ผลิตภัณฑ์ "ไพรวารี" คือเครื่องดื่มเจลลี่สมุนไพรที่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยควบคุมน้ำหนักและส่งเสริมสุขภาพด้วยคุณค่าจากสมุนไพรไทย 4 ชนิด ได้แก่ กระเจี๊ยบแดง ดอกคำฝอย เก๊กฮวย และมะระขี้นก ซึ่งอุดมด้วยสารสำคัญ เช่น Flavonoid, Beta-Carotene และ Anthocyanin ที่ช่วยลดไขมันในเลือด ป้องกันการอักเสบ และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ผลิตภัณฑ์นี้เน้นความสะดวกและตอบโจทย์คนรักสุขภาพ ผ่านกระบวนการผลิตที่ทันสมัย เช่น Inverse และ External Gelation เพื่อสร้างเม็ดสเฟียร์ที่กักเก็บสารสำคัญ นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ยังคำนึงถึงความยั่งยืนและการเพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทยในชุมชน
ปัจจุบันการควบคุมน้ำหนักและสุขภาพเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับหลายคนแต่บ่อยครั้งที่การเลือกกินของหวานหรือขนมทำให้เรารู้สึกว่ากำลังละเมิดแผนควบคุมน้ำหนักของเราและกลัวว่าจะอ้วนหรือมีปัญหาสุขภาพตามมา เพื่อตอบโจทย์นี้ เราจึงได้แรงบันดาลใจในการพัฒนาเครื่องดื่มสมุนไพรในรูปแบบเยลลี่ที่ไม่เพียงแต่มีสรรพคุณในการช่วยควบคุมน้ำหนักและลดความอ้วน แต่ยังช่วยทำให้ร่างกายมีสุขภาพดีขึ้นด้วย โดยไม่ต้องพึ่งผลิตภัณฑ์เสริมหรือยาลดน้ำหนักที่อาจมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย โดยผลิตภัณฑ์ของเราจะไม่เป็นเพียงแค่เครื่องดื่มสมุนไพรธรรมดา แต่จะถูกพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบเครื่องดื่มเยลลี่ที่มีเม็ดสเฟียร์เป็นองค์ประกอบในเครื่องดื่มเพื่อสร้างความเพลิดเพลินในการรับประทาน และสามารถทานได้ง่ายเหมือนกินขนมที่ชื่นชอบ
คณะวิศวกรรมศาสตร์
การควบคุมการเคลื่อนไหว (Motor control) เป็นกระบวนการสำคัญสำหรับการหดตัวของกล้ามเนื้อ ซึ่งเริ่มต้นจากกระแสประสาทที่ควบคุมโดยคอร์เทกซ์สั่งการ (motor cortex) กระบวนการนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการทำกิจวัตรประจำวัน (Activities of Daily Living, ADLs) ดังนั้น หากการสื่อสารระหว่างสมองและกล้ามเนื้อเกิดความผิดปกติ เช่น ในผู้ที่มีภาวะหรือโรคเรื้อรังบางชนิด ก็อาจส่งผลให้การเคลื่อนไหวของร่างกายและความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันลดลงได้ การประเมินปฏิสัมพันธ์ระหว่างการทำงานของสมองและการควบคุมการเคลื่อนไหวจึงมีความสำคัญต่อการวินิจฉัยและการรักษาความผิดปกติด้านการควบคุมการเคลื่อนไหว อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเทคโนโลยีเชื่อมต่อสมองมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ (Brain-Computer Interfaces, BCIs) วัตถุประสงค์ของการศึกษานี้คือการตรวจสอบการกระตุ้นสมอง (brain activation) ระหว่างการทำงานควบคุมการเคลื่อนไหวของแขนส่วนบน (upper extremity motor control tasks) ในการปรับระดับแรงผลักที่แตกต่างกัน และสมองส่วนต่าง ๆ อีกทั้งยังพัฒนาวิธีการตรวจวัดเพื่อประเมินการควบคุมการเคลื่อนไหวและการกระตุ้นสมอง โดยใช้แขนกล (robotic arm) ในการกำหนดทิศทางและระดับแรงสำหรับการควบคุมการเคลื่อนไหวของแขนส่วนบน กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยผู้ใหญ่วัยหนุ่มสาวสุขภาพดีจำนวน 18 คน ได้ทำการทดลองการควบคุมการเคลื่อนไหวของแขนส่วนบนพร้อมกับบันทึกสัญญาณทางโลหิตวิทยา (hemodynamic response) โดยใช้เครื่อง Functional near Infrared spectroscopy (fNIRs) และแขนกล (Robotic arm) เพื่อประเมินการกระตุ้นของสมองและการปรับระดับแรงผลัก รวมถึงการควบคุมการเคลื่อนไหวของแขนส่วนบน ในการทดสอบมีการเคลื่อนไหวสองแบบ ได้แก่ การเคลื่อนไหวอยู่กับที่ (static) และการเคลื่อนไหวแบบไดนามิก (dynamic) ซึ่งเคลื่อนที่ไปและกลับตามเส้นทางที่กำหนด รวมถึงใช้ระดับแรงสามระดับ คือ 4, 12 และ 20 นิวตัน (N) ที่คัดเลือกจากช่วงแรงในกิจวัตรประจำวัน เพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวของแขนส่วนบนโดยการปรับแรง และวัดสัญญาณทางโลหิตวิทยาในที่บริเวณสมองที่สนใจ ได้แก่ คอร์เทกซ์สั่งการปฐมภูมิ (primary motor cortex, M1) คอร์เทกซ์พรีมอเตอร์ (premotor cortex, PMC) เขตสั่งการเสริม (supplementary motor area, SMA) และคอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้า (prefrontal cortex, PFC) จากการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบสองทางสำหรับการวัดซ้ำ (two-way repeated measures ANOVA) ร่วมกับการปรับแก้ค่า Bonferroni (p < 0.00625) ในทุกบริเวณสมองที่วัด ไม่พบอิทธิพลร่วมระหว่างระดับแรงและประเภทการเคลื่อนไหวต่อระดับเฮโมโกลบินที่มีออกซิเจน (oxygenated hemoglobin, HbO) อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม พบว่าการเคลื่อนไหวอยู่กับที่และไดนามิก ส่งผลต่อการกระตุ้นสมองอย่างมีนัยสำคัญในคอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้าทั้งด้านตรงข้าม (contralateral, cPFC) และด้านเดียวกัน (ipsilateral, iPFC) นอกจากนี้ ยังพบว่าระดับแรงมีผลต่อการกระตุ้นสมองอย่างมีนัยสำคัญในบริเวณคอร์เทกซ์สั่งการปฐมภูมิด้านตรงข้าม (cM1) คอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้าด้านเดียวกัน (iPFC) และคอร์เท็กซ์พรีมอเตอร์ (PMC) อีกด้วย
คณะเทคโนโลยีการเกษตร
นวัตกรรมชุดการเลี้ยงหอยหวานทองในแนวตั้งด้วยระบบอควาโปนิกส์เป็นรูปแบบของการเกษตรแบบผสมผสานระหว่างการเลี้ยงหอยหวานทองกับการปลูกผัก โดยระบบดังกล่าวโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้พื้นที่ในแนวดิ่งให้เกิดประโยชน์สูงสุด ประหยัดน้ำในการเลี้ยงและผลิตพืชผักที่ปลอดภัยทั้งเพื่อการบริโภคหรือจำหน่าย รวมทั้งเป็นการเกื้อกูลระหว่างสิ่งมีชีวิตในระบบ ซึ่งหอยหวานทองจะขับถ่ายของเสียออกมา/เศษอาหารที่หลงเหลือจะถูกกรองบนวัสดุ ที่ใช้ในการบำบัดน้ำ ในขณะเดียวกันแบคทีเรียตามธรรมชาติจะช่วยเปลี่ยนของเสียต่างๆ เหล่านี้ให้อยู่ในรูปธาตุอาหารที่พืชนำมาใช้ประโยชน์ ดังนั้นระบบดังกล่าวจึงเป็นมิตรต่อต่อสิ่งแวดล้อม
คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี
ครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มีวิสัยทัศน์สู่ความเป็นเลิศอย่างยั่งยืน พันธกิจพัฒนาผู้เรียนให้มีความพร้อมสำหรับโลกดิจิทัล พัฒนานวัตกรรมทางการศึกษาโดยใช้วิจัยเป็นฐาน บริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ด้วยหลักธรรมาภิบาล บริการวิชาการที่มุ่งประโยชน์ต่อสังคม ในกิจกรรมครั้งนี้ได้นำคณะนักศึกษาร่วมกับสถานทูตสหพันธรัฐรัสเซีย ประจำราชอาณาจักรไทย คณะทำงานสมาคมส่งเสริมผ้าไหม และวัฒนธรรมไทย คณะทำงานสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) บูรณาการความรู้เพื่อออกแบบชุดผ้าไหมร่วมวัฒนธรรมไทย รัสเซีย สร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านศิลปวัฒนธรรม เทคโนโลยี นวัตกรรม และการเผยแพร่องค์ความรู้ และความงามของผ้าไหมไทย โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาศักยภาพของอาจารย์ และนักศึกษาในการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ ประชุมรับฟังแนวทางดำเนินงาน จากคณะทำงานสมาคมส่งเสริมผ้าไหม และวัฒนธรรมไทย คณะทำงานสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผ่านการประชุมออนไลน์ทีมงานกลุ่มอาจารย์ และนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ภายใต้ชื่อกลุ่ม “รักแพรไหม” ดำเนินการออกแบบชุดผ้าไหมไทยแบบร่วมวัฒนธรรม ด้วยอัตลักษณ์ผ้าไหมไทยร่วมกับการเรียนประเพณี วัฒนธรรมชุดเสื้อผ้าสหพันธรัฐรัสเซียได้ศึกษาเอกสารวรรณกรรมงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง บูรณาการความรู้สู่กระบวนการออกแบบสร้างแรงบันดาลใจจากแนวคิดชุดราชปะแตน ที่เริ่มใช้ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชการที่ 5) เมื่อปี พ.ศ. 2415 ร่วมกับวัฒนธรรมชุดเสื้อผ้าสหพันธรัฐรัสเซียโดยเน้นผ้าไหมไทยเป็นแนวคิดนี้ได้ผ่านกระบวนการสร้าง และเลือกแนวคิดในการออกแบบ (Concept Generation and Selection) นำแนวคิดที่ได้เข้ารับฟังข้อเสนอแนะ จากสถานทูตฯ ครั้งแรกวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 มีข้อเสนอเสนอแนะให้เพิ่มเติมความเป็นเอกลักษณ์ผ้าไหมไทยให้มากขึ้นผ่านการนำเสนอด้วยการเดินแบบแฟชั่นโชว์โดยภรรยา และหลานชาย ท่านทูตสหพันธรัฐรัสเซียเป็นผู้เดินแบบชุดที่ออกแบบจึงเป็นชุดสุภาพสตรี 1 ชุด ชุดเด็กชาย 1 ชุด ชุดสุภาพสตรีรูปแบบเสื้อด้านในประยุกต์มาจากชุดราชนิยมใช้ผ้าผ้าไหม มัดหมี่ ลายโกนกะเอ็ด มีลักษณะสองชิ้นแยกกัน เป็นเสื้อ 1 ชิ้นกระโปรง 1 ในส่วนเสื้อคลุมทรงสูทยาวประยุกต์ ผ้าไหมสีพื้นเนื้อเรียบ สีแดงชมพูเข้ม ชุดเด็กชายเสื้อประยุกต์จากทรงราชประแตนร่วมสมัยแขนยาว ตัดเย็บด้วยผ้าไหมสีครีม กางเกงขายาวทรงสแล็คตัดเย็บด้วยผ้าไหมสีหมากดิบเสื้อคลุมไม่มีปกผ้าไหมสีฟ้าลายกาบบัว ประยุกต์มาจากชุดราชปะแตนมีปกตัวยาวเป็นรูปแบบสากล วันที่ 2 สิงหาคม 2567 นำชุดที่ออกแบบ และตัดเย็บชุดต้นแบบผ้าดิบตาม ให้ภรรยา และหลานชายท่านทูตฯ ลองสวมใส่ในวันที่ 30 สิงหาคม 2567 พบท่านทูตครั้งที่ 4 เพื่อนำชุดผ้าไหมที่ตัดเป็นชุดผ้าไหมจริง ส่งมอบเสื้อให้ภรรยา และหลานชายท่านทูตทดลองสวมใส่ สวมใส่เพื่อร่วมงานเดินแฟชั่นโชว์ในงาน มหกรรมขับเคลื่อนกิจกรรมมหกรรมผ้าไหม “ไหมไทยสู่เส้นทางโลก” ครั้งที่ 13 ณ หอประชุมกองทัพเรือซึ่งคณะอาจารย์ และนักศึกษา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เข้าร่วมเดินแบบในรอบฟินนาเล่ด้วยซึ่งงานดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย หลังงานนั้นคณะทำงานสมาคมส่งเสริมผ้าไหม และวัฒนธรรมไทยได้นำชุดเสื้อผ้าที่ออกแบบตัดเย็บโดยทีมงาน “รักแพรไหม” จัดแสดงนิทรรศการไหมไทยสู่เส้นทางโลก ระหว่างวันที่ 1-8 กันยายน 2567 ณ ศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร ทีมงานสรุปรายงานจัดทำรูปเล่มรายงานฉบับสมบูรณ์ ในการดำเนินโครงการในครั้งนี้ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้รับการสนับสนุนอำนวยความสะดวกในการดำเนินงานตลอดโครงการ การสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) การสนับสนุนผ้าในการตัดเย็บจากสมาคมส่งเสริมผ้าไหม และวัฒนธรรมไทย ข้อมูลประกอบการออกแบบชุดเสื้อผ้าไหมอันทรงคุณค่าสถานทูตสหพันธรัฐรัสเซีย ประจำราชอาณาจักรไทย นับว่าเป็นส่วนสำคัญยิ่งที่ทำให้การดำเนินงานครั้งนี้สำเร็จด้วยความราบรื่น เป็นประสบการณ์ที่สำคัญยิ่งสำหรับทีมงานอาจารย์ และนักศึกษา ครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หวังอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งในโอกาสต่อไป