สภาพแวดล้อมที่แปรปรวนในปัจจุบันทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนพืชอาหารสัตว์ในฤดูแล้งเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น การศึกษาผลของความหนาบรรจุภัณฑ์ ต่อคุณภาพข้าวโพดอาหารสัตว์ในระหว่างการเก็บรักษาระยะยาวเพื่อคงคุณภาพของข้าวโพดหมักในฤดูแล้งเนื่องจากเกิดการขาดแคลน ผลการศึกษาพบว่า บรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดความหนา 80, 120, 150 และ 200 ไมครอนที่อายุ 0-21 วัน มีคุณสมบัติทางกายภาพได้แก่ กลิ่น, เนื้อพืชหมัก, สี และค่าความเป็นกรด-ด่างอยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยกลิ่นของพืชหมักจะมีความคล้ายกลิ่นผลไม้ดอง หรือน้ำส้มสายชู เนื้อพืชหมักจะมีความแน่น ส่วนใบและลำต้นคงสภาพเดิม สีของพืชหมักมีสีเหลืองอมเขียว และมีค่าความเป็นกรด-ด่างอยู่ระหว่าง 3.7-4.7 การวิเคราะห์ปริมาณกรดแลคติก พบว่า บรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดความหนา 200 ไมครอนที่อายุเก็บรักษา 21 วัน มีปริมาณกรดแลคติกมากที่สุด (5.64%) และคุณค่าทางโภชนะของข้าวโพดหมักในบรรจุภัณฑ์ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ
ปัจจุบันแนวโน้มการเลี้ยงโคเนื้อและโคนมของประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 มีจำนวนโคเนื้อเพิ่มขึ้นเป็น 9,394,111 ตัวจาก 6,583,106 ตัวในปี 2554 และจำนวนโคนมเพิ่มขึ้นจาก 560,659 ตัว เป็น 812,235 ตัว (กรมปศุสัตว์, 2565) ทำให้ปัญหาการขาดแคลนพืชอาหารสัตว์ในฤดูแล้งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น การทำหญ้าหมัก (silage) เป็นการถนอมอาหารสัตว์ที่นิยมชนิดหนึ่ง โดยเป็นการนำพืชอาหารสัตว์ เช่น ต้นข้าวโพด ต้นข้าว ฟ่าง หญ้าหรือถั่วต่าง ๆ ที่เก็บเกี่ยวในขณะที่มีความชื้นพอเหมาะมาหมักเก็บไว้ในสภาพสุญญากาศ ซึ่งเป็นการถนอมพืชอาหารสัตว์ไว้ในสภาพหมักดอง เมื่อพืชอาหารสัตว์สด ๆเปลี่ยนสภาพเป็นหญ้าหมักแล้วจะสามารถอยู่ได้เป็นเวลานานโดยคุณค่าทางอาหารไม่เปลี่ยนแปลง (สายัณห์, 2547) ข้าวโพดหมักยังมีคุณสมบัติให้ผลผลิตและพลังงานสูงกว่าพืชอาหารสัตว์ส่วนใหญ่ การถนอมพืชอาหารสัตว์ ในรูปแบบของพืชหมัก (Silage) เป็นสิ่งจำเป็นในการเลี้ยงโคนมในปัจจุบัน เพื่อทดแทนการขาดแคลนอาหารหยาบคุณภาพดี สำหรับโคนมในช่วงฤดูแล้ง เป้าหมายหลักในการเก็บถนอมพืชอาหารสัตว์ คือ ทำให้พืชที่เก็บถนอมไว้นั้นยังมีคุณค่าทางอาหารใกล้เคียงกับของเดิมมากที่สุดหรือมีการสูญเสียน้อยที่สุดและสัตว์สามารถกินได้ดี และการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมจะช่วยรักษาคุณภาพและสามารถป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายได้ ข้าวโพดหมักจึงเป็นพืชอาหารสัตว์ที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งการเลี้ยงโคนมต้องมีอาหารหยาบที่มีคุณภาพจะส่งผลให้คุณภาพน้ำนมมีสารอาหารที่สมบูรณ์ ดังนั้น การศึกษานี้จึงมุ่งศึกษาผลของความหนาบรรจุภัณฑ์ต่อคุณภาพข้าวโพดหมักอาหารสัตว์
คณะวิทยาศาสตร์
วาเนเดียมไดออกไซด์เป็นวัสดุเปลี่ยนเฟส โดยคุณสมบัติเฉพาะคือโครงสร้างผลึกจะเปลี่ยนแปลงเมื่อเพิ่มความร้อนจนถึงอุณหภูมิเปลี่ยนเฟสและโครงสร้างจะเปลี่ยนเฟสกลับเมื่อลดอุณหภูมิให้ต่ำกว่าอุณหภูมิเปลี่ยนเฟส หากเทียบกับวัสดุทั่วไปแล้วการเปลี่ยนเฟสจะส่งผลให้คุณสมบัติทางแสงเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เราสามารถใช้คุณสมบัตินี้ในการออกแบบอุปกรณ์ฟิล์มบางเพื่อการใช้งานเป็นโหมดได้ ในงานวิจัยนี้ ผู้ทำได้เลือกอุปกรณ์ฟิล์มบางสองประเภทที่ทำจากวาเนเดียมไดออกไซด์ มาออกแบบเพื่อเพิ่มโครงสร้างสั่นพ้องแบบไม่สมมาตรขึ้นมาใหม่ โดยโครงสร้างถูกออกแบบมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของชั้นวาเนเดียมไดออกไซด์ที่อยู่ตรงกลาง และมีลักษณะลดการสะท้อนในโหมดการทำงานปกติ อภิปรายถึงช่องสั่นพ้อง, ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อใช้วัสดุเปลี่ยนเฟส, ข้อดีและข้อจำกัดของวิธีการออกแบบใหม่นี้ด้วย
คณะวิศวกรรมศาสตร์
การออกแบบและพัฒนาระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ระยะไกล งานวิจัยนี้มุ่งเน้นการออกแบบและพัฒนาระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ที่สามารถมอนิเตอร์และควบคุมจากระยะไกล พร้อมทั้งรองรับการกำหนดคุณสมบัติของเซลล์แบตเตอรี่ได้ตามต้องการ ระบบนี้ได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับใช้งานร่วมกับเซลล์แบตเตอรี่กราฟีน และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในระบบพลังงานทางเลือกสำหรับที่อยู่อาศัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คณะวิทยาศาสตร์
การดำเนินการวิจัยนี้จะเริ่มจากการทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาเทคโนโลยีและวิธีการที่มีอยู่ในปัจจุบันสำหรับการรู้จำท่าทางมือและการประยุกต์ใช้ในการควบคุมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โดรน หุ่นยนต์ หรือการเล่นเกม ฯลฯ เป็นต้น จากนั้นจะทำการออกแบบและพัฒนาระบบการรู้จำท่าทางมือโดยใช้เทคนิคการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) และการประมวลผลภาพ โดยเน้นการพัฒนาอัลกอริทึมที่สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ เหมาะสมกับการควบคุมแบบเรียลไทม์ ระบบที่พัฒนาขึ้นจะถูกทดสอบและปรับปรุงโดยใช้สถานการณ์จำลองต่าง ๆ เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความแม่นยำในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาส่วนติดต่อผู้ใช้ (User Interface) ที่ใช้งานง่ายและเป็นมิตรกับผู้ใช้ทุกกลุ่ม รวมถึงการทำวิจัยเชิงคุณภาพเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ใช้ทั้งมือใหม่และผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาระบบให้ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้อย่างแท้จริง ในท้ายที่สุด ผลการวิจัยนี้จะนำไปสู่การพัฒนาต้นแบบระบบควบคุมด้วยการรู้จำท่าทางมือที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในอุตสาหกรรมและการบันเทิง อันจะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในอนาคต