การออกแบบและพัฒนาระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ระยะไกล งานวิจัยนี้มุ่งเน้นการออกแบบและพัฒนาระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ที่สามารถมอนิเตอร์และควบคุมจากระยะไกล พร้อมทั้งรองรับการกำหนดคุณสมบัติของเซลล์แบตเตอรี่ได้ตามต้องการ ระบบนี้ได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับใช้งานร่วมกับเซลล์แบตเตอรี่กราฟีน และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในระบบพลังงานทางเลือกสำหรับที่อยู่อาศัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1. เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการพลังงาน – ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ที่สามารถควบคุมและมอนิเตอร์ระยะไกลช่วยให้สามารถจัดการพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการสูญเสียพลังงาน และเพิ่มอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ 2. รองรับเทคโนโลยีแบตเตอรี่กราฟีน – แบตเตอรี่กราฟีนมีศักยภาพสูงในการเก็บพลังงานและมีอายุการใช้งานยาวนาน โครงการนี้ช่วยทดสอบและพัฒนาการนำแบตเตอรี่กราฟีนไปใช้ในระบบพลังงานทางเลือก 3. เพิ่มความสะดวกและความปลอดภัยในการใช้งาน – การควบคุมและมอนิเตอร์แบตเตอรี่จากระยะไกลช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดปัญหาทางเทคนิค เช่น การชาร์จไฟเกินหรืออุณหภูมิสูงเกินไป ทำให้ระบบมีความปลอดภัยมากขึ้น 4. ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศ – โครงการนี้ช่วยสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่และระบบบริหารจัดการพลังงานภายในประเทศ ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านพลังงาน
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ
โครงงานนี้จึงได้พัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์สำหรับระบุชนิดเครื่องมือทันตกรรมหัตถการเพื่อตรวจนับจำนวนด้วยวิธีการเรียนรู้เชิงลึก โดยเป็นการตรวจนับความครบถ้วนของอุปกรณ์ที่นำไปใช้ มีใช้วิธีการตรวจจับวัตถุ(Object Detection) ซึ่งการตรวจจับวัตถุช่วยให้สามารถตรวจจับอุปกรณ์ทันตกรรหัตถการทั้งหมดหลังจากการใช้งาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความแม่นยำ อีกทั้งสามารถตรวจนับเครื่องมือต่างๆได้พร้อมกันหลายๆภาพเพื่อช่วยลดเวลาและความล่าช้าในกระบวนการตรวจสอบและนับจำนวนเครื่องมือทั้งหมด รวมถึงข้อมูลจำนวนและชนิดของอุปกรณ์ สามารถส่งออกไปยังฐานข้อมูลเพื่อนำข้อมูลไปใช้งานต่อได้อีกด้วย
คณะอุตสาหกรรมอาหาร
การใช้น้ำมันพืชซ้ำในการประกอบอาหารส่งผลให้เกิดการเสื่อมสภาพและก่อให้เกิดสารพิษจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน การศึกษานี้มุ่งเน้นการเพิ่มเสถียรภาพของน้ำมันพืชโดยใช้เทคโนโลยีคลื่นอัลตราโซนิคร่วมกับการบ่มปลีกล้วย 3 สายพันธุ์ ได้แก่ กล้วยไข่ กล้วยหอม และกล้วยน้ำว้า ซึ่งมีสารประกอบฟีนอลิกและสารต้านอนุมูลอิสระสูง งานวิจัยนี้ศึกษาการฟื้นฟูน้ำมันปาล์มที่ใช้แล้วโดยการบ่มร่วมกับปลีกล้วยที่ผ่านการอบแห้งและบดละเอียด โดยใช้คลื่นอัลตราโซนิคที่อุณหภูมิและระยะเวลาต่างๆ จากนั้นทำการทดสอบคุณภาพน้ำมันที่ได้รับการบ่มผ่านการวิเคราะห์ค่าทางกายภาพ (ปริมาณน้ำอิสระ ความชื้น และค่าสี) ค่าทางเคมี (ค่าดัชนีเปอร์ออกไซด์ ค่าความเป็นกรด และค่าไทโอบาร์บิทูริกแอซิด) และประสิทธิภาพการต้านอนุมูลอิสระ (DPPH, ABTS และ FRAP)
คณะวิศวกรรมศาสตร์
จุดมุ่งหมายของการประดิษฐ์นี้ เพื่อพัฒนาสารป้องกันการเกิดไฟป่าให้มีความสามารถในการป้องกันการเกิดไฟป่าระยะยาว มิใช่เพียงการใช้ระงับไฟป่า หรือป้องกันไม่ให้ไฟป่านั้นแพร่กระจายเป็นวงกว้าง แต่มุ่งเน้นที่การป้องกันไม่ให้เกิดการติดไฟตั้งแต่เริ่มต้น สามารถป้องกันการเกิดไฟป่าได้อย่างครอบคลุม สามารถป้องกันได้ยาวนานตลอดช่วงระยะเวลาที่เกิดไฟป่าสูงสุดหรือช่วงเข้าสู่ฤดูแล้ง นับเป็นระยะเวลาประมาณ 3 - 4 เดือน โดยหลังจากการที่มีการผลสารกันไฟป่าจะไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตทั้งบนบกและในน้ำ ไม่มีสารตกค้างหรือตกค้างน้อยที่สุดโดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสภาพแวดล้อมโดยรอบภายใต้มาตรฐานที่มีการระบุไว้ เน้นการใช้วัตถุดิบ อุปกรณ์ และเคมีภัณฑ์ที่สามารถหาได้ง่ายในประเทศไทย รวมไปถึงการใช้มูลค่าต้นทุนการผลิตให้ต่ำที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ซึ่งทำให้เหมาะสมต่อการใช้งานในปริมาณมากสำหรับการฉีดพ่นป้องกันพื้นที่ป่าไม้บริเวณพื้นที่ป่าที่เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย จากค่าเฉลี่ยโดยประมาณสำหรับมลพิษที่เกิดในรหว่างการเกิดไฟป่า ได้แก่ ฝุ่นละออง (PM) ประกอบด้วย PM2.5 PM10, คาร์บอนมอนออกไซด์ (CO), คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2), ไนโตรเจนออกไซด์ (NOx), สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) เป็นต้น