KMITL Innovation Expo 2025 Logo

การพัฒนาเว็บไซต์เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล Young Smart Farmer จังหวัดจันทบุรี

การพัฒนาเว็บไซต์เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล Young Smart Farmer จังหวัดจันทบุรี

รายละเอียด

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์พัฒนาเว็บไซต์เก็บรวบรวมข้อมูลของ Young Smart Farmer จังหวัดจันทบุรี ใช้แบบสัมภาษณ์เก็บจากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 30 ราย เพื่อการพัฒนาเว็บไซต์ โดยนำข้อมูลที่ได้มาจัดหมวดหมู่และใช้ข้อมูลดังกล่างในการพัฒนาเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่แก่เกษตรกรและบุคคลที่สนใจ จากนั้นดำเนินการศึกษาความพึงพอใจต่อเว็บไซต์ โดยใช้แบบสอบถามวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างเป็นเพศชายและเพศหญิงเท่ากัน มีอายุอยู่ระหว่าง 36-40 ปีมากที่สุด ร้อยละ 50.00 เป็น Young Smart Farmer อำเภอขลุง แหลมสิงห์ และแก่งหางแมวมากที่สุด ร้อยละ 13.33 สำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 60.00 ประกอบอาชีพหลักเป็นเกษตรกร ร้อยละ 73.33 ผลการศึกษาความพึงพอใจต่อเว็บไซต์เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล Young Smart Farmer พบว่ากลุ่มตัวอย่างพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุดทุกด้าน โดยเรียงลำดับได้ดังนี้ 1) ด้านการใช้งานเว็บไซต์ (ค่าเฉลี่ย 4.97) 2) ด้านความพึงพอใจโดยภาพรวม (ค่าเฉลี่ย 4.93) 3) ด้านคุณภาพของเนื้อหา (ค่าเฉลี่ย 4.91) 4) ด้านประโยชน์และการนำไปใช้ (ค่าเฉลี่ย 4.87) และ 5) ด้านการออกแบบและการจัดรูปแบบมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย 4.85) ตามลำดับ

วัตถุประสงค์

ภาคการเกษตรมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศไทย จากรายงานพบว่า ในปี 2566 ประเทศไทยได้ส่งออกสินค้าเกษตรมูลค่ากว่า 284,561.80 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 17.30% ของรายการสินค้าส่งออกทั้งหมด (Office of Trade Policy and Strategy, 2024) ประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรกรรม 149.25 ล้านไร่ คิดเป็น 32.60% ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการ อีกทั้งมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ อย่างไรก็ตามปัจจุบันภาคการเกษตรของไทยต้องเผชิญปัญหาหลากหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือ เกษตรไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นในการทำการเกษตร (Ministry of Agriculture and Cooperatives, 2017) ทำให้เกษตรกรขาดความรู้ในการพัฒนาการผลิต ขาดความรู้ทางช่องทางการตลาด การสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตร และปัญหาคนรุ่นใหม่ที่สนใจการทำเกษตรน้อยลง ส่งผลให้แรงงานภาคการเกษตรลดน้อยลง จากข้อมูลจากการสำมะโนการเกษตร พบว่าผู้ถือครองทำการเกษตรส่วนใหญ่มีอายุตั้งแต่ 35.00 ปีขึ้นไป และผู้ถือครองในช่วงอายุ 35.00-44.00 ปี มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 26.80 ในปี 2546 เป็นร้อยละ 18.40 ในปี 2556 ส่วนในกลุ่มผู้สูงอายุ 65.00 ปีขึ้นไป กลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 13.10 เป็นร้อยละ 18.50 ในปี 2556 (National Farmers Council, 2018) กรมส่งเสริมการเกษตรจึงมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาโดยได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการเกษตร ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) และแผนปฏิบัติงาน ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2560 - 2564) เพื่อเป็นการวางรากฐานการพัฒนาระยะยาวอันนำไปสู่การพัฒนาและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงมีการกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมความมั่นคงในอาชีพของเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร โดยการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็น Young Smart Farmer เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2557 มีเป้าหมายหลักในการพัฒนาเกษตรกรให้มีความสามารถด้านการเกษตร ทดแทนเกษตรกรผู้สูงอายุและสร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่หันมาประกอบอาชีพ 2 เกษตรกรรม (Department of Agricultural Extension, 2017) โดยการขับเคลื่อนพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ในปี 2564 โดยใช้งบประมาณ 15.16 ล้านบาท และได้กำหนดการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ในปี 2565 โดยใช้งบประมาณ 21.39 ล้านบาท (Office of the Secretary of the Department of Agricultural Extension, 2020) ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรรุ่นใหม่เข้าร่วมโครงการและผ่านการประเมินเป็น Young Smart Farmer ทั่วประเทศ จำนวน 23,411 ราย (Khao Khitchakut District Agriculture Office Chanthaburi Province, 2023) ซึ่งในจังหวัดจันทบุรีมี Young Smart Farmer ที่มีความสามารถและความรู้ในด้านต่างๆ ที่ไม่เพียงแต่มีทักษะในการทำการเกษตรเท่านั้น แต่ยังได้รับการยอมรับจากทั้งภาครัฐและเอกชนในระดับประเทศ เนื่องจากการทำงานที่มีความตั้งใจในการสร้างความยั่งยืนให้กับการเกษตรในท้องถิ่น Young Smart Farmer หลายรายได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง และเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ของตนเอง เช่น ผลไม้ที่ปลูกด้วยวิธีการเกษตรอินทรีย์หรือผลิตภัณฑ์จากการแปรรูปทางการเกษตรที่ได้รับการยอมรับในตลาด แต่สิ่งที่ยังขาดอยู่ในขณะนี้คือการรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ของ Young Smart Farmer แต่ละรายเข้าด้วยกัน เนื่องจากเกษตรกรแต่ละรายต่างก็มีการดำเนินงานและพัฒนาผลผลิตของตนเองอย่างเป็นอิสระและแยกจากกัน โดยไม่มีการเชื่อมโยงหรือแบ่งปันข้อมูลในระดับกว้าง จากสภาพปัญหาและประเด็นยุทธศาสตร์ดังกล่าว การมีแพลตฟอร์มกลางหรือฐานข้อมูลที่รวบรวมข้อมูลของ Young Smart Farmer ในจังหวัดจันทบุรีจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้เกษตรกรได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ดังนั้นผู้วิจัยจึงได้พัฒนาเว็บไซต์ Young Smart Farmer Chanthaburi ขึ้นมาเพื่อรวบรวมและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเกษตรกร Young Smart Farmer จังหวัดจันทบุรี เพื่อให้การส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับ Young Smart Farmer จังหวัดจันทบุรี เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเว็บไซต์ที่พัฒนาขึ้นสามารถนำไปใช้เป็นต้นแบบในการนำไปพัฒนาเว็บไซต์ในการส่งเสริมกิจกรรมทางการเกษตรในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรและงานส่งเสริมการเกษตรต่อไปในอนาคต

นวัตกรรมอื่น ๆ

ผลของความหนาบรรจุภัณฑ์ต่อคุณภาพข้าวโพดหมักอาหารสัตว์

คณะเทคโนโลยีการเกษตร

ผลของความหนาบรรจุภัณฑ์ต่อคุณภาพข้าวโพดหมักอาหารสัตว์

สภาพแวดล้อมที่แปรปรวนในปัจจุบันทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนพืชอาหารสัตว์ในฤดูแล้งเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น การศึกษาผลของความหนาบรรจุภัณฑ์ ต่อคุณภาพข้าวโพดอาหารสัตว์ในระหว่างการเก็บรักษาระยะยาวเพื่อคงคุณภาพของข้าวโพดหมักในฤดูแล้งเนื่องจากเกิดการขาดแคลน ผลการศึกษาพบว่า บรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดความหนา 80, 120, 150 และ 200 ไมครอนที่อายุ 0-21 วัน มีคุณสมบัติทางกายภาพได้แก่ กลิ่น, เนื้อพืชหมัก, สี และค่าความเป็นกรด-ด่างอยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยกลิ่นของพืชหมักจะมีความคล้ายกลิ่นผลไม้ดอง หรือน้ำส้มสายชู เนื้อพืชหมักจะมีความแน่น ส่วนใบและลำต้นคงสภาพเดิม สีของพืชหมักมีสีเหลืองอมเขียว และมีค่าความเป็นกรด-ด่างอยู่ระหว่าง 3.7-4.7 การวิเคราะห์ปริมาณกรดแลคติก พบว่า บรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดความหนา 200 ไมครอนที่อายุเก็บรักษา 21 วัน มีปริมาณกรดแลคติกมากที่สุด (5.64%) และคุณค่าทางโภชนะของข้าวโพดหมักในบรรจุภัณฑ์ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ

ความสงสัยในตนเอง

คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ

ความสงสัยในตนเอง

ซีรีย์ภาพถ่ายที่สื่อถึงสภาวะนามธรรมของตนเอง ที่ตั้งคำถามถึงการดำรงอยู่ อันเกิดจากการถูกรายล้อมไปด้วยความคาดหวัง ทั้งในแง่ของเสรีภาพในการแสดงออก และการยอมจำนน การมุ่งความสนใจไว้ที่ตนเอง ทำให้เกิดความรู้สึกนึกถึงอดีตที่แทบจะลืมเลือนไปแล้ว ให้กลับมาจนชัดเจนอีกครั้ง

แอปพลิเคชันปลูกต้นไม้สำหรับหอพัก

คณะเทคโนโลยีการเกษตร

แอปพลิเคชันปลูกต้นไม้สำหรับหอพัก

โครงการนี้ได้สร้างระบบดูแลต้นไม้ในหอพักผ่านระบบ IoT ( Internet of Things ) โดยการพัฒนาโปรแกรมผ่านบอร์ด ESP-32 ควบคุมการรดน้ำต้นไม้อัตโนมัติ โดยสั่งการผ่าน สมาร์ทโฟน สามารถใช้งานระบบปฏิบัติการทั้ง iOS และ Android โครงการนี้จะช่วยให้การปลูกต้นไม้ในหอพักเป็นเรื่องง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น