KMITL Innovation Expo 2025 Logo

ถังแรงดันสูงแบบคอมโพสิตสำหรับก๊าซธรรมชาติอัด (CNG) และไฮโดรเจน (H₂)

ถังแรงดันสูงแบบคอมโพสิตสำหรับก๊าซธรรมชาติอัด (CNG) และไฮโดรเจน (H₂)

รายละเอียด

ถังบรรจุก๊าซความดันสูงที่ผลิตจากวัสดุประกอบ ได้แก่ คาร์บอนไฟเบอร์ เรซิน และพลาสติก ถูกออกแบบสำหรับบรรจุก๊าซธรรมชาติอัด (CNG) หรือไฮโดรเจน ซึ่งถูกเรียกว่า​ถังความดันสูง​ แบบที่​4 โดยในงานวิจัยนี้ได้ออกแบบให้รองรับการใช้งานที่ความดัน 250 บาร์ สำหรับการขนส่งก๊าซธรรมชาติอัด

วัตถุประสงค์

การบรรจุก๊าซที่ความดันสูงต้องใช้บรรจุภัณฑ์​ที่มีความแข็งแรง​ การใช้ถังที่ผลิตจากโลหะถูกนำมาใช้ในช่วงแรกๆ​ แต่ปัญหาที่ตามมาคือน้ำหนักมากทำให้สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงในกรณีที่นำไปติดตั้งบนยานพาหนะ​ จึงเกิดการพัฒนาถังความดันที่พัฒนาจากวัสดุประกอบขึ้นซึ่งจะช่วยลดน้ำหนักของบรรจุภัณฑ์​และการกัดกร่อนเกิดขึ้นน้อย

นวัตกรรมอื่น ๆ

การพัฒนาเส้นใยไผ่ตงผสมสู่การออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอเพื่อสิ่งแวดล้อม

คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี

การพัฒนาเส้นใยไผ่ตงผสมสู่การออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอเพื่อสิ่งแวดล้อม

การวิจัยนี้ยืนยันถึงศักยภาพของเส้นใยไผ่ตงในฐานะวัตถุดิบที่ยั่งยืนสำหรับอุตสาหกรรม สิ่งทอ โดยแสดงถึงคุณสมบัติเด่นที่ตอบโจทย์ทั้งในด้านการใช้งานและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งชี้ให้เห็นแนวทางการพัฒนาที่สามารถส่งเสริมการผลิตที่ยั่งยืนและตอบสนองความต้องการในตลาดที่เน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและรักษาสิ่งแวดล้อม โดยผสมผสานแนวคิดด้านความยั่งยืนเข้ากับนวัตกรรมวัสดุ การวิจัยครอบคลุมการวิเคราะห์คุณสมบัติเส้นใย การพัฒนากระบวนการผลิต และการออกแบบผลิตภัณฑ์ การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาคุณสมบัติเส้นใยไผ่ตงสู่การผลิต 2)เพื่อศึกษาปัจจัยในการออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอเพื่อสิ่งแวดล้อมจากเส้นใยไผ่ตง 3)เพื่อคาดการณ์อนาคตภาพในการออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอเพื่อสิ่งแวดล้อมจากเส้นใยไผ่ตง ผลการวิจัยพบว่า ไผ่ตงอายุ 60 วันมีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดในการแยกเส้นใย โดยมีขนาดเส้นใยเฉลี่ย 5.32 μm ซึ่งเล็กกว่าเส้นใยธรรมชาติชนิดอื่น ส่งผลให้มีคุณสมบัติดูดซับความชื้นและระบายอากาศได้ดี เมื่อนำมาปั่นผสมกับเส้นใยพอลิเอสเตอร์รีไซเคิลในสัดส่วน 30:70 จะได้เส้นด้ายที่มีความแข็งแรงและผิวสัมผัสที่มีเอกลักษณ์ แม้ว่าคุณสมบัติการต้านเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus จะอยู่ในระดับต่ำ แต่เส้นใยมีความขาวสะอาดและอ่อนนุ่ม และจากการวิเคราะห์ปัจจัยในการออกแบบผลิตภัณฑ์พบองค์ประกอบสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ วัสดุท้องถิ่น (Local Materials) ผลิตภัณฑ์สีเขียว (Green Products) สุขภาพ (Healthy) และความยั่งยืน (Sustainability) ผลการประเมินความพึงพอใจของผู้บริโภคต่อต้นแบบผลิตภัณฑ์อยู่ในระดับมาก โดยสามารถอธิบายความพึงพอใจได้ร้อยละ 84.7 ทั้งนี้ กระบวนการผลิตที่พัฒนาขึ้นช่วยลดการใช้สารเคมีและของเสียอันตราย อีกทั้งการใช้ไผ่ตงซึ่งเป็นพืชโตเร็วยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ส่งผลให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงทางอาชีพในชุมชนชนของประเทศไทย ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า การพัฒนาเส้นใยไผ่ตงผสมเส้นใยพอลิเอสเตอร์รีไซเคิลสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีความยั่งยืน ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในด้านสุขภาพ การใช้วัสดุท้องถิ่น และการส่งเสริมผลิตภัณฑ์สีเขียว อีกทั้งการนำเสนอผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ในอนาคต

การเลือกที่ตั้งศูนย์กระจายสินค้าประเภทเครื่องดื่มโดยใช้ตัวแบบคณิตศาสตร์โดยพิจารณาต้นทุนโลจิสติกส์การขนส่ง

คณะวิทยาศาสตร์

การเลือกที่ตั้งศูนย์กระจายสินค้าประเภทเครื่องดื่มโดยใช้ตัวแบบคณิตศาสตร์โดยพิจารณาต้นทุนโลจิสติกส์การขนส่ง

งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อเลือกทำเลที่ตั้งศูนย์กระจายสินค้าประเภทเครื่องดื่มของบริษัท ไทย สพิริท อินดัสทรี จำกัด ที่มีต้นทุนรวมของการขนส่งสินค้าต่ำที่สุด โดยอาศัยตัวแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ โดยพิจารณาอำเภอเมืองของทั้ง 76 จังหวัด ไม่รวมจังหวัดฉะเชิงเทราซึ่งที่เป็นที่ตั้งของโรงงาน ในการศึกษาครั้งนี้ได้ทำการแบ่งสถานการณ์ออกเป็น 4 สถานการณ์ ได้แก่ 1) เมื่อกำหนดให้มีศูนย์กระจายสินค้าได้เพียงหนึ่งแห่ง 2) เมื่อกำหนดให้มีศูนย์กระจายสินค้าได้มากกว่าหนึ่งแห่ง 3) เมื่อแบ่งเป็น 4 ภูมิภาค โดยกำหนดให้มีศูนย์กระจายสินค้าได้เพียงหนึ่งแห่งในหนึ่งภูมิภาค และ 4) เมื่อแบ่งเป็น 4 ภูมิภาค โดยกำหนดให้มีศูนย์กระจายสินค้าได้มากกว่าหนึ่งแห่งในหนึ่งภูมิภาค เมื่อประมวลผลด้วยโปรแกรม IBM ILOG CPLEX Optimization Studio ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ สถานการณ์ที่ 1 เมื่อกำหนดให้มีศูนย์กระจายสินค้าได้เพียงหนึ่งแห่ง มีต้นทุนการขนส่งรวม 786,107.75 บาท/เดือน สถานการณ์ที่ 2 เมื่อกำหนดให้มีศูนย์กระจายสินค้าได้มากกว่าหนึ่งแห่ง มีต้นทุนการขนส่งรวม 252,338.98 บาท/เดือน สถานการณ์ที่ 3 เมื่อแบ่งเป็น 4 ภูมิภาค โดยกำหนดให้มีศูนย์กระจายสินค้าได้เพียงหนึ่งแห่งในหนึ่งภูมิภาค มีต้นทุนการขนส่งรวม 401,499.61 บาท/เดือน สถานการณ์ที่ 4 เมื่อแบ่งเป็น 4 ภูมิภาค โดยกำหนดให้มีศูนย์กระจายสินค้าได้มากกว่าหนึ่งแห่งในแต่ละภูมิภาค มีต้นทุนการขนส่งรวม 258,666.22 บาท/เดือน

ศูนย์พัฒนาสิ่งประดิษฐ์เพื่ออนาคตและความยั่งยืน

คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ

ศูนย์พัฒนาสิ่งประดิษฐ์เพื่ออนาคตและความยั่งยืน

โครงการศูนย์พัฒนาสิ่งประดิษฐ์เพื่ออนาคตและความยั่งยืน เป็นโครงการต่อเนื่องจากการนำร่องในการทดลองแนวทางการปรับปรุงอาคารเก่า (วช.7) ซึ่งเป็นอาคารห้าชั้น โดยมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาแนวทางการปรับปรุงอาคารเก่าเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในการดำเนินการศูนย์พัฒนาสิ่งประดิษฐ์เพื่ออนาคตและความยั่งยืน (ต่อเนื่อง) ได้ทำการศึกษาข้อมูลและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องและวางระเบียบวิธีการวิจัยเพื่อค้นหาแนวทางที่เหมาะสมในการปรับปรุงอาคารเก่าเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ใน 3 ขั้นตอนด้วยกัน คือ การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงจากการขนส่ง แรงงาน และวัสดุ การใช้พลังงานไฟฟ้าระหว่างการก่อสร้าง การสะสมก๊าซเรือนกระจกจากวัสดุก่อสร้างเก่า/ใหม่ที่ใช้ในการก่อสร้าง การดำเนินการในโครงการนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลองโดยมีการเก็บข้อมูลจริงเพื่อประเมินเป็นค่าปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าเปรียบเทียบระหว่างการก่อสร้างอาคารใหม่ และผลจากการปรับปรุงอาคารเก่าที่เป็นกรณีศึกษา จากการเก็บข้อมูลและทำการคำนวณภายหลังเสร็จสิ้นโครงการพบว่าการปรับปรุงอาคารเดิมด้วยการออกแบบที่คำนึงถึงความยั่งยืนด้วยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในส่วนของการใช้วัสดุก่อสร้างมีค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 11.88 kgCO2e/sq.m. ในกรณีการก่อสร้างอาคารใหม่ จะมีค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 299.35 kgCO2e/sq.m. ซึ่งสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ประมาณ 26 เท่า เมื่อเทียบกับการก่อสร้างอาคารใหม่