KMITL Innovation Expo 2025 Logo

เครื่องวัดค่าความหนาแน่นอิเล็กตรอนรวมจากชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์ด้วยดาวเทียม GPS แบบความถี่เดียว

รายละเอียด

โครงงานนี้นำเสนอการสร้างเครื่องมือวัดค่าความหนาแน่นอิเล็กตรอนรวมด้วย GPS แบบความถี่เดียว โดยการประยุกต์ใช้ทฤษฎีเกี่ยวกับจำนวนอิเล็กตรอนรวมในชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์และเครื่องมือวัดค่าอิเล็กตรอนรวมด้วย ค่าเวลาหน่วงของ GPS มาทำการออกแบบเครื่องมือวัดค่าความหนาแน่นอิเล็กตรอนรวมด้วย GPS แบบความถี่เดียว โดยประกอบด้วยสายอากาศ เครื่องรับสัญญาณดาวเทียม GPS แบบความถี่เดียว หน่วยประเมินผลข้อมูลและคำนวณจำนวนอิเล็กตรอนรวม และหน่วยแสดงผลข้อมูลค่าอิเล็กตรอนรวม ทดสอบการทำงานของเครื่องวัดอิเล็กตรอนรวมด้วย GPS แบบความถี่เดียว โดยการเปรียบเทียบกับข้อมูลค่าอิเล็กตรอนรวมที่ได้จากโมเดล IRI (International Reference Ionosphere) ซึ่งเป็นโมเดลอิเล็กตรอนอ้างอิงของโลก และนำเครื่องวัดอิเล็กตรอนรวมด้วย GPS แบบความถี่เดียวไปใช้งานจริง ผลของการเปรียบเทียบและใช้งานจริง สรุปได้ว่าเครื่องมือวัดค่าอิเล็กตรอนรวมด้วย GPS แบบความถี่เดียว สามารถใช้งานได้จริงและมีค่าความแตกต่างกับ โมเดล IRI อยู่ที่ 50 TECU

วัตถุประสงค์

ดาวเทียม Global Positioning System (GPS) มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย เพื่อระบุตำแหน่งบนพื้นโลก และอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการระบบนำร่องการขึ้นลงของเครื่องบิน ระบบขนส่งที่ใช้ใช้ระบบนำทาง GPS งานก่อสร้าง งานอุตสาหกรรม โดยใช้ GPS ระบุตำแหน่ง ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาอุปกรณ์รับสัญญาณ GPS ให้มีความแม่นยำสูง แต่ยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้การรับสัญญาณ GPS เกิดความผิดพลาด ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเดินทางของสัญญาณจากดาวเทียมมายังพื้นโลก นั้นหมายความว่าความแม่นยำในการระบุตำแหน่งลดลงเนื่องจากความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นจากการเดินทางของสัญญาณดาวเทียมบนชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์ เครื่องรับโดยใช้สัญญาณความถี่เดียวจะให้ข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับความหนาแน่นของอิเล็กตรอนในชั้นบรรยากาศรอบนอก การวัดนี้จำเป็นสำหรับการใช้งานต่างๆ เช่น การจำลองบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์สำหรับการตรวจสอบสภาพอากาศในอวกาศ และการแก้ไขสัญญาณ GPS โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ความล่าช้าของไอโอโนสเฟียร์ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการสื่อสารผ่านดาวเทียม การวิเคราะห์ความล่าช้าของสัญญาณ GPS ที่เกิดจากชั้นบรรยากาศรอบนอก ซึ่งประเมินผ่านการประมาณค่า GPS TEC ความถี่เดียว ช่วยให้สามารถกำหนดค่าความหนาแน่นของอิเล็กตรอนตามเส้นทางสัญญาณได้ แม้จะอาศัยความถี่เดียว แต่อัลกอริทึมและแบบจำลองขั้นสูงช่วยให้การประมาณค่า TEC แม่นยำโดยการเปรียบเทียบ GPS TEC ความถี่เดียวกับ TEC จากอัลกอริทึม IGS และแบบจำลอง IRI หลังจากที่ได้ทำการศึกษาและทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะการศึกษาค่าอิเล็กครอนรวมในชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์ คณะผู้จัดทำได้นำงานวิจัยของ Thanapon Keokhumcheng and Prasert Kenpankho ที่นำเสนอเกี่ยวกับการหาค่าอิเล็กตรอนด้วยดาวเทียม GPS แบบความถี่เดียวมาศึกษาต่อในการจัดทำเครื่องวัดค่าค่าอิเล็กครอนรวมในชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์ โครงงานนี้จะเป็นการนำค่าที่ได้จากเครื่องรับสัญญาณดาวเทียม GPS และนำข้อมูลที่ได้รับจากดาวเทียมไปวิเคราะห์หาค่า TEC และจะบันทึกผลข้อมูลแล้วแสดงผลข้อมูลออกมาผ่านจอ LCD โดยข้อมูลที่บันทึกจะรวมถึงค่าอิเล็กตรอนรวม วันที่ เวลา และตำแหน่งที่ทำการวัด ทำให้สามารถติดตามและเปรียบเทียบข้อมูลในภายหลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ USB Flash drive ในการเก็บข้อมูล

นวัตกรรมอื่น ๆ

ระบบสุขภาพสำหรับคัดกรองโรคผู้สูงอายุในผู้ป่วยสูงอายุโรคมะเร็ง

คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ

ระบบสุขภาพสำหรับคัดกรองโรคผู้สูงอายุในผู้ป่วยสูงอายุโรคมะเร็ง

โรคมะเร็งเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่สำคัญอันเนื่องมาจากการเข้าสู่สังคมสูงอายุของประเทศไทย ความเสี่ยงในการเป็นโรคเรื้อรังของผู้สูงอายุมักทำให้เกิดข้อจำกัดต่าง ๆ ในการรักษา ส่งผลให้ผู้ป่วยส่วนมากไม่สามารถรักษาให้หายขาดและจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการได้รับข้อมูลและคำแนะนำเกี่ยวกับโรคมะเร็งอย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม การบันทึกข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยในปัจจุบันยังไม่สามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างยากลำบาก นอกจากนี้ ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคมะเร็งที่เผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย อาจทำให้ผู้สูงอายุเกิดความเข้าใจผิด ดังนั้นผู้วิจัยจึงได้พัฒนาระบบแชตบอตที่ใช้เทคโนโลยีการประมวลผลภาษาธรรมชาติ เพื่อให้สามารถเข้าใจภาษาของมนุษย์และตอบคำถามได้อย่างแม่นยำสำหรับการดูแลผู้ป่วยสูงอายุโรคมะเร็งโดย ระบบแชตบอตจะนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ และเป็นปัจจุบันตามองค์ความรู้ทางการแพทย์ที่ปรากฏอยู่ภายในฐานข้อมูลคลังความรู้ ซึ่งผ่านการคัดกรองจากบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมทั้งพัฒนาเว็บแอปพลิเคชันเพื่อใช้ในการบันทึกและวิเคราะห์ผลประเมินของผู้ป่วยตามมาตรฐานทางการแพทย์ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถวางแผนรับมือและหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วย นอกจากนี้ทำให้เกิดการแบ่งปันและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างระบบต่าง ๆ ของโรงพยาบาล ส่งผลให้เกิดการนำข้อมูลไปใช้ในการปรับปรุงกระบวนการรูปแบบการรักษาที่ตรงเป้าหมายและทันสมัย อีกทั้งการพัฒนาระบบแชตบอตเปรียบเสมือนผู้ช่วยที่ให้บริการข้อมูลและคำแนะนำแก่ผู้ป่วย ช่วยลดภาระงานในการตอบคำถามของบุคลากรทางการแพทย์และส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของตนเองมากยิ่งขึ้น

APS Evolution: นวัตกรรมการจอดรถอัตโนมัติที่ตอบโจทย์ผู้ใช้อย่างยั่งยืน

คณะบริหารธุรกิจ

APS Evolution: นวัตกรรมการจอดรถอัตโนมัติที่ตอบโจทย์ผู้ใช้อย่างยั่งยืน

ปัจจุบันปัญหาที่จอดรถในเขตเมืองเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความแออัดของจราจร การบริหารพื้นที่ และสิ่งแวดล้อม ระบบจอดรถอัตโนมัติ (Automated Parking System: APS) เป็นนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พื้นที่ ลดระยะเวลาค้นหาที่จอด และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก งานวิจัยนี้ศึกษาพฤติกรรมและปัจจัยที่ส่งผลต่อการยอมรับเทคโนโลยี APS โดยใช้กรอบแนวคิด UTAUT2 และตัวแปรสำคัญ เช่น ความคาดหวังด้านประสิทธิภาพ (Performance Expectancy), ความง่ายในการใช้งาน (Effort Expectancy), อิทธิพลทางสังคม (Social Influence), ความเชื่อมั่นในเทคโนโลยี (Trust in Technology) และจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Consciousness) โดยโครงการ APS Evolution นำเสนอโซลูชันการจอดรถอัจฉริยะที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พื้นที่ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีขึ้นสำหรับผู้ใช้ในเมือง โดยมุ่งเน้น การพัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้ใช้และการบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ

การผลิตต้นวิโอลา (Viola) ดอกไม้กินได้ด้วยระบบการปลูกโดยไม่ใช้ดิน

คณะเทคโนโลยีการเกษตร

การผลิตต้นวิโอลา (Viola) ดอกไม้กินได้ด้วยระบบการปลูกโดยไม่ใช้ดิน

การทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับความเข้มข้นของธาตุไนโตรเจนและโพแทสเซียมร่วมกับจำนวนชั่วโมงในการให้แสงต่อการเจริญเติบโตของต้นวิโอลา (Viola) ภายใต้โรงงานผลิตพืช เพื่อเพิ่มคุณภาพของผลผลิต ลดระยะเวลา และเพิ่มรอบการผลิตให้เกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี โดยวางแผนการทดลองแบบ 3x3 Factorial in CRD มี 9 กรรมวิธี กรรมวิธีละ 3 ซ้ำๆ ละ 6 ต้น ซึ่งปัจจัยที่ใช้ศึกษามีอยู่ 2 ชนิด คือ ปัจจัยที่ 1 ความเข้มข้นของธาตุไนโตรเจน (N) ร่วมกับโพแทสเซียม (K) ในอัตราส่วนที่แตกต่างกัน 3 ระดับ ดังนี้ 1) N:K 1:1, 2) N:K 1:2 และ 3) N:K 2:1 ปัจจัยที่ 2 จำนวนชั่วโมงในการให้แสงต่อวันที่แตกต่างกัน 3 กรรมวิธี ดังนี้ 1) จำนวนชั่วโมงในการให้แสง 24 ชั่วโมงต่อเนื่อง 2) จำนวนชั่วโมงในการให้แสงช่วง Vegetative 8 ชั่วโมงพัก 16 ชั่วโมง จากนั้นช่วงกระตุ้นตาดอกเพิ่มแสงเป็น 13 ชั่วโมง พัก 11 ชั่วโมง หลังจากเกิดตาดอก จะให้แสง 8 ชั่วโมง พัก 16 ชั่วโมง และ 3) จำนวนชั่วโมงในการให้แสง 5 ชั่วโมงพัก 3 ชั่วโมง โดยทุกกรรมวิธีปรับอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ค่า EC 1.5-2.0 mS/cm และ ค่า pH 5.8-6.5 ผลการทดลอง พบว่า การให้ระดับความเข้มข้นของปุ๋ย N:K ในอัตราส่วน 1:1 ร่วมกับแสง 24 ชั่วโมง ทำให้การเจริญเติบโตทางลำต้นและมีคุณภาพดอกมากที่สุด รวมทั้งการประเมินคุณภาพทางประสาทสัมผัสโดยภาพรวมอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ เหมาะแก่การนำไปประกอบอาหารหรือตกแต่งจาน ซึ่งกรรมวิธีนี้ทำให้สามารถเพิ่มคุณภาพของผลผลิตได้ดีที่สุด สามารถลดระยะเวลาในการผลิตดอกวิโอลาในแต่ละรอบจาก 90-100 วัน ลดลงเหลือ 43-45 วัน และเพิ่มรอบการผลิตให้เกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี โดยไม่ต้องคำนึงถึงฤดูกาล หรือสภาพแวดล้อมภายนอก ซึ่งดีต่อเกษตรกรผู้ผลิต