ปัจจุบันปัญหาที่จอดรถในเขตเมืองเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความแออัดของจราจร การบริหารพื้นที่ และสิ่งแวดล้อม ระบบจอดรถอัตโนมัติ (Automated Parking System: APS) เป็นนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พื้นที่ ลดระยะเวลาค้นหาที่จอด และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก งานวิจัยนี้ศึกษาพฤติกรรมและปัจจัยที่ส่งผลต่อการยอมรับเทคโนโลยี APS โดยใช้กรอบแนวคิด UTAUT2 และตัวแปรสำคัญ เช่น ความคาดหวังด้านประสิทธิภาพ (Performance Expectancy), ความง่ายในการใช้งาน (Effort Expectancy), อิทธิพลทางสังคม (Social Influence), ความเชื่อมั่นในเทคโนโลยี (Trust in Technology) และจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Consciousness) โดยโครงการ APS Evolution นำเสนอโซลูชันการจอดรถอัจฉริยะที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พื้นที่ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีขึ้นสำหรับผู้ใช้ในเมือง โดยมุ่งเน้น การพัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้ใช้และการบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ
ในยุคของการขยายตัวของเมือง (Urbanization) ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัญหาพื้นที่จอดรถไม่เพียงพอในเขตเมืองได้กลายเป็นความท้าทายสำคัญ ซึ่งส่งผลต่อทั้ง ความแออัดของจราจร และ การเพิ่มขึ้นของมลพิษทางอากาศ จากการวนหาที่จอดรถ ระบบ ลิฟต์จอดรถอัตโนมัติ (Automated Parking System: APS) เป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การใช้พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากสามารถเพิ่มจำนวนที่จอดรถได้ในพื้นที่จำกัด ลดการใช้พลังงาน และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Emissions) อย่างไรก็ตาม แม้เทคโนโลยีนี้จะมีศักยภาพสูง แต่การยอมรับจากผู้ใช้งาน (User Adoption) ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องผลักดัน การนำเสนอและสาธิตการทำงานของ APS ในงาน KMITL EXPO จึงมีเป้าหมายเพื่อ ส่งเสริมความเชื่อมั่นในเทคโนโลยี (Trust in Technology) และสร้างความตระหนักรู้ถึง ประโยชน์เชิงสิ่งแวดล้อม (Environmental Consciousness) ของระบบจอดรถอัตโนมัตินี้ และแม้ว่าเทคโนโลยีลิฟต์จอดรถอัตโนมัติจะมีข้อดีที่ชัดเจน แต่ พฤติกรรมการยอมรับเทคโนโลยี (Behavioral Intention) ยังคงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ความคาดหวังว่าระบบจะช่วยให้ชีวิตสะดวกขึ้น (Performance Expectancy), ความคุ้มค่าในแง่ต้นทุนและประโยชน์ที่ได้รับ (Price Value) รวมถึงความตระหนักในบทบาทของเทคโนโลยีต่อการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Consciousness) โครงการนี้จึงมุ่งเน้นการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจใช้ระบบ APS ผ่านกรอบแนวคิด UTAUT2 (Unified Theory of Acceptance and Use of Technology 2) ข้อมูลที่ได้จะช่วยให้เข้าใจถึง ความต้องการและความคาดหวังของผู้ใช้ ซึ่งสามารถนำไปปรับปรุงและพัฒนานวัตกรรมนี้ให้ตอบโจทย์ได้ดียิ่งขึ้น
คณะวิทยาศาสตร์
ด้วยจำนวนผู้ป่วยโรคตับแข็งและมะเร็งตับที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก จากการบริโภคผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีการปนเปื้อนอะฟลาท็อกซิน บี1 (AFB1) การพัฒนาเทคนิคการตรวจคัดกรอง AFB1 ที่รวดเร็วจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง งานวิจัยนี้ได้เสนอแอปตาเซ็นเซอร์ไฟฟ้าเคมีรูปแบบใหม่ ซึ่งใช้อิเล็กโทรดที่ผลิตจากแผ่นทองคำเปลว (GLE) ซึ่งตกแต่งด้วยวัสดุเชิงประกอบนาโนทองแพลทินัม-รูทิเนียม/รีดิวซ์กราฟีนออกไซด์ (AuPt-Ru/RGO) แบบใช้แล้วทิ้งและยังมีต้นทุนต่ำ วัสดุเชิงประกอบนาโนโลหะผสม AuPt-Ru นั้นถูกสังเคราะห์ขึ้นด้วยวิธีการเคมีรีดักชันทางเคมีร่วมกับการใช้คลื่นความถี่อัลตราโซนิก พบว่าอนุภาคที่สังเคราะห์ได้มีรูปร่างคล้ายผลหยางเหมย โดยมีแกนกลางเป็นทอง แพลตินัมเป็นขนล้อมรอบและรูทิเนียมกระจายอยู่รอบอนุภาค มีขนาดอนุภาคเฉลี่ย 57.35 ± 8.24 นาโนเมตร ทั้งนี้วัสดุเชิงประกอบนาโนทองแพลทินัม-รูทิเนียมได้ถูกวางลงบนแผ่นรีดิวซ์กราฟีนออกไซด์ที่มีขนาดส้นผ่านสูนย์กลางภายใน 0.5 – 1.6 ไมโครเมตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการถ่ายโอนอิเล็กตรอน และเพิ่มพื้นที่ผิวสำหรับการตรึงแอปตาเมอร์ (Apt) ซึ่งช่วยเพิ่มความสามารถในการตรวจวัด AFB1 ได้อย่างแม่นยำ ด้วยปริมาณตำแหน่งกัมมันต์ที่มีขนาดใหญ่ และค่าความต้านทานในวงจรไฟฟ้ากระสลับที่ต่ำแอปตาเซ็นเซอร์ไฟฟ้าเคมี GLEAuPt-Ru/RGO ที่สร้างขึ้นแสดงความไวสูงในการตรวจวิเคราะห์ AFB1 ผลการวิเคราะห์ด้วยเทคนิคโวลแทมเมทรีพัลส์เชิงอนุพันธ์ (DPV) ได้แสดงค่าความเป็นเส้นตรงสำหรับการตรวจวัด AFB1 ในช่วงความเข้มข้น 0.3 – 30.0 พิโคกรัมต่อมิลลิลิตร (R2 = 0.9972) โดยมีขีดจำกัดต่ำสุดของการตรวจวัด (LOD, S/N = 3) และขีดจำกัดต่ำสุดของการวิเคราะห์ (LOQ, S/N = 10) อยู่ที่ 0.009 พิโคกรัมต่อมิลลิลิตรและ 0.031 พิโคกรัมต่อมิลลิลิตร ตามลำดับ แอปตาเซ็นเซอร์ไฟฟ้าเคมี GLEAuPt-Ru/RGO ให้ผลลัพธ์การวิเคราะห์ AFB1 ที่ดีในตัวอย่างจริง โดยมีร้อยละค่าคืนกลับของสัญญาณอยู่ในช่วง 94.6% ถึง 107.9% ในผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น พริกแดงแห้ง กระเทียม ถั่วลิสง พริกไทย และข้าวหอมมะลิไทย ซึ่งชี้ให้เห็นว่าแอปตาเซ็นเซอร์ไฟฟ้าเคมีที่สร้างขึ้นมีความเฉพาะเจาะจงต่อ AFB1 สูง และยังแสดงพฤติกรรมทางไฟฟ้าเคมีได้อย่างยอดเยี่ยมซึ่งคล้ายกับขั้วไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์อื่น ๆ โดยมีศักยภาพในการนำไปประยุกต์ใช้ในการตรวจวิเคราะห์ AFB1 ในผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอย่างดียิ่ง
วิทยาลัยการจัดการนวัตกรรมและอุตสาหกรรม
Air Rack เป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจที่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่และงบประมาณในการสร้างห้องเซิร์ฟเวอร์ ระบบระบายความร้อน และการจัดการเสียงรบกวน ระบบนี้ช่วยให้สามารถใช้งานอุปกรณ์ไอทีในพื้นที่เปิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยรองรับทั้งการทำงานแบบ On-premise และ On-cloud ผ่านการแปลงข้อมูลจากเซ็นเซอร์เป็นข้อมูลดิจิทัลและแสดงผลผ่าน Dashboard ผู้ใช้สามารถควบคุม ติดตาม และวิเคราะห์ข้อมูลได้จากระยะไกล อีกทั้งระบบยังช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการห้องเซิร์ฟเวอร์แบบเดิมได้อย่างมีนัยสำคัญ
คณะวิศวกรรมศาสตร์
การออกแบบและพัฒนาระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ระยะไกล งานวิจัยนี้มุ่งเน้นการออกแบบและพัฒนาระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ที่สามารถมอนิเตอร์และควบคุมจากระยะไกล พร้อมทั้งรองรับการกำหนดคุณสมบัติของเซลล์แบตเตอรี่ได้ตามต้องการ ระบบนี้ได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับใช้งานร่วมกับเซลล์แบตเตอรี่กราฟีน และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในระบบพลังงานทางเลือกสำหรับที่อยู่อาศัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ