โยเกิร์ตจากข้าวไม่ขัดสีที่ผสานเม็ดป็อบ Trio Probiotic และซีเรียลข้าวเพื่อสุขภาพ อุดมด้วยสารแอนโทไซยานินที่ช่วยชะลอการเสื่อมของร่างกาย พร้อมโปรไบโอติก 3 ชนิด ที่ส่งเสริมสมดุลลำไส้และระบบขับถ่ายให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ผลิตภัณฑ์นี้ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำกากข้าวจากกระบวนการผลิตมาพัฒนาเป็นซีเรียลเพื่อสุขภาพ อร่อยและมีประโยชน์ครบถ้วนในถ้วยเดียว
1.เนื่องจากในปัจจุบันมีผู้ที่แพ้น้ำตาลแลคโตสเป็นจำนวนมาก และด้วยกระแสของอาหาร plant based ทุกคนเริ่มหันมาให้ความสนใจ พวกเราจึงมีแนวคิดที่จะทำผลิตภัณฑ์โยเกิร์ต plant based จากข้าวหักที่ไม่ผ่านการขัดสี(ข้าวก่ำ และข้าวหอมนิล) ซึ่งเป็นการช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวหัก ที่มีราคาต่ำ ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรไทย 2.อีกทั้งยังมี Pop Trio Probiotic มาในรูปแบบ Spheres ซึ่งมีเชื้อจุลินทรีย์ Probiotics ถึง 3 ชนิด โดยจะทำงานทั้งในลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ ซึ่งความพิเศษ คือ การใช้ Encapsulation Technique ในการบรรจุ เชื้อจุลินทรีย์ Probiotics ถึง 3 ชนิด เพื่อยืดอายุ และปกป้องเชื้อจุลินทรีย์ 3.สุดท้ายนี้ ผลิตภัณฑ์ Yo Fran’s มีการนำ Byproduct จากกระบวนการผลิต มาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า ซึ่งคือ ซีเรียลข้าวกรุบกรอบ นั่นเอง
วิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง
งานวิจัยเรื่องการปรับปรุงความแข็งแรงของเซลล์อิเล็กโทรไลต์ชนิดแข็ง มีวัตถุประสงค์ในการหาแนวทางปรับปรุง คุณสมบัติของเซลล์อิเล็กโทรไลต์ชนิดแข็ง ซึ่งผลิตจากซีเมนต์และสารที่เป็นตัวช่วยในการพัฒนาโครงสร้างของซีเมนต์ให้กำเนิดกระแสไฟฟ้าได้ มีองค์ประกอบของ Sodium chloride (NaCl) และ Graphite เป็นองค์ประกอบหลัก ที่มีความสามารถในการให้กระแสไฟฟ้าในระดับอ่อนๆได้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งกำเนิดกระแสไฟฟ้าสำหรับการใช้เป็นวัสดุปูพื้น ในงานวิจัยนี้มีขั้นตอนการดำเนินงาน โดยประกอบด้วยการเตรียมซีเมนต์กับน้ำ Sodium chloride (NaCl) และ Graphite เพื่อเพิ่มความสามารถในการนำไฟฟ้าของวัสดุงานวิจัยนี้คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะสามารถพัฒนาคอนกรีตปูพื้นที่สามารถให้กำเนิดแสงไฟฟ้าและสามารถที่จะพัฒนาต่อยอดเพื่อประยุกต์ใช้ในงานอื่นๆในอนาคต
คณะเทคโนโลยีการเกษตร
โครงการ "อีโคแมงโก้แพ็ค: บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน" มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์สำหรับมะม่วงน้ำดอกไม้ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผลไม้ อายุการเก็บรักษา และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วัสดุที่เลือกใช้ประกอบด้วยตัวกล่องที่ทำจากไม้กาบมะพร้าว นอกจากนี้ โครงการยังได้นำก้านผักตบชวาอบแห้งมาประยุกต์ใช้เป็นวัสดุรองรับภายในบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มความสามารถในการกันกระแทก ตลอดจนการนำกากกาแฟอบแห้งใส่ในบรรจุภัณฑ์เพื่อยืดอายุของผลมะม่วง ทั้งนี้ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ยังคำนึงถึงการใช้งานของเกษตรกรรายย่อย โดยพัฒนาให้สามารถผลิตได้ในระดับวิสาหกิจชุมชนและลดต้นทุนการผลิต โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของไทย สนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และส่งเสริมการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์
คณะวิศวกรรมศาสตร์
ปัจจุบันแบตเตอรี่ลิเทียมถูกใช้งานอย่างแพร่หลายในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้การประมาณสถานะสุขภาพ (State of Health: SOH) ของแบตเตอรี่มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากสามารถช่วยยืดอายุการใช้งาน ลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา และป้องกันปัญหาด้านความปลอดภัย เช่น ความร้อนสูงเกินหรือการระเบิด โครงงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและวิเคราะห์แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของแบตเตอรี่ ตลอดจนพัฒนาเทคนิคการประมาณสถานะสุขภาพโดยใช้โครงข่ายประสาทเทียม (Neural Networks) เพื่อเพิ่มความแม่นยำและความรวดเร็วในการประเมิน การทดลองได้ทำการเก็บข้อมูลการประจุและคายประจุของแบตเตอรี่ลิเทียมจำนวน 3 เซลล์ ภายใต้อุณหภูมิที่ควบคุม และใช้กระแสคงที่ในการชาร์จและคายประจุไฟฟ้า พร้อมทั้งบันทึกค่ากระแส แรงดัน และเวลา จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อหาค่าความจุของแบตเตอรี่ในแต่ละรอบการใช้งาน และใช้เป็นข้อมูลฝึกสอนโครงข่ายประสาทเทียม ผลลัพธ์ที่ได้ช่วยให้สามารถคาดการณ์สถานะสุขภาพของแบตเตอรี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลจากโครงงานนี้สามารถนำไปพัฒนาระบบจัดการแบตเตอรี่ (Battery Management System) เพื่อช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพและยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ ทั้งยังเป็นแนวทางในการนำเทคนิคปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้ในงานด้านพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ