ปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในกรุงเทพมหานคร โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์และระบุปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อระดับของ PM2.5 มากที่สุด โดยใช้ข้อมูลคุณภาพอากาศ สภาพอากาศ และปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบว่าปัจจัยใด เช่น อุณหภูมิ ความชื้น ความเร็วลม หรือมลพิษจากแหล่งอื่น มีผลต่อความผันผวนของ PM2.5 ผลการศึกษานี้จะช่วยให้สามารถระบุปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อปริมาณฝุ่น PM2.5 ได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับหน่วยงานภาครัฐ นักวิจัย และประชาชนทั่วไปในการวางแผนรับมือและลดผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ นอกจากนี้ ผลลัพธ์ที่ได้ยังสามารถนำไปใช้สนับสนุนการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศและสุขภาพของประชาชนในระยะยาว
PM2.5 pollution is a serious issue in Bangkok, causing respiratory diseases, heart conditions, and reduced air quality. Identifying the most critical factors contributing to PM2.5 can help in creating solutions to improve public health.
คณะบริหารธุรกิจ
BrushXchange เป็นแบรนด์แปรงสีฟันที่มุ่งเน้นการลดปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทย ผ่านการนำเสนอแปรงสีฟันที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล พร้อมหัวแปรงที่สามารถถอดเปลี่ยนได้ เพื่อช่วยลดการสร้างขยะจากแปรงสีฟันแบบดั้งเดิม การออกแบบที่ทันสมัยและใช้งานง่าย เน้นความทนทาน ความสะดวกสบาย และความคุ้มค่า เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แบรนด์มีเป้าหมายเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมดูแลช่องปาก โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพในราคาที่เข้าถึงได้ การตลาดเน้นการใช้สื่อสังคมออนไลน์ เช่น Instagram และ TikTok รวมถึงความร่วมมือกับองค์กรที่สนับสนุนแนวคิดความยั่งยืน และการจัดจำหน่ายผ่านร้านค้าปลีก เช่น Lotus’s และ Tops BrushXchange ยังเน้นการสร้างภาพลักษณ์ด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยบรรจุภัณฑ์กระดาษรีไซเคิลและการจัดกิจกรรมรณรงค์ความยั่งยืน เป้าหมายระยะยาวของแบรนด์คือการเป็นแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในตลาดแปรงสีฟันที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย และการส่งเสริมพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนในสังคม
คณะวิศวกรรมศาสตร์
การศึกษานี้จัดทำขึ้นเพื่อสร้างต้นแบบผ้าคลุมเย็นสำหรับการขนส่งน้ำนมดิบเพื่อเสนอแนวทางการรักษาคุณภาพน้ำนมดิบระหว่างการขนส่งไปยังศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ ผ้าคลุมเย็นนี้ผลิตจากการนำวัสดุเปลี่ยนสถานะ (Phase Change Material, PCM) ผลิตจากน้ำผสมสารสร้างเนื้อเจล ปริมาณ 5.6 กิโลกรัม มาประกบรอบถังนมอะลูมิเนียม (ปริมาตรความจุ 25 ลิตร) แล้วคลุมด้วยผ้าเคลือบสารสะท้อนรังสียูวี 2 ชนิด ได้แก่ ผ้าพอลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) และผ้าพอลิเอทิลีนความหนาแน่นสูง (HDPE) ประสิทธิภาพการรักษาอุณหภูมิของผ้าคลุมทั้งสองแบบประเมินจากการวัดอุณหภูมิของน้ำที่จุดต่าง ๆ ตามแนวรัศมีและตามความสูงของถังนม จำนวน 6จุด ด้วยสายเทอร์มอคัปเปิลชนิดที ภายใต้สภาวะแวดล้อม 3 สภาวะ ได้แก่ ที่อุณหภูมิคงที่ 25 °C และ 35 °C และที่อุณหภูมิบรรยากาศกลางแจ้ง (อุณหภูมิเฉลี่ย 35.5 °C) เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 180 นาที ผลการทดลองพบว่า ที่เวลา 120 นาที น้ำในถังคลุมด้วยผ้า PCM-PVC และผ้า PCM-HDPE มีอุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิบรรยากาศ 12.6 °C และ 12.9 °C ตามลำดับ ภายใต้อุณหภูมิบรรยากาศคงที่ 25 °C ในขณะที่ภายใต้อุณหภูมิบรรยากาศคงที่ 35 °C มีอุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิบรรยากาศ 16.7 °C และ 16.4 °C ตามลำดับ และอุณหภูมิบรรยากาศกลางแจ้งมีอุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิบรรยากาศ 12.7 °C และ 13.8 °C ตามลำดับ เนื่องจากผ้า PCM-PVC และผ้า PCM-HDPE มีประสิทธิภาพการรักษาอุณหภูมิไม่ต่างกัน การประเมินประสิทธิภาพการรักษาคุณภาพทางจุลินทรีย์ของน้ำนมดิบจึงศึกษาเฉพาะผ้า PCM-PVC เทียบกับกรณีไม่ใช้ผ้าคลุม (ควบคุม) ด้วยการตรวจนับปริมาณเชื้อโคลิฟอร์มและเชื้อ Escherichia coli โดยใช้อาหารเลี้ยงเชื้อสำเร็จรูป ผลการทดลองพบว่าเมื่อเวลาผ่านไป 120 นาที น้ำนมในถังที่คลุมด้วยผ้า PCM-PVC มีปริมาณเชื้อโคลิฟอร์มเฉลี่ยเท่ากับ 1.6 × 10^4 CFU/ml และเชื้อ E. coli เท่ากับ 2 × 10^3 CFU/ml ซึ่งน้อยกว่ากรณีไม่มีผ้าคลุมซึ่งมีปริมาณเชื้อโคลิฟอร์ม เฉลี่ยเท่ากับ 1.5 × 10^4 CFU/ml และเชื้อ E. coli เท่ากับ 1.1 × 10^4 CFU/ml จากการศึกษานี้สรุปได้ว่าอุณหภูมิที่ลดได้นี้สามารถช่วยชะลอการเจริญของเชื้อโคลิฟอร์มให้มีปริมาณน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานน้ำนมดิบซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของผ้าคลุมเย็นในการรักษาคุณภาพและความปลอดภัยของน้ำนมดิบระหว่างการขนส่งอันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมไทย
คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ
โครงการนี้มีเป้าหมายในการออกแบบรีสอร์ทลอยน้ำในเกาะเต่า โดยมุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์ที่เป็นเอกลักษณ์และยั่งยืนสำหรับนักท่องเที่ยว ด้วยการนำเสนอห้องพักใต้ท้องทะเลและการใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ไม้ Marine, คอนกรีต Marine grade, และวัสดุเหล็กหรืออะลูมิเนียมที่มีคุณภาพสูง เพื่อมุ่งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น แผงโซลาร์เซลล์และพลังงานจากคลื่นทะเล โดยคำนึงถึงการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพและส่งเสริมการรีไซเคิล วัตถุประสงค์ของโครงการนี้คือการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ท้องทะเล โดยการให้ผู้เข้าพักมีส่วนร่วมในกิจกรรมอนุรักษ์ต่างๆ เช่น การปลูกปะการัง การทำความสะอาดใต้ทะเล และการเก็บขยะในพื้นที่รอบๆ รีสอร์ท โครงการนี้คาดว่าจะมีผลกระทบเชิงบวกต่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของเกาะเต่า โดยสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดการท่องเที่ยวท้องถิ่นได้