การทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาชนิดของพอลิเมอร์ที่เหมาะสมในการเคลือบร่วมกับสารสกัดคลอโรฟิลล์และคุณภาพของเมล็ดพันธุ์แตงกวาหลังจากการเคลือบ วางแผนการทดลองแบบ Completely Randomized Design (CRD) จำนวน 4 ซ้ำ โดยมี 5 กรรมวิธี ประกอบด้วยเมล็ดพันธุ์ที่เคลือบด้วยพอลิเมอร์ชนิดต่างกัน คือ Polyvinylpyrrolidone, Sodium Alginate, Carboxy Methyl Cellulose, Hydroxypropyl methylcellulose โดยพอลิเมอร์แต่ละชนิดทำการเคลือบร่วมกับ Chlorophyll และมีเมล็ดพันธุ์ที่ไม่เคลือบสารเป็นกรรมวิธีควบคุม ดำเนินการทดลองโดยเตรียมสารเคลือบด้วยการสกัด Chlorophyll จากใบมะม่วง แล้วนำมาเตรียมสารเคลือบโดยนำมาผสมกับพอลิเมอร์แต่ละชนิดที่มีความเข้มข้น 1 เปอร์เซ็นต์ โดยใช้สารสกัด Chlorophyll ที่มีความเข้มข้น 8 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นตรวจสอบคุณสมบัติของสารเคลือบแต่ละกรรมวิธี ได้แก่ ความเป็นกรดด่างและความหนืดของสารเคลือบ แล้วจึงนำมาเคลือบเมล็ดพันธุ์แตงกวาด้วยเครื่องเคลือบระบบจานหมุนรุ่น RRC150 ในอัตราสารเคลือบ 1,100 มิลลิลิตรต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม จากนั้นนำมาลดความชื้นให้เมล็ดพันธุ์มีระดับความชื้นเท่ากับระดับความชื้นเริ่มต้นด้วยเครื่องเป่าลมร้อน แล้วตรวจคุณภาพเมล็ดพันธุ์ในลักษณะต่างๆ ได้แก่ ความชื้นของเมล็ดพันธุ์ ความงอกของเมล็ดพันธุ์ที่เพาะในสภาพห้องปฏิบัติการ ดัชนีการงอก และการเรืองแสงของเมล็ดพันธุ์ภายใต้เครื่องฉายแสงอัลตราไวโอเลตแบบพกพารวมถึงตรวจสเปกตรัมการคายแสงด้วยเครื่อง Spectrophotometer ผลการทดลองพบว่าพอลิเมอร์แต่ละชนิดสามารถนำมาใช้เป็นสารก่อฟิล์มร่วมกับคลอโรฟิลล์ได้ ซึ่งมีความเป็นกรด-ด่างและมีความหนืดของสารเคลือบที่เหมาะสม ไม่มีผลต่อคุณภาพของเมล็ดพันธุ์และมีการเรืองแสงที่ผิวของเมล็ดพันธุ์ทั้งการตรวจสอบภายใต้เครื่องฉายแสงอัลตราไวโอเลตแบบพกพาและการตรวจสเปกตรัมการคายแสงภายใต้เครื่อง Spectrophotometer โดยการใช้ HPMC เป็นสารก่อฟิล์มร่วมกับคลอโรฟิลล์ เป็นกรรมวิธีที่เหมาะสมทำให้เมล็ดพันธุ์มีประสิทธิภาพในการเรืองแสงมากที่สุด
สารเรืองแสงที่นิยมใช้เคลือบเมล็ดพันธุ์ในปัจจุบันมีหลายชนิด เช่น Rhodamine B, Curcumin, Auramine O แต่สารเหล่านี้บางชนิดหากใช้ไปเป็นเวลานานอาจเป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์ หากสะสมในร่างกายอาจก่อให้เกิด oxidative stress ซึ่งกระตุ้นให้เซลล์เกิดการเสียหาย เพิ่มความเสี่ยงของโรคบางอย่างได้ ในงานวิจัยนี้จึงเลือกใช้สารสกัดจากธรรมชาติมาใช้เคลือบเมล็ดพันธุ์ คือ สารสกัดคลอโรฟิลล์ มีข้อดี คือ หาได้ง่าย มีวิธีการสกัดที่ไม่ซับซ้อน แต่ข้อจำกัดของสารสกัดคลอโรฟิลล์คือมีความสามารถในการเคลือบร่วมกับพอลิเมอร์ได้บางชนิด อาจทำให้ประสิทธิการเรืองแสงมีคุณภาพลดลง ดังนั้นการวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อหาชนิดของพอลิเมอร์ที่เหมาะสมในการนำมาเคลือบร่วมกับสารสกัดคลอโรฟิลล์แล้วไม่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรืองแสงและคุณภาพของเมล็ดพันธุ์
คณะศิลปศาสตร์
นวัตรกรรมยาดมหอมเย็น มีแนวคิดมาจากที่ผู้คนในปัจจุบันมีการใช้ยาดมแพร่หลายอย่างมาก ดังนั้นในการทำนวัตรกรรมครั้งที่มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับยุคสมัย ประยุกต์ความเป็นไทยให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ พัฒนากลิ่นจากวัตถุดิบท้องถิ่นไทย เพิ่มมูลค่าให้ดอกไม้และผลไม้ไทย โดยมีการสกัดดอกไม้และผลไม้โดยวิธีการต่างๆ เพื่อคงรักษากลิ่นให้คงอยู่นานมากขึ้น และนำพิมเสน การบูร เมนทอลเข้ามาผสมเพื่อให้ได้ความสดชื่นและมีความเย็น สำหรับบรรจุภัณฑ์ ผลิตขึ้นจากดินโพลิเมอร์ ปั้นขึ้นรูปและนำไปเข้าเตาอบเพื่อให้เกิดการแข็งตัว และมีผ้าปิดแทนการใช้ฝา เผื่อให้มีความแปลกใหม่แทนการใช้ผลิตภัณฑ์ยาดมแบบเดิมๆ
คณะวิศวกรรมศาสตร์
ปัจจุบันแบตเตอรี่ลิเทียมถูกใช้งานอย่างแพร่หลายในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้การประมาณสถานะสุขภาพ (State of Health: SOH) ของแบตเตอรี่มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากสามารถช่วยยืดอายุการใช้งาน ลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา และป้องกันปัญหาด้านความปลอดภัย เช่น ความร้อนสูงเกินหรือการระเบิด โครงงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและวิเคราะห์แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของแบตเตอรี่ ตลอดจนพัฒนาเทคนิคการประมาณสถานะสุขภาพโดยใช้โครงข่ายประสาทเทียม (Neural Networks) เพื่อเพิ่มความแม่นยำและความรวดเร็วในการประเมิน การทดลองได้ทำการเก็บข้อมูลการประจุและคายประจุของแบตเตอรี่ลิเทียมจำนวน 3 เซลล์ ภายใต้อุณหภูมิที่ควบคุม และใช้กระแสคงที่ในการชาร์จและคายประจุไฟฟ้า พร้อมทั้งบันทึกค่ากระแส แรงดัน และเวลา จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อหาค่าความจุของแบตเตอรี่ในแต่ละรอบการใช้งาน และใช้เป็นข้อมูลฝึกสอนโครงข่ายประสาทเทียม ผลลัพธ์ที่ได้ช่วยให้สามารถคาดการณ์สถานะสุขภาพของแบตเตอรี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลจากโครงงานนี้สามารถนำไปพัฒนาระบบจัดการแบตเตอรี่ (Battery Management System) เพื่อช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพและยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ ทั้งยังเป็นแนวทางในการนำเทคนิคปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้ในงานด้านพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
วิทยาลัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมวัสดุ
การสร้างแบบจำลองผิวหนังบนชิป (Skin-on-a-chip) มีบทบาทสำคัญในการวิจัยด้านการพัฒนายา และเครื่องสำอาง ซึ่งแบบดั้งเดิมมักจะใช้วิธีการสองมิติ (Two-dimensional, 2D) ที่อาศัยการเพาะเลี้ยงเซลล์บนพื้นผิวแบนราบ ทำให้ขาดความซับซ้อนของโครงสร้างผิวหนังและการปฏิสัมพันธ์ระหว่างเซลล์ที่สมจริง นอกจากนี้ วิธีการดั้งเดิมยังมีข้อจำกัดในการเลียนแบบการไหลเวียนของของเหลวและสารอาหาร ซึ่งส่งผลต่อความแม่นยำในการทดสอบทางเภสัชกรรมและการทำนายผลกระทบของยา ซึ่งทำให้มีการพัฒนาแบบจำลองผิวหนังแบบสามมิติ (Three-dimensional, 3D) ด้วยเทคโนโลยีไมโครฟลูอิดิกแบบใหม่ ช่วยเพิ่มความสมจริงของโครงสร้างผิวหนัง โดยการจำลองทั้งชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) และชั้นหนังแท้ (Dermis) รวมถึงการ ไหลเวียนของของเหลวที่คล้ายคลึงกับสภาวะในร่างกายมนุษย์ การออกแบบระบบสามมิติ (3D) ช่วยให้เซลล์มีการจัดเรียงที่สมจริงมากขึ้น และมีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างเซลล์ที่สมจริง ทำให้สามารถเลียนแบบการทำงานของผิวหนังได้ดีกว่า และเพิ่มความแม่นยำในการประเมินผลของสารต่าง ๆ ต่อการตอบสนองของเซลล์ ทั้งในด้านการดูดซึม การอักเสบ และการสมานแผล ดังนั้น การสร้างแบบจำลองผิวหนัง แบบสามมิติ (3D) ไม่เพียงแต่จะช่วยแก้ไขปัญหาของวิธีการดั้งเดิมแต่ยังเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาแบบจำลองที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทดสอบยาและผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น