KMITL Innovation Expo 2025 Logo

การผลิตต้นวิโอลา (Viola) ดอกไม้กินได้ด้วยระบบการปลูกโดยไม่ใช้ดิน

การผลิตต้นวิโอลา (Viola) ดอกไม้กินได้ด้วยระบบการปลูกโดยไม่ใช้ดิน

รายละเอียด

การทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับความเข้มข้นของธาตุไนโตรเจนและโพแทสเซียมร่วมกับจำนวนชั่วโมงในการให้แสงต่อการเจริญเติบโตของต้นวิโอลา (Viola) ภายใต้โรงงานผลิตพืช เพื่อเพิ่มคุณภาพของผลผลิต ลดระยะเวลา และเพิ่มรอบการผลิตให้เกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี โดยวางแผนการทดลองแบบ 3x3 Factorial in CRD มี 9 กรรมวิธี กรรมวิธีละ 3 ซ้ำๆ ละ 6 ต้น ซึ่งปัจจัยที่ใช้ศึกษามีอยู่ 2 ชนิด คือ ปัจจัยที่ 1 ความเข้มข้นของธาตุไนโตรเจน (N) ร่วมกับโพแทสเซียม (K) ในอัตราส่วนที่แตกต่างกัน 3 ระดับ ดังนี้ 1) N:K 1:1, 2) N:K 1:2 และ 3) N:K 2:1 ปัจจัยที่ 2 จำนวนชั่วโมงในการให้แสงต่อวันที่แตกต่างกัน 3 กรรมวิธี ดังนี้ 1) จำนวนชั่วโมงในการให้แสง 24 ชั่วโมงต่อเนื่อง 2) จำนวนชั่วโมงในการให้แสงช่วง Vegetative 8 ชั่วโมงพัก 16 ชั่วโมง จากนั้นช่วงกระตุ้นตาดอกเพิ่มแสงเป็น 13 ชั่วโมง พัก 11 ชั่วโมง หลังจากเกิดตาดอก จะให้แสง 8 ชั่วโมง พัก 16 ชั่วโมง และ 3) จำนวนชั่วโมงในการให้แสง 5 ชั่วโมงพัก 3 ชั่วโมง โดยทุกกรรมวิธีปรับอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ค่า EC 1.5-2.0 mS/cm และ ค่า pH 5.8-6.5 ผลการทดลอง พบว่า การให้ระดับความเข้มข้นของปุ๋ย N:K ในอัตราส่วน 1:1 ร่วมกับแสง 24 ชั่วโมง ทำให้การเจริญเติบโตทางลำต้นและมีคุณภาพดอกมากที่สุด รวมทั้งการประเมินคุณภาพทางประสาทสัมผัสโดยภาพรวมอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ เหมาะแก่การนำไปประกอบอาหารหรือตกแต่งจาน ซึ่งกรรมวิธีนี้ทำให้สามารถเพิ่มคุณภาพของผลผลิตได้ดีที่สุด สามารถลดระยะเวลาในการผลิตดอกวิโอลาในแต่ละรอบจาก 90-100 วัน ลดลงเหลือ 43-45 วัน และเพิ่มรอบการผลิตให้เกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี โดยไม่ต้องคำนึงถึงฤดูกาล หรือสภาพแวดล้อมภายนอก ซึ่งดีต่อเกษตรกรผู้ผลิต

วัตถุประสงค์

ปัจจุบันการบริโภคดอกไม้กินได้ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ ซึ่งดอกไม้แต่ละชนิดมีคุณค่าทางอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระที่แตกต่างกันไป (สุพัตรา, 2548) โดยดอกไม้แต่ละชนิดจะมีสารสำคัญแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสีของกลีบดอกไม้ เช่น สารในกลุ่มโพลีฟีนอล ฟลาโวนอยด์ และสารกลุ่ม anthocyanins มักพบในดอก เจอราเนียม กุหลาบ เบญจมาศ ชบา พิทูเนีย แพนซี และวิโอลา (Kumari, 2017) ซึ่งสารสำคัญเหล่านี้มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์ โรคหลอดเลือดหัวใจ และยังเป็นสารต้านมะเร็ง รวมถึงช่วยชะลอความชรา (Shi et al., 2008; Kaisoon et al., 2011) ดอกไม้กินได้ที่นิยมใช้ประกอบอาหารหรือตกแต่งจาน ได้แก่ เดซี่ แนสเตอร์ชัม คาโมมายล์ ผีเสื้อ และวิโอลา (Face food accessory, 2564) ดอกวิโอลา มีกลิ่นหอมอ่อนและรสเปรี้ยว อุดมไปด้วยวิตามินเอ อีและซี ส่วนใหญ่นิยมนำไปประกอบในเมนูสลัด (มูลนิธิโครงการหลวง, 2561; ออนไลน์) โดยต้นวิโอลา (Viola) อยู่ในวงศ์ Violaceae มีอยู่ 25 สกุล ประมาณ 525 -600 ชนิด กระจายพันธุ์อยู่ทั่วโลก (William, 2020) มีถิ่นกำเนิดในประเทศที่มีอากาศอบอุ่นจนถึงอากาศหนาวเย็น เป็นไม้ล้มลุก อายุสั้น ต้นสูง 10-30 เซนติเมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย กลีบดอกกลมกว้าง มี 5 กลีบเกยซ้อนกัน สีของกลีบดอกมีด้วยกันหลายสี เช่น สีขาว สีส้ม สีชมพู สีม่วงเข้มและสีเหลือง เป็นต้น (นายเกษตร, 2554; ออนไลน์) ธาตุอาหารมีความสําคัญต่อการดํารงชีวิตของพืช ส่งผลต่อคุณภาพผลผลิต หากขาดหรือไม่มีเลยจะทําให้พืชแสดงอาการผิดปกติ หรือตายได้ ดังนั้นการให้ธาตุอาหารในระดับที่เหมาะสมและสมดุลจึงมีความเฉพาะเจาะจงกับพืชแต่ละชนิดแตกต่างกัน โดยธาตุไนโตรเจนและโพแทสเซียม เป็นธาตุอาหารหลักที่จําเป็นสําหรับการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตของพืช ช่วยในการกระตุ้นเอนไซม์ที่ใช้ในการสังเคราะห์แสงและการหายใจ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเคลื่อนย้ายแป้ง น้ำตาล และโปรตีนจากใบไปสู่ผล ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของราก ทําให้รากดูดน้ำ ดูดธาตุอาหาร ได้ดีขึ้น เร่งการออกดอก และทําให้พืชมีสีสันเพิ่มมากขึ้น (ไทยเกษตรศาสตร์, 2555; ออนไลน์) จากการศึกษาความเข้มข้นของธาตุไนโตรเจนและโพแทสเซียมต่อการเจริญเติบโตของแพงพวยเลื้อย พบว่า ระดับของไนโตรเจนที่ 100 มิลลิกรัมต่อลิตร ให้ขนาดทรงพุ่มกว้างที่สุด แต่ความเข้มข้นที่ 200 มิลลิกรัมต่อลิตร ให้จํานวนดอกต่อต้นมากที่สุด (ประภาพรรณ, 2556) นอกจากนี้แสงยังเป็นปัจจัยทางสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการออกดอกของพืชโดยตรง ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญ ในการสร้างอาหารและการสะสมอาหารในพืช (สมบุญ, 2538) โดยเฉพาะความยาววัน (photoperiod) จากการศึกษาในฟรีเซีย พบว่า สภาพวันสั้นมีผลต่อการกระตุ้นการเกิดและการพัฒนาตาดอกของฟรีเซียในช่วงแรก และความเข้ม แสงต่ำชะลอการสร้างตาดอก (flower initiation) และการพัฒนาตาดอก (flower development) (โสระยา, 2543) ดอกไม้กินได้ปลูกทั้งในดินและปลูกโดยไม่ใช้ดิน แต่การปลูกวิโอลาในสภาพธรรมชาติมักพบปัญหาการแสดงอาการขาดธาตุอาหาร เนื่องจากมีการให้ปุ๋ยในอัตราส่วนที่ไม่เหมาะสมส่งผลให้พืชได้รับธาตุอาหารที่ไม่สมดุลกัน ทำให้พืชแสดงอาการขาดธาตุอาหาร หยุดการเจริญเติบโต อีกทั้งการควบคุมปัจจัยที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืชก็เป็นไปได้ยาก เกิดโรคและแมลงศัตรูพืชเข้าทำลาย ปัญหาเหล่านี้จะส่งผลให้คุณภาพและปริมาณของผลผลิตลดลง ปัญหาเรื่องธาตุอาหาร น้ำ แสง โรคและแมลง จะสามารถควบคุมได้ เมื่อปลูกพืชในระบบ Plant Factory ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการปลูกพืชที่พัฒนามาจากการปลูกพืชในระบบไฮโดรโปนิกส์ ร่วมกับการควบคุมปัจจัยภายนอก ได้แก่ ความเข้มแสง อุณหภูมิ ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การจัดการโรคและแมลง และด้วยความสามารถในการควบคุมปัจจัยในการผลิตได้ (วรพจน์, 2557; Kozai et al., 2016) จึงสามารถกำหนดรอบหรือระยะเวลาการผลิตพืชได้ เช่น ให้แสงเพื่อกระตุ้นการออกดอก เร่งวันในการออกดอกของวิโอลา ผลผลิตแต่ละรอบจะออกดอกเร็วขึ้น มีคุณภาพดี สะอาด ปราศจากโรค และผลิตพืชได้ตลอดทั้งปี ดังนั้นการวิจัยครั้งนี้จึงมุ่งเน้นศึกษาระดับความเข้มข้นของธาตุไนโตรเจนและโพแทสเซียมร่วมกับจำนวนชั่วโมงในการให้แสงต่อการเจริญเติบโตของต้นวิโอลาในระบบ Plant Factory

นวัตกรรมอื่น ๆ

การออกแบบสวนสาธารณะ: วิถีชาวเล

คณะเทคโนโลยีการเกษตร

การออกแบบสวนสาธารณะ: วิถีชาวเล

โปรเจคสวนสาธารณะ: วิถีชาวเล เป็นการออกแบบสวนสาธารณะในพื้นที่ ตำบลอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี ในขนาดพื้นที่ 56 ไร่ เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อน นันทนาการ ทั้งยังเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ อนุรักษ์ ชายทะเลและวิถีชีวิตดั้งเดิมของพื้นที่

เว็บแอปพลิเคชันการจัดเส้นทางการขนส่งอาหารกุ้ง : กรณีศึกษาร้านจำหน่ายอาหารสัตว์แห่งหนึ่ง

คณะวิทยาศาสตร์

เว็บแอปพลิเคชันการจัดเส้นทางการขนส่งอาหารกุ้ง : กรณีศึกษาร้านจำหน่ายอาหารสัตว์แห่งหนึ่ง

ปัญหาด้านการจัดส่งสินค้าให้มีประสิทธิภาพต้องมีการพัฒนาเครื่องมือมาช่วยอำนวยความสะดวก งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดเส้นทางการขนส่งของร้านอาหารสัตว์แห่งหนึ่ง และพัฒนาเว็บแอปพลิเคชันการจัดเส้นทางการเดินรถ ในการศึกษาครั้งนี้ทำการเปรียบเทียบด้วยวิธีการแตกกิ่งและจำกัดขอบเขต (Branch & Bound Method) และวิธีการจัดกลุ่มร่วมกับอัลกอริทึมการแตกกิ่งและจำกัดขอบเขต (Clustering with Branch & Bound Method) จากนั้นทำการเปรียบเทียบการจัดเส้นทางทั้ง 2 วิธี ร่วมกับเส้นทางเดิม ด้วยการทดสอบความแตกต่างของระยะทางเฉลี่ย 3 กลุ่มที่ไม่เป็นอิสระกัน โดยใช้วิธีการวิเคราะห์ความแปรปรวนเมื่อมีการวัดซ้ำ (Repeated Measures ANOVA) พบว่าระยะเฉลี่ยต่อวันที่ได้จากทั้ง 3 วิธี มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ที่ระดับ 0.05 โดยเส้นทางที่ให้ค่าระยะทางเฉลี่ยต่อวันน้อยที่สุด คือ วิธีอัลกอริทึมการแตกกิ่งและจำกัดขอบเขต (Branch and Bound Method) และจากการทดสอบระยะทางรวมต่อวันเป็นรายคู่ด้วยการทดสอบทีแบบจับคู่ (Paired t-test) พบว่าเส้นทางที่จัดด้วยวิธีอัลกอริทึมการแตกกิ่งและจำกัดขอบเขต (Branch and Bound Method) ให้ผลลัพธ์ระยะทางที่สั้นที่สุดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ 0.05 ซึ่งหากใช้การจัดเส้นทางด้วยวิธีอัลกอริทึมการแตกกิ่งและจำกัดขอบเขต (Branch and Bound Method) จะสามารถลดระยะทางลงได้ 957.51 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 30.88 ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนด้านน้ำมันเชื้อเพลิงได้ถึง 2,579.45 บาทต่อเดือน จากนั้นจึงเลือกวิธีอัลกอริทึมการแตกกิ่งและจำกัดขอบเขต (Branch and Bound Method) มาพัฒนาเป็นเว็บแอปพลิเคชันที่มีหน้าต่างผู้ใช้งาน รายการสินค้า และแนะนำเส้นทางการขนส่งสินค้าในแต่ละวันให้กับร้านค้ากรณีศึกษา และเมื่อพัฒนาเว็บแอปพลิเคชันแล้วได้ทำการทดลองใช้งานจริงกับร้านกรณีศึกษา โดยพบว่าสามารถแนะนำเส้นทางการขนส่งที่อยู่ในรูปแบบแผนที่ซึ่งสามารถใช้งานได้ง่าย และสามารถใช้งานได้จริงผ่านโทรศัพท์มือถือทั่วไป

หุ่นยนต์นำทางและโต้ตอบอัจฉริยะ

คณะวิศวกรรมศาสตร์

หุ่นยนต์นำทางและโต้ตอบอัจฉริยะ

การบูรณาการระบบหุ่นยนต์อัจฉริยะเข้าสู่สภาพแวดล้อมที่มุ่งเน้นมนุษย์ เช่น ห้องปฏิบัติการ โรงพยาบาล และสถาบันการศึกษา มีความสำคัญมากขึ้นเนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับผู้ช่วยที่เข้าถึงได้และตระหนักถึงบริบท อย่างไรก็ตาม โซลูชันในปัจจุบันมักขาดความสามารถในการปรับขนาด เช่น การพึ่งพาบุคลากรเฉพาะทางเพื่อตอบคำถามเดิมซ้ำๆ ในฐานะผู้ดูแลระบบของแผนกเฉพาะ และการขาดความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมแบบไดนามิกที่ต้องการการตอบสนองตามสถานการณ์แบบเรียลไทม์ งานวิจัยนี้นำเสนอกรอบแนวคิดใหม่สำหรับผู้ช่วยหุ่นยนต์เชิงโต้ตอบ (Beckerle et al., 2017) ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยในระหว่างการเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการและบรรเทาความท้าทายที่เกิดจากข้อจำกัดด้านทรัพยากรบุคคลในการให้ข้อมูลที่ครอบคลุมแก่ผู้เยี่ยมชม ระบบที่นำเสนอทำงานผ่านหลายโหมด รวมถึงโหมดสแตนด์บายและโหมดจดจำ เพื่อให้แน่ใจว่ามีการโต้ตอบที่ราบรื่นและสามารถปรับตัวได้ในบริบทต่างๆ ในโหมดสแตนด์บาย หุ่นยนต์จะแสดงสัญญาณความพร้อมผ่านแอนิเมชันใบหน้ายิ้มขณะลาดตระเวนตามเส้นทางที่กำหนดไว้ล่วงหน้าหรือประหยัดพลังงานเมื่อต้องหยุดนิ่ง การตรวจจับสิ่งกีดขวางขั้นสูงช่วยให้มั่นใจในความปลอดภัยขณะเคลื่อนที่ในสภาพแวดล้อมแบบไดนามิก ส่วนโหมดจดจำจะเปิดใช้งานผ่านท่าทางหรือคำปลุก โดยใช้เทคโนโลยีวิชันคอมพิวเตอร์ขั้นสูงและระบบรู้จำเสียงพูดแบบเรียลไทม์เพื่อตรวจจับผู้ใช้ การจดจำใบหน้าช่วยจำแนกบุคคลว่าเป็นที่รู้จักหรือไม่รู้จัก พร้อมทั้งมอบคำทักทายเฉพาะบุคคลหรือคำแนะนำตามบริบทเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้ใช้ หุ่นยนต์ต้นแบบและการออกแบบ 3 มิติแสดงไว้ในรูปที่ 1 ในโหมดโต้ตอบ ระบบได้บูรณาการเทคโนโลยีขั้นสูงหลายประการ เช่น การรู้จำเสียงพูดขั้นสูง (ASR Whisper) การประมวลผลภาษาธรรมชาติ (NLP) และโมเดลภาษาขนาดใหญ่ Ollama 3.2 (LLM Predictor, 2025) เพื่อมอบประสบการณ์ที่ใช้งานง่าย รับรู้บริบท และสามารถปรับตัวได้ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากความต้องการมีส่วนร่วมกับนักศึกษาและส่งเสริมความสนใจในภาควิชา RAI ซึ่งมีผู้เยี่ยมชมมากกว่า 1,000 คนต่อปี ระบบนี้ช่วยแก้ไขปัญหาการเข้าถึงข้อมูลในกรณีที่ไม่มีเจ้าหน้าที่มนุษย์ ด้วยการตรวจจับคำปลุก การจดจำใบหน้าและท่าทาง และการตรวจจับสิ่งกีดขวางด้วย LiDAR หุ่นยนต์จึงสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างราบรื่น พร้อมทั้งนำทางอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ระบบปฏิสัมพันธ์แบบ Retrieval-Augmented Generation (RAG) สื่อสารกับหุ่นยนต์เคลื่อนที่ที่สร้างบน ROS1 Noetic โดยใช้โปรโตคอล MQTT ผ่านเครือข่าย Ethernet ระบบนี้เผยแพร่เป้าหมายการนำทางไปยังโมดูล move_base ใน ROS ซึ่งจัดการการนำทางและหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางโดยอัตโนมัติ แผนผังอธิบายระบบแสดงไว้ในรูปที่ 2 กรอบแนวคิดนี้ประกอบด้วยสถาปัตยกรรมแบ็กเอนด์ที่แข็งแกร่ง โดยใช้ MongoDB สำหรับการจัดเก็บและดึงข้อมูล รวมถึงกลไก RAG (Thüs et al., 2024) ในการประมวลผลข้อมูลหลักสูตรในรูปแบบ PDF เพื่อให้แน่ใจว่าหุ่นยนต์สามารถให้คำตอบที่ถูกต้องและเหมาะสมกับบริบทแก่ผู้ใช้ นอกจากนี้ การใช้แอนิเมชันใบหน้ายิ้มและระบบแปลงข้อความเป็นเสียง (TTS BotNoi) ยังช่วยเพิ่มอัตราการมีส่วนร่วมของผู้ใช้ ผลลัพธ์จากการศึกษาสังเกตการณ์และแบบสำรวจพบว่าระบบมีการปรับปรุงอย่างมีนัยสำคัญในด้านความพึงพอใจของผู้ใช้และการเข้าถึงข้อมูล เอกสารฉบับนี้ยังกล่าวถึงความสามารถของหุ่นยนต์ในการทำงานในสภาพแวดล้อมแบบไดนามิกและพื้นที่ที่เน้นมนุษย์ เช่น การจัดการกับการรบกวนระหว่างปฏิบัติภารกิจ การออกแบบแบบแยกส่วนช่วยให้สามารถผสานรวมฟีเจอร์เพิ่มเติม เช่น การจดจำท่าทางและการอัปเกรดฮาร์ดแวร์ได้ง่าย ซึ่งช่วยให้ระบบสามารถขยายขีดความสามารถในระยะยาวได้ อย่างไรก็ตาม มีข้อจำกัดบางประการ เช่น ต้นทุนการติดตั้งเริ่มต้นที่สูงและการพึ่งพาการกำหนดค่าฮาร์ดแวร์เฉพาะ ในอนาคต งานวิจัยจะมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มความสามารถในการรองรับภาษาต่างๆ การขยายกรณีการใช้งาน และการสำรวจปฏิสัมพันธ์แบบร่วมมือกันระหว่างหุ่นยนต์หลายตัว โดยสรุป ผู้ช่วยหุ่นยนต์เชิงโต้ตอบที่นำเสนอในงานวิจัยนี้เป็นก้าวสำคัญในการเชื่อมโยงความต้องการของมนุษย์เข้ากับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ด้วยการผสานรวมเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ล้ำสมัยเข้ากับโซลูชันฮาร์ดแวร์ที่ใช้งานได้จริง งานวิจัยนี้จึงนำเสนอระบบที่สามารถขยายขีดความสามารถ มีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรกับผู้ใช้ ซึ่งช่วยเพิ่มการเข้าถึงข้อมูลและการมีส่วนร่วมของผู้ใช้ในสภาพแวดล้อมที่มุ่งเน้นมนุษย์