KMITL Innovation Expo 2025 Logo

ปัจจุบันการใช้จ่ายพลังงานของครัวเรือนในประเทศไทยเป็นอย่างไร

รายละเอียด

งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา และประมวลผลปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายพลังงานของครัวเรือนในประเทศไทย และวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายพลังงานของครัวเรือนในประเทศไทย โดยกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในงานวิจัย คือ 57,600 ครัวเรือน ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 54.31 ปี มีสถานภาพสมรสแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาอยู่ที่ระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัวไม่มีลูกจ้าง, อาชีพลูกจ้างเอกชน และอื่น ๆ ในด้านลักษณะทางสังคมขนาดของครัวเรือนเฉลี่ยของผู้ตอบแบบสอบถามอยู่ที่ 2.71 คน มีที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่ภาคกลาง, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ซึ่งมีจำนวนใกล้เคียงกัน รองลงมาเป็นภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร ตามลำดับ ส่วนใหญ่อาศัยในบ้านเดี่ยว และลักษณะที่อยู่อาศัยเป็นแบบตึก รองลงมาเป็นแบบครึ่งตึกครึ่งไม้ ส่วนสถานภาพการครอบครองที่อยู่อาศัยพบว่าเกือบทั้งหมด เป็นเจ้าของบ้าน โดยมีจำนวนห้องในที่อยู่อาศัยเฉลี่ยที่ 2.88 ห้อง มีไฟฟ้าใช้ในที่อยู่อาศัยทุกครัวเรือน มียานพาหนะที่ใช้พลังงานเฉลี่ย 2.30 คันต่อครัวเรือน รวมถึงมีเครื่องใช้ไฟฟ้าเฉลี่ย 22 ชิ้น และในด้านลักษณะทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่มีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลจากหน่วยงานราชการ/รัฐวิสาหกิจ และได้รับผลประโยชน์จากโครงการช่วยเหลือของรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เคยกู้ยืมเงินจากกองทุนต่าง ๆ ที่รัฐจัดให้ สำหรับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการสื่อสารผู้ตอบแบบสอบถามมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 788.46 บาท และมีค่าเฉลี่ยหนี้สินของครัวเรือนอยู่ที่ 4,760.74 บาท ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 พบว่าปัจจัยที่มีผลต่อค่าใช้จ่ายพลังงานของครัวเรือนในประเทศไทย ได้แก่ เพศ, ระดับการศึกษา, สถานภาพสมรส, อาชีพ, จำนวนสมาชิก, ภาคที่อยู่อาศัย, ประเภทที่อยู่อาศัย, ลักษณะที่อยู่อาศัย, สถานภาพการครอบครองที่อยู่อาศัย, จำนวนห้อง, จำนวนยานพาหนะ, จำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้า, สวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล, การได้รับผลประโยชน์จากโครงการช่วยเหลือของรัฐ, การกู้ยืมเงินจากกองทุนต่าง ๆ ที่รัฐจัดให้, ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการสื่อสาร และจำนวนหนี้สินของครัวเรือน ส่วนอายุไม่มีผลต่อค่าใช้จ่ายพลังงานของครัวเรือนในประเทศไทย และผลการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณเชิงเส้นตรงพบว่ามีตัวแปรอิสระเชิงปริมาณ 6 ตัว ได้แก่ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการสื่อสาร, จำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน, จำนวนยานพาหนะที่ใช้พลังงานในครัวเรือน, จำนวนหนี้สินของครัวเรือน, จำนวนห้อง และขนาดของครัวเรือน ที่มีส่วนในการอธิบายความผันแปรของค่าใช้จ่ายพลังงานของ โดยมีค่า Adjusted R Square เท่ากับ 0.561

วัตถุประสงค์

ปัจจุบันพลังงานถือว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ รวมถึงเป็นปัจจัยพื้นฐานการผลิตในภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม โดยนโยบายพลังงานหลัก ๆ ของประเทศไทย คือ การจัดหาพลังงานให้เพียงพอกับความต้องการของผู้ใช้ โดยพลังงานจำเป็นจะต้องมีคุณภาพ มีความมั่นคง และมีราคาที่เหมาะสม โดยส่งเสริมให้มีการสำรวจ และพัฒนาแหล่งพลังงานจากภายในประเทศขึ้นมาใช้ประโยชน์ แต่ในขณะเดียวกันก็แสวงหาแหล่งพลังงานจากภายนอกประเทศเพื่อให้มีการกระจายแหล่ง และชนิดของพลังงาน รวมทั้งส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานอย่างประหยัด และมีประสิทธิภาพ (Lion EV, 2566) การจัดประเภทพลังงานที่เป็นที่นิยมมากวิธีการหนึ่ง คือ การแบ่งออกเป็น “พลังงานใช้แล้วหมดไป” และ “พลังงาน หมุนเวียน” พลังงานใช้แล้วหมดไปส่วนใหญ่เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่าน หิน น้ำมันดิบ ปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเชื้อเพลิงฟอสซิลมีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบหลัก การผลิตพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล จึงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรง ส่วนพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานใช้แล้วไม่หมดไปเป็นพลังงานที่เมื่อใช้ไปแล้วสามารถหาทดแทนหรือผลิตขึ้นใหม่ได้ (วิชญ์พาส พิมพ์อักษร, 2564) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คาดการณ์แนวโน้มการใช้พลังงาน ปี 2566 โดยความต้องการใช้พลังงานขั้นต้นของประเทศจะเพิ่มขึ้น 2.7% อยู่ที่ 2,111 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จากความต้องการเดินทางที่มีแนวโน้มกลับมาเป็นปกติมากขึ้นทั้งการเดินทางภายในประเทศ และการเดินทางระหว่างประเทศ รวมทั้งการขยายตัวของการลงทุนทั้งการลงทุนภาคเอกชน และภาครัฐ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเป็นการใช้น้ำมันที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 4.2% ก๊าซธรรมชาติคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.8% การใช้ถ่านหินลิกไนต์ คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.1% รวมถึงการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำ และไฟฟ้านำเข้า คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 4.4% ทั้งนี้ยังคงต้องติดตาม ปัจจัยเสี่ยงอย่างใกล้ชิด เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศหลักที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและภาคการส่งออก สถานการณ์ความไม่สงบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด และอนุญาตให้มีการเดินทางระหว่างประเทศของประเทศจีน ซึ่งกระทรวงพลังงานจะติดตามและบริหารนโยบายพลังงานในช่วง วิกฤตราคาพลังงานอย่างใกล้ชิด เพื่อหาแนวทางและมาตรการในการช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤตพลังงานต่อไป (สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน, 2566) ในปี 2564 ครัวเรือนทั่วประเทศมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นเฉลี่ยเดือนละ 21,216 บาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน 2,226 บาท คิดเป็นร้อยละ 10.3 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2565) โดยกระบวนการนำเชื้อเพลิงพลังงานขึ้นมาใช้การแปรรูป และการใช้พลังงาน ล้วนแต่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ผลกระทบต่อพื้นที่ป่า สัตว์ป่า สังคมและชุมชน ในกรณีที่มีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อกักเก็บน้ำสำหรับใช้ในการผลิตไฟฟ้า ผลกระทบต่อระบบภูมิอากาศจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงพลังงานทุกชนิด ผลกระทบต่อคุณภาพอากาศเนื่องมากจากสารพิษ เขม่าหรือควัน จากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงพลังงานทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่าระดับความรุนแรงของภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบนโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกที่ถูกรบกวนโดยกิจกรรมของมนุษย์ และหนึ่งในกิจกรรมนั้นก็คือ การใช้พลังงานของมนุษย์นั่นเอง (สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม, 2559) ในปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้พลังงานอย่างต่อเนื่องในอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ พลังงานที่นำมาใช้มีทั้งจากในประเทศ และนำเข้าจากต่างประเทศ ในขณะที่ประเทศมีการพัฒนามากขึ้น การใช้พลังงานในรูปแบบต่าง ๆ ก็ยิ่งเพิ่มขึ้นตามไปด้วย สภาวะการขาดแคลนพลังงานของโลกในอนาคตอาจเป็นเรื่องไกลตัวเรา แต่ในความเป็นจริงพลังงานต่าง ๆ ที่ได้จากเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ ซึ่งเราใช้อยู่อาจหมดไปภายในระยะเวลาไม่กี่ปี หากเรายังคงใช้กันตามอัตราที่ใช้อยู่ในขณะนี้ และยังไม่สามารถหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติมอาจเกิดการขาดแคลนพลังงานในอนาคตได้ (กระทรวงพลังงาน, 2565) จากข้อมูลข้างต้นผู้วิจัยมีความสนใจที่จะศึกษา และวิเคราะห์ข้อมูลการใช้จ่ายพลังงานของครัวเรือนในประเทศไทยประจำปี 2565 เพื่อให้ทราบถึงความสำคัญของปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายพลังงานของครัวเรือนในประเทศไทย เพื่อนำผลที่ได้รับจากการศึกษาไปเป็นข้อเสนอแนะในการหาแนวทางแก้ปัญหาการใช้จ่ายพลังงานของครัวเรือนในประเทศไทย เพื่อให้ในอนาคตมีการใช้จ่ายพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นวัตกรรมอื่น ๆ

การปรับปรุงความแข็งแรงของเซลล์อิเล็กโทรไลต์ชนิดแข็ง

วิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง

การปรับปรุงความแข็งแรงของเซลล์อิเล็กโทรไลต์ชนิดแข็ง

งานวิจัยเรื่องการปรับปรุงความแข็งแรงของเซลล์อิเล็กโทรไลต์ชนิดแข็ง มีวัตถุประสงค์ในการหาแนวทางปรับปรุง คุณสมบัติของเซลล์อิเล็กโทรไลต์ชนิดแข็ง ซึ่งผลิตจากซีเมนต์และสารที่เป็นตัวช่วยในการพัฒนาโครงสร้างของซีเมนต์ให้กำเนิดกระแสไฟฟ้าได้ มีองค์ประกอบของ Sodium chloride (NaCl) และ Graphite เป็นองค์ประกอบหลัก ที่มีความสามารถในการให้กระแสไฟฟ้าในระดับอ่อนๆได้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งกำเนิดกระแสไฟฟ้าสำหรับการใช้เป็นวัสดุปูพื้น ในงานวิจัยนี้มีขั้นตอนการดำเนินงาน โดยประกอบด้วยการเตรียมซีเมนต์กับน้ำ Sodium chloride (NaCl) และ Graphite เพื่อเพิ่มความสามารถในการนำไฟฟ้าของวัสดุงานวิจัยนี้คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะสามารถพัฒนาคอนกรีตปูพื้นที่สามารถให้กำเนิดแสงไฟฟ้าและสามารถที่จะพัฒนาต่อยอดเพื่อประยุกต์ใช้ในงานอื่นๆในอนาคต

แอปพลิเคชันจัดการอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

คณะวิศวกรรมศาสตร์

แอปพลิเคชันจัดการอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

แอปพลิเคชันจัดการมื้ออาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เป็นเครื่องมือด้านสุขภาพดิจิทัลที่ออกแบบมาเพื่อเสริมศักยภาพผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ในการจัดการด้านอาหารและระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยฟีเจอร์ต่าง ๆ เช่น คำแนะนำมื้ออาหารที่ปรับให้เหมาะกับแต่ละบุคคล การติดตามสารอาหาร และการเชื่อมต่อแอปพลิเคชันกับอุปกรณ์วัดระดับน้ำตาลในเลือด (CGM) แอปพลิเคชันนี้ช่วยให้ผู้ใช้สามารถติดตามระดับน้ำตาลได้แบบเรียลไทม์ และปรับเปลี่ยนการเลือกรับประทานอาหารได้อย่างเหมาะสม พัฒนาด้วยเฟรมเวิร์ก Flutter และรองรับด้วย Back-end Express.js และ MongoDB แอปพลิเคชันนี้ให้ความสำคัญกับการออกแบบส่วนติดต่อผู้ใช้ที่ใช้งานง่าย เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถส่งเสริมการวางแผนมื้ออาหารและการติดตามสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ การทดลองใช้งานเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่าแอปพลิเคชันนี้มีส่วนช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดมีความคงที่มากขึ้นและเพิ่มการปฏิบัติตามคำแนะนำด้านอาหารได้ดีขึ้น ช่วยให้ผู้ใช้ลดความเสี่ยงด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน ด้วยการนำเสนอแนวทางในการหลักเลี่ยงตัวแปรของการเกิดโรคเบาหวาน แอปพลิเคชันนี้ช่วยลดความจำเป็นในการเข้ารับการรักษาทางคลินิกบ่อยครั้ง จึงมีศักยภาพในการลดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ในระยะยาว โดยแสดงให้เห็นถึงบทบาทที่น่าสนใจของโซลูชันด้านสุขภาพดิจิทัลในการสนับสนุนการดูแลโรคเบาหวานแบบเฉพาะบุคคล และเน้นย้ำถึงศักยภาพของการขยายขนาดและเน้นผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง ซึ่งส่งเสริมการพัฒนาสุขภาพในระยะยาวสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

สื่อการเรียนรู้การประกอบคอมพิวเตอร์ด้วยเทคโนโลยีความจริงเสมือน

คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ

สื่อการเรียนรู้การประกอบคอมพิวเตอร์ด้วยเทคโนโลยีความจริงเสมือน

ปัจจุบันการประกอบคอมพิวเตอร์ถือได้ว่าเป็นสิ่งใกล้ตัวผู้คนมากมาย ทุกคนมีโอกาสจับต้องได้ ซึ่งความรู้ในองค์ประกอบต่างๆของคอมพิวเตอร์ และทักษะในการประกอบคอมพิวเตอร์ 2 สิ่งที่กล่าวไปเป็นสิ่งที่บุคคลทั่วไปควรมีความรู้และความเข้าใจพื้นฐาน สำหรับการประกอบคอมพิวเตอร์ด้วยตนเอง เราจึงอยากที่จะให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไปที่ต้องการที่จะเรียนรู้วิธีการประกอบ คอมพิวเตอร์ รวมไปข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับองค์ประกอบ ผ่านการนำเสนอให้ออกมาในรูปแบบของสื่อการเรียนรู้บนเทคโนโลยี VR ซึ่งจะช่วยลดปัญหาด้านความผิดพลาด และทรัพยากรที่จะใช้ในการประกอบลงไปได้ พร้อมสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ใช้งานด้วยการจำลองการประกอบคอมพิวเตอร์ให้ผู้ใช้ได้มีปฏิสัมพันธ์ภายในโลกเสมือน สร้างประสบการณ์ และให้ความรู้ก่อนที่จะนำไปปฏิบัติจริงกับอุปกรณ์จริง โครงงานนี้จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจในการประกอบคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะบุคคลที่ไม่มีประสบการณ์ในการประกอบคอมพิวเตอร์มาก่อน รวมไปถึงบุคคลที่อยากมีโอกาสได้ลองประกอบคอมพิวเตอร์ด้วยตนเอง