KMITL Innovation Expo 2025 Logo

ผลของวิธีการรักษาสภาพความสดของปลาทรายแดง (Nemipterus furcosus) จากการทำประมงพื้นบ้านต่อคุณภาพเนื้อปลาเพื่อการบริโภคแบบซาชิมิ

รายละเอียด

ปลาทรายแดงเป็นปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจสามารถพบเจอได้จากการทำประมงทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามันและมีราคาถูก อีกทั้งในปัจจุบันการบริโภคปลาดิบแบบซาชิมิได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย จึงต้องมีการส่งเสริมการบริโภคเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับปลาทรายแดง การศึกษานี้ได้ศึกษาวิธีการรักษาสภาพปลาทรายแดง (N. furcosus) เพื่อการบริโภคแบบดิบหรือซาชิมิ โดยการรักษาสภาพปลาทรายแดงประกอบไปด้วยการฆ่าปลาแบบ Ikejime (K) และ น็อคด้วยน้ำทะเลเย็น (S) และเก็บรักษาปลาแบบผ่าท้อง (G) และทั้งตัว (W) และเก็บรักษาไว้ 3 วัน ด้วยน้ำแข็ง (I) หรือตู้เย็น (F) ประเมินคุณภาพความสดของปลาทรายแดงด้วยวิธีทางประสาทสัมผัส, ทางเคมีกายภาพ (TVB-N, TMA-N และ pH) ดัชนีความสด (Ki-value) และทางจุลชีววิทยา พบว่าหลังจากเก็บรักษาไว้นาน 3 วัน ปลาทรายแดงกลุ่ม KGF มีคะแนนทางประสาทสัมผัสโดยรวมมากที่สุด คือ 8.36±0.80 คะแนน และปลาทรายแดงกลุ่ม KWI, SWI และ SWF มีคะแนนทางประสาทสัมผัสโดยรวมน้อยที่สุด คือ 8.13±0.77, 8.13±0.77 และ 8.13±0.81 คะแนน ตามลำดับ และคะแนนทางประสาทสัมผัสโดยรวมของปลาทุกกลุ่มการทดลองเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ค่าTVB-N ของปลาทรายแดงกลุ่ม KGF มีค่า TVB-N น้อยที่สุด คือ 1.37±0.93 มิลลิกรัมไนโตรเจน/ตัวอย่าง 100 กรัม ปลาทรายแดงกลุ่ม SGI มีค่า TVB-N มากที่สุด คือ 2.36±1.15 มิลลิกรัมไนโตรเจน/ตัวอย่าง 100 กรัม และ TVB-N ของปลาทุกกลุ่มการทดลองเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ค่า TMA-N ของปลาทรายแดงกลุ่ม KGF มีค่า TMA-N น้อยที่สุด คือ 1.56±0.88 มิลลิกรัมไนโตรเจน/ตัวอย่าง 100 กรัม ปลาทรายแดง กลุ่ม SWF มีค่า TMA-N มากที่สุด คือ 2.17±1.22 มิลลิกรัมไนโตรเจน/ตัวอย่าง 100 กรัม และ TMA-N ของปลาทุกกลุ่มการทดลองเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ค่า pH ของปลาทรายแดงกลุ่ม KGF มีค่า pH น้อยที่สุด คือ 6.40±0.12 ปลาทรายแดงกลุ่ม SWF มีค่า pH มากที่สุด คือ 6.78±0.25และ pH ของปลาทุกกลุ่มการทดลองเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) Ki value ของปลาทรายแดงกลุ่ม KGF มีค่า Ki value น้อยที่สุด คือ 9.05±0.73% ปลาทรายแดงกลุ่ม KWI มีค่า Ki value มากที่สุด คือ 12.88±4.19% และ Ki value ของปลาทุกกลุ่มการทดลองเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) และ คุณภาพความสดทางด้านจุลชีววิทยาพบว่าในปลาทรายแดงทุกกลุ่มการทดลองพบจุลินทรีย์ชนิด Salmonella spp., S. aureus, B. cereus, C. perfringens และ E. coli และจุลินทรีย์ทุกชนิดของปลาทรายแดงทุกกลุ่มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) โดยเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับเกณฑ์คุณภาพความสดทั้งทางด้านประสาทสัมผัส เคมีกายภาพ ดัชนีความสดและจุลชีววิทยาพบว่าปลาทรายแดงทุกกลุ่มมีความสดมากและเหมาะสมต่อการบริโภคแบบดิบในระหว่างการรักษาสภาพและเก็บรักษาไว้นาน 3 วัน หลังจากการเก็บรักษาไว้นาน 3 วัน ควรบริโภคปลาทรายแดงแบบปรุงสุกเนื่องจากคุณภาพความสดของปลาไม่เหมาะสมต่อการนำมาบริโภคแบบดิบจากการเพิ่มขึ้นของค่าพารามิเตอร์ต่างๆ ซึ่งการเพิ่มขึ้นของค่าพารามิเตอร์ต่างๆมีผลมาจากการเสื่อมสภาพของปลาและกิจกรรมจากจุลินทรีย์ ดังนั้นปลาทรายแดงเหมาะสมที่จะมีการส่งเสริมให้มีการบริโภคแบบดิบในระยะเวลาการเก็บรักษาภายใน 3 วัน อีกทั้งการรักษาสภาพปลาโดยเฉพาะวิธี Ikejime แล้วผ่าท้องและเก็บรักษาไว้ในตู้เย็น สามารถช่วยให้ปลามีคุณภาพความสดที่ดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งผลการศึกษานี้สามารถนำไปพัฒนาเทคนิคในการรักษาสภาพปลาที่เกิดขึ้นหลังการจับให้กับชาวประมงและสามารถส่งเสริมให้มีการเพิ่มมูลค่าปลาทรายแดงได้ในอนาคต

วัตถุประสงค์

อาหารทะเลเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั่วโลก เช่นเดียวกันกับในประเทศไทย อาหารทะเลถือว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก เนื่องจากประเทศไทยมีภูมิประเทศติดชายฝั่งทะเลทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทยยาวรวมทั้งสิ้นประมาณ 3,148 กิโลเมตร (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, 2566) ทำให้มีการประกอบอาชีพการทำประมงทั้งประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ มีการผลิตและแปรรูปสินค้ามากกว่า 2 ล้านตันต่อปี (กลุ่มสถิติการประมง, 2567) ซึ่งถือได้ว่าอาชีพการทำประมงชายฝั่งเป็นอีกอาชีพที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้งในด้านการจ้างงาน การสร้างรายได้ และเป็นแหล่งอาหารให้กับคนในประเทศ โดยเฉพาะปลาทะเลที่ได้รับความนิยมอย่างมากทั้งผู้บริโภคโดยตรงและอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ปลาทะเลเป็นอาหารทะเลที่ดีต่อสุขภาพ เนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนที่มีไขมันต่ำ และมีสารอาหารต่างๆที่สำคัญต่อร่างกาย โดยเฉพาะ โอเมก้า 3 ที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาสมองและลดความเสี่ยงในโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งโอเมก้า 3 ร่างกายไม่สามารถผลิตเองได้ จึงมีคำแนะนำทางการแพทย์ว่าควรบริโภคปลาทะเลอย่างน้อย สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อสุขภาพที่ดี (Skulas-Ray et al., 2012; Tilami and Samples, 2017; Rimm al., 2018)ปลาทรายแดง Nemipterus เป็นปลาทะเล ที่อาศัยอยู่หน้าดิน พบที่ระดับความลึก 8-110 เมตร พบมากในมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ตามพื้นโคลนหรือพื้นทราย ส่วนใหญ่กินปลาขนาดเล็กและครัสเตเชียนเป็นอาหารหลัก มีลักษณะเด่นคือ สีของลำตัวมีสีชมพู ส่วนท้องมีสีเงิน และมีเส้นสีเหลืองทองอ่อนพาดตามลำตัวตั้งแต่ศีรษะจนถึงโคนหาง (Anderson et al., 1998; Russell, 2001; Paul et al., 2018) ปลาทรายแดงนิยมบริโภคแบบยังสดโดยการนำไปประกอบอาหารและบริโภคแบบแปรรูป ปลาทรายแดงเป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย จากสถิติการจับของกรมประมงปี 2562-2566 พบว่ามีการจับปลาทรายแดงเฉลี่ยปีละ 32,560 ตันต่อปีและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ รวมทั้งสิ้น 1,367.56 ล้านบาท (กองนโยบายและแผนพัฒนาการประมง, 2567) แสดงให้เห็นว่าปลาทรายแดงเป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ ในขณะที่ราคาของปลาทรายแดงในตลาดซื้อขายสัตว์น้ำของผู้บริโภคมีราคาถูก ซึ่งข้อมูลจากองค์กรสะพานปลาเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2566 พบว่าราคาของปลาทรายแดงที่ซื้อขายมีราคาเพียง 70 บาทต่อกิโลกรัม (องค์กรสะพานปลา, 2566) ในปัจจุบันร้านอาหารญี่ปุ่นที่นิยมเสิร์ฟปลาดิบทั้งในรูปแบบซูชิและซาชิมิมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่าคนไทยมีค่านิยมในการหันมาบริโภคปลาดิบแบบซาชิมิที่เป็นวัฒนธรรมการกินแบบญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น (JETRO Bangkok, 2567) ด้วยเหตุนี้จึงควรมีการส่งเสริมให้ชาวประมงสามารถจำหน่ายปลาทรายแดงสำหรับการบริโภคแบบดิบเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ปลาทรายแดง และสร้างรายได้ให้กับชาวประมงให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น การเสื่อมสภาพของปลาเกิดขึ้นตั้งแต่หลังการจับ โดยระยะเวลาในการเสื่อมสภาพขึ้นอยู่กับ ชนิดของปลา วิธีการจัดการหลังการจับ อุณหภูมิที่ใช้ในการเก็บรักษาและวิธีการเก็บรักษา (มัทนา แสงจินดาวงษ์, 2527) ซึ่งในปัจจุบันผู้บริโภคนิยมบริโภคอาหารญี่ปุ่นโดยเฉพาะปลาดิบหรือซาชิมิเพิ่มมากขึ้น จึงต้องการบริโภคปลาที่มีความสดมาก แต่ในประเทศไทยผู้บริโภคและชาวประมงมีข้อมูลในการเก็บรักษาความสดของปลาทรายแดงเพื่อให้มีคุณภาพที่เหมาะสมต่อการบริโภคแบบดิบอยู่น้อย จึงได้ศึกษาเกี่ยวกับวิธีการเก็บรักษาและตรวจสอบคุณภาพความสดของปลาทรายแดงเพื่อให้เหมาะสมต่อการบริโภคแบบดิบหรือซาชิมิโดยใช้วิธีทางประสาทสัมผัส ทางเคมีกายภาพ ทางดัชนีความสดและทางจุลชีววิทยาและศึกษาวิธีการเก็บรักษาปลาเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาปลาให้สดได้นานที่สุด เพื่อพัฒนาเทคนิคการเก็บรักษาความสดของปลาให้เหมาะสมและมีคุณภาพในการบริโภคแบบดิบให้ดีมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถเพิ่มความรู้ทางด้านเทคนิคในการเก็บรักษาปลาให้กับชาวประมงและผู้บริโภคเพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพและเพิ่มมูลค่าปลาทะเลไทยให้มากยิ่งขึ้น

นวัตกรรมอื่น ๆ

การวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเพิ่มผลผลิตในโรงงานผลิตน้ำตาลจากอ้อย

คณะวิทยาศาสตร์

การวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเพิ่มผลผลิตในโรงงานผลิตน้ำตาลจากอ้อย

การผลิตน้ำตาลจากอ้อยเป็นกระบวนการที่มีความซับซ้อนและต้องการการควบคุมที่แม่นยำ หนึ่งในปัญหาสำคัญคือการสูญเสียน้ำตาล ซึ่งอาจเกิดจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะ “การเผาอ้อย” ก่อนนำเข้าหีบ ที่ลดคุณภาพอ้อยและประสิทธิภาพการสกัดน้ำตาล รวมถึง ประสิทธิภาพเครื่องจักรและคุณสมบัติของอ้อย ที่ส่งผลต่อปริมาณน้ำตาลที่ได้ งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการสูญเสียน้ำตาลในกระบวนการผลิตน้ำตาลจากอ้อย โดยใช้ข้อมูลเชิงปริมาณจากโรงงานน้ำตาล ครอบคลุม 9 ตัวแปร ได้แก่ ประสิทธิภาพเครื่องจักร (Mechanical efficiency), จำนวนชั่วโมงหยุดเครื่องจักรในหนึ่งวัน (Stoppage), จำนวนชั่วโมงหยุดรออ้อยในหนึ่งวัน (Due to Cane), ปริมาณทรายในน้ำอ้อย (Sand), ประสิทธิภาพการหีบสกัดอ้อย (Pol Extraction), ประสิทธิภาพเวลาการทำงานโดยรวม (Overall Time), ค่าความบริสุทธิ์ของน้ำอ้อย (Purity), ค่าปริมาณน้ำตาลในอ้อย (C.C.S.), และปริมาณอ้อยไฟไหม้ (Burn Cane) โดยจะทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าสหสัมพันธ์ (Correlation) เพื่อตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร และแบบจำลองการถดถอย (Regression Model) เพื่อพยากรณ์การสูญเสียน้ำตาล ผลการวิจัยพบว่า ประสิทธิภาพเครื่องจักร, ค่าปริมาณน้ำตาลในอ้อย และปริมาณทรายหรือสิ่งปนเปื้อนในน้ำอ้อย มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับการสูญเสียน้ำตาล โดยประสิทธิภาพเครื่องจักร มีความสัมพันธ์โดยตรงกับปริมาณอ้อยเข้าหีบ ซึ่งช่วยเพิ่มผลผลิตน้ำตาล ขณะที่ อ้อยไฟไหม้หรืออ้อยที่ถูกเผาก่อนการเก็บเกี่ยว ส่งผลให้การสกัดน้ำตาลลดลงและกระทบต่อคุณภาพน้ำตาล ดังนั้น การลดการสูญเสียน้ำตาลในกระบวนการผลิตสามารถทำได้โดย การเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักร, ลดสิ่งปนเปื้อนในน้ำอ้อย และจัดการอ้อยไฟไหม้ ซึ่งจะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลให้สูงขึ้นได้ในอนาคต

สเปกโตรโฟโตมิเตอร์แบบพิมพ์สามมิติสำหรับการตรวจวัดฟอร์มาลดีไฮด์ ในอาหารทะเลสด

คณะวิศวกรรมศาสตร์

สเปกโตรโฟโตมิเตอร์แบบพิมพ์สามมิติสำหรับการตรวจวัดฟอร์มาลดีไฮด์ ในอาหารทะเลสด

งานวิจัยนี้ศึกษาการสร้างสเปกโตรโฟโตมิเตอร์แบบพิมพ์ 3 มิติ ซึ่งได้ทำการสร้างสเปกโตรโฟโตมิเตอร์แบบพิมพ์ 3 มิติ ด้วยโปรแกรม AutoCAD ทำให้ตัวเครื่องนั้นมีความแข็งแรงทนทาน ต้นทุนต่ำ และพกพาสะดวก เพื่อใช้ในการตรวจวัดปริมาณฟอร์มาลดีไฮด์ในอาหารทะเลสด

ระบบโมดูลฟาร์มไฮโดรโปนิกส์อัตโนมัติ

คณะวิศวกรรมศาสตร์

ระบบโมดูลฟาร์มไฮโดรโปนิกส์อัตโนมัติ

ชุดจำลองระบบปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ระบบน้ำไหลขนาดเล็กที่มีการมอนิเตอร์ ดูแลและควบคุมปริมาณปุ๋ยในระบบ