KMITL Innovation Expo 2025 Logo

การออกแบบห้องแปรรูปเครื่องในแดงสุกร

รายละเอียด

โครงงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอแนวทางการออกแบบห้องแปรรูปเครื่องในแดงสำหรับโรงงานแปรรูปสุกร ที่มีการแปรรูปสุกร 500 ตัวต่อวันหรือ 80 ตัวต่อชั่วโมง น้ำหนักสุกรเฉลี่ยประมาณ 105 กิโลกรัม/ตัว มีเครื่องในแดงอยู่ร้อยละ 3.47 เพื่อทำการแยกชิ้นส่วน ตับ ขั้วตับ หัวใจ ปอด ม้ามและไต ตามต้องการ และทำการแช่ในน้ำเย็นเพื่อลดอุณหภูมิให้ต่ำกว่า 7 องศาเซลเซียส แล้วจึงนำบรรจุและปิดผนึก การคัดแยกใช้จำนวนชิ้นและน้ำหนักเป็นเกณฑ์ในการคัดแยกตามแต่ชนิด เวลาในการแปรรูป การแช่น้ำเย็นและการบรรจุมีความแตกต่างกันตามชนิดและขนาดสินค้า ข้อมูลในการออกแบบได้จากการเก็บข้อมูลในสายการผลิตปัจจุบันและข้อมูลอ้างอิงตามมาตรฐานต่าง ๆ ออกแบบห้องแปรรูปตามหลักการวางผังโรงงานอย่างเป็นระบบ (Systematic Layout Planning: SLP) วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของกิจกรรมภายในห้อง จัดทำแผนผังสำหรับการกำหนดพื้นที่ใช้งาน คำนวณขนาดอุปกรณ์และจำนวนผู้ปฏิบัติงานที่จำเป็นต่อการใช้งาน พื้นที่ของห้องเครื่องในแดงถูกออกแบบมีขนาด 56 ตารางเมตร หลังจากออกแบบแผนผังได้มีการจำลองห้องในรูปแบบ 3 มิติด้วยโปรแกรม SketchUp 2024 พร้อมทั้งจำลองและวิเคราะห์การทำงานในห้องด้วยโปรแกรม Flexsim 2024

วัตถุประสงค์

บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ได้มีแผนการขยายโรงงานแปรรูปสุกรทั้งในประเทศและต่างประเทศ การออกแบบกระบวนการผลิตจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้โรงงานที่จะก่อตั้งนั้นสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในด้านกระบวนการการผลิตและความสะอาด เพื่อทำให้สินค้าที่ส่งมอบแก่ผู้บริโภคมีคุณภาพที่ดี โดยผลิตภัณฑ์ที่สำคัญของโรงงานแปรรูปสุกร ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนสุกรตัดแต่ง และกลุ่มเครื่องในสุกร ซึ่งประกอบไปด้วยเครื่องในแดง และเครื่องในขาว โครงงานนี้ได้รับมอบหมายให้ศึกษากระบวนการทำงานเพื่อออกแบบห้องเครื่องในแดงให้รองรับการผลิตที่สูงขึ้นและมีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์มากขึ้น โดยกระบวนการทำงานภายในห้องถูกต้องเป็นไปตามหลักการปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงแปรรูปสุกรของกรมปศุสัตว์

นวัตกรรมอื่น ๆ

ตลาดหลักทรัพย์กับกาลเวลา: ระยะเวลาการจดทะเบียนมีผลต่อผลการดำเนินงานอย่างไร

คณะวิศวกรรมศาสตร์

ตลาดหลักทรัพย์กับกาลเวลา: ระยะเวลาการจดทะเบียนมีผลต่อผลการดำเนินงานอย่างไร

เนื่องจากตลาดทุนมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยและมีจำนวนบริษัทไทยที่เข้าร่วมและให้ความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจให้ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ว่า ตลาดหลักทรัพย์สามารถเป็นปัจจัยกระตุ้นที่ช่วยยกระดับผลการดำเนินงานของบริษัทได้จริงหรือไม่ รวมถึงลักษณะของบริษัทที่ได้รับประโยชน์จากการเป็นบริษัทจดทะเบียน ผลลัพธ์จากการศึกษานี้สามารถส่งเสริมความสนใจในการเข้าจดทะเบียนของบริษัทต่างๆ มอบแนวทางที่เป็นประโยชน์ให้กับองค์กรที่ต้องการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน และเสนอแนะแนวทางในการปรับปรุงตลาดหลักทรัพย์เพื่อเสริมสร้างการเข้าถึงเงินทุนและความแข็งแกร่งของตลาดทุนไทยในระยะยาว สมมติฐานหลักที่เป็นแนวทางในการศึกษาครั้งนี้คือ การอยู่ในตลาดหลักทรัพย์เป็นระยะเวลานาน ("aging in the market") ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของบริษัทดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราต้องการวิเคราะห์ว่าการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับการพัฒนาด้านการดำเนินงานของบริษัทหรือไม่ ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจถึงประโยชน์ที่แท้จริงของการเป็นบริษัทมหาชนต่อผลการดำเนินงานในระยะยาว

ระบบสเปรย์อิมัลชันน้ำมันหอมระเหยจากพืชเพื่อการลดฝุ่น PM2.5

คณะเทคโนโลยีการเกษตร

ระบบสเปรย์อิมัลชันน้ำมันหอมระเหยจากพืชเพื่อการลดฝุ่น PM2.5

จากปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นจากฝุ่นละอองที่มีขนาดเท่ากับหรือเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) นั้นนับว่าเป็นปัญหาสำคัญทั่วโลก ซึ่งนอกจากจะเกิดปัญหามลพิษขึ้นเฉพาะภายในประเทศต่างๆ แล้วยังเป็นปัญหามลพิษข้ามพรมแดน ส่งผลอันตรายต่ออวัยวะต่างๆในร่างกายและเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการใช้อิมัลชันน้ำมันหอมระเหยจากพืชและระบบฉีดพ่นฝอย เพื่อการลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 โดยอาศัยหลักการมีคุณสมบัติเป็นประจุลบ และความสามารถในการละลายน้ำได้ จากการคัดเลือกอิมัลชันน้ำมันหอมระเหยจากพืชสมุนไพร 31 ชนิด และทดสอบพืชสมุนไพรประสิทธิภาพเบื้องต้นของอิมัลชันน้ำมันหอมระเหยจากพืชสมุนไพร ในการลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ในรูปแบบการพ่นละอองฝอย นาน 1 ชั่วโมง ภายใต้ตู้ทดสอบ พบว่าอิมัลชันน้ำมันหอมระเหยจากมะกรูด ที่ความเข้มข้น 0.025% สามารถลดจำนวนอนุภาคของฝุ่น PM2.5 ที่มาจากท่อไอเสียรถยนต์ได้ดีที่สุด โดยพบค่า PM2.5 ที่วัดได้เป็นจำนวน 24.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ที่ 6 ชั่วโมง รองลงมาคือ มะกรูด ที่ความเข้มข้น 0.05% และ ยูคาลิปตัส ที่ความเข้มข้น 0.05% และ 0.025% พบค่า PM2.5 ที่วัดได้เป็นจำนวน 27.3 30.0 และ 95.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ ขณะที่น้ำเปล่า (blank) และกลุ่มควบคุม (control) คือ น้ำเปล่าและ Carboxymethylcellulose (CMC) 0.2% ยังพบปริมาณฝุ่นถึง 126.4 และ 157.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ อิมัลชันน้ำมันหอมระเหยจากมะกรูด ที่ความเข้มข้น 0.025% นี้มีประสิทธิภาพในการลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ได้ดีที่สุด โดยตั้งแต่ชั่วโมงที่ 2 เป็นต้นไปมีการลดลงมากกว่ากลุ่มควบคุมประมาณ 3-6 เท่า จากการทดสอบระสิทธิภาพของอิมัลชันน้ำมันหอมระเหยจากมะกรูด ในรูปแบบการพ่นละอองฝอย ที่ความเข้มข้น 0.025% ณ สวนทวีวนารมย์ สวนบางแคภิรมย์ และสวนธนบุรีรมย์ มีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อการทดสอบในพื้นที่นั้นๆ ทำให้มีข้อมูลที่แตกต่างกันอยู่มาก โดยเฉพาะปัจจัยเรื่องของแรงลมรวมทั้ง ความชื้น และอุณหภูมิ ปริมาณฝุ่น PM 2.5 มีแนวโน้มค่อยๆ ลดปริมาณลงเมื่อเริ่มทำการพ่นละอองของอิมัลชันน้ำมันหอมระเหยจากพืช โดยทั่วไปแล้วปริมาณฝุ่นจากทั้ง 3 สวนสาธารณะเมื่อมีการใช้อิมัลชันน้ำมันหอมระเหยจากมะกรูด PM 2.5 จะลดลงมากในหนึ่งชั่วโมงแรก คือ ลดลงเฉลี่ยถึง 21.8 (7.7-27.3) ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่การใช้น้ำประปา มีการลดลงเฉลี่ยเพียง 6.4 (5.0-8.3) ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เท่านั้น ในสภาพที่ลมสงบ (ความเร็วลม 10-20 กม./ชม.) อิมัลชันน้ำมันหอมระเหยสามารถลดฝุ่นจากระดับ 37.0-44.0 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ได้ถึงระดับ 13.5-16.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภายใน 3 ชั่วโมง แต่หากฝุ่นพิษมีปริมาณสูง(ประมาณ 98.0-101.0 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) จะลดลงถึงระดับ 23.0-26.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภายใน 3 ชั่วโมง ขณะที่การใช้น้ำประปาสามารถลดฝุ่นได้เพียงเล็กน้อย คือพบระดับฝุ่น 31.0-40.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภายใน 3 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามในสภาพที่ลมแรงและแปรปรวน (ความเร็วลม 15-35 กม/ชม.) ประสิทธิภาพการลดฝุ่น PM 2.5 ของอิมัลชันน้ำมันหอมระเหยจะลดลงและมีค่าแปรปรวน แต่ก็ยังมีแนวโน้มที่ดีกว่าการใช้น้ำประปา

ระบบประเมินโมเดลภาษาขนาดใหญ่แบบออฟไลน์เพื่อออกแบบระบบผู้เชี่ยวชาญในภาษาไทย

วิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง

ระบบประเมินโมเดลภาษาขนาดใหญ่แบบออฟไลน์เพื่อออกแบบระบบผู้เชี่ยวชาญในภาษาไทย

ระบบประเมินโมเดลภาษาขนาดใหญ่แบบออฟไลน์ในภาษาไทยถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญสามารถทดสอบและประเมินประสิทธิภาพของโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Models: LLMs) ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และไม่ต้องพึ่งพาการเชื่อมต่อภายนอก ช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการเลือกใช้ LLMs ที่เหมาะสมกับความต้องการขององค์กรหรือระบบผู้เชี่ยวชาญ (Expert System: ES) ระบบสามารถทำงานบนคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลโดยไม่ต้องกังวลเรื่องการเก็บข้อมูลภายนอก ส่งผลให้มีความปลอดภัยของข้อมูลสูง นอกจากนี้ ยังรองรับการทดสอบและพัฒนาโมเดลด้วยเทคนิคการดึงข้อมูลเสริม (Retrieval-Augmented Generation: RAG) เพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลเฉพาะทางและประมวลผลได้อย่างแม่นยำ มีประสิทธิภาพด้านพลังงาน และตอบสนองความต้องการขององค์กรและระบบผู้เชี่ยวชาญได้อย่างเหมาะสม