ปัจจุบันการบริโภคอาหารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้รับความสนใจมากขึ้น เนื่องจากสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ และภาวะเสื่อมของเซลล์ ขิง (Zingiber officinale) ปลีกล้วย (Musa paradisiaca L.) และกระเจี๊ยบ (Hibiscus sabdariffa L.) เป็นพืชสมุนไพรที่มีสารประกอบฟีนอลิกสูง ซึ่งเป็นสารสำคัญที่มีบทบาทในการต้านอนุมูลอิสระ อย่างไรก็ตาม สารสำคัญจากพืชเหล่านี้มักมีข้อจำกัดด้านความคงตัวเมื่อสัมผัสกับแสง อุณหภูมิ และออกซิเจน ส่งผลให้ประสิทธิภาพลดลง งานวิจัยนี้มุ่งเน้นการศึกษาอัตราส่วนที่เหมาะสมของขิง ปลีกล้วย และกระเจี๊ยบ ในการกักเก็บด้วยลิโพโซม ซึ่งเป็นเทคนิคการห่อหุ้มสารสำคัญที่ช่วยเพิ่มความคงตัวของสารออกฤทธิ์และเพิ่มประสิทธิภาพในการนำส่งสารเข้าสู่ร่างกาย การศึกษานี้ดำเนินการโดยวิเคราะห์ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดจากขิง ปลีกล้วย และกระเจี๊ยบ ด้วยวิธี DPPH, ABTS และ FRAP รวมถึงการวัดปริมาณสารฟีนอลิกรวม (Total Phenolic Content, TPC) จากนั้นเลือกอัตราส่วนที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงสุดมาทำการห่อหุ้มด้วยลิโพโซม โดยใช้ฟอสโฟลิปิดเป็นองค์ประกอบหลักของโครงสร้างลิโพโซม จากนั้นวิเคราะห์ประสิทธิภาพของลิโพโซมในการกักเก็บสารสำคัญผ่านการคำนวณค่า Encapsulation Efficiency (EE%) เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพการห่อหุ้ม ผลการวิจัยคาดว่าจะช่วยระบุอัตราส่วนที่เหมาะสมของขิง ปลีกล้วย และกระเจี๊ยบที่สามารถเพิ่มฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงสุด และทำให้สารสำคัญมีความคงตัวมากขึ้นเมื่อผ่านกระบวนการห่อหุ้มด้วยลิโพโซม ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพจากสมุนไพรที่สามารถรักษาคุณสมบัติทางชีวภาพของสารสำคัญได้ในระยะยาว
การเสื่อมสภาพของเซลล์จากอนุมูลอิสระเป็นสาเหตุหลักที่นำไปสู่การเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ และการเสื่อมสภาพของเซลล์ในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ดังนั้นการใช้สารต้านอนุมูลอิสระจากธรรมชาติจึงเป็นวิธีหนึ่งในการลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคเหล่านี้ ขิง ปลีกล้วย และกระเจี๊ยบ เป็นพืชที่มีสารต้านอนุมูลอิสระและสารฟีนอลิกที่มีคุณสมบัติในการป้องกันความเสื่อมของเซลล์ อย่างไรก็ตาม สารเหล่านี้อาจสูญเสียประสิทธิภาพเมื่อสัมผัสกับปัจจัยภายนอก เช่น แสง ความร้อน และออกซิเจน ดังนั้นการใช้เทคนิคการห่อหุ้มสารด้วยวิธีลิโพโซม จึงช่วยเพิ่มความเสถียรของสารสำคัญและเพิ่มประสิทธิภาพในการนำส่งสารไปยังจุดเป้าหมายจึงเป็นสิ่งสำคัญ
วิทยาลัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมวัสดุ
ปัญหาด้านการตกต่ำด้านราคาของผลผลิตผลไม้ประเภทมะม่วงเป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับมะม่วงพันธุ์มหาชนกที่มีการเติบโตในการส่งออกอย่างมากเมื่อเทียบกับมะม่วงสายพันธุ์อื่น เนื่องจากเป็นมะม่วงที่มีสีสันสวยงาม มีกลิ่นหอม ปัญหาการตกต่ำด้านราคาเกิดจากมีผลผลิตที่ไม่ผ่านเกณฑ์คุณภาพการส่งออกทำให้เกิดผลผลิตที่ไม่ผ่านคุณภาพนำกลับมาขายในประเทศในราคาถูก บางกรณีเกษตรกรจำเป็นต้องละทิ้งผลผลิตดังกล่าว จากปัญหาที่เกิดขึ้นจึงมีแนวคิดนำมะม่วงดังกล่าวมาสกัดสารหอมระเหยจากเปลือกของมะม่วงเพื่อจะคงสภาพสารระเหยและนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบด้านกลิ่นรวมทั้งการศึกษาปัจจัยทางแสงที่ส่งผลต่อการแสดงสีผิวเปลือกเพื่อทำการเปลี่ยนแปลงสีบนผิวเปลือกผลไม้ให้มีความโดดเด่นจากธรรมชาติความสวยงามของผลมะม่วงที่มีสีสม่ำเสมอด้วยปัจจัยทางแสงที่มีความยาวคลื่นและพลังงานที่แตกต่างกัน โดยการศึกษาการเปลี่ยนแปลงเปลือกนอกเมื่อได้รับแสงโดยไม่ได้เกิดจากการสุกของผลมะม่วง องความรู้ที่ได้สามารถต่อยอดไปสู่การสร้างระบบนวัตกรรมต้นแบบ และสามารถนำเสนอนวัตกรรมที่ได้ต่อยอดสู่เกษตรกรหรือผู้ประกอบการที่สนใจและเพื่อประยุกต์ใช้งานด้านต่าง ๆ ต่อไป
คณะวิทยาศาสตร์
ฟิล์มอนุภาคนาโนโลหะฝังบนเซลลูโลสนาโนคริสตัล ถูกเตรียมโดยการหล่อแบบจากสารละลาย (Solution casting) เพื่อใช้เป็นฟิล์มเคลือบผลไม้ที่รับประทานแบบไม่ปอกเปลือก ที่มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อรา และแบคทีเรีย อนุภาคนาโนโลหะฝังบนเซลลูโลสนาโนคริสตัลถูกสังเคราะห์ด้วยคลื่นอัลตราโซนิก (Ultrasonic waves) วัสดุถูกนำมาศึกษาคุณลักษณะทางเคมี และทางกายภาพโดยการใช้เทคนิค Transmission electron microscope (TEM), X-ray photoelectron spectroscopy (XPS), X-ray diffraction analysis (XRD), Fourier transform infrared spectrometer (FT-IR), Zeta potential analyzer และ UV-visible spectrophotometer เป็นต้น ฟิล์มอนุภาคนาโนโลหะฝังบนเซลลูโลสนาโนคริสตัลที่เตรียมได้ มีความสามารถในการต้านเชื้อรา และเชื้อแบคทีเรียได้ ดังนั้นจึงสามารถนำฟิล์มไปห่อผลไม้เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ ซึ่งช่วยยืดอายุการเก็บรักษาผลไม้ได้อย่างมีประสิทธิภาพได้อีกด้วย
คณะวิทยาศาสตร์
การผลิตน้ำตาลจากอ้อยเป็นกระบวนการที่มีความซับซ้อนและต้องการการควบคุมที่แม่นยำ หนึ่งในปัญหาสำคัญคือการสูญเสียน้ำตาล ซึ่งอาจเกิดจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะ “การเผาอ้อย” ก่อนนำเข้าหีบ ที่ลดคุณภาพอ้อยและประสิทธิภาพการสกัดน้ำตาล รวมถึง ประสิทธิภาพเครื่องจักรและคุณสมบัติของอ้อย ที่ส่งผลต่อปริมาณน้ำตาลที่ได้ งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการสูญเสียน้ำตาลในกระบวนการผลิตน้ำตาลจากอ้อย โดยใช้ข้อมูลเชิงปริมาณจากโรงงานน้ำตาล ครอบคลุม 9 ตัวแปร ได้แก่ ประสิทธิภาพเครื่องจักร (Mechanical efficiency), จำนวนชั่วโมงหยุดเครื่องจักรในหนึ่งวัน (Stoppage), จำนวนชั่วโมงหยุดรออ้อยในหนึ่งวัน (Due to Cane), ปริมาณทรายในน้ำอ้อย (Sand), ประสิทธิภาพการหีบสกัดอ้อย (Pol Extraction), ประสิทธิภาพเวลาการทำงานโดยรวม (Overall Time), ค่าความบริสุทธิ์ของน้ำอ้อย (Purity), ค่าปริมาณน้ำตาลในอ้อย (C.C.S.), และปริมาณอ้อยไฟไหม้ (Burn Cane) โดยจะทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าสหสัมพันธ์ (Correlation) เพื่อตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร และแบบจำลองการถดถอย (Regression Model) เพื่อพยากรณ์การสูญเสียน้ำตาล ผลการวิจัยพบว่า ประสิทธิภาพเครื่องจักร, ค่าปริมาณน้ำตาลในอ้อย และปริมาณทรายหรือสิ่งปนเปื้อนในน้ำอ้อย มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับการสูญเสียน้ำตาล โดยประสิทธิภาพเครื่องจักร มีความสัมพันธ์โดยตรงกับปริมาณอ้อยเข้าหีบ ซึ่งช่วยเพิ่มผลผลิตน้ำตาล ขณะที่ อ้อยไฟไหม้หรืออ้อยที่ถูกเผาก่อนการเก็บเกี่ยว ส่งผลให้การสกัดน้ำตาลลดลงและกระทบต่อคุณภาพน้ำตาล ดังนั้น การลดการสูญเสียน้ำตาลในกระบวนการผลิตสามารถทำได้โดย การเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักร, ลดสิ่งปนเปื้อนในน้ำอ้อย และจัดการอ้อยไฟไหม้ ซึ่งจะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลให้สูงขึ้นได้ในอนาคต