สถานการณ์ในปัจจุบันและความไม่แน่นอน นำมาสู่แนวคิดความมั่นคงทางอาหาร การนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้เพื่อให้เกิดการให้ผลผลิตที่มากในพื้นที่จำกัด โดยปรับปรุงอาคารเก่าในพื้นที่เมืองที่ไม่ถูกใช้งานมาปรับปรุงให้เหมาะสมกับการปลูกพืช จัดทำเป็นพื้นที่เรียนรู้การปลูกพืชในเมือง นำเสนอวิธีการปลูกพืชแบบต่างๆ รวบรวมเป็นนวัตกรรมการปลูกพืชกว่า 35 รายการ สำหรับเผยแพร่ความรู้ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร พึ่งพาตนเอง การอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน
จากสถานการณ์ในปัจจุบัน ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติ โรคระบาด การเพิ่มขึ้นของประชากร ขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว นำมาสู่แนวคิดความมั่นคงทางอาหาร ข้อจำกัดของการปลูกพืชในเมือง และแนวคิด BCG Economy Model เป็นการนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้เพื่อให้เกิดการให้ผลผลิตที่มากในพื้นที่จำกัด โดยปรับปรุงอาคารเก่าในพื้นที่เมืองที่ไม่ถูกใช้งานมาปรับปรุงให้เหมาะสมกับการปลูกพืช ในพื้นที่ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช) เป็นพื้นที่ต้นแบบส จัดทำเป็นพื้นที่เรียนรู้การปลูกพืชในเมือง นำเสนอวิธีการปลูกพืชแบบต่างๆ รวบรวมเป็นนวัตกรรมการปลูกพืชกว่า 35 รายการ สำหรับเผยแพร่ความรู้ให้กับนักเรียนนักศึกษา ชุมชน และผู้ที่สนใจ ไปจนถึงหน่วยงานรัฐ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร พึ่งพาตนเองได้ รองรับการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน
คณะอุตสาหกรรมอาหาร
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการห่อหุ้มแอนโธไซยานินในอิมัลชันชนิดน้ำในน้ำมันในน้ำ (W/O/W) และกระบวนการทำแห้งแบบพ่นฝอย เพื่อเพิ่มความเสถียรของแอนโธไซยานินจากปัจจัยภายนอก เช่น แสง อุณหภูมิ และการเปลี่ยนแปลงค่า pH การเตรียมอิมัลชัน W/O/W ดำเนินการโดยใช้สารลดแรงตึงผิวที่เหมาะสม และทำแห้งด้วยเครื่องพ่นฝอยที่อุณหภูมิขาเข้า 120–140°C และอุณหภูมิขาออกไม่ต่ำกว่า 80°C ผลการศึกษาพบว่าสัดส่วนองค์ประกอบของน้ำ น้ำมัน และสารลดแรงตึงผิวมีผลต่อคุณสมบัติทางกายภาพและเคมีของอิมัลชัน รวมถึงประสิทธิภาพในการกักเก็บแอนโธไซยานิน อิมัลชัน W/O/W ที่ผ่านกระบวนการทำแห้งแบบพ่นฝอยสามารถกักเก็บแอนโธไซยานินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยเพิ่มความเสถียรในระยะยาว ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพได้
คณะวิศวกรรมศาสตร์
การออกแบบและพัฒนาระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ระยะไกล งานวิจัยนี้มุ่งเน้นการออกแบบและพัฒนาระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ที่สามารถมอนิเตอร์และควบคุมจากระยะไกล พร้อมทั้งรองรับการกำหนดคุณสมบัติของเซลล์แบตเตอรี่ได้ตามต้องการ ระบบนี้ได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับใช้งานร่วมกับเซลล์แบตเตอรี่กราฟีน และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในระบบพลังงานทางเลือกสำหรับที่อยู่อาศัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์
การศึกษาปรสิตในปลาหมอคางดำและการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ปรสิตเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพของปลาและความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล การศึกษาปรสิตในปลาจึงมีบทบาทสำคัญในการประเมินสถานภาพประชากรปลาและผลกระทบต่อระบบนิเวศ งานวิจัยนี้มุ่งเน้นการสำรวจปรสิตเบื้องต้นในปลาหมอคางดำ (Sarotherodon melanotheron) ในน่านน้ำจังหวัดชุมพร เพื่อตรวจสอบว่าปลาชนิดนี้มีการติดเชื้อปรสิตหรือไม่ ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาจะช่วยเป็นแนวทางสำคัญสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล รวมถึงแนวทางในการนำปลาหมอคางดำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อลดจำนวนประชากรของปลาชนิดนี้ในระบบนิเวศ หนึ่งในแนวทางการแปรรูปปลาหมอคางดำ คือ ผลิตภัณฑ์ "นายฮ้อยหัวฟู" ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อนำเนื้อปลามาทอดให้กรอบและฟู ก่อนนำมายำกับมะม่วงเพื่อเพิ่มรสชาติให้น่ารับประทานมากยิ่งขึ้น การแปรรูปนี้ไม่เพียงช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับปลา แต่ยังเป็นแนวทางในการบริหารจัดการประชากรปลาหมอคางดำที่อาจมีผลกระทบต่อระบบนิเวศ จากผลการศึกษา พบว่าไม่มีการติดเชื้อปรสิตทั้งภายในและภายนอกของปลาหมอคางดำที่เก็บตัวอย่าง ซึ่งบ่งชี้ว่าสภาพแวดล้อมทางทะเลในพื้นที่ศึกษามีความเหมาะสมต่อสุขภาพของปลา อย่างไรก็ตาม ควรมีการศึกษาต่อเนื่องเพื่อเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศในระยะยาว และประเมินผลกระทบของปลาหมอคางดำต่อความสมดุลของระบบนิเวศ เพื่อให้สามารถจัดการทรัพยากรได้อย่างยั่งยืน