งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเครื่องคัดแยกเฉดสีของพลอยแบบอัตโนมัติ เพื่อลดข้อจำกัดของการคัดแยกเฉดสีโดยอาศัยแรงงานมนุษย์ ซึ่งมีข้อจำกัดในด้านความรวดเร็วและความแม่นยำ งานวิจัยนี้นำเทคโนโลยีการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) มาใช้ในการวิเคราะห์และแยกเฉดสีของพลอย โดยพัฒนาอัลกอริทึมที่สามารถตรวจจับและจำแนกเฉดสีได้อย่างแม่นยำ พร้อมด้วยการออกแบบระบบรางอัตโนมัติเพื่อขนส่งพลอยผ่านเครื่องคัดแยกเฉดสีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบรางดังกล่าวช่วยให้กระบวนการคัดแยกดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง วิธีการทำงานของเครื่องคัดแยกประกอบด้วยการจับภาพสีของพลอยด้วยกล้องความละเอียดสูง จากนั้นประมวลผลภาพด้วยโปรแกรม เพื่อจำแนกเฉดสีของพลอย และส่งพลอยไปยังตำแหน่งที่กำหนดบนรางอัตโนมัติ ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า เครื่องคัดแยกเฉดสีอัตโนมัติที่รวมระบบรางมีความแม่นยำและรวดเร็วสูง สามารถช่วยลดต้นทุนแรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดแยกเฉดสีของพลอยได้อย่างมีนัยสำคัญ
ปัจจุบันการตรวจสอบเฉดสีของพลอยถือเป็นขั้นตอนสำคัญในการประเมินคุณภาพ ทั้งในกระบวนการผลิตและการค้าขาย อย่างไรก็ตามการตรวจสอบเฉดสีที่ดำเนินการโดยมนุษย์นั้นมีข้อจำกัดหลายประการ ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นเรื่องความสามารถในการแยกเฉดสีที่ซับซ้อน ซึ่งอาจทำให้การตรวจสอบใช้เวลานาน และมีความแม่นยำต่ำ จากปัญหาดังกล่าว จึงได้พัฒนาแนวคิดในการสร้างเครื่องคัดแยกเฉดสีพลอยอัตโนมัติ โดยใช้ระบบ Computer Vision ร่วมกับระบบอัตโนมัติในการวิเคราะห์เฉดสีของพลอย เพื่อลดข้อจำกัดของการตรวจสอบด้วยมนุษย์ เพิ่มความแม่นยำและประสิทธิภาพในการทำงาน รวมถึงทำให้กระบวนการตรวจสอบเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีมาตรฐานของเฉดสี GIA (Gemological Institute of America)
คณะเทคโนโลยีการเกษตร
สารปฏิชีวนะ (Antibiotic) ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในระบบการผลิตปศุสัตว์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นภูมิคุมกัน เพิ่มประสิทธิภาพการย่อยและดูดซึมโภชนะ กระตุ้นการเจริญเติบโต ปรับสมดุลของระบบทางเดินอาหาร และลดการเกิดการติดเชื้อก่อโรค โดยเฉพาะกลุ่มที่ก่อให้เกิดโรคท้องเสีย เป็นต้น นอกจากนั้น สารปฏิชีวนะยังมีส่วนช่วยในเรื่องของผลตอบแทนทางเศรฐกิจอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม การใช้สารปฏิชีวนะที่ไม่ถูกวิธีก่อให้เกิดปัญหาเรื่องการตกค้างของสารปฏิชีวนะในผลิตภัณฑ์ การดื้อยาในสัตว์และผู้บริโภค ด้วยเหตุนี้หลายประเทศห้ามไม่ให้ใช้ยาปฏิชีวนะเป็นสารเร่งการเจริญเติบโต เช่น สหภาพยุโรป ประเทศญี่ปุ่น และยังมีอีกหลายๆ ประเทศที่มีการวางแผนที่จะห้ามไม่ให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะในอาหารสัตว์ เช่น ประเทศจีน และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ในขณะที่ประเทศไทยได้มีประกาศควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในอาหารสัตว์โดยมีผลบังคับใช้ทั้งระดับโรงงานผลิตอาหารสัตว์ และฟาร์มที่ผสมอาหารสัตว์ใช้เองตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2563 ดังนั้น การทดแทนการใช้สารปฏิชีวนะด้วย Probiotic ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี ในการศึกษาครั้งนี้ ได้ทำการศึกษาเชื้อ Lactic acid bacteria ที่มีอยู่ในระบบทางเดินอาหารของไก่เนื้อ สุกร และโคเนื้อ ที่มีคุณสมบัติเป็น Probiotic ที่มีความเหมาะสมต่อการใช้ในสภาพแวดล้อมของประเทศไทย เพื่อใช้เป็นเชื่อต้นแบบทดแทนการนำเข้าผลิตภัณฑ์ Probiotic กลุ่ม Lactic acid bacteria จากต่างประเทศที่มักจะประสบปัญหาเรื่องอัตราการรอดชีวิตเมื่อนำไปใช้จริง
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ
การตรวจจับอารมณ์ผ่านการแสดงออกทางใบหน้า (Facial Expression Recognition, FER) ได้รับความสนใจอย่างมากในหลายสาขา เช่น การดูแลสุขภาพ การให้บริการลูกค้า และการวิเคราะห์พฤติกรรม อย่างไรก็ตาม ความท้าทายยังคงอยู่ที่การพัฒนาระบบที่มีความทนทานและสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมรวมถึงสถานการณ์ที่หลากหลายได้ ผู้วิจัยได้นำเสนอการใช้เทคนิค Ensemble Learning เพื่อรวมผลลัพธ์จากโมเดลหลายตัวที่ถูกฝึกในเงื่อนไขเฉพาะ ทำให้ระบบไม่ลืมข้อมูลเก่า และยังสามารถเรียนรู้ข้อมูลใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเทคนิคนี้มีข้อได้เปรียบในด้านเวลาและทรัพยากรที่ใช้ในการเทรน เนื่องจากช่วยลดความจำเป็นในการสร้างโมเดลใหม่ทั้งหมดเมื่อมีสภาพแวดล้อมใหม่ เพียงเพิ่มโมเดลเฉพาะทางใหม่ในระบบ Ensemble ซึ่งใช้ทรัพยากรน้อยกว่าแทน ในงานวิจัยนี้ Ensemble Learning ถูกแบ่งออกเป็นสองแนวทางหลัก คือ การเฉลี่ยผลลัพธ์จากโมเดลเฉพาะทางที่ถูกฝึกภายใต้สถานการณ์เฉพาะ (Averaging Ensemble) และการใช้เทคนิค Mixture of Experts (MoE) ซึ่งเป็นการผสมผสานโมเดลหลายตัวที่เชี่ยวชาญในสถานการณ์ต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า การใช้ Mixture of Experts (MoE) มีประสิทธิภาพสูงกว่าวิธี Averaging Ensemble ในการจำแนกอารมณ์ในทุกสถานการณ์ โดยระบบ MoE สามารถเพิ่มความแม่นยำเฉลี่ยได้ถึง 84.41% บนชุดข้อมูล CK+, 54.20% บน Oulu-CASIA และ 61.66% บน RAVDESS ซึ่งสูงกว่าวิธี Averaging Ensemble ที่มีความแม่นยำเฉลี่ยที่ 71.64%, 44.99% และ 57.60% ตามลำดับ ผลลัพธ์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่า MoE สามารถเลือกโมเดลที่เชี่ยวชาญในสถานการณ์เฉพาะได้อย่างแม่นยำ และยังช่วยเพิ่มความสามารถในการรับมือกับสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อนกว่า
คณะเทคโนโลยีการเกษตร
การออกแบบพื้นที่เกษตร 22 ไร่ ตั้งอยู่ภายในอำเภอทท่าเสา จังหวัดอุตรดิตถ์ แนวคิดในการออกแบบพื้นที่นี้มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรและชุมชนสามารถสร้างรายได้จากสินค้าการเกษตรที่ผลิตเองภายในพื้นที่ โดยเน้นให้พื้นที่นี้เป็น “ตลาดมีชีวิต” ที่ไม่เพียงแต่เป็นแหล่งสร้างอาหารจากพืชพันธุ์หลากหลายชนิด แต่ยังเป็นการสร้างระบบนิเวศที่สมดุลและส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่อีกด้วย ตลาดนี้จะกลายเป็นพื้นที่ตลาดที่ยั่งยืน ซึ่งไม่เพียงแต่ดีต่อชุมชนในด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจ แต่ยังส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย โดยพื้นที่นี้จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางทางสังคมและการเรียนรู้ ที่สมาชิกในชุมชนสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์การเกษตรกันได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย