โครงงานนี้มุ่งเน้นการพัฒนาน้ำจิ้มซีฟู้ดและน้ำจิ้มแจ่วในรูปแบบก้อน เพื่อแก้ปัญหาของน้ำจิ้มเหลวที่พกพายากและเสี่ยงต่อการหกเลอะเทอะ รวมถึงน้ำจิ้มแบบผงที่อาจสูญเสียรสสัมผัสและเอกลักษณ์ของน้ำจิ้มไทย โดยใช้ส่วนผสมและกรรมวิธีการผลิตที่แตกต่างจากรูปแบบเดิม การดำเนินโครงงานนี้มีเป้าหมายในการสร้างนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มความสะดวกในการบริโภคและขนส่งน้ำจิ้ม พร้อมทั้งคงคุณภาพและรสชาติให้ใกล้เคียงกับต้นตำรับมากที่สุด ผลลัพธ์ที่คาดหวังคือผลิตภัณฑ์น้ำจิ้มรูปแบบใหม่ที่พกพาง่าย ลดปัญหาการหกเลอะเทอะ และสามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาเชิงพาณิชย์ในอุตสาหกรรมอาหาร
โครงงานนี้มีที่มาจากความต้องการนวัตกรรมที่เพิ่มความสะดวกในการบริโภคและขนส่งน้ำจิ้ม พร้อมทั้งรักษาคุณภาพและรสชาติดั้งเดิมให้ใกล้เคียงต้นตำรับมากที่สุด
คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ
แบบจำลองเชิงแนวคิด (conceptual model) ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากศิลปะอาร์ตเดโค (Art Deco) โดยนำความหรูหรา ความสง่างาม ความสมดุล และการใช้สีดำตัดกับสีทองซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะอาร์ตเดโคมาสร้างสรรค์เป็นแบบจำลองเชิงแนวคิดที่มีลักษณะสมดุล มั่นคง สง่างาม ไล่ลำดับให้ดูมีความเคลื่อนไหว และใช้สีดำกับสีทองเพื่อแสดงถึงความหรูหราแบบอาร์ตเดโค
คณะวิศวกรรมศาสตร์
ปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดเป็นวิกฤตระดับโลก เนื่องจากปริมาณน้ำจืดที่สามารถใช้ในการอุปโภคได้มีจำกัด ขณะที่ความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การแยกเกลือออกจากน้ำทะเลเป็นแนวทางสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้ อย่างไรก็ตาม กระบวนการดังกล่าวต้องใช้พลังงานสูงและพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ส่งผลให้ต้นทุนสูงและกระทบต่อสิ่งแวดล้อม งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์หลักคือเพื่อศึกษาการใช้พลังงานความร้อนจากตัวเก็บพลังงานแสงอาทิตย์แบบท่อสุญญากาศในการผลิตน้ำจืด โดยใช้กระบวนการระเหยและควบแน่นเพื่อนำน้ำบริสุทธิ์ออกจากสารละลายปนเปื้อน การศึกษานี้มุ่งเน้นการวิเคราะห์ประสิทธิภาพของระบบโดยเปรียบเทียบปริมาณน้ำจืดที่ผลิตได้กับพลังงานที่ใช้ ผลลัพธ์ของงานวิจัยนี้อาจนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตน้ำจืดที่มีความยั่งยืนและเหมาะสมสำหรับพื้นที่ที่มีทรัพยากรน้ำจืดจำกัด
คณะวิศวกรรมศาสตร์
ในปัจจุบันประเทศไทยมีแนวโน้มของปริมาณยางรถที่ใช้แล้วเพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งยางรถเป็นขยะที่ย่อยสลายได้ยาก แต่ยางรถยนต์เป็นวัสดุที่มีรูพรุนอยู่ภายในซึ่งมีความเป็นไปได้ในการนำมาทำเป็นวัสดุดูดซับเสียง เนื่องจากรูพรุนมีคุณสมบัติที่ทำให้วัสดุสามารถกักเสียงไว้ภายในได้ โครงงานนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและพัฒนาวัสดุดูดซับเสียงจากผงยางล้อรถที่ใช้แล้ว โดยนำผงยางรถยนต์ที่ใช้แล้วผสมกับน้ำยางพาราสดในอัตราส่วน 1:2 และทำการอบที่อุณหภูมิ 120 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 4 ชั่วโมง หลังจากนั้นทำการทดสอบคุณสมบัติทางกายภาพที่มีผลต่อการดูดซับเสียง ได้แก่ ความหนาแน่น ค่าความพรุนและค่าความสามารถในการดูดซึมน้ำ พบว่า วัสดุดูดซับเสียงจากผงยางรถยนต์ที่ใช้แล้วมีค่าความหนาแน่นเท่ากับ 0.96 กรัมต่อลบ.ซม. ค่าความพรุนเท่ากับ 0.45 และค่าความสามารถในการดูดซึมน้ำเท่ากับร้อยละ 11.03 ซึ่งมีความเป็นไปได้ในการนำผงยางรถยนต์ที่ใช้แล้วมาทำเป็นวัสดุดูดซับเสียงได้