส่งสินค้าให้เป็นไปอย่างเหมาะสม การจัดเส้นทางการขนส่งจึงมีความสำคัญมากที่จะมาช่วยให้ธุรกิจได้ผลกำไรเพิ่มมากขึ้นและช่วยลดต้นทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้น ​ ร้าน จ.เจริญอาหารสัตว์ เป็นร้านขายอาหารสัตว์ที่มีการบริการขนส่งอาหารกุ้งเป็นส่วนใหญ่ รายการสินค้าที่ส่งในแต่ละวันไปยังลูกค้ารายย่อย ๆ มีรถบรรทุก 4 ล้อ โดยทางร้านยังไม่มีแผนการจัดเส้นทางขนส่งสินค้า ทำให้ในการขนส่งในแต่ละวันมีระยะทางและเวลามากขึ้นที่อาจทำให้เพิ่มต้นทุนโดยไม่จำเป็น หากมีการวางแผนการจัดเส้นทางการส่งสินค้าจะเข้ามาช่วยในการวางแผนการจัดเส้นทางการขนส่งทำให้ลดระยะเวลาขนส่งสินค้า และทำให้ส่งสินค้าภายในเวลาที่กำหนด เมื่อระยะทางที่ใช้ในการขนส่งลดลง ส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนการขนส่งของทางร้านลดลง ผู้วิจัยได้เล็งเห็นถึงปัญหา และสนใจการวางแผนการจัดเส้นทางการขนส่งของร้าน จ.เจริญ อาหารสัตว์ให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อหาเส้นทางที่ใช้ในการขนส่งที่สั้นที่สุด และสร้างแอปพลิเคชันในการแนะนำเส้นทางให้กับผู้ขับรถเป็นแนวทางในการจัดส่งสินค้าในเส้นทางที่เหมาะสม

นวัตกรรมอื่น ๆ

เกษตรกิจ

คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ

เกษตรกิจ

โครงงานเรื่องเกษตรกิจ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการที่สังคมในปัจจุบัน เรื่องของธุรกิจ และเทคโนโลยีมีการเติบโตและผสานเข้าด้วยกันมากยิ่งขึ้น ทำให้เรื่องของเศรษฐศาสต์เข้ามามีอิทธิพลมากขึ้น ดังนั้นแล้วการเรียนรู้ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐานจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่การเรียนรู้ผ่านหนังสือ หรือตำราต่างๆ เป็นสิ่งที่ผู้คนให้ความสนใจน้อยลง ทางผู้พัฒนาจึงมองหาหนทางใหม่ๆ ในการสร้างสื่อการเรียนรู้ ที่ไม่ได้มอบเพียงแค่ความรู้ แต่ยังคงมอบความเพลิดเพลินให้กับผู้เล่นด้วย จึงเกิดความคิดริเริ่มในการสร้างเกมเกษตรกิจขึ้นมา โดยภายในเกมผู้เล่นจะได้รับบทเป็นเกษตรกรที่ต้องบริหารฟาร์ม ซึ่งผู้เล่นจะต้องปลูกพืชในฟาร์มของตนเองให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และนำไปขายในตลาด โดยผู้เล่นจะต้องตัดสินใจเลือกประเภทของผลผลิต ปริมาณของผลผลิต รวมถึงราคาขายที่ผู้เล่นต้องการ ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณที่ขายได้ และกำไรที่จะได้รับ โดยเป้าหมายของเกม คือ การที่ผู้เล่นจะต้องสร้างรายได้ให้เพียงพอต่อการใช้หนี้ในแต่ละฤดูกาล ซึ่งผู้เล่นจะได้เรียนรู้หลักเศรษฐศาสตร์ผ่านการจำลองสถานการณ์ต่างๆ ภายในเกม อีกทั้งยังต้องอาศัยทักษะในการวางแผน และการตัดสินใจที่รอบคอบ เพื่อให้สามารถสร้างรายได้ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

การออกแบบสวนสาธารณะ :  ซีรีนอาร์เบอร์พาร์ค

คณะเทคโนโลยีการเกษตร

การออกแบบสวนสาธารณะ : ซีรีนอาร์เบอร์พาร์ค

การออกแบบสวนสาธารณะพื้นที่ 50 ไร่ ในแนวคินสวนป่าพื้นที่เขต ลาดกระบัง จังหวัด กรุงเทพมหาคร เป็นการนำเสนอสวนสาธารณะที่ใช้ในการเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจของคนเมืองในเขตลาดกระบังและผู้คนละแวกใกล้เคียง จึงมุ่งเน้นกลุ่มผู้ใช้งานเป็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และกลุ่มคนทำงาน ที่มีการผสานกับแนวคิด Universal Design ในการออกแบบพื้นที่ให้ทุกคนในสังคม สามารถใช้งานร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม แต่ยังคงมุ่งเน้นให้มีพื้นที่นันทนาการแบบกระฉับกระเฉงเพื่อตรงต่อความต้องการที่เล่นกีฬาและออกกำลังกายของกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และกลุ่มคนทำงาน และการออกแบบพื้นที่เขตลาดกระบังเป็นพื้นที่ราบลุ่ม คล้ายแอ่งกระทะ จึงมีการออกแบบพื้นที่ให้มีพื้นที่รับน้ำ หน่วงน้ำ และบำบัดน้ำเพื่อใช้ในพื้นที่สวน โดยภายในพื้นที่ เน้นไปที่พื้นที่ออกกำลังกาย กีฬา วิ่ง เดิน ที่พักผ่อน และพื้นที่สวนเพื่อการเรียนรู้

การพัฒนาวัสดุเส้นใยนาโนคาร์บอนคอมโพสิทเป็นตัวเก็บประจุยิ่งยวดสำหรับกักเก็บพลังงาน

วิทยาลัยการจัดการนวัตกรรมและอุตสาหกรรม

การพัฒนาวัสดุเส้นใยนาโนคาร์บอนคอมโพสิทเป็นตัวเก็บประจุยิ่งยวดสำหรับกักเก็บพลังงาน

งานวิจัยนี้นำเสนอการพัฒนาเส้นใยนาโนคาร์บอนที่มีโครงสร้างหลายเฟสผสมออกไซด์ของโลหะ (CNF@MOx; M = Ag, Mn, Bi, Fe) โดยฝังอนุภาคนาโนของเงิน แมงกานีส บิสมัท และเหล็ก ลงในเส้นใยนาโนคาร์บอนที่ได้จากพอลิอะคริโลไนไตรล์ (PAN) ผ่านเทคนิคอิเล็กโทรสปินนิ่งและผ่านการอบชุบในบรรยากาศอาร์กอน ผลลัพธ์แสดงให้เห็นว่าเส้นใยนาโนที่ได้มีโครงสร้างที่เป็นระเบียบ เส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ย 559-830 นาโนเมตร และมีอนุภาคนาโนฝังตัวขนาด 9-21 นาโนเมตร การวิเคราะห์เชิงโครงสร้างยืนยันการมีอยู่ของสถานะออกซิเดชันต่างๆ ของโลหะออกไซด์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในกลไกการเก็บประจุไฟฟ้า ผลการทดสอบทางไฟฟ้าเคมีพบว่า CNF@Ag/Mn/Bi/Fe-20 มีค่าความจุจำเพาะสูงสุดที่ 156 F g⁻¹ ที่อัตราการสแกน 2 mV s⁻¹ และมีเสถียรภาพสูง โดยยังคงค่าความจุได้มากกว่า 96% หลังจากการชาร์จ-คายประจุ 1400 รอบ กลไกการเก็บประจุของเส้นใยนี้เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างความสามารถในการเก็บประจุแบบชั้นคู่ไฟฟ้าและกระบวนการรีดอกซ์ ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของวัสดุอิเล็กโทรดสำหรับตัวเก็บประจุยิ่งยวด