การดำเนินการวิจัยนี้จะเริ่มจากการทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาเทคโนโลยีและวิธีการที่มีอยู่ในปัจจุบันสำหรับการรู้จำท่าทางมือและการประยุกต์ใช้ในการควบคุมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โดรน หุ่นยนต์ หรือการเล่นเกม ฯลฯ เป็นต้น จากนั้นจะทำการออกแบบและพัฒนาระบบการรู้จำท่าทางมือโดยใช้เทคนิคการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) และการประมวลผลภาพ โดยเน้นการพัฒนาอัลกอริทึมที่สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ เหมาะสมกับการควบคุมแบบเรียลไทม์ ระบบที่พัฒนาขึ้นจะถูกทดสอบและปรับปรุงโดยใช้สถานการณ์จำลองต่าง ๆ เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความแม่นยำในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาส่วนติดต่อผู้ใช้ (User Interface) ที่ใช้งานง่ายและเป็นมิตรกับผู้ใช้ทุกกลุ่ม รวมถึงการทำวิจัยเชิงคุณภาพเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ใช้ทั้งมือใหม่และผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาระบบให้ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้อย่างแท้จริง ในท้ายที่สุด ผลการวิจัยนี้จะนำไปสู่การพัฒนาต้นแบบระบบควบคุมด้วยการรู้จำท่าทางมือที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในอุตสาหกรรมและการบันเทิง อันจะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในอนาคต
ในยุคปัจจุบัน เทคโนโลยีโดรน หุ่นยนต์ และเกมดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันและอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง การควบคุมอุปกรณ์เหล่านี้ส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพารีโมทคอนโทรล จอยสติก หรืออุปกรณ์ควบคุมเฉพาะทาง ซึ่งอาจมีข้อจำกัดในด้านความยืดหยุ่น ความเป็นธรรมชาติในการใช้งาน และการเข้าถึงสำหรับผู้ใช้บางกลุ่ม เช่น ผู้พิการ หรือผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ในสถานการณ์ที่ต้องการความคล่องตัวสูง เช่น การควบคุมโดรนในพื้นที่จำกัด หรือการเล่นเกมที่ต้องการการตอบสนองที่รวดเร็ว การใช้อุปกรณ์ควบคุมแบบดั้งเดิมอาจเป็นข้อจำกัดในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานหรือประสบการณ์การเล่นเกม การพัฒนาเทคโนโลยีการรู้จำท่าทางมือ (Hand Gesture Recognition) จึงเป็นแนวทางที่มีศักยภาพอย่างสูงในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเทคโนโลยีนี้สามารถช่วยให้ผู้ใช้ควบคุมโดรน หุ่นยนต์ หรือเล่นเกม ฯลฯ เป็นต้น ได้อย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น เพียงแค่ใช้ท่าทางมือที่กำหนดไว้ ซึ่งนอกจากจะเพิ่มความสะดวกสบายและความคล่องตัวในการควบคุมแล้ว ยังช่วยเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีสำหรับผู้ใช้ที่มีข้อจำกัดทางร่างกาย อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้มีการพัฒนารูปแบบการควบคุมและการเล่นเกมแบบใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน
คณะเทคโนโลยีการเกษตร
ทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยและเป็นสินค้าส่งออกที่มีปริมาณสูงที่สุดในโลก อย่างไรก็ตาม การผลิตทุเรียนให้มีคุณภาพสูงจำเป็นต้องอาศัยการดูแลสุขภาพของต้นทุเรียนให้แข็งแรงและปราศจากโรค เพื่อให้สามารถให้ผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับทั้งต้นและผลทุเรียน โรคที่พบได้บ่อยและสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว มักเป็นโรคที่เกิดขึ้นบริเวณใบ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเจริญเติบโตของต้นทุเรียนและคุณภาพของผลผลิต การตรวจสอบและควบคุมโรคทางใบจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาคุณภาพของทุเรียน งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเทคโนโลยีการวิเคราะห์ภาพถ่ายร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) มาประยุกต์ใช้ในการจำแนกโรคที่เกิดขึ้นในใบทุเรียน เพื่อให้เกษตรกรสามารถตรวจสอบโรคได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ โดยจำแนกใบออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ใบสุขภาพดี (Healthy: H) ใบที่ติดเชื้อแอนแทรคโนส (Anthracnose: A) และใบที่ติดเชื้อจุดสาหร่าย (Algal Spot: S) ทั้งนี้ ได้นำอัลกอริทึม Convolutional Neural Networks (CNN) ได้แก่ ResNet-50, GoogleNet และ AlexNet มาใช้ในการพัฒนาแบบจำลองเพื่อจำแนกประเภทของโรค ผลการทดลองพบว่า แบบจำลองที่ใช้ ResNet-50, GoogleNet และ AlexNet ให้ค่าความแม่นยำในการจำแนกใบเท่ากับ 93.57%, 93.95% และ 68.69% ตามลำดับ
คณะวิศวกรรมศาสตร์
โครงงานนี้พัฒนาแพลตฟอร์มที่ใช้คอมพิวเตอร์วิทัศน์วิเคราะห์ภาพจากกล้องวงจรปิดแบบเรียลไทม์ เพื่อตรวจจับการกระทำผิดกฎหมายจราจร เช่น การฝ่าฝืนขับรถเข้าเขตที่มีเส้นทึบ ระบบสามารถระบุและบันทึกเหตุการณ์ละเมิดกฎจราจรโดยอัตโนมัติ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายและลดภาระของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร นอกจากนี้ ยังเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบเมืองอัจฉริยะ โดยบูรณาการข้อมูลเพื่อปรับปรุงการจัดการจราจรและความปลอดภัยบนท้องถนน
คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ
แนวคิดเรื่องการสร้างเมืองที่เป็นมิตรต่อผู้สูงอายุด้วยการปรับสภาพแวดล้อมทางกายภาพถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยเหตุนี้การออกแบบทางเท้าที่เหมาะสมและคำนึงถึงความต้องการของผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อาศัยภายในชุมชนวัดธาตุและชุมชนวัดกลางเขตเทศบาลนครขอนแก่น ปัจจุบันเป็นพื้นที่ที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สำรวจสภาพแวดล้อมกายภาพของทางเดินเท้าในการเข้าถึงสาธารณูปการ 2) สำรวจพฤติกรรมและความพึงพอใจของผู้สูงอายุที่มีต่อทางเดินเท้าภายในชุมชน 3) จัดทำข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาทางเดินเท้าที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้สูงอายุที่อาศัยในเขตเมือง โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสานวิธีเครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วยแบบสำรวจสภาพแวดล้อมทางกายภาพของทางเดินเท้าเพื่อวิเคราะห์ปัญหา ข้อจำกัดและศักยภาพของทางเดินเท้า ร่วมกับแบบสัมภาษณ์สำนักการ ช่าง เทศบาลนครขอนแก่น แบบสอบถามพฤติกรรมการเดินทาง แบบสอบถามความพึงพอใจและทัศนคติของผู้สูงอายุที่มีต่อทางเดินเท้าในชุมชน และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 370 คน ผลการศึกษาสภาพแวดล้อมทางกายภาพตามรายการตรวจสอบทั้ง 6 องค์ประกอบ พบว่า มีองค์ประกอบที่ผ่านเกณฑ์การประเมิน 3 ด้าน ได้แก่ 1) การใช้ประโยชน์ที่ดินในชุมชน 2) การเชื่อมต่อของโครงข่ายสัญจร และ 3) ความสวยงามของสถานที่น่าสนใจดึงดูดการเดิน องค์ประกอบที่ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน 3 ด้าน ได้แก่ 1) การมีเส้นทางเดินเท้าที่ปลอดภัย 2) การออกแบบเพื่อทุกคนและ 3) การเดินเข้าถึงสาธารณูปการและสิ่งอำนวยความสะดวก การศึกษาพฤติกรรมการเดินทางของผู้สูงอายุที่ตอบแบบสอบถามพบว่า วัตถุประสงค์ในการเดินทางส่วนใหญ่เดินทางเพื่อไปแหล่งจับจ่ายใช้สอย และพื้นที่ นันทนาการ มีความถี่ในการเดินทาง 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ด้านความพึงพอใจของผู้สูงอายุที่มีต่อทางเดินเท้าภายในชุมชนในภาพรวมอยู่ในระดับมาก และได้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมให้มีการพัฒนาเส้นทางเดินเท้าที่ปลอดภัย เพื่อรองรับการเดินทางเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกและสาธารณูปการได้อย่างปลอดภัย