KMITL Innovation Expo 2025 Logo

การออกแบบสวนสาธารณะ: วิถีชาวเล

รายละเอียด

โปรเจคสวนสาธารณะ: วิถีชาวเล เป็นการออกแบบสวนสาธารณะในพื้นที่ ตำบลอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี ในขนาดพื้นที่ 56 ไร่ เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อน นันทนาการ ทั้งยังเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ อนุรักษ์ ชายทะเลและวิถีชีวิตดั้งเดิมของพื้นที่

วัตถุประสงค์

จากพื้นที่ในการออกแบบเป็นพื้นที่ชายทะเลและติดกับชายเลนผู้คนในพื้นที่ยังดำเนินวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย ยังคงมีการแกะสลักหิน ถีบกระดานหาหอย ทำให้เห็นถึงความผูกพันกับพื้นที่และวิถีชีวิต จึงเกิดไอเดียในการออกแบบสวนสาธารณะเพื่อรองรับทั้งกลุ่มคนที่ต้องการท่องเที่ยวและกลุ่มคนในพื้นที่ โดยการออกแบบให้สวนสาธารณะที่เคารพต่อบริบทของพื้นที่ โชว์จุดเด่นของวิถีชีวิต ไม่ว่าจะเป็น เรือเล็ก รูปหินแกะสลัก อาคารที่สร้างจากไม้ไผ่ และยังมีพื้นที่สำหรับการจัดกิจกรรมชุมชนอีกด้วย

นวัตกรรมอื่น ๆ

การศึกษาตัวแปรที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพเตาเผาและคุณภาพถ่านจากกระบวนการผลิตถ่านไม้ไผ่ในเตาเผาต้นแบบเปรียบเทียบกับเตาเผาในอุตสาหกรรม

คณะวิศวกรรมศาสตร์

การศึกษาตัวแปรที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพเตาเผาและคุณภาพถ่านจากกระบวนการผลิตถ่านไม้ไผ่ในเตาเผาต้นแบบเปรียบเทียบกับเตาเผาในอุตสาหกรรม

ไผ่เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าผ่านการแปรรูปเป็นถ่านชีวมวล ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงและมีประโยชน์ในหลายอุตสาหกรรม งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพของถ่านไม้ไผ่ โดยเปรียบเทียบการผลิตถ่านจากเตาเผาไม้ไผ่ต้นแบบกับเตาเผาอุตสาหกรรม วิเคราะห์ผลผลิตที่ได้และประสิทธิภาพเชิงความร้อนของแต่ละสภาวะการเผา พบว่าการทดสอบเตาเผาต้นแบบที่สภาวะที่ 3 อุณหภูมิ 500 องศาเซลเซียส ระยะเวลา 8 ชั่วโมง ให้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกับเตาเผาอุตสาหกรรม โดยมีประสิทธิภาพเชิงความร้อนร้อยละ 37.05 และ 41.29 ตามลำดับ ถ่านชีวมวลที่ได้มีคุณภาพสูง โดยมีปริมาณคาร์บอนอินทรีย์ร้อยละ 73.92 และ 75.24 โดยน้ำหนักตามลำดับ และมีอัตราส่วนโมลของไฮโดรเจนต่อคาร์บอนอินทรีย์ 0.51 และ 0.29 ตามลำดับ ซึ่งจัดอยู่ในมาตรฐานถ่านชีวมวลระดับสูงสุด (IBI Standard) อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ พบว่าต้นทุนการผลิตยังค่อนข้างสูง จึงเหมาะสมกับผู้ที่มีชีวมวลไม้ไผ่เหลือใช้จากกิจกรรมอื่น

ระบบสุขภาพสำหรับคัดกรองโรคผู้สูงอายุในผู้ป่วยสูงอายุโรคมะเร็ง

คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ

ระบบสุขภาพสำหรับคัดกรองโรคผู้สูงอายุในผู้ป่วยสูงอายุโรคมะเร็ง

โรคมะเร็งเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่สำคัญอันเนื่องมาจากการเข้าสู่สังคมสูงอายุของประเทศไทย ความเสี่ยงในการเป็นโรคเรื้อรังของผู้สูงอายุมักทำให้เกิดข้อจำกัดต่าง ๆ ในการรักษา ส่งผลให้ผู้ป่วยส่วนมากไม่สามารถรักษาให้หายขาดและจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการได้รับข้อมูลและคำแนะนำเกี่ยวกับโรคมะเร็งอย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม การบันทึกข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยในปัจจุบันยังไม่สามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างยากลำบาก นอกจากนี้ ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคมะเร็งที่เผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย อาจทำให้ผู้สูงอายุเกิดความเข้าใจผิด ดังนั้นผู้วิจัยจึงได้พัฒนาระบบแชตบอตที่ใช้เทคโนโลยีการประมวลผลภาษาธรรมชาติ เพื่อให้สามารถเข้าใจภาษาของมนุษย์และตอบคำถามได้อย่างแม่นยำสำหรับการดูแลผู้ป่วยสูงอายุโรคมะเร็งโดย ระบบแชตบอตจะนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ และเป็นปัจจุบันตามองค์ความรู้ทางการแพทย์ที่ปรากฏอยู่ภายในฐานข้อมูลคลังความรู้ ซึ่งผ่านการคัดกรองจากบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมทั้งพัฒนาเว็บแอปพลิเคชันเพื่อใช้ในการบันทึกและวิเคราะห์ผลประเมินของผู้ป่วยตามมาตรฐานทางการแพทย์ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถวางแผนรับมือและหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วย นอกจากนี้ทำให้เกิดการแบ่งปันและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างระบบต่าง ๆ ของโรงพยาบาล ส่งผลให้เกิดการนำข้อมูลไปใช้ในการปรับปรุงกระบวนการรูปแบบการรักษาที่ตรงเป้าหมายและทันสมัย อีกทั้งการพัฒนาระบบแชตบอตเปรียบเสมือนผู้ช่วยที่ให้บริการข้อมูลและคำแนะนำแก่ผู้ป่วย ช่วยลดภาระงานในการตอบคำถามของบุคลากรทางการแพทย์และส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของตนเองมากยิ่งขึ้น

เว็บแอปพลิเคชันการจัดเส้นทางการขนส่งอาหารกุ้ง : กรณีศึกษาร้านจำหน่ายอาหารสัตว์แห่งหนึ่ง

คณะวิทยาศาสตร์

เว็บแอปพลิเคชันการจัดเส้นทางการขนส่งอาหารกุ้ง : กรณีศึกษาร้านจำหน่ายอาหารสัตว์แห่งหนึ่ง

ปัญหาด้านการจัดส่งสินค้าให้มีประสิทธิภาพต้องมีการพัฒนาเครื่องมือมาช่วยอำนวยความสะดวก งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดเส้นทางการขนส่งของร้านอาหารสัตว์แห่งหนึ่ง และพัฒนาเว็บแอปพลิเคชันการจัดเส้นทางการเดินรถ ในการศึกษาครั้งนี้ทำการเปรียบเทียบด้วยวิธีการแตกกิ่งและจำกัดขอบเขต (Branch & Bound Method) และวิธีการจัดกลุ่มร่วมกับอัลกอริทึมการแตกกิ่งและจำกัดขอบเขต (Clustering with Branch & Bound Method) จากนั้นทำการเปรียบเทียบการจัดเส้นทางทั้ง 2 วิธี ร่วมกับเส้นทางเดิม ด้วยการทดสอบความแตกต่างของระยะทางเฉลี่ย 3 กลุ่มที่ไม่เป็นอิสระกัน โดยใช้วิธีการวิเคราะห์ความแปรปรวนเมื่อมีการวัดซ้ำ (Repeated Measures ANOVA) พบว่าระยะเฉลี่ยต่อวันที่ได้จากทั้ง 3 วิธี มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ที่ระดับ 0.05 โดยเส้นทางที่ให้ค่าระยะทางเฉลี่ยต่อวันน้อยที่สุด คือ วิธีอัลกอริทึมการแตกกิ่งและจำกัดขอบเขต (Branch and Bound Method) และจากการทดสอบระยะทางรวมต่อวันเป็นรายคู่ด้วยการทดสอบทีแบบจับคู่ (Paired t-test) พบว่าเส้นทางที่จัดด้วยวิธีอัลกอริทึมการแตกกิ่งและจำกัดขอบเขต (Branch and Bound Method) ให้ผลลัพธ์ระยะทางที่สั้นที่สุดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ 0.05 ซึ่งหากใช้การจัดเส้นทางด้วยวิธีอัลกอริทึมการแตกกิ่งและจำกัดขอบเขต (Branch and Bound Method) จะสามารถลดระยะทางลงได้ 957.51 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 30.88 ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนด้านน้ำมันเชื้อเพลิงได้ถึง 2,579.45 บาทต่อเดือน จากนั้นจึงเลือกวิธีอัลกอริทึมการแตกกิ่งและจำกัดขอบเขต (Branch and Bound Method) มาพัฒนาเป็นเว็บแอปพลิเคชันที่มีหน้าต่างผู้ใช้งาน รายการสินค้า และแนะนำเส้นทางการขนส่งสินค้าในแต่ละวันให้กับร้านค้ากรณีศึกษา และเมื่อพัฒนาเว็บแอปพลิเคชันแล้วได้ทำการทดลองใช้งานจริงกับร้านกรณีศึกษา โดยพบว่าสามารถแนะนำเส้นทางการขนส่งที่อยู่ในรูปแบบแผนที่ซึ่งสามารถใช้งานได้ง่าย และสามารถใช้งานได้จริงผ่านโทรศัพท์มือถือทั่วไป