โครงงานนี้จัดทำขึ้นเพื่อออกแบบ และพัฒนาระบบติดตามดวงตาเพื่อช่วยเหลือการสื่อสารสำหรับผู้ป่วยอัมพาตที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ ระบบนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถสื่อสาร หรือบอกความต้องการกับผู้ดูแล หรือสมาชิกในครอบครัวด้วยวิธีการตรวจจับและติดตามดวงตาด้วยอุปกรณ์ Tobii Eye Tracker 5 วิธีการนี้เป็นการสื่อสารแทนการขยับร่างกาย หรือการพูดของผู้ป่วยอัมพาต ระบบสามารถตรวจจับและติดตามดวงตาที่ระยะสายตา 55 ถึง 85 เซนติเมตร ระบบถูกออกแบบให้สามารถติดตั้งได้บนคอมพิวเตอร์เพื่อง่ายต่อการใช้งาน หน้าจอของโปรแกรมประกอบด้วย 3 ส่วน 1) ชุดคำสั่งทางความรู้สึก และ 2) ชุดคำสั่งทางความต้องการ 3) ชุดคำสั่งเพิ่มเติม สามารถรับค่าได้จากแป้นพิมพ์เสมือนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และสามารถระบุความต้องการเพิ่มเติมผ่านการพิมพ์ด้วยการตรวจจับสายตา นอกจากนี้ระบบยังสามารถสร้างเสียงสังเคราะห์จากข้อความที่มีความยากในการอ่านออกเสียง ส่งข้อความแจ้งเตือนไปที่แอปพลิเคชันไลน์ และจัดเก็บข้อมูลการใช้งานบนฐานข้อมูลในรูปแบบแดชบอร์ด จากผลการทดสอบระบบพบว่าระยะทาง 65 ถึง 75 เซนติเมตร เป็นระยะที่ตรวจจับที่ดีที่สุดเนื่องจากมีค่าความคลาดเคลื่อนไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นต์ สามารถตอบสนองการมองเพื่อสื่อสารผ่านเสียงตามปุ่มการทำงานต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องโดยใช้เวลา 3 วินาที ระบบนี้สามารถติดตามดวงตาของผู้ป่วยอัมพาตที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้เพื่อช่วยในการสื่อสาร เช่น การแสดงความรู้สึก การแสดงความต้องการ เป็นต้น ซึ่งเป็นวิธีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพต่อผู้ป่วยและผู้ดูแลหรือสมาชิกในครอบครัวให้มีความเข้าใจต่อผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น
จากรายงานสถิติสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขในปี 2566 ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมากถึง 355,193 ราย เสียชีวิต 34,518 ราย ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีอายุน้อยกว่า 70 ปี เป็นโรคหลอดเลือดสมอง ขณะที่โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS) ซึ่งแม้จะมีโอกาสเป็นได้น้อยกว่า แต่หนทางการรักษาให้หายเป็นปกติมีน้อย (ข้อมูลในระบบคลังข้อมูลสุขภาพ HDC กระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 22 กรกฎาคม 2567) ที่สำคัญผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง อัมพาต และโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงส่วนใหญ่ยังต้องเผชิญสภาวะการสูญเสียความสามารถทางการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือการสื่อสาร อย่างไรก็ตามผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกาย และพูดคุยสื่อสารได้ส่งผลให้การใช้ชีวิตนั้นยากลำบาก ไม่แม้แต่จะบอกถึงความรู้สึก และความต้องการพื้นฐานให้กับผู้ดูแล หรือสมาชิกในครอบครัวให้รับรู้ ซึ่งปัจจุบันนั้นวิธีการสื่อสารเพื่อการรักษา หรือการดูแลผู้ป่วยอัมพาตที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้มีข้อจำกัดในด้านการสื่อสารเป็นอย่างมาก เช่น วิธีการใช้ภาพพิมพ์ หรือบอร์ดคำ มีข้อจำกัดในด้านจำนวนคำ หรือภาพที่แสดงทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถสื่อสารให้เป็นไปตามความต้องการ หรือความรู้สึกของผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องตามความต้องนั้น ๆ ได้อย่างเต็มที่ ระบบติดตามดวงตาเพื่อช่วยเหลือการสื่อสารสำหรับผู้ป่วยอัมพาตที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ประยุกต์ใช้งานเซ็นเซอร์ติดตามดวงตา Tobii Eye Tracker และโปรแกรม Unity สร้างหน้าต่างผู้ใช้งาน (User Interface) เป็นรูปแบบของชุดคำสั่งการสื่อสาร โดยมีการส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชันไลน์ และเก็บข้อมูลผลการตอบสนองความต้องการประจำวันของผู้ป่วยใน Google Sheet จากนั้นนำมาแสดงผลผ่าน Dashboard โดยใช้ Google Looker ซึ่งหากมีการใช้งานระบบติดตามดวงตาผู้ป่วยสามารถสื่อสารความต้องการได้ง่าย และตรงต่อความต้องการมากขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยและผู้ดูแล
คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี
มัลเบอร์รีคีเฟอร์ เป็นเครื่องดื่มจากผลหม่อนสุกที่ผ่านการหมัก ผลิตจากน้ำสกัดจากผลหม่อนสุก มีลักษณะปรากฎเป็นสีแดงชมพูซึ่งเป็นสีของสารแอนโทไซยานินตามธรรมชาติในผลหม่อน โดยแอนโทไซยานินมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีสารพรีไบโอติกฟรุคโทโอลิโกแซคคาไรด์ จุลินทรีย์โพรไบโอติก Lactobacillus และ Saccharomeces มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว มีความซ่า มีแอลกอฮอล์เล็กน้อย รสชาติและความซ่าเกิดจากเทคโนโลยีการผลิต ซึ่งใช้กระบวนการหมักจากจุลินทรีย์ มัลเบอร์รีคีเฟอร์ จัดเป็นเครื่องดื่มฟังค์ชัน (Functional Beverage) ที่ผลิตจากพืช (Plant Based Beverage) เหมาะกับผู้ที่แพ้น้ำตาลแลคโทส รวมถึงผู้ที่ไม่บริโภคเครื่องดื่มที่ผลิตจากน้ำนม ดื่มแล้วรู้สึกสดชื่น
คณะวิศวกรรมศาสตร์
โครงการนี้จัดทำขึ้นเพื่อตอบสนองต่อปัญหาในทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการนับและแยกเซลล์เม็ดเลือดจากตัวอย่าง ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาและความแม่นยำสูง เพื่อช่วยลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ ทางผู้จัดทำจึงได้พัฒนา แพลตฟอร์มและระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่สามารถจำแนกประเภทและนับจำนวนเซลล์จากภาพตัวอย่างได้โดยอัตโนมัติ ระบบนี้ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยผ่อนแรงนักเทคนิคการแพทย์ให้สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น ลดระยะเวลาในการตรวจวิเคราะห์ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีในวงการแพทย์ เพื่อให้สามารถรองรับการใช้งานในระดับห้องเรียน ห้องปฏิบัติการจนถึงโรงพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คณะวิทยาศาสตร์
การพัฒนาครีมบำรุงมือจากสารสกัดต้นแก้ว ด้วยกระบวนการสกัดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยงานวิจัยนี้มุ่งเน้นการสกัดสารสำคัญจากต้นแก้วโดยใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สารสกัดที่ได้มีคุณสมบัติเด่นในการต้านแบคทีเรียและต้านอนุมูลอิสาระ และถูกนำไปพัฒนาเป็นส่วนผสมของครีมบำรุงมือ