การรักษาผู้ป่วยมะเร็งในแผนกเคมีบำบัดของโรงพยาบาลมะเร็งชลบุรีมีขั้นตอนที่ยุ่งยากและไม่สะดวก เนื่องจากกระบวนการส่งผลตรวจเลือดผ่านแอปพลิเคชันไลน์ส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ทำให้การดำเนินงานขาดความคล่องตัว ด้วยเหตุนี้ ผู้วิจัยจึงพัฒนาโปรแกรมบริหารจัดการและติดตามผู้ป่วยมะเร็งในรูปแบบเว็บแอปพลิเคชัน (web-based application) และแอปพลิเคชันไลน์ LINE LIFF (LINE Front-end Framework) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับทั้งบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย ระบบเว็บแอปพลิเคชันออกแบบมาเพื่อใช้โดยบุคลากรทางการแพทย์ในการติดตาม นัดหมาย และเก็บข้อมูลผู้ป่วย ส่วนแอปพลิเคชันไลน์ ออกแบบสำหรับผู้ป่วยในการส่งผลตรวจเลือด ดูตารางนัดหมาย บันทึกอาการหลังรับยาเคมีบำบัด บันทึกค่าน้ำหนักของผู้ป่วยทุกสัปดาห์ และแชทบอทสำหรับให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วย ระบบนี้พัฒนาบนพื้นฐานของเทคโนโลยีไคลเอนต์-เซิร์ฟเวอร์ ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการวิเคราะห์ข้อมูลและสนับสนุนการวางแผนการรักษาอย่างอัตโนมัติ ส่งผลให้กระบวนการรักษาผู้ป่วยมะเร็งมีความรวดเร็ว ทันสมัย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ในแต่ละปีคนไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกปี การรักษาโรคก็มีหลากหลายวิธีขึ้นกับระยะและอาการของโรค เช่น การรักษาด้วยการผ่าตัด การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด การรักษาด้วยการฉายรังสี เป็นต้น โดยขั้นตอนการรักษาผู้ป่วยมะเร็งของแผนกเคมีบำบัดของโรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี มีขั้นตอนดังนี้ พยาบาลทำการแนะนำให้ผู้ป่วยทำการตรวจเลือดจากโรงพยาบาลใกล้บ้านผู้ป่วย จากนั้นให้ส่งผลตรวจมาทางช่องทางไลน์แอพพลิเคชันส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ของโรงพยาล หรือพยาบาล หลังจากนั้นแพทย์จะดำเนินการทำการวินิจฉัยก่อนเข้าการรักษาตามแผนการรักษา ซึ่งแผนการรักษา แพทย์และเภสัชกรได้ทำการแจ้งให้ผู้ป่วยทราบล่วงหน้าเรียบร้อย รวมทั้งสูตรยาเคมีบำบัด ระยะเวลาการรักษาและการปฏิบัติ กับผู้ป่วยมะเร็ง จากขั้นตอนดังกล่าวส่งผลให้การรักษาของทางโรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี เกิดความไม่คล่องตัว จากประเด็นดังต่อไปนี้ ประการแรกข้อมูลผลเลือดมักจะไม่ถูกบันทึกลงฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ประการที่สองการนัดหมายทำเคมีบำบัดมีความคลาดเคลื่อนกับผู้ป่วยที่ต้องการเลื่อนนัดหรือผลเลือดไม่ผ่าน จากการวินิจฉัยของแพทย์ ประการที่สามการบันทึกผลการรักษาไม่ถูกจัดเก็บอย่างเป็นระบบยากต่อการวินิจฉัยถึงผลการรักษาของผู้ป่วย จากปัญหาดังกล่าวส่งผลให้การวิจัยและพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยเกิดได้อย่างล่าช้า ผู้วิจัยจึงทำการพัฒนาโปรแกรมสำหรับบริหารจัดการผู้ป่วยมะเร็งและติดตามผู้ป่วยมะเร็ง โดยพัฒนาในรูปแบบเว็บแอปพลิเคชัน (web-based application) และแอปพลิเคชันภายในแพลตฟอร์มไลน์ LINE LIFF (LINE Front-end Framework) สำหรับผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็ง เพื่อสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วย โดยระบบถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนหลัก กล่าวคือ ระบบเว็บแอปพลิเคชัน ถูกใช้งานโดยบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อติดตาม นัดหมาย และทำการเก็บรวบรวมข้อมูลเของผู้ป่วยที่เข้ารักษาของแผนกเคมีบำบัด โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี ส่วนระบบโมบายแอปพลิเคชัน สำหรับผู้ป่วยเพื่อทำส่งผลการตรวจเลือดให้กับแพทย์ แสดงตารางการนัดหมายเพื่อทำการรักษาของแผนกเคมีบำบัด และการบันทึกอาการระหว่างและหลังการรับเคมีบำบัด
คณะอุตสาหกรรมอาหาร
กากกาแฟเป็นวัสดุเหลือใช้ที่เกิดจากกระบวนการชงกาแฟ ซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามความนิยมในการบริโภคกาแฟทั่วโลก ภายในกากกาแฟมีสารที่เป็นประโยชน์ เช่น โพลีแซ็กคาไรด์ เส้นใยอาหาร และสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ รวมถึงการสกัดพรีไบโอติก งานวิจัยนี้มุ่งเน้นการสกัดสารพรีไบโอติกจากกากกาแฟโดยใช้วิธีการไฮโดรไลซิสด้วยกรดและการย่อยสลายทางเอนไซม์ เพื่อนำสารที่ได้มาประเมินศักยภาพในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อระบบทางเดินอาหาร ผลการวิจัยคาดว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับของเหลือจากอุตสาหกรรมกาแฟ ลดปริมาณขยะอินทรีย์ และเป็นแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์พรีไบโอติกที่สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและสุขภาพ ทั้งนี้ การศึกษานี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
คณะเทคโนโลยีการเกษตร
การทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับความเข้มข้นของธาตุไนโตรเจนและโพแทสเซียมร่วมกับจำนวนชั่วโมงในการให้แสงต่อการเจริญเติบโตของต้นวิโอลา (Viola) ภายใต้โรงงานผลิตพืช เพื่อเพิ่มคุณภาพของผลผลิต ลดระยะเวลา และเพิ่มรอบการผลิตให้เกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี โดยวางแผนการทดลองแบบ 3x3 Factorial in CRD มี 9 กรรมวิธี กรรมวิธีละ 3 ซ้ำๆ ละ 6 ต้น ซึ่งปัจจัยที่ใช้ศึกษามีอยู่ 2 ชนิด คือ ปัจจัยที่ 1 ความเข้มข้นของธาตุไนโตรเจน (N) ร่วมกับโพแทสเซียม (K) ในอัตราส่วนที่แตกต่างกัน 3 ระดับ ดังนี้ 1) N:K 1:1, 2) N:K 1:2 และ 3) N:K 2:1 ปัจจัยที่ 2 จำนวนชั่วโมงในการให้แสงต่อวันที่แตกต่างกัน 3 กรรมวิธี ดังนี้ 1) จำนวนชั่วโมงในการให้แสง 24 ชั่วโมงต่อเนื่อง 2) จำนวนชั่วโมงในการให้แสงช่วง Vegetative 8 ชั่วโมงพัก 16 ชั่วโมง จากนั้นช่วงกระตุ้นตาดอกเพิ่มแสงเป็น 13 ชั่วโมง พัก 11 ชั่วโมง หลังจากเกิดตาดอก จะให้แสง 8 ชั่วโมง พัก 16 ชั่วโมง และ 3) จำนวนชั่วโมงในการให้แสง 5 ชั่วโมงพัก 3 ชั่วโมง โดยทุกกรรมวิธีปรับอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ค่า EC 1.5-2.0 mS/cm และ ค่า pH 5.8-6.5 ผลการทดลอง พบว่า การให้ระดับความเข้มข้นของปุ๋ย N:K ในอัตราส่วน 1:1 ร่วมกับแสง 24 ชั่วโมง ทำให้การเจริญเติบโตทางลำต้นและมีคุณภาพดอกมากที่สุด รวมทั้งการประเมินคุณภาพทางประสาทสัมผัสโดยภาพรวมอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ เหมาะแก่การนำไปประกอบอาหารหรือตกแต่งจาน ซึ่งกรรมวิธีนี้ทำให้สามารถเพิ่มคุณภาพของผลผลิตได้ดีที่สุด สามารถลดระยะเวลาในการผลิตดอกวิโอลาในแต่ละรอบจาก 90-100 วัน ลดลงเหลือ 43-45 วัน และเพิ่มรอบการผลิตให้เกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี โดยไม่ต้องคำนึงถึงฤดูกาล หรือสภาพแวดล้อมภายนอก ซึ่งดีต่อเกษตรกรผู้ผลิต
คณะบริหารธุรกิจ
ปัจจุบันปัญหาที่จอดรถในเขตเมืองเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความแออัดของจราจร การบริหารพื้นที่ และสิ่งแวดล้อม ระบบจอดรถอัตโนมัติ (Automated Parking System: APS) เป็นนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พื้นที่ ลดระยะเวลาค้นหาที่จอด และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก งานวิจัยนี้ศึกษาพฤติกรรมและปัจจัยที่ส่งผลต่อการยอมรับเทคโนโลยี APS โดยใช้กรอบแนวคิด UTAUT2 และตัวแปรสำคัญ เช่น ความคาดหวังด้านประสิทธิภาพ (Performance Expectancy), ความง่ายในการใช้งาน (Effort Expectancy), อิทธิพลทางสังคม (Social Influence), ความเชื่อมั่นในเทคโนโลยี (Trust in Technology) และจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Consciousness) โดยโครงการ APS Evolution นำเสนอโซลูชันการจอดรถอัจฉริยะที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พื้นที่ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีขึ้นสำหรับผู้ใช้ในเมือง โดยมุ่งเน้น การพัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้ใช้และการบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ