การศึกษานี้มุ่งเน้นพัฒนาสูตรและวิเคราะห์คุณสมบัติของเจลลี่คอมบูชาเสริมคอลลาเจน ทั้งในด้านรสชาติ ภาพลักษณ์ และคุณประโยชน์ เพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่แปลกใหม่และตอบโจทย์ตลาดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและความงาม โดยมีการทดสอบทางประสาทสัมผัส (Sensory Test) เพื่อประเมินคุณภาพและความพึงพอใจของผู้บริโภค
ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่รับประทานง่ายและมีคุณค่าทางโภชนาการ การผลิต เจลลี่คอมบูชาเสริมคอลลาเจน จึงเป็นทางเลือกใหม่ที่รวมคุณสมบัติของ คอมบูชา ซึ่งอุดมด้วยจุลินทรีย์โปรไบโอติกและสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีต่อระบบย่อยอาหาร กับ คอลลาเจน ที่ช่วยเสริมสร้างความยืดหยุ่นของผิว ผลิตภัณฑ์นี้ออกแบบให้อยู่ในรูปแบบเจลลี่เพื่อความสะดวกในการบริโภคและพกพา คอมบูชาเป็นชาหมักที่ได้รับความนิยมมายาวนาน มีสารโพรไบโอติกช่วยปรับสมดุลลำไส้และเสริมภูมิคุ้มกัน อีกทั้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดความเสี่ยงของโรคต่างๆ เช่น โรคทางเดินอาหารและระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง ในขณะเดียวกัน คอลลาเจนเป็นโปรตีนสำคัญที่ช่วยบำรุงผิวพรรณ ผม และเล็บ การผสมผสานทั้งสองเข้าด้วยกันในรูปแบบเจลลี่ ทำให้สามารถบริโภคได้ง่ายขึ้นและเสริมประโยชน์ต่อสุขภาพแบบองค์รวม
คณะวิศวกรรมศาสตร์
ไผ่เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าผ่านการแปรรูปเป็นถ่านชีวมวล ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงและมีประโยชน์ในหลายอุตสาหกรรม งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพของถ่านไม้ไผ่ โดยเปรียบเทียบการผลิตถ่านจากเตาเผาไม้ไผ่ต้นแบบกับเตาเผาอุตสาหกรรม วิเคราะห์ผลผลิตที่ได้และประสิทธิภาพเชิงความร้อนของแต่ละสภาวะการเผา พบว่าการทดสอบเตาเผาต้นแบบที่สภาวะที่ 3 อุณหภูมิ 500 องศาเซลเซียส ระยะเวลา 8 ชั่วโมง ให้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกับเตาเผาอุตสาหกรรม โดยมีประสิทธิภาพเชิงความร้อนร้อยละ 37.05 และ 41.29 ตามลำดับ ถ่านชีวมวลที่ได้มีคุณภาพสูง โดยมีปริมาณคาร์บอนอินทรีย์ร้อยละ 73.92 และ 75.24 โดยน้ำหนักตามลำดับ และมีอัตราส่วนโมลของไฮโดรเจนต่อคาร์บอนอินทรีย์ 0.51 และ 0.29 ตามลำดับ ซึ่งจัดอยู่ในมาตรฐานถ่านชีวมวลระดับสูงสุด (IBI Standard) อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ พบว่าต้นทุนการผลิตยังค่อนข้างสูง จึงเหมาะสมกับผู้ที่มีชีวมวลไม้ไผ่เหลือใช้จากกิจกรรมอื่น
คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี
การวิจัยนี้ยืนยันถึงศักยภาพของเส้นใยไผ่ตงในฐานะวัตถุดิบที่ยั่งยืนสำหรับอุตสาหกรรม สิ่งทอ โดยแสดงถึงคุณสมบัติเด่นที่ตอบโจทย์ทั้งในด้านการใช้งานและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งชี้ให้เห็นแนวทางการพัฒนาที่สามารถส่งเสริมการผลิตที่ยั่งยืนและตอบสนองความต้องการในตลาดที่เน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและรักษาสิ่งแวดล้อม โดยผสมผสานแนวคิดด้านความยั่งยืนเข้ากับนวัตกรรมวัสดุ การวิจัยครอบคลุมการวิเคราะห์คุณสมบัติเส้นใย การพัฒนากระบวนการผลิต และการออกแบบผลิตภัณฑ์ การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาคุณสมบัติเส้นใยไผ่ตงสู่การผลิต 2)เพื่อศึกษาปัจจัยในการออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอเพื่อสิ่งแวดล้อมจากเส้นใยไผ่ตง 3)เพื่อคาดการณ์อนาคตภาพในการออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอเพื่อสิ่งแวดล้อมจากเส้นใยไผ่ตง ผลการวิจัยพบว่า ไผ่ตงอายุ 60 วันมีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดในการแยกเส้นใย โดยมีขนาดเส้นใยเฉลี่ย 5.32 μm ซึ่งเล็กกว่าเส้นใยธรรมชาติชนิดอื่น ส่งผลให้มีคุณสมบัติดูดซับความชื้นและระบายอากาศได้ดี เมื่อนำมาปั่นผสมกับเส้นใยพอลิเอสเตอร์รีไซเคิลในสัดส่วน 30:70 จะได้เส้นด้ายที่มีความแข็งแรงและผิวสัมผัสที่มีเอกลักษณ์ แม้ว่าคุณสมบัติการต้านเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus จะอยู่ในระดับต่ำ แต่เส้นใยมีความขาวสะอาดและอ่อนนุ่ม และจากการวิเคราะห์ปัจจัยในการออกแบบผลิตภัณฑ์พบองค์ประกอบสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ วัสดุท้องถิ่น (Local Materials) ผลิตภัณฑ์สีเขียว (Green Products) สุขภาพ (Healthy) และความยั่งยืน (Sustainability) ผลการประเมินความพึงพอใจของผู้บริโภคต่อต้นแบบผลิตภัณฑ์อยู่ในระดับมาก โดยสามารถอธิบายความพึงพอใจได้ร้อยละ 84.7 ทั้งนี้ กระบวนการผลิตที่พัฒนาขึ้นช่วยลดการใช้สารเคมีและของเสียอันตราย อีกทั้งการใช้ไผ่ตงซึ่งเป็นพืชโตเร็วยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ส่งผลให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงทางอาชีพในชุมชนชนของประเทศไทย ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า การพัฒนาเส้นใยไผ่ตงผสมเส้นใยพอลิเอสเตอร์รีไซเคิลสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีความยั่งยืน ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในด้านสุขภาพ การใช้วัสดุท้องถิ่น และการส่งเสริมผลิตภัณฑ์สีเขียว อีกทั้งการนำเสนอผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ในอนาคต
คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ
โครงการศึกษาการถ่ายเทน้ำหนักของโครงสร้างบ้านไม้มีเป้าหมายเพื่อวิเคราะห์หลักการกระจายน้ำหนักภายในโครงสร้าง โดยศึกษาองค์ประกอบสำคัญ เช่น คาน เสา และพื้น รวมถึงพฤติกรรมการรับแรงของไม้ภายใต้ภาระที่แตกต่างกัน การวิจัยนี้ใช้การคำนวณเชิงโครงสร้างและการจำลองโมเดลเพื่อตรวจสอบรูปแบบการถ่ายเทน้ำหนัก นอกจากนี้ ยังช่วยพัฒนาทักษะการออกแบบ การวิเคราะห์ และการทำงานเป็นทีม ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานก่อสร้างจริงได้อย่างเหมาะสม