KMITL Innovation Expo 2025 Logo

เทคโนโลยีการผลิตไอน้ำสมุนไพร สำหรับการป้องกันกำจัดแมลงและไรศัตรูพืชอย่างปลอดภัย

เทคโนโลยีการผลิตไอน้ำสมุนไพร สำหรับการป้องกันกำจัดแมลงและไรศัตรูพืชอย่างปลอดภัย

รายละเอียด

การใช้สารสกัดจากพืชสมุนไพรด้วยเทคโนโลยี “ไอน้ำสมุนไพร” ในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช เป็นเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนามาจากความรู้ของคนในชุมชนบ้านรางยอม ตำบลหนองโรง อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ร่วมกับคณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ภายใต้แนวคิดในการพัฒนาชุมชนโดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง จึงต้องการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี “กระบวนการผลิตไอน้ำสมุนไพร” ให้กับชุมชนที่ด้อยโอกาสทางเทคโนโลยี เป็นการพัฒนาทักษะอาชีพของเกษตรในรูปแบบของกลุ่มเกษตร ให้เกิดความเท่าเทียมทางการใช้เทคโนโลยีที่ไม่เป็นอันตรายต่อเกษตรกรและผู้บริโภค รวมทั้งสามารถลดค่าใช้จ่ายในกระบวนการผลิตลงได้ หลักการทำงานของชุดกลั่นไอน้ำสมุนไพร เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการผลิต “ไอน้ำสมุนไพร” ตามวิธีการของปราชญ์ชุมชนบ้านรางยอม อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี กับองค์ความรู้ด้านการใช้น้ำมันหอมระเหยจากพืชในการป้องกันกำจัดแมลงและไรพืชของนักวิจัย คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สามารถอธิบายรายละเอียดของเทคโนโลยีการผลิตได้ดังต่อไปนี้ การกลั่น “ไอน้ำสมุนไพร” เป็นหลักการกลั่นน้ำมันหอมระเหยจากพืชสมุนไพรโดยวิธีการกลั่นด้วยน้ำ (Water distillation) ทั่วไป เพียงแต่ขั้นตอนสุดท้ายหลังจากการกลั่นแล้วนั้น ได้น้ำและน้ำมันหอมระเหยจากพืชอยู่รวมกัน ซึ่งไม่มีขั้นตอนการแยกออกจากกัน แต่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที เรียกของผสมนี้ว่า “ไอน้ำสมุนไพร” วิธีการผลิตไอน้ำสมุนไพรเพื่อใช้ในการป้องกันกำจัดแมลงและไรศัตรูพืช ดังนี้ 1. การเตรียมพืชสมุนไพรรวม 50 กิโลกรัม (ตามสูตรของแต่ละชุมชน ซึ่งมีความแตกต่างกันไปตามชนิดของแมลงและไรศัตรูพืช และชนิดของพืชปลูก) 2. นำพืชสมุนไพรตามสูตรมาสับให้ละเอียด ผสมกับน้ำสะอาด 50 ลิตร ใส่ในถังกลั่นขนาด 200 ลิตร คลุกเคล้าให้เข้ากัน ปิดฝา รอจนน้ำเดือดเป็นไอออกมา ไอน้ำจะพาน้ำมันหอมระเหยจากพืชออกมาทางท่อทางออกของไอน้ำ ท่อนั้นผ่านไปยังถังควบแน่น และถูกควบแน่นเป็นของเหลวไหลออกมา สารที่ได้เรียกว่า “ไอน้ำสมุนไพร” ควบคุมคุณภาพการกลั่นโดยให้ได้ไอน้ำสมุนไพร 30 ลิตร (ใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง) จึงหยุดกระบวนการกลั่น 3. ผสมไอน้ำสมุนไพรที่ได้ทั้งหมดเข้าด้วยกัน เพิ่มสารช่วยผสมระหว่างน้ำมันหอมระเหยจากพืชสมุนไพรและน้ำด้วยสารช่วยผสม เช่น ปิโตรเลียมออยล์ ไวท์ออยล์ สารทวีน หรือสารจับใบ อัตรา 5 ซีซี ต่อ ลิตร เขย่าให้เข้ากัน บรรจุใส่ขวดพลาสติกทึบแสง 4. อัตราการใช้และวิธีการใช้ไอน้ำสมุนไพรในการป้องกันกำจัดแมลงและไรศัตรูพืช - เป็นสารไล่ ใช้ในอัตรา 80-100 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก ๆ 15 วัน สามารถป้องกันการเข้าทำลายของแมลงและไรศัตรูพืชได้ - เป็นสารฆ่า ใช้ในอัตรา 200-400 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก ๆ 3-4 วัน อย่างต่อเนื่อง สามารถฆ่าแมลงและไรศัตรูพืชได้"

วัตถุประสงค์

จากยุทธศาตร์ชาติที่ 5 ด้านการจัดการน้ำและสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ที่มีเป้าประสงค์เพื่อเพิ่ม eco-efficiency จากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีคุณค่า ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร เพื่อลดปัญหาเรื่องการได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมีของเกษตรกร สารเคมีตกค้างในสินค้าเกษตรและสิ่งแวดล้อม มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมตอบโจทย์ที่ท้าทายกับปัญหาผลกระทบจากการได้รับสารเคมีโดยตรงของเกษตรกร ความต้านทานต่อสารเคมีทางการเกษตรของแมลงและไรศัตรูพืช รวมทั้งสารเคมีทางการเกษตรตกค้างในผลิตผลทางการเกษตรและสิ่งแวดล้อม ซึ่งการนำนวัตกรรมการใช้สารสกัดจากพืชสมุนไพร มาใช้ในการกำจัดแมลงและไรศัตรูทางการเกษตร เป็นทางเลือกที่สามารถบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อใช้ในการบริหารศัตรูพืชได้อย่างอย่างยั่งยืน จากรายงานการวิจัยของผู้รับผิดชอบโครงการก่อนหน้านี้พบว่าวิธีการกลั่นด้วยวิธีการต้มพืชสมุนไพรในน้ำ จะได้น้ำมันหอมระเหยจากพืชออกมา โดยน้ำมันหอมระเหยจากพืชสมุนไพรหลายชนิดสามารถป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด เช่น เพลี้ยแป้ง เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน แมลงหวี่ขาว หรือไรศัตรูพืช การผลิตสูตรน้ำมันหอมจากพืชมาใช้ในการป้องกันกำจัดแมลงเป็นไปได้โดยง่ายหากแต่ต้องซื้อน้ำมันหอมระเหยจากบริษัทผลิตน้ำมันหอมระเหยซึ่งมีราคาแพง ไม่คุ้มกับการลงทุน ชุมชนบ้านรางยอมได้ใช้ภูมิปัญญาของชาวบ้านในการสกัดน้ำมันหอมระเหยจากพืชสมุนไพรโดยใช้หลักการต้มเหล้าหรือกลั่นเหล้าในอดีต ของเหลวหลังจากการกลั่นจะประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหยจากพืชและน้ำผสมกัน ชาวบ้านเรียกสารนี้ว่า “ไอน้ำสมุนไพร” จากกระบวนการกลั่นที่ประกอบด้วยหม้อต้มขนาด 50 ลิตร ใช้ฟืนเป็นแหล่งพลังงาน หล่อเย็นด้วยกระทะใบบัว พัฒนามาเป็นหม้อต้มขนาด 200 ลิตร ใช้ฟืนเป็นแหล่งพลังงานที่มีการดัดแปลงเป็นเตาประหยัดพลังงาน ทำให้เกิดนวัตกรรมด้านการเกษตรที่สามารถแก้ปัญหาการระบาดของแมลงศัตรูในพืชปลูกได้อย่างยั่งยืน มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการลดการใช้สารฆ่าแมลง ไม่เป็นอันตรายต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และไม่มีสารพิษตกค้างในสภาพแวดล้อมอีกด้วย ขณะที่ยังมีชุมชนที่ด้อยโอกาสด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอีกมากมายที่ยังขาดแคลนทุนทรัพย์ในการผลิต “ชุดกลั่นไอน้ำสมุนไพร” หรือขาดองค์ความรู้ด้านการผลิตที่ถูกต้อง ซึ่งหากมีการดำเนินการให้มีความเสมอภาคกันของการใช้เทคโนโลยีนี้ จะสามารถทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรก็จะดีขึ้นตามไปด้วย

นวัตกรรมอื่น ๆ

การพัฒนาวิธีการวิเคราะห์ปริมาณกรดแทนนิกเชิงสีในตัวอย่างเครื่องดื่มด้วยอนุภาคแพลทินัมนาโนที่ปรับปรุงด้วยกรดแกลลิกโดยอาศัยปรากฎการณ์การแทนที่ของสารรักษาเสถียรภาพ

คณะวิทยาศาสตร์

การพัฒนาวิธีการวิเคราะห์ปริมาณกรดแทนนิกเชิงสีในตัวอย่างเครื่องดื่มด้วยอนุภาคแพลทินัมนาโนที่ปรับปรุงด้วยกรดแกลลิกโดยอาศัยปรากฎการณ์การแทนที่ของสารรักษาเสถียรภาพ

งานวิจัยนี้ได้นำเสนอการวิเคราะห์เชิงสี (Colorimetric detection) สำหรับตรวจวัดกรดแทนนิก (tannic acid) ในตัวอย่างเครื่องดื่มจากพืช โดยอาศัยปรากฏการณ์การแทนที่ (displacement phenomenon) ของสารรักษาเสถียรภาพบนพื้นผิวของอนุภาคแพลทินัมนาโน (PtNPs) ที่ถูกรักษาเสถียรภาพด้วยกรดแกลลิก (gallic acid) ซึ่งกรดแกลลิกสามารถรักษาเสถียรภาพของ PtNPs ให้อยู่ในรูปของอนุภาคที่รวมตัวกันและให้สารคอลลอยด์ที่เป็นสีเขียว โดยกรดแทนนิกสามารถแทนที่กรดแกลลิกบนพื้นผิวของ PtNPs ได้ง่าย ส่งผลให้อนุภาคที่รวมตัวกันเกิดการกระจายตัวและเปลี่ยนสีจากเขียวเป็นส้ม−น้ำตาล และภายใต้สภาวะที่เหมาะสม ตัวตรวจวัดเชิงสีแสดงค่าการตอบสนองเชิงเส้นในช่วงความเข้มข้น 1−2,000 µmol L⁻¹ (R² = 0.9991) โดยมีขีดจำกัดในการตรวจวัด (LOD) และขีดจำกัดเชิงปริมาณ (LOQ) ที่ 0.02 และ 0.09 µmol L⁻¹ ตามลำดับ ตัวตรวจวัดเชิงสีที่พัฒนาขึ้นมีความจำเพาะสูงต่อกรดแทนนิกและไม่ถูกรบกวนจากสารอื่น อีกทั้งยังมีค่าความแม่นยำที่ดี (RSD = 1.00%−3.36%) ที่สำคัญคือ ให้ค่าการคืนกลับ (recovery) อยู่ในช่วง 95.0−104.7% แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเซนเซอร์คัลเลอริเมตริกที่สามารถตรวจวัดกรดแทนนิกได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำในตัวอย่างเครื่องดื่มจริง แม้ว่าวิธีการตรวจวัดกรดแทนนิกที่ถูกพัฒนาขึ้นจะเป็นเทคนิคที่รวดเร็วในการตรวจวัดกรดแทนนิก แต่ยังคงมีปัญหาเกี่ยวกับความไว (sensitivity) และความแม่นยำ (accuracy) ของการวิเคราะห์ โดยเฉพาะเมื่อมีสารแอนโทไซยานิน (anthocyanin) รบกวน ดังนั้น จึงพัฒนาวิธีเตรียมตัวอย่างเพื่อย่อยสลายแอนโทไซยานินในเครื่องดื่มเพื่อลดการรบกวนของสารที่มีสีต่อการตรวจวัดเชิงสีสำหรับวิเคราะห์ปริมาณกรดแทนนิกในเครื่องดื่ม

การเปรียบเทียบรูปแบบโรงเรือนที่เหมาะสมสำหรับการผลิตพิทูเนียกระถาง

คณะเทคโนโลยีการเกษตร

การเปรียบเทียบรูปแบบโรงเรือนที่เหมาะสมสำหรับการผลิตพิทูเนียกระถาง

การวิจัยนี้มีวัตถุเพื่อศึกษาเปรียบเทียบระหว่างโรงเรือนพรางแสงและโรงเรือนอีแวปสำหรับการ ผลิตพิทูเนียกระถางที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต การออกดอกและประสิทธิภาพการสังเคราะห์ ด้วยแสงของพิทูเนีย โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มประชากรดังนี้ 1) โรงเรือนอีแวป (evaporative cooling house) 2) โรงเรือนพรางแสง (shade net house) โดยแต่ละกลุ่มใช้พิทูเนียจำนวน 50 กระถางในการบันทึกผล ผลการทดลองพบว่า การปลูกพิทูเนียในโรงเรือนอีแวปส่งผลให้ลำต้นมี ความสูงมากที่สุด ดอกมีขนาดใหญ่และบานได้นานกว่า แต่การปลูกในโรงเรือนพรางแสงส่งผลให้ พิทูเนียแทงตาดอก ออกดอกได้เร็วกว่า รวมถึงดอกมีสีเข้มกว่า และมีจำนวนดอกใหม่ต่อต้น มากกว่าเท่าตัวหลังการย้ายปลูก 21 วัน ในส่วนของประสิทธิภาพการสังเคราะห์แสงในรอบวันหลัง การย้ายปลูก 30 วัน พบว่าในช่วงเวลา 12.00 น. ทำให้อัตราการสังเคราะห์ด้วยแสงสุทธิทั้ง 2 โรงเรือนสูงสุด และทำให้ค่าการนำไฟฟ้าของปากใบและอัตราการคายน้ำเพิ่มขึ้นสูงสุดในโรงเรือน อีแวป หลังการย้ายปลูก 60 วัน พบว่าอัตราการสังเคราะห์ด้วยแสงสุทธิ ค่าการนำไฟฟ้าของปาก ใบและค่าการคายน้ำมีค่าสูงสุดในโรงเรือนพรางแสงในช่วงเวลา 10.00 น. ส่วนการสังเคราะห์ด้วย แสงในความเข้มแสงที่แตกต่างกัน หลังการย้ายปลูก 30 วัน พบว่าอัตราการสังเคราะห์ด้วยแสง สุทธิ ค่าการนำไฟฟ้าปากใบและอัตราการคายน้ำสูงสุดเมื่อให้ความเข้มแสงที่ 2000 µmol m-2 s-1 โดยมีค่าสูงสุดในโรงเรือนพรางแสง หลังการย้ายปลูก 60 วัน อัตราการสังเคราะห์ด้วยแสงสุทธิ สูงสุดเมื่อให้ความเข้มแสงที่ 1400 µmol m-2 s-1 โดยมีค่าสูงสุดในโรงเรือนพรางแสง จากการศึกษา จึงสรุปผลได้ว่า การปลูกพิทูเนียในโรงเรือนพรางแสง เหมาะสมสำหรับการผลิตพิทูเนียกระถาง และมีประสิทธิภาพการสังเคราะห์ด้วยแสงของพิทูเนียมากกว่าการปลูกพิทูเนียในโรงเรือนอีแวป

ฝาแฝดดิจิตอลของตู้ปลาเพื่อการตรวจสอบคุณภาพน้ำ

วิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง

ฝาแฝดดิจิตอลของตู้ปลาเพื่อการตรวจสอบคุณภาพน้ำ

งานวิจัยนี้นำเสนอ ฝาแฝดดิจิตอลของตู้ปลาเพื่อการตรวจสอบคุณภาพน้ำ โดยพัฒนาแบบจำลองเสมือนจริงที่สามารถแสดงค่าพารามิเตอร์สำคัญของน้ำ ได้แก่ ค่าความเป็นกรด-ด่าง, อุณหภูมิ, อัตราการไหลของน้ำ และ ออกซิเจนที่ละลายน้ำ แบบเรียลไทม์ ข้อมูลจากเซ็นเซอร์จะถูกประมวลผล และแสดงผลผ่านส่วนอินเทอร์เฟซกราฟิกผู้ใช้ เพื่อสะท้อนสถานะของตู้ปลาเสมือนจริง ซึ่งช่วยให้สามารถตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพน้ำได้อย่างแม่นยำ และไม่พึ่งพาซอฟท์แวร์ราคาแพง