งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการห่อหุ้มแอนโธไซยานินในอิมัลชันชนิดน้ำในน้ำมันในน้ำ (W/O/W) และกระบวนการทำแห้งแบบพ่นฝอย เพื่อเพิ่มความเสถียรของแอนโธไซยานินจากปัจจัยภายนอก เช่น แสง อุณหภูมิ และการเปลี่ยนแปลงค่า pH การเตรียมอิมัลชัน W/O/W ดำเนินการโดยใช้สารลดแรงตึงผิวที่เหมาะสม และทำแห้งด้วยเครื่องพ่นฝอยที่อุณหภูมิขาเข้า 120–140°C และอุณหภูมิขาออกไม่ต่ำกว่า 80°C ผลการศึกษาพบว่าสัดส่วนองค์ประกอบของน้ำ น้ำมัน และสารลดแรงตึงผิวมีผลต่อคุณสมบัติทางกายภาพและเคมีของอิมัลชัน รวมถึงประสิทธิภาพในการกักเก็บแอนโธไซยานิน อิมัลชัน W/O/W ที่ผ่านกระบวนการทำแห้งแบบพ่นฝอยสามารถกักเก็บแอนโธไซยานินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยเพิ่มความเสถียรในระยะยาว ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพได้
แอนโธไซยานินเป็นสารประกอบที่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระสูง และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ มะเร็ง และโรคเบาหวาน อย่างไรก็ตาม แอนโธไซยานินมีข้อจำกัดด้านความเสถียร เนื่องจากไวต่อแสง อุณหภูมิ และค่า pH ที่เปลี่ยนแปลงได้ง่าย ส่งผลให้เกิดการเสื่อมสภาพและลดคุณสมบัติทางชีวภาพ เพื่อแก้ไขปัญหานี้ การนำเทคนิคอิมัลชันแบบน้ำในน้ำมันในน้ำ (W/O/W) มาประยุกต์ใช้ในการห่อหุ้มแอนโธไซยานิน สามารถช่วยเพิ่มความเสถียรของสารและควบคุมการปลดปล่อยสารออกฤทธิ์ได้ นอกจากนี้ กระบวนการทำแห้งแบบพ่นฝอย (Spray Drying) ยังเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนอิมัลชันเป็นผงแห้ง ซึ่งช่วยให้การจัดเก็บและการนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารและสุขภาพเป็นไปอย่างสะดวกมากขึ้น ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงมุ่งเน้นการศึกษาสัดส่วนขององค์ประกอบในอิมัลชัน W/O/W ที่เหมาะสม รวมถึงกระบวนการทำแห้งแบบพ่นฝอย เพื่อให้สามารถกักเก็บและรักษาคุณสมบัติของแอนโธไซยานินได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่การประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์สุขภาพต่อไป
วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์
งานวิจัยนี้เป็นการออกแบบและสร้างเครื่องต้นแบบระบบปัญญาประดิษฐ์ของสรรพสิ่งสำหรับติดตามและควบคุมการให้น้ำพืชโดยใช้ข้อมูลสภาพอากาศ โดยระบบประกอบไป 4 ส่วนสำคัญ คือ ส่วนที่ 1 สถานีตรวจวัดสภาพอากาศ (Weather Station) ประกอบไปด้วยเซ็นเซอร์ต่าง ๆ เช่น อุณหภูมิอากาศ ความชื้นสัมพัทธ์ ความเร็วลม และความยาวนานของแสง เป็นต้น ส่วนที่ 2 หน่วยประมวลผล (Controller Unit) โดยจะมีการติดตั้งอัลกอริทึมหรือแบบจำลองการเรียนรู้ของเครื่องเพื่อใช้ประเมินค่าการคายระเหยน้ำของพืชอ้างอิง (ETo) และจะใช้คำนวณร่วมกับค่าสัมประสิทธิ์การใช้น้ำของพืชนั้น ๆ (Crop Coefficient: Kc) และข้อมูล อื่น ๆ เกี่ยวกับพืชนั้น ๆ เพื่อประเมินปริมาณการใช้น้ำตามความต้องการของพืชโดยอัตโนมัติ ส่วนที่ 3 ส่วนติดต่อผู้ใช้งานและหน้าจอแสดงผล (User Interface (UI) and Display) เป็นส่วนที่ให้เกษตรกรหรือผู้ใช้งานสามารถป้อนข้อมูลเกี่ยวกับชนิดของพืช ชนิดของดินที่ปลูก ประเภท ของระบบการให้น้ำ จำนวนหัวจ่ายน้ำ ระยะปลูก และช่วงการเจริญเติบโตของพืช เป็นต้น และส่วนที่ 4 หน่วยควบคุมและหัวจ่ายน้ำ (Irrigation Unit)
คณะวิศวกรรมศาสตร์
หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการตอบสนองต่อกรณีทางการแพทย์คือเวลาการตอบสนอง โดยทั่วไปแล้ว ความเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากผู้ป่วยไม่สามารถไปถึงมือแพทย์ได้ทันเวลา นอกจากนี้ยังรวมถึงการมาถึงของอุปกรณ์การแพทย์ในที่เกิดเหตุ สมองของมนุษย์จะเริ่มเสื่อมลงหลังจากขาดออกซิเจนเป็นเวลา 3 นาที ซึ่งวิธีการขนส่งทางถนนที่หน่วยปฐมพยาบาลใช้อยู่ในปัจจุบันไม่สามารถไปถึงที่เกิดเหตุได้ภายใน 3 นาที ส่งผลให้มีการเสียชีวิตระหว่างการขนส่งหรือก่อนหน่วยปฐมพยาบาลจะมาถึงที่เกิดเหตุ ดังนั้นจึงได้มีการสำรวจการขนส่งอุปกรณ์การแพทย์ด้วยอากาศยานที่ควบคุมด้วยตนเองโดยอัตโนมัติ ซึ่งสามารถทำได้ผ่านการจัดส่งด้วยโดรนที่รวดเร็วกว่าใช้วิธีการทางถนน เนื่องจากอุปกรณ์สามารถบินตรงไปยังที่เกิดเหตุได้ ในโครงการนี้ เราจะสำรวจระบบการส่งมอบทางอากาศสำหรับอุปกรณ์การแพทย์ เช่น เครื่องกระตุ้นหัวใจอัตโนมัติ (AEDs) อุปกรณ์ปฐมพยาบาล และอุปกรณ์การแพทย์ขนาดเล็กอื่น ๆ ที่ร้องขอ เราจะทำสิ่งนี้ผ่านแพลตฟอร์มโดรนของ DJI และแอปพลิเคชัน SDK ของพวกเขา เป้าหมายหลักของโครงการนี้คือการลดเวลาการตอบสนองโดยการใช้โดรนอัตโนมัติเพื่อส่งมอบอุปกรณ์การแพทย์ เราพบว่าโดรนเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถส่งมอบเครื่องกระตุ้นหัวใจไปยังผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านข้อมูลการบินที่รวบรวมและการทดสอบเบื้องต้น ซึ่งให้แพลตฟอร์มที่ยอดเยี่ยมสำหรับการพัฒนาระบบในอนาคต
คณะวิศวกรรมศาสตร์
ในปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาฝุ่น PM2.5 ทั่วประเทศ ซึ่งมีแหล่งกำเนิดของฝุ่นได้จากหลายแหล่งที่มา เช่น ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ การเผาในที่โล่ง ไฟป่า และอื่นๆ ดังนั้น แหล่งที่มาของฝุ่นในแต่ละพื้นที่จึงมีแนวโน้มที่จะแตกต่างกันไป ในปัจจุบันโดยเป็นการวิเคราะห์เชิงเคมีเป็นหลัก ทางคณะผู้จัดเสนอแนวทางใหม่ในการศึกษาแหล่งที่มาของฝุ่นโดยวิธีการทางกายภาพโดยวิเคราะห์จากขนาดของอนุภาคและโครงสร้างเชิงนาโน การวิเคราะห์ข้างต้นนี้ตัวอย่างฝุ่นจำเป็นที่จะต้องถูกเก็บมาแบบแห้งในระยะเวลาจำกัด โดยไม่ควรใช้แผ่นกรองกระดาษในการเก็บฝุ่น เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการลอกของแผ่นกรองออกมาด้วยในขั้นตอนการนำฝุ่นออกมา ทางคณะผู้จัดทำเห็นสมควรว่าเครื่อง Electrostatic Precipitator (ESP) หรือ เครื่องดักฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิตย์ นั้นมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะนำมาเป็นเครื่องดักฝุ่นเพื่อนำไปทดสอบทางกายภาพตามที่กล่าวไว้ข้างต้น โดยในงานวิจัยนี้มุ่งเน้นไปในส่วนของการออกแบบและสร้างเครื่อง ESP ที่ใช้ในจุดประสงค์เฉพาะดังกล่าวข้างต้น โดยคณะผู้จัดทำสามารถสร้างเครื่องที่เก็บฝุ่นได้อย่างน้อย 100 mg ภายใน 1 วัน ซึ่งเพียงพอกับการนำไปศึกษาโครงสร้างเชิงนาโนใน 1 ครั้ง นอกจากนี้ จากการทดสอบการทำงานเบื้องต้นพบว่าเครื่องมีประสิทธิภาพในการดักฝุ่นถึง 80% (ซึ่งมากกว่าเครื่อง ESP ที่หามาได้ตามท้องตลาด) และยังพบอีกว่าประสิทธิภาพในการดักฝุ่นแปรผกผันกับความเร็วอากาศขาเข้า โดยความเร็วอากาศแนะนำจากการทดลองไม่เกิน 2 m/s อย่างไรก็ตามเครื่อง ESP ที่ใช้ในจุดประสงค์เฉพาะนี้ยังมีจุดที่สามารถพัฒนาได้อีก เช่น ความสะดวกในการเก็บฝุ่นที่เกี่ยวเนื่องมาจากลักษณะโครงสร้างเครื่อง และการปรับขนาดของเครื่องให้กระทัดรัดและเหมาะสมกับการใช้งาน เป็นต้น