KMITL Innovation Expo 2025 Logo

การพัฒนาระบบอัตโนมัติเพื่อการเพาะเลี้ยงปลากัดอย่างแม่นยำ

การพัฒนาระบบอัตโนมัติเพื่อการเพาะเลี้ยงปลากัดอย่างแม่นยำ

รายละเอียด

ปลากัด (Betta splendens) เป็นปลาสวยงามที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจที่มีการส่งออกมากเป็นอันดับที่ 1 ของปลาสวยงามของประเทศ แต่มีข้อจำกัดในการเพิ่มกำลังผลิตปลากัด เนื่องจากการแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ และการขาดแคลนแรงงานคนไทย งานวิจัยนี้ต้องการพัฒนา 2 ระบบ คือ ระบบอนุบาลลูกปลากัดและระบบเลี้ยงปลากัดขนาดตลาดโดยการใช้ระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติอย่างแม่นยำเพื่อควบคุมคุณภาพน้ำในระบบและลดการใช้แรงงาน การพัฒนาต้นแบบระบบอนุบาลลูกปลากัดและระบบเลี้ยงปลากัดขนาดตลาด โดยใช้ระบบอัตโนมัติอย่างแม่นยำมี 2 ระบบ ได้แก่ ระบบนำของเสียบางส่วนที่เกิดจากการเลี้ยงไปใช้ประโยชน์ (minimal-waste) และระบบบำบัดน้ำทั้งหมดที่เกิดจากการเลี้ยงกลับมาใช้ใหม่ (zero-waste) เพื่อแก้ปัญหาทั้งด้านคุณภาพน้ำ สวัสดิภาพสัตว์ และแรงงานที่ใช้ในการเลี้ยงปลากัด จากงานทดลองพบว่า ทำให้ปลากัดมีอัตรารอดที่ดีกว่าระบบดั้งเดิมร้อยละ 10-15 เมื่อพิจารณาถึงผลตอบแทนสุทธิ ระบบ zero waste เป็นระบบที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด

วัตถุประสงค์

ในการเพาะเลี้ยงปลากัดประกอบด้วย ระบบอนุบาลลูกปลากัด เป็นการเลี้ยงลูกปลากัดในบ่อปูนซีเมนต์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 60-80 เซนติเมตร มีการเพิ่มระดับน้ำแทนการเปลี่ยนถ่ายน้ำสัปดาห์ละ 5-10 เซนติเมตรจากระดับน้ำเดิม และการเลี้ยงปลาขนาดตลาด เป็นการเลี้ยงปลากัดในขวดแบนเรียงต่อกันจำนวนมากบนพื้นคอนกรีต มีการให้อาหารหรือเปลี่ยนถ่ายน้ำโดยใช้แรงงานคน 1 คนต่อการเลี้ยงปลากัด 10,000 – 40,000 ตัว ดังนั้นระบบอนุบาลและการเลี้ยงปลากัดขนาดตลาดแบบพัฒนาใหม่โดยใช้เทคโนโลยีในการควบคุมคุณภาพน้ำ การให้อาหารและการเปลี่ยนถ่ายน้ำด้วยระบบอัตโนมัติ จะช่วยแก้ปัญหาอัตราการตายของปลา การใช้แรงงาน และยังสามารถเพิ่มอัตราการรอดของลูกปลากัดได้อีกด้วย

นวัตกรรมอื่น ๆ

การใช้สารสกัดจากใบพลูคาวและใบดีปลีเพื่อยับยั้งเชื้อฉวยโอกาสในผู้ป่วยโรคภูมิเเพ้ผิวหนัง

คณะวิทยาศาสตร์

การใช้สารสกัดจากใบพลูคาวและใบดีปลีเพื่อยับยั้งเชื้อฉวยโอกาสในผู้ป่วยโรคภูมิเเพ้ผิวหนัง

ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ผิวหนังมีจำนวนมากเป็นอันดับที่สอง ในจำนวนผู้ป่วยโรคผิวหนัง ซึ่งโรคภูมิแพ้ผิวหนังนี้ยังไม่มียารักษา ทำได้แค่บรรเทารักษาตามอาการ ทำให้เกิดเป็นโรคเรื้อรัง มีโอกาสที่เชื้อฉวยโอกาสจะเข้าไปก่อโรคเพิ่มจากแผลของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยมีอาการแทรกซ้อนจากการติดเชื้อชนิดอื่น การศึกษาในครั้งนี้จึงสนใจศึกษาการลดโอกาสในการติดเชื้อฉวยโอกาสในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ผิวหนัง โดยใช้สารสกัดจากธรรมชาติ ซึ่งสนใจใบพลูคาวและดีปลี เนื่องจากมีข้อมูลสนับสนุนเรื่องการยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ โดยการนำใบของพืชทั้ง 2 ชนิด มาสกัดแบบหยาบ แช่ใน ethanol 95% เป็นเวลา 7 วัน กรองด้วยกรวยกรอง buchner นำสารสกัดที่ได้ไปทดสอบ phytochemical เพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบ phenolic, flavonoid, tannin, anthocyanin, DPPH และนำไปทดสอบฤทธิ์ในการต้านจุลชีพ ซึ่งในการทดลองประกอบด้วยแบบคทีเรียแกรมบวกและแกรมลบ 5 ชนิด ได้แก่ E. coli, Bacillus subtilis, Pseudomonas aeruginosa, Staphylococcus aureus, Staphylococcus epidermidis โดยผู้ทำการวิจัยคาดว่าจะสามารถนำไปต่อยอดและนำไปพัฒนาในการรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ผิวหนังได้

ผลของการเสริมฟรุคโตโอลิโกแซคคาไรด์ต่อสมรรถภาพการเจริญเติบโต สัณฐานวิทยาของลำไส้ จุลินทรีย์ในลำไส้ ดัชนีความเครียด คุณภาพซาก และ คุณภาพเนื้อของไก่เนื้อ

คณะเทคโนโลยีการเกษตร

ผลของการเสริมฟรุคโตโอลิโกแซคคาไรด์ต่อสมรรถภาพการเจริญเติบโต สัณฐานวิทยาของลำไส้ จุลินทรีย์ในลำไส้ ดัชนีความเครียด คุณภาพซาก และ คุณภาพเนื้อของไก่เนื้อ

การเสริมฟรุคโตโอลิโกแซ็กคาไรด์ (FOS) ในอาหารไก่เนื้อภายใต้สภาวะเครียดโดยการเลี้ยงในที่หนาเเน่นและใช้วัสดุรองพื้นเก่าไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในด้านประสิทธิภาพการเจริญเติบโต คุณภาพซาก และคุณภาพเนื้อ (p>0.05) อย่างไรก็ตาม การเสริม FOS ช่วยปรับปรุงสุขภาพของลำไส้โดยเพิ่มอัตราส่วนความสูงวิลลัสต่อความลึกของคริปท์ ทำให้จำนวนแบคทีเรียแลคโตบาซิลลัสเพิ่มขึ้น และจำนวน Escherichia coli ลดลง นอกจากนี้ อัตราส่วนเฮเทอโรฟิลต่อลิมโฟไซต์ลดลง ซึ่งบ่งชี้ถึงระดับความเครียดที่ลดลง

นวัตกรรมเครื่องยนต์สเตอร์ลิงพลังงานสะอาด

คณะวิศวกรรมศาสตร์

นวัตกรรมเครื่องยนต์สเตอร์ลิงพลังงานสะอาด

เนื่องจากความต้องการพลังงานที่มีมากขึ้น แต่เชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักมีอยู่อย่างจำกัดและเป็นสาเหตุหนึ่งของมลพิษและภาวะโลกร้อน ดังนั้นพลังงานทางเลือกจึงเป็นกุญแจสำคัญเพื่อความยั่งยืนด้านพลังงาน ประเทศไทยมีศักยภาพของพลังงานชีวมวลจากเกษตรกรรม ดังนั้นการพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าที่มลพิษต่ำและสามารถใช้ได้กับแหล่งพลังงานทดแทนจึงจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเครื่องยนต์สเตอร์ลิงซึ่งมีโครงสร้างชิ้นส่วนไม่ซับซ้อน ปราศจากการสันดาปภายในเครื่องยนต์จึงเป็นเครื่องยนต์ที่มีศักยภาพผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อ งานวิจัยนี้จึงมุ่งเน้นพัฒนาออกแบบและสร้างต้นแบบเครื่องยนต์สเตอร์ลิงร่วมกับแหล่งพลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาดเพื่อผลิตไฟฟ้าและสาธิตการทำงานจริง เกิดองค์ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีเครื่องยนต์ผลิตไฟฟ้าปราศจากมลพิษในประเทศ ตลอดจนสามารถขยายผลนำไปใช้ประโยชน์กับคนไทย