การศึกษานี้มุ่งเน้นการใช้ผงกระเบื้องเซรามิกเป็นวัสดุทดแทนซีเมนต์ในคอนกรีตในอัตราส่วนที่เหมาะสม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาคุณสมบัติในการนำผงกระเบื้องมาทดแทนปริมาณซีเมนต์ และหาอัตราส่วนผสมที่เหมาะสมของผงกระเบื้องในซีเมนต์มอร์ตาร์ ที่สามารถให้สมบัติเทียบเท่าหรือดีกว่าซีเมนต์มอร์-ตาร์ปกติ ในการทดลองได้ดำเนินการโดยการเตรียมตัวอย่างซีเมนต์มอร์ตาร์ที่มีการทดแทนซีเมนต์ด้วยผงกระเบื้องเซรามิก 2 ประเภทที่เป็นขยะจากโรงงานผลิตกระเบื้องเซรามิก ได้แก่ ผงกระเบื้องร่องน้ำ และผงกระเบื้องขัด แบ่งส่วนการผสม 2 ส่วนคือ ส่วนที่ 1 ใช้สัดส่วนซีเมนต์ผสมผงกระเบื้อง ส่วนที่ 2 จะพิจารณาจากผลวิเคราะห์กำลังการรับแรงส่วนที่ 1 เพื่อพิจารณาในการเพิ่มหรือลดสัดส่วน และทำการทดสอบคุณสมบัติต่าง ๆ เช่น ความถ่วงจำเพาะ ความข้นเหลวปกติ ระยะเวลาการก่อตัว กำลังรับแรงดึง และกำลังรับแรงอัด จากผลการศึกษาพบว่าการแทนที่ซีเมนต์ด้วยผงกระเบื้องขัด สามารถรับแรงดึงและแรงอัดได้มากที่สุดเทียบเท่ากับกำลังการรับแรงดึงและแรงอัดของซีเมนต์มอร์ตาร์ปกติ ดังนั้น การใช้ผงกระเบื้องเซรามิกสามารถเพิ่มความสามารถการรับแรงอัดได้ในสัดส่วนการแทนที่ และยังเป็นการช่วยลดการใช้ซีเมนต์ ซึ่งส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตซีเมนต์ อีกทั้งเป็นแนวทางในการใช้วัสดุเหลือใช้ในอุตสาหกรรมเซรามิกให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งยังส่งเสริมความยั่งยืนในด้านอุตสาหกรรมก่อสร้าง
คอนกรีตเป็นวัสดุที่นิยมใช้ในด้านการก่อสร้างในประเทศไทย เนื่องจากมีข้อได้เปรียบที่หลากหลายเมื่อเทียบกับวัสดุอื่นๆ คือคอนกรีตมีคุณสมบัติเชิงกลที่ดี มีความคงทนสูง ไม่ติดไฟ สามารถหล่อขึ้นรูปร่างตามที่ต้องการได้ ตกแต่งผิวให้สวยงามได้ และที่สำคัญคือมีราคาไม่แพง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับราคาเหล็กรูปพรรณ ซึ่งปูนซีเมนต์มีบทบาทสำคัญในฐานะสารยึดเกาะในคอนกรีตส่งผลให้คอนกรีตเกิดความแข็งแรง และมีความ สามารถด้านการรับน้ำหนักสูง เนื่องจากอุตสาหกรรมการก่อสร้างมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดความต้องการในด้านการผลิตปูนซีเมนต์เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย จึงทำให้การใช้หินรวมเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะหินปูน เนื่องจากหินปูนมีความสำคัญในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์และเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่สามารถทดแทนได้ การเก็บเกี่ยวทรัพยากรธรรมชาติอย่างต่อเนื่องอาจส่งผลให้เกิดการเสื่อมโทรมทางเศรษฐกิจอย่างถาวร เช่น การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การทำลายระบบนิเวศ และการปนเปื้อนของฝุ่น อีกทั้งปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานและมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในขั้น ตอนการผลิตปูนซีเมนต์ก่อให้เกิดมลพิษอย่างมากโดยเฉพาะมลพิษทางอากาศ ซึ่งการผลิตปูนซีเมนต์นั้นปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 0.8 ตัน และก๊าซเรือนกระจก 1 ตันต่อปูนซีเมนต์ 1 ตันสู่ชั้นบรรยากาศ ในอุตสาหกรรมกระเบื้องเซรามิกมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้กระเบื้องเซรามิกมีความต้องการในการผลิตกระเบื้องเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดผงกระเบื้องจากกระบวนการการผลิตทั้งที่ตกค้างในร่องน้ำและการขัดตกแต่งหลังเผาเสร็จ ซึ่งเป็นของเศษขยะจากกระบวนการผลิตกระเบื้องเซรามิกเป็นจำนวนมาก ผงกระเบื้องเซรามิกนี้มีส่วนประกอบส่วนมากเป็น ซิลิกา (Silicon dioxide) และอะลูมินา (Aluminum oxide) ที่สามารถเกิดปฏิกิริยาปอซโซลาน (Pozzolanic reaction) ได้ดีกับแคลเซียมไฮดรอกไซด์ (Calcuim hydroxide) จากปฏิกิริยาไฮเดรชัน (Hydration reaction) ของปูนซีเมนต์ จึงได้มีแนวคิดที่จะนำผงกระเบื้องขัดมาทดแทนปริมาณซีเมนต์ในการผสมคอนกรีตในงานก่อสร้าง เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม การศึกษานี้สามารถลดต้นทุนการผลิตซีเมนต์ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศจากกระบวนการผลิตซีเมนต์พร้อมทั้งลดขยะในด้านอุตสาหกรรม โดยการนำเศษผงกระเบื้องที่เป็นของเสียจากโรงงานผลิตกระเบื้องเซรามิกกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบวัสดุทดแทนซีเมนต์
คณะเทคโนโลยีการเกษตร
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาปัญหาความต้องการในการออกแบบบรรจุภัณฑ์กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ฯ 2) เพื่อพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ฯ และ 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจต่อรูปแบบบรรจุภัณฑ์ของสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกะปิคลองด่านชุมชน 3 ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 9 คน ผลการศึกษาพบว่า สภาพปัญหาของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ฯ นั้นขาดบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมแก่การเป็นของฝากและมีความต้องการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีลักษณะเหมาะสมแก่การเป็นของฝากโดยวัสดุที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์คือกระดาษ มีรูปแบบบรรจุภัณฑ์เป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าพร้อมหูจับสำหรับพกพา สามารถพับเก็บขนส่งสะดวก และซ้อนทับเพื่อเรียงเป็นชั้นได้มีความแข็งแรงทนทาน สีบรรจุภัณฑ์ที่ใช้คือสีน้ำตาลอ่อน ส่วนสีฉลากคือสีขาว มีรายละเอียดที่ระบุในฉลากดังนี้ สูตรทำน้ำพริกกะปิ ส่วนประกอบ วันผลิตและวันหมดอายุ ความเป็นมาของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ฯ QR Code เบอร์โทรศัพท์ เรื่องราวสั้น ๆ ชื่อกลุ่ม สถานที่ผลิต พร้อมทั้งใช้ภาพประกอบเป็นที่ตั้งของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ฯ และภาพเคยแดง ผลการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ฯ พบว่าการออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือของสินค้า ทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่นในตัวผลิตภัณฑ์ และความพึงพอใจต่อรูปแบบบรรจุภัณฑ์ของสมาชิกกลุ่ม ฯ พบว่าบรรจุภัณฑ์รูปแบบที่ 1 มีระดับความพึงพอใจมากที่สุด ( x ̅ = 4.57, S.D.= 0.22) โดยมีด้านสีได้ระดับความพึงพอใจมากที่สุด ( x ̅ = 4.74, S.D.= 0.06) รองลงมาคือด้านฉลากมีระดับความพึงพอใจมากที่สุด ( x ̅ = 4.69, S.D.= 0.10) น้อยที่สุดคือ ด้านคุณสมบัติระดับความพึงพอใจปานกลาง ( x ̅ = 3.83, S.D.=1.58) ตามลำดับ
วิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต
นักดนตรีบางคนที่พิการทางการได้ยิน บางคนจบอาชีพการงาน แต่บางคนยังคงทำงานต่อไปโดยที่หูหนวกนั้นยากกว่านักดนตรีปกติมาก บางคนใช้เครื่องช่วยฟังในชีวิตประจำวันและใช้เครื่องช่วยฟังแบบอินเอียร์ในการแสดง สดซึ่งดูเหมือนปกติ แต่ในอินเอียร์ของพวกเขา ได้ยินเพียงเครื่องเมตรอนอมและกลองเท่านั้น เราจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของอินเอียร์มอนิเตอร์ให้ดีขึ้นจนใกล้เคียงปกติได้อย่างไร
คณะวิทยาศาสตร์
งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาการผลิตน้ำมันไพโรไลซิสจากขยะพลาสติกฝังกลบที่ผ่านการคัดแยกจากหลุมฝังกลบขยะมูลฝอยอายุ 15 ปี จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี เพื่อนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงทดแทนด้วยเตาปฏิกรณ์แบบเบดนิ่ง (Fixed-Bed Reactor) ที่อุณหภูมิ 450 องศาเซลเซียส ระยะเวลา 1 ชั่วโมง 30 นาที โดยใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เป็นเชื้อเพลิงในการให้ความร้อน มีการออกแบบการทดลองออกเป็น 4 สภาวะ คือ ตัวอย่างขยะพลาสติกฝังกลบที่ยังไม่ผ่านการล้างแต่ทำการตัดลดขนาด ตัวอย่างขยะพลาสติกฝังกลบที่ผ่านการล้างและตัดลดขนาด ตัวอย่างขยะพลาสติกฝังกลบที่ยังไม่ผ่านการล้างและตัดลดขนาด และตัวอย่างขยะพลาสติกฝังกลบยังไม่ผ่านการล้างแต่ทำการตัดลดขนาด และใช้ถ่านกัมมันต์เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา พบว่าผลิตภัณฑ์ที่ได้มีทั้งหมด 3 ประเภท คือ น้ำมัน (Py-oil) ถ่าน (Char) และก๊าซ (Gas) ในปริมาณที่แตกต่างกันออกไป นอกจากนี้ยังมีการเปรียบเทียบลักษณะและคุณภาพของน้ำมันไพโรไลซิสจากขยะพลาสติกฝังกลบ ได้แก่ ค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ค่าความร้อน (Heating Value) ค่าความชื้น (Moisture content) เถ้า (Ash) และหมู่ฟังก์ชั่น (Functional group) รวมไปถึงองค์ประกอบทางเคมี โดยใช้การอ้างอิงมาตรฐานน้ำมันเตาตามประกาศกรมธุรกิจพลังงานเป็นเกณฑ์ ผลการวิเคราะห์ ที่ได้จึงสามารถอธิบายได้ว่าน้ำมันจากการไพโรไลซิสขยะพลาสติกฝังกลบในสภาวะใดที่มีความเหมาะสมและมีความคุ้มค่ากับการนำมาผลิตเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันเตาที่มีการใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้ งานวิจัยนี้เป็นอีกหนึ่งแนวทางเลือกที่ช่วยในการจัดการขยะพลาสติกในบ่อฝังกลบให้มีปริมาณลดน้อยลง โดยเปลี่ยนขยะมูลฝอยให้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง