เซอร์คิวเรี่ยนสะเฟียร์ (SecurionSphere) เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการเรียนรู้การทดสอบเจาะระบบที่เน้นไปที่การโจมตีช่องโหว่บนเว็บแอปพลิเคชัน (Web Exploitation) แพลตฟอร์มนี้ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาที่พบในแพลตฟอร์มการทดสอบเจาะระบบอื่นๆ เช่น การแบ่งปันทรัพยากรที่อาจส่งผลกระทบกับผู้ใช้งานคนอื่น และการมีสภาพแวดล้อมที่เหมือนกันเสมอ ทำให้สามารถคัดลอกคำตอบจากผู้อื่นได้ โดยผู้ดูแลการสอน (Supervisor) สามารถใช้เทมเพลตสำหรับโจทย์รูปแบบต่างๆ ของรูปแบบการโจมตีช่องโหว่ของเว็บแอปพลิเคชั่น โดยผู้ใช้งานสามารถเลือกทำโจทย์ที่สร้างจากผู้ดูแลที่เลือกเทมเพลตไว้ และแพลตฟอร์มยังมีการสุ่มสภาพแวดล้อมในการทำโจทย์ ทำให้สภาพแวดล้อมและคำตอบของโจทย์มีความหลากหลายและแตกต่างกัน ช่วยให้ผู้ใช้งานได้ประสบการณ์การเรียนรู้ที่ใกล้เคียงกับชีวิตจริงมากขึ้น โดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการกระทบทรัพยากรของผู้อื่น
แพลตฟอร์มสำหรับการทดสอบเจาะระบบ (Cybersecurity Playground) คือ ระบบหรือสภาพแวดล้อมที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ที่ต้องการศึกษาทางด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (cybersecurity) ได้ทดลองเจาะระบบด้วยการลงมือปฏิบัติจริง ค้นหาช่องโหว่เอง และเจาะระบบด้วยตัวเอง เพื่อให้ได้ประสบการณ์ที่ใกล้เคียงกับชีวิตจริง ตัวอย่าง แพลตฟอร์มสำหรับการทดสอบเจาะระบบ เช่น hackthebox.com, tryhackme.com, portswigger.com ฯลฯ ที่เราสามารถเข้าไปทดลองทำได้ด้วยตัวเอง แต่ปัญหาที่สังเกตได้แพลตฟอร์มเหล่านี้คือ โจทย์หรือแบบทดสอบบางข้อมีการสร้างสภาพแวดล้อม (Environment) ขึ้นมาเอง ซึ่งอาจส่งผลให้ต้องมีการแบ่งปันทรัพยากรและกระทบกับบุคคลอื่นที่กำลังทำโจทย์นั้นๆอยู่ นอกจากนี้การที่ใช้สภาพแวดล้อมแบบเดียวกัน ทำให้ผู้ใช้งานที่เข้ามาทำโจทย์ได้โจทย์แบบเดียวกัน รูปแบบเดียวกันเสมอ ทำให้สามารถคัดลอกคำตอบจากผู้ที่ทำเสร็จแล้วมาตอบได้ แต่ถ้าหากเราต้องการสร้างโจทย์ขึ้นมาเองการสร้างโจทย์และการเตรียมสภาพแวดล้อมก็เป็นสิ่งที่มีความยุ่งยากและซับซ้อน ทำให้บ่อยครั้งที่การสร้างโจทย์ขึ้นมาเองเพื่อใช้ในการศึกษาการทดสอบเจาะระบบ มีช่องโหว่อื่นๆที่อยู่นอกเหนือจากช่องโหว่ที่เราตั้งใจให้มี ซึ่งไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของโจทย์ที่สร้างขึ้นมา จากปัญหาดังกล่าว ทางผู้จัดทำจึงมีความประสงค์ที่จะสร้างโครงงานที่เป็นเว็บแอปพลิเคชันขึ้นมาชื่อว่า Penetration Testing Learning Platform (SecurionSphere) เพื่อเป็นแพลตฟอร์มสำหรับศึกษาและทดลองเจาะระบบที่มีการเตรียมเทมเพลตสำหรับโจทย์รูปแบบต่างๆเอาไว้แล้ว และผู้ที่ต้องการจะสร้างโจทย์สามารถเลือกใช้เทมเพลตที่แพลตฟอร์มเตรียมไว้ให้ในการสร้างโจทย์ได้อย่างสะดวกสบาย ปลอดภัย ไม่ไปกระทบกับทรัพยากรของบุคคลอื่น และมีการสุ่มสภาพแวดล้อม (Environment) ทำให้โจทย์มีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน และคำตอบของโจทย์ไม่เหมือนกัน โดยแพลตฟอร์มนี้จะเน้นไปที่การศึกษาการโจมตีช่องโหว่ต่าง ๆ บนเว็บแอปพลิเคชัน (Web Exploitation) เท่านั้น
คณะวิศวกรรมศาสตร์
ในปัจจุบันประเทศไทยมีแนวโน้มของปริมาณยางรถที่ใช้แล้วเพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งยางรถเป็นขยะที่ย่อยสลายได้ยาก แต่ยางรถยนต์เป็นวัสดุที่มีรูพรุนอยู่ภายในซึ่งมีความเป็นไปได้ในการนำมาทำเป็นวัสดุดูดซับเสียง เนื่องจากรูพรุนมีคุณสมบัติที่ทำให้วัสดุสามารถกักเสียงไว้ภายในได้ โครงงานนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและพัฒนาวัสดุดูดซับเสียงจากผงยางล้อรถที่ใช้แล้ว โดยนำผงยางรถยนต์ที่ใช้แล้วผสมกับน้ำยางพาราสดในอัตราส่วน 1:2 และทำการอบที่อุณหภูมิ 120 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 4 ชั่วโมง หลังจากนั้นทำการทดสอบคุณสมบัติทางกายภาพที่มีผลต่อการดูดซับเสียง ได้แก่ ความหนาแน่น ค่าความพรุนและค่าความสามารถในการดูดซึมน้ำ พบว่า วัสดุดูดซับเสียงจากผงยางรถยนต์ที่ใช้แล้วมีค่าความหนาแน่นเท่ากับ 0.96 กรัมต่อลบ.ซม. ค่าความพรุนเท่ากับ 0.45 และค่าความสามารถในการดูดซึมน้ำเท่ากับร้อยละ 11.03 ซึ่งมีความเป็นไปได้ในการนำผงยางรถยนต์ที่ใช้แล้วมาทำเป็นวัสดุดูดซับเสียงได้
คณะเทคโนโลยีการเกษตร
สารสกัดเปลือกมังคุด (Garcinia mangostana Linn.) โดยใช้น้ำร้อน (MPE) ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีศักยภาพในการต่อต้านแบคทีเรียในลูกปลากะพงขาว (Lates calcarifer) ที่เลี้ยงในน้ำจืดซึ่งติดเชื้อ Aeromonas hydrophila การศึกษาในหลอดทดลองพบว่า MPE มีความเข้มข้นต่ำสุดในการยับยั้ง (MIC) อยู่ที่ 25 ppm และความเข้มข้นต่ำสุดในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (MBC) อยู่ที่ 25 ppm สำหรับ In vivo ลูกปลากะพงขาวจะถูกแช่ใน MPE ความเข้มข้นต่างๆ กันที่ 0 ppm (ควบคุม), 20 ppm, 40 ppm และ 60 ppm ตามลำดับ เป็นเวลา 7 วันด้วย A. hydrophila ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่ากลุ่มที่ได้รับ MPE มีอัตราการรอดชีวิตสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม พารามิเตอร์ทางโลหิตวิทยาแสดงให้เห็นว่ากลุ่มที่ได้รับ MPE มีระดับเม็ดเลือดแดง (RBC), เม็ดเลือดขาว (WBC) และความเข้มข้นของฮีโมโกลบิน (Hb) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม นอกจากนี้ พารามิเตอร์คุณภาพน้ำไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ยกเว้นความเข้มข้นของแอมโมเนีย โดยที่ MPE ความเข้มข้นของแอมโมเนียที่ 60 ppm ถือเป็นระดับต่ำสุด ผลลัพธ์ทั้งหมดสามารถบ่งชี้ได้ว่า MPE สามารถปรับปรุงศักยภาพในการต่อต้านแบคทีเรียและศักยภาพในการเพาะเลี้ยงลูกปลากะพงได้
คณะเทคโนโลยีการเกษตร
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาพริกพันธุ์การค้าของไทยให้ต้านทานต่อโรคแอนแทรกโนสและโรคไวรัสใบหงิกเหลือง เพื่อให้เกษตรได้ลดการใช้สารเคมีเพื่อป้องกันและกำจัดโรคและแมลง และเป็นการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนให้แก่เกษตรกร โดยการพัฒนาพันธุ์พริกผ่านกระบวนการเรียนการสอนทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก ซึ่งถือได้ว่าเป็นการสร้างนักปรับปรุงพันธุ์รุ่นใหม่ ที่มีทั้งความรู้ด้านการปรับปรุงพันธุ์พืชโดยใช้วิธีมาตรฐานร่วมกับการใช้เทคโนโลยีชีวภาพ และงานวิจัยนี้ยังได้เผยแพร่สายพันธู์เพื่อให้เกษตรกร และบริษัทเมล็ดนำไปต่อยอดใช้ในเชิงพานิชย์ และช่วยเสริมความเข้มแข็งให้กับธุรกิจเมล็ดพันธุ์ของประเทศไทยได้