โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพการใช้พลังงานในอนาคต Net Zero ของกรุงเทพครั้งใหม่ โดยมีเป้าหมายที่จะตอบข้อบกพร่องของโครงสร้างเมืองในปัจจุบัน ซึ่งยังคงไม่มีประสิทธิภาพและก่อมลพิษอย่างมาก ในทางกลับกันโครงการนี้สามารถผลิตพลังงานและส่งพลังงานส่วนเกินกลับคืนสู่เมืองและชุมชนโดยรอบ
โครงการนี้เริ่มต้นจากความสนใจส่วนตัวในด้านสิ่งแวดล้อมและ Green Design โดยณปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ซึ่งตอนนี้อุณหภูมิโลกได้เพิ่มสูงขึ้นถึงระดับ 1.5°C และกำลังเข้าใกล้ขีดจำกัด 2°C เพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้องค์กร United Nations ได้กำหนดเป้าหมายใว้ในปี 2015 ในการบรรลุ Carbon Net Zero ภายในปี 2050 โครงการนี้ทำขึ้นเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงในสถาปัตยกรรมสู่อนาคต
คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ
การศึกษานี้มุ่งเน้นการออกแบบ การผลิต และการติดตั้งแนวปะการังเทียมแบบแยกส่วนที่พิมพ์ด้วยเทคโนโลยี 3 มิติ (3DMARs) บริเวณเกาะไข่ จังหวัดชุมพร ประเทศไทย โดยใช้กรอบแนวคิดการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ร่วมมือกับบริษัท เอสซีจี จำกัด (มหาชน) และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง งานวิจัยนี้กำหนดเกณฑ์การออกแบบและวิธีการติดตั้งโดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหาและการวิจัยเชิงคุณภาพ หลักการสำคัญที่ระบุได้ ได้แก่ ความเป็นโมดูลาร์ (Modularity), ความยืดหยุ่น (Flexibility), ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability) และการใช้งานได้จริง (Usability) โดยใช้แนวทางที่มุ่งเน้นผู้ใช้งานเพื่อให้แนวปะการังเทียมสามารถขนส่งและติดตั้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นและการปฏิบัติที่ยั่งยืน การออกแบบแบบโมดูลาร์ช่วยให้สามารถขยายขนาดได้ง่าย ส่งเสริมการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลและการตั้งถิ่นฐานของตัวอ่อนปะการัง นอกจากนี้ เทคนิคการติดตามผลใต้น้ำยังช่วยให้สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลเฉพาะพื้นที่ ซึ่งนำไปสู่การสร้างแบบจำลองดิจิทัลทวิน (Digital Twin) งานวิจัยนี้นำเสนอกรอบแนวทางปฏิบัติสำหรับการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล และช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้กับชุมชนชายฝั่งในประเทศไทยและในระดับสากล
คณะอุตสาหกรรมอาหาร
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาอัลจิเนตไฮโดรเจลที่เสริมด้วยคาร์ราจีแนนและเจลแลนกัม เพื่อใช้เป็นวัสดุคอมโพซิตสำหรับนำส่งสารสำคัญทางปาก อัลจิเนตเป็นพอลิเมอร์จากสาหร่ายสีน้ำตาลที่สามารถเกิดเจลเมื่อสัมผัสกับไอออนบวก เช่น แคลเซียมไอออน ซึ่งช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับโครงสร้างไฮโดรเจล ขณะที่คาร์ราจีแนนและเจลแลนกัมเป็นพอลิแซ็กคาไรด์ที่ช่วยเพิ่มเสถียรภาพและความสามารถในการกักเก็บสารสำคัญ การศึกษานี้วิเคราะห์ลักษณะทางกายภาพ ความแข็งแรงของไฮโดรเจลบีดส์ ความสามารถในการกักเก็บสารสำคัญ รวมถึงพฤติกรรมการบวมภายใต้สภาวะจำลองของทางเดินอาหาร ผลการศึกษาคาดว่าการเสริมคาร์ราจีแนนและเจลแลนกัมจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงและเสถียรภาพของไฮโดรเจลบีดส์ พร้อมทั้งควบคุมการปลดปล่อยสารสำคัญในระบบทางเดินอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไฮโดรเจลบีดส์ที่พัฒนาขึ้นนี้มีศักยภาพในการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเภสัชกรรมเพื่อการนำส่งสารสำคัญทางปาก
คณะอุตสาหกรรมอาหาร
ผลิตภัณฑ์ Banana Blossom Chips เป็นขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพที่อุดมไปด้วยใยอาหาร สารต้านอนุมูลอิสระ และโปรตีนจากพืช โดยเกิดจากการผสมผสานวัตถุดิบท้องถิ่นของไทย คือปลีกล้วยที่มีใยอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระสูง แป้งถั่วลูกไก่ที่เป็นแหล่งโปรตีนจากพืช และข้าวกล้องหอมมะลิแดง ที่มีค่า GI ต่ำและสารต้านอนุมูลอิสระสูง ผ่านกระบวนการแปรรูปที่ให้ความกรอบและมีรูปร่างที่เป็นเอกลักษณ์ ลดปริมาณไขมัน ปราศจากกลูเตน รวมทั้งช่วยคงคุณค่าสารอาหาร จึงเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภคที่รักสุขภาพ และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรของไทย