ผลิตภัณฑ์ Banana Blossom Chips เป็นขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพที่อุดมไปด้วยใยอาหาร สารต้านอนุมูลอิสระ และโปรตีนจากพืช โดยเกิดจากการผสมผสานวัตถุดิบท้องถิ่นของไทย คือปลีกล้วยที่มีใยอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระสูง แป้งถั่วลูกไก่ที่เป็นแหล่งโปรตีนจากพืช และข้าวกล้องหอมมะลิแดง ที่มีค่า GI ต่ำและสารต้านอนุมูลอิสระสูง ผ่านกระบวนการแปรรูปที่ให้ความกรอบและมีรูปร่างที่เป็นเอกลักษณ์ ลดปริมาณไขมัน ปราศจากกลูเตน รวมทั้งช่วยคงคุณค่าสารอาหาร จึงเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภคที่รักสุขภาพ และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรของไทย
เป็นผลงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของนักศึกษาคณะอุตสาหกรรมอาหาร ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในการประกวดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม Conovative Award 2024 ครั้งที่ 4 โดย บริษัท ไทยโคโคนัท จำกัด (มหาชน)
คณะอุตสาหกรรมอาหาร
เตปาเช่เป็นเครื่องดื่มที่มีต้นกำเนิดจากเม็กซิโก ที่นิยมใช้เปลือกสับปะรดที่มีน้ำตาลธรรมชาติและเอนไซม์โบรมีเลนในการผลิต จึงทำให้เตปาเช่มีกลิ่นหอมและมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ โครงงานนี้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนากระบวนการผลิตเครื่องดื่มเตปาเช่เพื่อสุขภาพ โดยหมักเปลือกสับปะรดด้วยยีสต์และแบคทีเรียกรดแลคติกที่มีคุณสมบัติเป็นโพรไบโอติก ร่วมกับการใช้พรีไบโอติกที่เป็นอาหารของจุลินทรีย์โพรไบโอติก ได้แก่ อินูลิน และ ไซโลโอลิโกเซคคาไรด์ ทำให้ได้เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มซินไบโอติกเตปาเช่ที่ดีต่อสุขภาพ ช่วยรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ลำไส้ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และเสริมภูมิต้านทานให้กับผู้บริโภค
คณะวิศวกรรมศาสตร์
กรรมวิธีผลิตแผ่นแสดงระดับความหืนของอาหารประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญ 3 ขั้นตอน คือ 1. การเตรียมสารละลายอินดิเคเตอร์ 2. การเตรียมสารละลายเซลลูโลส และ 3. การขึ้นรูปแผ่น มีสารละลายโบรโมไทมอลบลู และสารละลายเมทิลเรดทำหน้าที่เป็นอินดิเคเตอร์ ส่วนสารละลายเซลลูโลสประกอบด้วยสารไฮดรอกซีโพรพิลเมทิลเซลลูโลส สารคาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลส สารโซเดียมไฮดรอกไซด์ สารโพลิเอทิลีน ไกลคอล 400 และสารละลายอินดิเคเตอร์ สำหรับการขึ้นรูปแผ่นใช้สารละลายเซลลูโลสผสมกับน้ำยางธรรมชาติเพื่อเพิ่มความยืนหยุ่นและทำให้มีคุณสมบัติไม่น้ำชอบ หลังการอบแห้งสิ่งประดิษฐ์จะมีลักษณะเป็นแผ่นบางสีน้ำเงินเข้ม เมื่อสัมผัสกับสารระเหยของความหืนของอาหารทอด จะเปลี่ยนสีจากสีน้ำเงินเข้มเป็นสีเขียว และเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ตามปริมาณสารระเหยของความหืนของอาหารทอดที่เพิ่มขึ้น
คณะวิทยาศาสตร์
ปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในกรุงเทพมหานคร โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์และระบุปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อระดับของ PM2.5 มากที่สุด โดยใช้ข้อมูลคุณภาพอากาศ สภาพอากาศ และปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบว่าปัจจัยใด เช่น อุณหภูมิ ความชื้น ความเร็วลม หรือมลพิษจากแหล่งอื่น มีผลต่อความผันผวนของ PM2.5 ผลการศึกษานี้จะช่วยให้สามารถระบุปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อปริมาณฝุ่น PM2.5 ได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับหน่วยงานภาครัฐ นักวิจัย และประชาชนทั่วไปในการวางแผนรับมือและลดผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ นอกจากนี้ ผลลัพธ์ที่ได้ยังสามารถนำไปใช้สนับสนุนการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศและสุขภาพของประชาชนในระยะยาว