การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาสื่อความจริงเสริมร่วมกับเมตาเวิร์ส ที่มีประสิทธิภาพเพื่อพัฒนาความสามารถของทักษะการออกเสียงภาษาอังกฤษและทักษะการสื่อสารของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 2) เพื่อประเมินทักษะการออกเสียงภาษาอังกฤษโดยสื่อความจริงเสริมร่วมกับเมตาเวิร์ส และ 3) เพื่อประเมินทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษโดยสื่อความจริงเสริมร่วมกับเมตาเวิร์ส ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 จำนวน 2 ห้องเรียน ห้องละ 60 คน รวมนักเรียนทั้งสิ้น 120 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบแบ่งกลุ่ม (Cluster Random Sampling) โดยแบ่งเป็นกลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย ชุดสื่อความจริงเสริมร่วมกับเมตาเวิร์ส แบบประเมินคุณภาพสื่อ แบบทดสอบทักษะการอ่านออกเสียง และแบบประเมินทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษก่อนเรียนและหลังเรียน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือค่าเฉลี่ย (x ̅) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S) การทดสอบค่าที (t-test for Independence Samples) และการเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยคะแนนประเมินระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม โดยใช้การวิเคราะห์ความแปรปรวนพหุคูณแบบทางเดียว (Multivariate Analysis of Variance: One-Way MANOVA) ผลการวิจัยพบว่า ค่าเฉลี่ยของคุณภาพของชุดสื่อความจริงเสริมร่วมกับเมตาเวิร์ส ในภาพรวมมีคุณภาพอยู่ในระดับ มากที่สุด (x ̅ = 4.85, S.D. = 0.17) เมื่อพิจารณาแต่ละ ด้านของรายการประเมินพบว่า ในด้านด้านเนื้อหามีคุณภาพอยู่ในดีระดับ มากที่สุด (x ̅ = 4.44, S.D. = 0.29) ในด้านเทคนิคการผลิตสื่อมีคุณภาพอยู่ในดีระดับ มากที่สุด (x ̅ = 4.65, S.D. = 0.29) และการเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยของความสามารถของทักษะการออกเสียงภาษาอังกฤษ และทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษระหว่างผู้เรียนโดยใช้ชุดสื่อความจริงเสริมร่วมกับเมตาเวิร์ส ระหว่าง 2 กลุ่ม พบว่า กลุ่มการเรียนรู้โดยใช้ชุดสื่อความจริงเสริมร่วมกับเมตาเวิร์สให้ค่าเฉลี่ยความสามารถของทักษะการออกเสียงภาษาอังกฤษสูงกว่ากลุ่มการเรียนรู้แบบปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ F (1, 89) = 3261.422, p = 0.001, Partial η2 = 0.98 และกลุ่มการเรียนรู้โดยใช้ชุดสื่อความจริงเสริมร่วมกับเมตาเวิร์สให้ค่าเฉลี่ยทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษสูงกว่ากลุ่มการเรียนรู้แบบปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ F (1, 89) = 4239.365, p = 0.001, Partial η2 = 0.98 ซึ่งสอดคล้องกับสมมติฐานของงานวิจัยที่ตั้งไว้ “ทักษะของทักษะการออกเสียงภาษาอังกฤษและทักษะการสื่อสารของนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 4 โดยสื่อความจริงเสริมร่วมกับเมตาเวิร์ส หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
ภาษาอังกฤษในฐานะภาษาสำคัญของโลก ภาษาอังกฤษปัจจุบันคือภาษานานาชาติ เป็นภาษากลางของโลก ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางของมนุษยชาติ เป็นภาษาที่มนุษย์บนโลกใช้ติดต่อระหว่างกันเป็นหลักไม่ว่าแต่ละคนจะใช้ภาษาอะไรเป็นภาษาประจำชาติ เมื่อต้องติดต่อกับคนอื่นที่ต่างภาษาต่างวัฒนธรรมกันทุกคนจำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้ทุกคนทุกชาติทุกภาษาจึงบรรจุวิชาภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองรองลงมาจากภาษาประจำชาติ เป็นแกนหลักของหลักสูตรการศึกษาทุกระดับตั้งแต่ปฐมวัยไปจนถึงการศึกษาตลอดชีวิต การใช้เทคโนโลยี AR ทำให้กระบวนการเรียนรู้เป็นที่น่าสนใจมากขึ้น ผู้เรียนเรียนรู้ภาษาอังกฤษผ่านประสบการณ์ที่สมจริงและสนุกสนาน เพิ่มความน่าสนใจในการเรียนรู้ การให้ผู้เรียนฟังและอ่านคำศัพท์ผ่านเทคโนโลยีนี้ จะช่วยให้พัฒนาทักษะการอ่านและการฟังของผู้เรียนได้มากขึ้น เป็นการเสริมพัฒนาการอ่านและฟัง และการให้ผู้เรียนได้สัมผัสและสร้างสรรค์ด้วย AR สามารถกระตุ้นจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียนในการเรียนรู้ จึงต้องการที่จะสร้าง AR เพื่อช่วยสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีความสมจริงมากขึ้น ผู้เรียนสามารถได้รับการเรียนรู้แบบได้เสมือนจริงที่น่าสนใจและมีความน่าสนใจมากขึ้น ทำให้มีความตั้งใจในการเรียนรู้และนำไปสู่การพัฒนาทักษะดีขึ้น นอกจากนั้น ช่วยในการฝึกการออกเสียงภาษาอังกฤษอย่างทันท่วงที ผู้เรียนสามารถทดลองออกเสียงตามคำและปฏิสัมพันธ์ในสถานการณ์ที่เสมือนจริง ซึ่งเป็นประโยชน์มากในการพัฒนาทักษะการสนทนาและความมั่นใจในการพูด นอกจากเรื่องของการสื่อสารแล้ว การใช้เทคโนโลยี AR ยังสามารถแสดงตัวอักษรพร้อมกับเสียงที่เกี่ยวข้องกับแต่ละตัวอักษร Phonics ซึ่งช่วยในการสะกดคำและเรียนรู้เสียงของแต่ละตัว การสะกดคำและเสียงในลักษณะของภาพ 3 มิติ, วิดีโอ, หรือการประกาศเสียงที่สามารถช่วยในการเข้าใจและจดจำคำศัพท์ Phonics ได้มากขึ้น ปัญหาที่ค้นพบในวิชาภาษาอังกฤษคือ ผู้เรียนมีปัญหาในการออกเสียงภาษาอังกฤษ เนื่องมาจากความแตกต่างระหว่างระบบเสียงภาษาอังกฤษกับระบบเสียงภาษาไทย ผู้เรียนจำเสียงพยัญชนะไม่ได้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย จึงทำให้ผู้เรียนไม่สามารถสะกดคำได้และอ่านคำศัพท์ภาษาอังกฤษไม่ถูกต้อง การอ่านออกเสียงสะกดคำ (Phonics) เป็นหลักการถอดเสียงและการประสมเสียงของตัวอักษร ผู้เรียนจะต้องเข้าเสียงของตัวอักษร และสามารถออกเสียงตัวอักษรได้อย่างถูกต้อง จึงจะสามารถประสมเสียงออกมาเป็นคำได้ เช่นคำว่า Cat ผู้เรียนต้องรู้จักเสียงของแต่ละตัวอักษรก่อน จากนั้นจึงค่อยประสมเสียงเป็น เคอะ + แอะ + เทอะ แคท จึงต้องการทดลองใช้ spatial เป็นห้องเรียนเสมือนจริง แล้วใช้โปรแกรม ARyel สร้างสื่อบัตรคำภาษาอังกฤษ AR ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ให้ผู้เรียนได้เข้าไปแสกนเพื่อเข้าไปเรียนในห้องเรียน Metaverse ใน spatial จะช่วยให้ผู้เรียนสนใจในการเรียนภาษาอังกฤษมากยิ่งขึ้น โดยชุดสื่อความจริงร่วมกับเมตาเวิร์ส เพื่อพัฒนาการอ่านออกเสียงภาษาอังกฤษ ที่ได้พัฒนาขึ้นมานี้เกิดจากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลจากแนวคิด ทฤษฎี และหลักสูตรแกนกลาง และได้นำกระบวนการแนวคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking Process) ของ Stanford d. school 5 ขั้นตอน มาใช้ในการพัฒนาชุดสื่อความจริงร่วมกับเมตาเวิร์ส เพื่อพัฒนาการอ่านออกเสียงภาษาอังกฤษ จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถอ่านออกเสียงคำศัพท์ภาษาอังกฤษได้ถูกต้องตามหลักการออกเสียงมากยิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยกระตุ้นความสนใจในการเรียนรู้ และช่วยส่งเสริมทัศนคติทางบวกในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษทางด้านการออกเสียง ซึ่งถือเป็นพื้นฐานในการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและเพื่อเป็นการพัฒนาผู้เรียนให้มีพื้นฐานด้านการสื่อสารและเป็นการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาอังกฤษให้สูงขึ้น
คณะเทคโนโลยีการเกษตร
สารปฏิชีวนะ (Antibiotic) ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในระบบการผลิตปศุสัตว์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นภูมิคุมกัน เพิ่มประสิทธิภาพการย่อยและดูดซึมโภชนะ กระตุ้นการเจริญเติบโต ปรับสมดุลของระบบทางเดินอาหาร และลดการเกิดการติดเชื้อก่อโรค โดยเฉพาะกลุ่มที่ก่อให้เกิดโรคท้องเสีย เป็นต้น นอกจากนั้น สารปฏิชีวนะยังมีส่วนช่วยในเรื่องของผลตอบแทนทางเศรฐกิจอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม การใช้สารปฏิชีวนะที่ไม่ถูกวิธีก่อให้เกิดปัญหาเรื่องการตกค้างของสารปฏิชีวนะในผลิตภัณฑ์ การดื้อยาในสัตว์และผู้บริโภค ด้วยเหตุนี้หลายประเทศห้ามไม่ให้ใช้ยาปฏิชีวนะเป็นสารเร่งการเจริญเติบโต เช่น สหภาพยุโรป ประเทศญี่ปุ่น และยังมีอีกหลายๆ ประเทศที่มีการวางแผนที่จะห้ามไม่ให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะในอาหารสัตว์ เช่น ประเทศจีน และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ในขณะที่ประเทศไทยได้มีประกาศควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในอาหารสัตว์โดยมีผลบังคับใช้ทั้งระดับโรงงานผลิตอาหารสัตว์ และฟาร์มที่ผสมอาหารสัตว์ใช้เองตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2563 ดังนั้น การทดแทนการใช้สารปฏิชีวนะด้วย Probiotic ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี ในการศึกษาครั้งนี้ ได้ทำการศึกษาเชื้อ Lactic acid bacteria ที่มีอยู่ในระบบทางเดินอาหารของไก่เนื้อ สุกร และโคเนื้อ ที่มีคุณสมบัติเป็น Probiotic ที่มีความเหมาะสมต่อการใช้ในสภาพแวดล้อมของประเทศไทย เพื่อใช้เป็นเชื่อต้นแบบทดแทนการนำเข้าผลิตภัณฑ์ Probiotic กลุ่ม Lactic acid bacteria จากต่างประเทศที่มักจะประสบปัญหาเรื่องอัตราการรอดชีวิตเมื่อนำไปใช้จริง
คณะอุตสาหกรรมอาหาร
ไก่ปลดระวาง คือ แม่ไก่ไข่ที่มีอายุเกิน 18 เดือนถึง 2 ปี โดยเป็นไก่ที่ไม่ให้ผลผลิตแล้ว เนื้อสัมผัสของไก่ปลดระวางจัดว่ามีความเหนียวมากเมื่อเปรียบเทียบกับไก่เนื้อ ไก่ตอน และไก่บ้าน ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ไก่ปลดระวาง งานวิจัยจึงนำน้ำเนื้อไก่มาดัดแปรเนื้อสัมผัส โดยการขึ้นรูปใหม่ด้วยคาราจีแนน และนำไปทำให้เนื้อไก่นุ่มขึ้นโดยการแช่ในสารละลายโบรมิเลนที่มีความเข้มข้นต่างกัน จากการทดลอง พบว่า การขึ้นรูปใหม่ด้วยคาราจีแนน และการใช้เอนไซม์โบรมิเลน ส่งผลให้เนื้อไก่สามารถขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ และช่วยให้เนื้อไก่นุ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเนื้อไก่ที่ไม่ได้ใช้คาราจีแนนและเอนไซม์โบรมิเลน
คณะวิทยาศาสตร์
อัลบูมินสมาร์ทเทสท์ เป็นนวัตกรรมอุปกรณ์ตรวจคัดกรองโรคไตโดยการตรวจวัดโปรตีนอัลบูมินในปัสสาวะด้วยมือถือ ประกอบไปด้วย (1) ชุดภาชนะและน้ำยาทดสอบ ที่มีความจำเพาะเจาะจงกับอัลบูมิน และ (2) โทรศัพท์มือถือที่ลงแอพพลิเคชันชื่อ “อัลบูมินสมาร์ทเทสท์” โดยขั้นตอนการตรวจวัดจะนำน้ำยาทดสอบหยดลงบนตัวอย่างปัสสาวะ อัลบูมินจะทำปฏิกิริยาเคมีกับน้ำยาทดสอบ แล้วใช้มือถือถ่ายรูปสีของผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้น จากนั้นแอพพลิเคชันจะประมวลผลภาพเพื่อเปลี่ยนความเข้มสีของผลิตภัณฑ์ให้เป็นความเข้มข้นของอัลบูมิน รายงานผลผ่านหน้าจอมือถือ การตรวจวัดเสร็จสิ้นภายใน 3 นาทีสามารถทดลองได้สะดวก รวดเร็ว ผู้ทดสอบทำได้ด้วยตนเอง