การใช้น้ำมันพืชซ้ำในการประกอบอาหารส่งผลให้เกิดการเสื่อมสภาพและก่อให้เกิดสารพิษจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน การศึกษานี้มุ่งเน้นการเพิ่มเสถียรภาพของน้ำมันพืชโดยใช้เทคโนโลยีคลื่นอัลตราโซนิคร่วมกับการบ่มปลีกล้วย 3 สายพันธุ์ ได้แก่ กล้วยไข่ กล้วยหอม และกล้วยน้ำว้า ซึ่งมีสารประกอบฟีนอลิกและสารต้านอนุมูลอิสระสูง งานวิจัยนี้ศึกษาการฟื้นฟูน้ำมันปาล์มที่ใช้แล้วโดยการบ่มร่วมกับปลีกล้วยที่ผ่านการอบแห้งและบดละเอียด โดยใช้คลื่นอัลตราโซนิคที่อุณหภูมิและระยะเวลาต่างๆ จากนั้นทำการทดสอบคุณภาพน้ำมันที่ได้รับการบ่มผ่านการวิเคราะห์ค่าทางกายภาพ (ปริมาณน้ำอิสระ ความชื้น และค่าสี) ค่าทางเคมี (ค่าดัชนีเปอร์ออกไซด์ ค่าความเป็นกรด และค่าไทโอบาร์บิทูริกแอซิด) และประสิทธิภาพการต้านอนุมูลอิสระ (DPPH, ABTS และ FRAP)
ประเทศไทยมีการใช้น้ำมันพืชเฉลี่ยปีละ 800,000 ตัน ซึ่งการบริโภคอาหารทอดที่เพิ่มขึ้นนำไปสู่ปัญหาน้ำมันใช้แล้วที่เสื่อมสภาพและเกิดสารพิษ เช่น อนุมูลอิสระ อัลดีไฮด์ และไฮโดรเปอร์ออกไซด์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ วิธีการบำบัดน้ำมันที่ใช้แล้วในปัจจุบัน เช่น การกรองและการใช้สารดูดซับ เช่น ถ่านกัมมันต์ ยังมีข้อจำกัด ปลีกล้วยเป็นแหล่งของสารฟีนอลิก เช่น แทนนินและฟลาโวนอยด์ ซึ่งมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระและสามารถช่วยเพิ่มเสถียรภาพของน้ำมันโดยลดการเกิดออกซิเดชัน การศึกษานี้จึงมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีคลื่นอัลตราโซนิคร่วมกับปลีกล้วยสายพันธุ์ต่างๆ เพื่อฟื้นฟูน้ำมันปรุงอาหารที่เสื่อมสภาพให้กลับมาใช้งานได้ ลดของเสีย และส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
คณะวิศวกรรมศาสตร์
โครงการนี้จัดทำขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการในการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ด้านระบบนิวเมติกส์และการควบคุมอัตโนมัติ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตในปัจจุบัน โดยระบบนิวเมติกส์มีบทบาทสำคัญในกระบวนการผลิตหลายประเภท เช่น การควบคุมเครื่องจักร อุปกรณ์อัตโนมัติ และระบบสายการผลิต อย่างไรก็ตาม ภาควิชาวิศวกรรมวัดคุมไม่มีห้องปฏิบัติการที่รองรับการศึกษาและทดลองเกี่ยวกับระบบนิวเมติกส์ เนื่องจากอุปกรณ์เดิมที่เคยใช้เกิดการชำรุดและไม่ได้รับการซ่อมแซม ทำให้นักศึกษาขาดโอกาสในการฝึกฝนทักษะที่สำคัญต่อการทำงานในภาคอุตสาหกรรม คณะผู้จัดทำเห็นถึงความจำเป็นในการฟื้นฟูและพัฒนาห้องปฏิบัติการนิวเมติกส์ให้สามารถตอบโจทย์การเรียนการสอนและการวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยปริญญานิพนธ์นี้มุ่งเน้นการศึกษาและพัฒนาระบบควบคุมแขนกลอุตสาหกรรมและระบบนิวเมติกส์ ควบคู่ไปกับการบูรณาการเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น PLC (Programmable Logic Controller) และ AI Vision ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานจริงในบริบทอุตสาหกรรม ผลการดำเนินงานในโครงการนี้นอกจากจะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจในเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังมุ่งหวังที่จะพัฒนาห้องปฏิบัติการให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญสำหรับนักศึกษารุ่นปัจจุบันและรุ่นถัดไป รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของนักศึกษาในตลาดแรงงาน พร้อมทั้งสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมการผลิตต่อไปในอนาคต
คณะวิศวกรรมศาสตร์
โครงการนี้นำเสนอระบบจัดเก็บแผ่นเหล็กแนวตั้งอัตโนมัติ ทำงานโดยเรียนรู้วิธีการออกแบบและสร้างระบบจัดเก็บแผ่นเหล็กแนวตั้งอัตโนมัติที่รวมเข้ากับอุปกรณ์ไมโครคอนโทรลเลอร์ โครงการประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ โครงสร้างและระบบควบคุมระบบจัดเก็บแผ่นเหล็กแนวตั้งอัตโนมัติ ซึ่งจะออกแบบและเขียนแบบด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์และสร้างโดยใช้โครงสร้างหลักอะลูมิเนียมตามขนาดจริงที่ออกแบบในโปรแกรม และระบบควบคุมไมโครคอนโทรลเลอร์ใช้โปรแกรม GX Works 2 ของ Mitsubishi PLC เพื่อออกแบบระบบที่ควบคุมการขึ้นและลง เข้าและออกของพาเลท สามารถชั่งน้ำหนักได้และมีหน้าจอสัมผัสแสดงข้อมูลแผ่นเหล็กและใช้ควบคุมระบบจัดเก็บแผ่นเหล็กแนวตั้งอัตโนมัติและม่านแสงนิรภัยเพื่อป้องกันด้านความปลอดภัยของผู้ใช้งาน ทดสอบการทำงานของเครื่องจัดเก็บแผ่นเหล็กแนวตั้งอัตโนมัติ แล้วพบว่าทำงานได้ตามปกติ มีข้อผิดพลาดเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่อยู่ในขอบเขตที่ยอมรับได้
คณะวิทยาศาสตร์
ในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและกิจกรรมของมนุษย์ส่งผลให้แนวปะการังทั่วโลกเผชิญกับภาวะเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว การตรวจสอบสุขภาพของปะการังจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเล โครงการนี้มุ่งเน้นการพัฒนาแบบจำลองปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อจำแนกสุขภาพของปะการังออกเป็นสี่ประเภท ได้แก่ ปะการังแข็งแรง (Healthy), ปะการังฟอกขาว (Bleached), ปะการังซีด (Pale), และปะการังตาย (Dead) โดยใช้โครงข่ายประสาทเทียมเชิงลึก (Deep Learning) เป็นพื้นฐานในการฝึกสอนแบบจำแนกภาพ ในกระบวนการฝึกแบบจำลอง ได้มีการใช้เทคนิค Cross-Validation (k=5) เพื่อเพิ่มความแม่นยำ พร้อมทั้งบันทึกโมเดลที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดหลังการฝึกผลลัพธ์ของโครงการนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงของแนวปะการัง และช่วยนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนอนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเลในอนาคต