โครงการศึกษาการถ่ายเทน้ำหนักของโครงสร้างบ้านไม้มีเป้าหมายเพื่อวิเคราะห์หลักการกระจายน้ำหนักภายในโครงสร้าง โดยศึกษาองค์ประกอบสำคัญ เช่น คาน เสา และพื้น รวมถึงพฤติกรรมการรับแรงของไม้ภายใต้ภาระที่แตกต่างกัน การวิจัยนี้ใช้การคำนวณเชิงโครงสร้างและการจำลองโมเดลเพื่อตรวจสอบรูปแบบการถ่ายเทน้ำหนัก นอกจากนี้ ยังช่วยพัฒนาทักษะการออกแบบ การวิเคราะห์ และการทำงานเป็นทีม ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานก่อสร้างจริงได้อย่างเหมาะสม
การออกแบบอาคารสถาปัตยกรรม ต้องเข้าใจในส่วนของโครงสร้างของตัวอาคาร จึงเริ่มจากโครงสร้างขั้นพื้นฐานที่เป็นอาคารโครงสร้างไม้ก่อน
วิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง
หุ่นจำลองเด็กสำหรับใช้ฝึกการกู้ชีพ (CPR) ภายในตัวหุ่นมีกลไกหลอดลม กลไกคอ กลไกปอด กลไกการปั้มหัวใจ ผิวหนังเทียม และระบบเซนเซอร์ ทั้งหมดทำงานร่วมกันทำหน้าที่คล้ายเด็กจริง สามารถใช้ฝึกการปั้มหัวใจ และการผายปอดได้ โดยหุ่นได้รับการออกแบบและตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญการกู้ชีพ มีระบบประเมินความถูกต้องของการฝึกพร้อมแสดงผลในคอมพิวเตอร์สำหรับการตรวจสอบแบบทันที
คณะอุตสาหกรรมอาหาร
การศึกษานี้มุ่งเน้นการพัฒนาฟิล์มรับประทานได้ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากสมอไทย (Terminalia chebula Retz) เพื่อใช้ในการรักษาแผลในช่องปาก ฟิล์มชนิดนี้ถูกออกแบบให้ละลายได้ในช่องปากโดยไม่ต้องกลืนหรือเคี้ยว ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่มีแผลร้อนในหรืออาการอักเสบในช่องปาก สารสกัดจากสมอไทยมีคุณสมบัติทางเภสัชวิทยาหลายประการ เช่น ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์ ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และฤทธิ์ต้านการอักเสบ
คณะวิศวกรรมศาสตร์
การศึกษานี้จัดทำขึ้นเพื่อสร้างต้นแบบผ้าคลุมเย็นสำหรับการขนส่งน้ำนมดิบเพื่อเสนอแนวทางการรักษาคุณภาพน้ำนมดิบระหว่างการขนส่งไปยังศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ ผ้าคลุมเย็นนี้ผลิตจากการนำวัสดุเปลี่ยนสถานะ (Phase Change Material, PCM) ผลิตจากน้ำผสมสารสร้างเนื้อเจล ปริมาณ 5.6 กิโลกรัม มาประกบรอบถังนมอะลูมิเนียม (ปริมาตรความจุ 25 ลิตร) แล้วคลุมด้วยผ้าเคลือบสารสะท้อนรังสียูวี 2 ชนิด ได้แก่ ผ้าพอลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) และผ้าพอลิเอทิลีนความหนาแน่นสูง (HDPE) ประสิทธิภาพการรักษาอุณหภูมิของผ้าคลุมทั้งสองแบบประเมินจากการวัดอุณหภูมิของน้ำที่จุดต่าง ๆ ตามแนวรัศมีและตามความสูงของถังนม จำนวน 6จุด ด้วยสายเทอร์มอคัปเปิลชนิดที ภายใต้สภาวะแวดล้อม 3 สภาวะ ได้แก่ ที่อุณหภูมิคงที่ 25 °C และ 35 °C และที่อุณหภูมิบรรยากาศกลางแจ้ง (อุณหภูมิเฉลี่ย 35.5 °C) เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 180 นาที ผลการทดลองพบว่า ที่เวลา 120 นาที น้ำในถังคลุมด้วยผ้า PCM-PVC และผ้า PCM-HDPE มีอุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิบรรยากาศ 12.6 °C และ 12.9 °C ตามลำดับ ภายใต้อุณหภูมิบรรยากาศคงที่ 25 °C ในขณะที่ภายใต้อุณหภูมิบรรยากาศคงที่ 35 °C มีอุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิบรรยากาศ 16.7 °C และ 16.4 °C ตามลำดับ และอุณหภูมิบรรยากาศกลางแจ้งมีอุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิบรรยากาศ 12.7 °C และ 13.8 °C ตามลำดับ เนื่องจากผ้า PCM-PVC และผ้า PCM-HDPE มีประสิทธิภาพการรักษาอุณหภูมิไม่ต่างกัน การประเมินประสิทธิภาพการรักษาคุณภาพทางจุลินทรีย์ของน้ำนมดิบจึงศึกษาเฉพาะผ้า PCM-PVC เทียบกับกรณีไม่ใช้ผ้าคลุม (ควบคุม) ด้วยการตรวจนับปริมาณเชื้อโคลิฟอร์มและเชื้อ Escherichia coli โดยใช้อาหารเลี้ยงเชื้อสำเร็จรูป ผลการทดลองพบว่าเมื่อเวลาผ่านไป 120 นาที น้ำนมในถังที่คลุมด้วยผ้า PCM-PVC มีปริมาณเชื้อโคลิฟอร์มเฉลี่ยเท่ากับ 1.6 × 10^4 CFU/ml และเชื้อ E. coli เท่ากับ 2 × 10^3 CFU/ml ซึ่งน้อยกว่ากรณีไม่มีผ้าคลุมซึ่งมีปริมาณเชื้อโคลิฟอร์ม เฉลี่ยเท่ากับ 1.5 × 10^4 CFU/ml และเชื้อ E. coli เท่ากับ 1.1 × 10^4 CFU/ml จากการศึกษานี้สรุปได้ว่าอุณหภูมิที่ลดได้นี้สามารถช่วยชะลอการเจริญของเชื้อโคลิฟอร์มให้มีปริมาณน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานน้ำนมดิบซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของผ้าคลุมเย็นในการรักษาคุณภาพและความปลอดภัยของน้ำนมดิบระหว่างการขนส่งอันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมไทย