KMITL Innovation Expo 2025 Logo

แนวทางการออกแบบอัตลักษณ์สำหรับสถานีรถไฟความเร็วสูง

รายละเอียด

งานวิจัยนี้มีเป้าหมายเพื่อเสนอแนะแนวทางการออกแบบอัตลักษณ์สำหรับสถานีรถไฟความเร็วสูง โดยแบ่งขั้นตอนการศึกษาออกเป็น 4 ขั้นตอน 1) การสำรวจและวิเคราะห์อัตลักษณ์บริเวณสถานีรถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่น และไต้หวัน 2) การเปรียบเทียบการรับรู้สภาพแวดล้อมของผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร โดยใช้แบบสอบถามชุดที่ 1 จากผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) รถไฟฟ้ามหานครสายสีน้ำเงิน (MRT BL) รถไฟฟ้าแอร์พอตเรียลลิ้งค์ (APL) หรือ AERA1 และ รถไฟฟ้ามหานครสายสีม่วง(MRT PPL) จำนวน 800 คน 3) การสำรวจ และวิเคราะห์การรับรู้อัตลักษณ์บริเวณสถานีของผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ามหานครสายสีน้ำเงิน (MRT BL) โดยใช้แบบสอบถามชุดที่ 2 จากผู้ใช้บริการ จำนวน 800 คน สถานีวัดมังกร สามยอด สนามไชย และอิสรภาพ 4) การศึกษาและสำรวจสภาพแวดล้อมรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หนองคาย จากนั้นนำผลการศึกษาที่ได้มาสังเคราะห์แนวทางการออกแบบอัตลักษณ์โดยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 12 ท่าน โดยใช้แบบสัมภาษณ์เพื่อการสรุปผลกรอบแนวคิดการออกแบบอัตลักษณ์สำหรับสถานีรถไฟความเร็วสูง ผลการวิจัย พบว่า อัตลักษณ์บริเวณสถานีรถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่น และไต้หวัน สถานีเป็นองค์ประกอบหนึ่งจากสถาปัตยกรรมด้านประวัติศาสตร์ที่มีความสอดคล้องกับสถานที่ สังคม วิถีชีวิต รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญใกล้สถานี สภาพแวดล้อมภายนอกสถานีมีผลต่อการรับรู้ของผู้ใช้บริการมากที่สุด ได้แก่ อาคารภายนอก จุดเชื่อมต่อของระบบขนส่งสาธารณะใกล้เคียง และประตูทางเข้าออกสถานี โดยแนวทางการออกแบบอัตลักษณ์สำหรับสถานีรถไฟความเร็วสูง สามารถสรุปอัตลักษณ์ในการออกแบบได้ 4 ประเภท ดังนี้ 1) อัตลักษณ์ทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม 2) อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม 3) อัตลักษณ์จากการ์ตูน และ 4) อัตลักษณ์ทางด้านศิลปะและงานออกแบบ

วัตถุประสงค์

อัตลักษณ์บริเวณสถานีรถไฟเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างความแตกต่างในพื้นที่สาธารณะ และสะท้อนความเป็นตัวตนเฉพาะของชุมชน สังคม และวัฒนธรรมท้องถิ่น การนำเสนออัตลักษณ์ที่ชัดเจนผ่านการใช้ภาษาภาพส่งผลต่อการจดจำและการรับรู้ของผู้ใช้บริการ อีกทั้งยังเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างความรู้สึกนึกถึงถิ่นที่ (Sense of Place) ซึ่งเป็นการหยั่งรากลึกของการดำรงอยู่ในการศึกษาย่านชุมชน โดยการเชื่อมโยงระหว่างกายภาพและนามธรรมเข้าด้วยกัน (Marisa and Nopadon, 2022) การพัฒนาการออกแบบอัตลักษณ์บริเวณสถานีรถไฟมีต้นแบบจากต่างประเทศ ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่ริเริ่มแนวคิดและพัฒนารถไฟความเร็วสูงจนเป็นต้นแบบให้กับระบบรถไฟความเร็วสูงทั่วโลก รถไฟความเร็วสูงสายแรก คือ รถไฟชินกันเซ็นสาย Tokaido Shinkansen ที่เปิดให้บริการในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2507 เชื่อมต่อระหว่างกรุงโตเกียวและนครโอซาก้า มีระยะทาง 553 กิโลเมตร ต่อมาในประเทศไต้หวันซึ่งมีรถไฟความเร็วสูงที่ใช้ขบวนรถไฟด้วยเทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่น (ในขณะที่โครงสร้างพื้นฐานและระบบยังเป็นของเยอรมนี) ซึ่งมีความน่าสนใจด้วยเทคโนโลยีทั้งเอเชียและยุโรปโดยมีความเร็วติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก (กรมการขนส่งทางราง. 2561) รวมไปถึงรถไฟฟ้าที่เชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนในเมือง โดยสถานีรถไฟได้ถูกแบ่งออกตามพื้นที่การใช้งานของสถานี ได้แก่ ทางเข้าออก จุดประชาสัมพันธ์จำหน่ายตั๋ว ผนัง ทางเดิน เสา ป้ายบอกทาง แผนที่ และชานชลา จากพื้นที่ดังกล่าวนอกจากสัญลักษณ์บอกทาง ยังพบว่า บริเวณสถานีมีอัตลักษณ์รูปแบบตามถิ่นที่อยู่ของชุมชนบริเวณนั้น ช่วยสร้างความรู้สึกนึกคิด การรับรู้ต่อผู้ใช้บริการ โดยจากข้อมูลดังกล่าวจะเป็นแนวทางการศึกษาเปรียบเทียบด้านองค์ประกอบของสถานี รูปแบบอัตลักษณ์ การนำอัตลักษณ์ไปใช้บริเวณสถานี ด้วยอนาคตอันใกล้นี้ประเทศไทยกำลังจะมีรถไฟความเร็วสูงให้ใช้บริการ ในปัจจุบัน อยู่ในกระบวนการก่อสร้าง การศึกษาแนวทางการออกแบบอัตลักษณ์บริเวณสถานีรถไฟความเร็วสูง จึงเป็นสิ่งที่สามารถสร้างสรรค์ให้มีคุณค่าที่จะบอกถึงความเป็นตัวตน ถิ่นฐานเฉพาะ รวมถึงสถานที่สำคัญที่อยู่ใกล้เคียงสถานี เป็นการสร้างคุณค่าทางวัฒนธรรม รวมไปถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยว และเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิต สถานีรถไฟในประเทศไทยมีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น ด้วยการออกแบบที่สอดคล้องกับการใช้สอยและสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น รวมถึงความงามในลักษณะพื้นถิ่น (ปริญญา ชูแก้ว, 2554) ตามหลักการกระบวนการสัมพันธ์การเรียนรู้พื้นที่ สภาพแวดล้อมต้องมีลักษณะที่เอื้อต่อการสร้างจินตภาพได้ง่าย เช่น การใช้ภูมิสัญลักษณ์ที่เป็นสัญญาณชี้แนะที่ช่วยในการรับรู้และเข้าใจ (วิมลสิทธิ หรยางกูร, 2556) การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและสำรวจอัตลักษณ์บริเวณสถานีรถไฟความเร็วสูงและรถไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน และประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการเปรียบเทียบรูปแบบอัตลักษณ์ พื้นที่ของสถานี วิธีการสร้างสรรค์ และการรับรู้จากผู้ใช้บริการ เพื่อนำมาพัฒนาแนวทางการออกแบบอัตลักษณ์สำหรับสถานีรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หนองคาย ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างไทย-จีน โดยผลการศึกษาที่ได้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการออกแบบอัตลักษณ์ของสถานีในด้านต่างๆ อาทิ การสร้างสัญลักษณ์ประจำสถานี การออกแบบตัวนำโชค (Mascot) การพัฒนาของที่ระลึก ตลอดจนสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับระบบรถไฟความเร็วสูง นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างคุณค่าทางวัฒนธรรมให้กับชุมชนและสังคมไทย อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศในยุคไทยแลนด์ 4.0 อย่างยั่งยืน

นวัตกรรมอื่น ๆ

การปรับปรุงพันธุ์เบญจมาศโดยใช้สิ่งก่อกลายพันธุ์

คณะเทคโนโลยีการเกษตร

การปรับปรุงพันธุ์เบญจมาศโดยใช้สิ่งก่อกลายพันธุ์

ศึกษาผลของสารก่อกลายพันธุ์ ethyl methane sulfonate (EMS) และสารโคลชิซินในการชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ของเฐญจมาศในสภาพปลอดเชื้อ โดยทำการแช่เนื้อเยื้อเบญจมาศในสารละลายที่รดับความเข้มข้นต่างๆในระยะเวลาที่แตกต่างกัน พบว่า ชิ้นส่วนเริ่มต้นที่แช่สารละลาย EMS ส่งผลต่อลักษณะทางสัณฐานวิทยาที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งสีดอกและรูปทรงของดอก ส่วนสารละลายโคลชิซินส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของจำนวนโครโมโซม และเพิ่มขนาดของต้นและดอก และตรวจสอบด้วยเครื่องหมายโมเลกุลสามารถแยกความแตกต่าง การใช้สิ่งก่อกลายพันธุ์ร่วมกับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสามารถชักนำให้เกิดลักษณะใหม่ นำไปสู่การพัฒนาพันธุ์เพื่อเป็นไม้ดอกการค้าได้

ระบบปัญญาประดิษฐ์ของสรรพสิ่งสำหรับติดตามและควบคุมการให้น้ำพืชโดยใช้ข้อมูลสภาพอากาศ

วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์

ระบบปัญญาประดิษฐ์ของสรรพสิ่งสำหรับติดตามและควบคุมการให้น้ำพืชโดยใช้ข้อมูลสภาพอากาศ

งานวิจัยนี้เป็นการออกแบบและสร้างเครื่องต้นแบบระบบปัญญาประดิษฐ์ของสรรพสิ่งสำหรับติดตามและควบคุมการให้น้ำพืชโดยใช้ข้อมูลสภาพอากาศ โดยระบบประกอบไป 4 ส่วนสำคัญ คือ ส่วนที่ 1 สถานีตรวจวัดสภาพอากาศ (Weather Station) ประกอบไปด้วยเซ็นเซอร์ต่าง ๆ เช่น อุณหภูมิอากาศ ความชื้นสัมพัทธ์ ความเร็วลม และความยาวนานของแสง เป็นต้น ส่วนที่ 2 หน่วยประมวลผล (Controller Unit) โดยจะมีการติดตั้งอัลกอริทึมหรือแบบจำลองการเรียนรู้ของเครื่องเพื่อใช้ประเมินค่าการคายระเหยน้ำของพืชอ้างอิง (ETo) และจะใช้คำนวณร่วมกับค่าสัมประสิทธิ์การใช้น้ำของพืชนั้น ๆ (Crop Coefficient: Kc) และข้อมูล อื่น ๆ เกี่ยวกับพืชนั้น ๆ เพื่อประเมินปริมาณการใช้น้ำตามความต้องการของพืชโดยอัตโนมัติ ส่วนที่ 3 ส่วนติดต่อผู้ใช้งานและหน้าจอแสดงผล (User Interface (UI) and Display) เป็นส่วนที่ให้เกษตรกรหรือผู้ใช้งานสามารถป้อนข้อมูลเกี่ยวกับชนิดของพืช ชนิดของดินที่ปลูก ประเภท ของระบบการให้น้ำ จำนวนหัวจ่ายน้ำ ระยะปลูก และช่วงการเจริญเติบโตของพืช เป็นต้น และส่วนที่ 4 หน่วยควบคุมและหัวจ่ายน้ำ (Irrigation Unit)

การวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเพิ่มผลผลิตในโรงงานผลิตน้ำตาลจากอ้อย

คณะวิทยาศาสตร์

การวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเพิ่มผลผลิตในโรงงานผลิตน้ำตาลจากอ้อย

การผลิตน้ำตาลจากอ้อยเป็นกระบวนการที่มีความซับซ้อนและต้องการการควบคุมที่แม่นยำ หนึ่งในปัญหาสำคัญคือการสูญเสียน้ำตาล ซึ่งอาจเกิดจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะ “การเผาอ้อย” ก่อนนำเข้าหีบ ที่ลดคุณภาพอ้อยและประสิทธิภาพการสกัดน้ำตาล รวมถึง ประสิทธิภาพเครื่องจักรและคุณสมบัติของอ้อย ที่ส่งผลต่อปริมาณน้ำตาลที่ได้ งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการสูญเสียน้ำตาลในกระบวนการผลิตน้ำตาลจากอ้อย โดยใช้ข้อมูลเชิงปริมาณจากโรงงานน้ำตาล ครอบคลุม 9 ตัวแปร ได้แก่ ประสิทธิภาพเครื่องจักร (Mechanical efficiency), จำนวนชั่วโมงหยุดเครื่องจักรในหนึ่งวัน (Stoppage), จำนวนชั่วโมงหยุดรออ้อยในหนึ่งวัน (Due to Cane), ปริมาณทรายในน้ำอ้อย (Sand), ประสิทธิภาพการหีบสกัดอ้อย (Pol Extraction), ประสิทธิภาพเวลาการทำงานโดยรวม (Overall Time), ค่าความบริสุทธิ์ของน้ำอ้อย (Purity), ค่าปริมาณน้ำตาลในอ้อย (C.C.S.), และปริมาณอ้อยไฟไหม้ (Burn Cane) โดยจะทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าสหสัมพันธ์ (Correlation) เพื่อตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร และแบบจำลองการถดถอย (Regression Model) เพื่อพยากรณ์การสูญเสียน้ำตาล ผลการวิจัยพบว่า ประสิทธิภาพเครื่องจักร, ค่าปริมาณน้ำตาลในอ้อย และปริมาณทรายหรือสิ่งปนเปื้อนในน้ำอ้อย มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับการสูญเสียน้ำตาล โดยประสิทธิภาพเครื่องจักร มีความสัมพันธ์โดยตรงกับปริมาณอ้อยเข้าหีบ ซึ่งช่วยเพิ่มผลผลิตน้ำตาล ขณะที่ อ้อยไฟไหม้หรืออ้อยที่ถูกเผาก่อนการเก็บเกี่ยว ส่งผลให้การสกัดน้ำตาลลดลงและกระทบต่อคุณภาพน้ำตาล ดังนั้น การลดการสูญเสียน้ำตาลในกระบวนการผลิตสามารถทำได้โดย การเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักร, ลดสิ่งปนเปื้อนในน้ำอ้อย และจัดการอ้อยไฟไหม้ ซึ่งจะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลให้สูงขึ้นได้ในอนาคต