ถังบรรจุก๊าซความดันสูงที่ผลิตจากวัสดุประกอบ ได้แก่ คาร์บอนไฟเบอร์ เรซิน และพลาสติก ถูกออกแบบสำหรับบรรจุก๊าซธรรมชาติอัด (CNG) หรือไฮโดรเจน ซึ่งถูกเรียกว่าถังความดันสูง แบบที่4 โดยในงานวิจัยนี้ได้ออกแบบให้รองรับการใช้งานที่ความดัน 250 บาร์ สำหรับการขนส่งก๊าซธรรมชาติอัด
การบรรจุก๊าซที่ความดันสูงต้องใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีความแข็งแรง การใช้ถังที่ผลิตจากโลหะถูกนำมาใช้ในช่วงแรกๆ แต่ปัญหาที่ตามมาคือน้ำหนักมากทำให้สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงในกรณีที่นำไปติดตั้งบนยานพาหนะ จึงเกิดการพัฒนาถังความดันที่พัฒนาจากวัสดุประกอบขึ้นซึ่งจะช่วยลดน้ำหนักของบรรจุภัณฑ์และการกัดกร่อนเกิดขึ้นน้อย
คณะอุตสาหกรรมอาหาร
Ginbanirose มีเป้าหมายในการพัฒนาสารสกัดจากสมุนไพรที่ช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือน โดยใช้วัตถุดิบหลัก ได้แก่ กระเจี๊ยบแดง หัวปลี และขิง ซึ่งมีสารสำคัญที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ และช่วยบรรเทาอาการปวด สารสกัดถูกปรับปรุงประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีเอนแคปซูเลชันแบบลิโพโซม เพื่อเพิ่มการดูดซึมและความเสถียร กระบวนการผลิตประกอบด้วยการสกัดสารจากสมุนไพร การทำแห้งแบบฟรีซดราย และการเตรียมฟอร์มูเลชันลิโพโซม ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าสารสกัดมีสารประกอบฟีโนลิกและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง โดย Ginbanirose สามารถตอบโจทย์คุณภาพชีวิตของผู้หญิงและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในตลาดสมุนไพรที่กำลังเติบโตในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างต่อเนื่อง
คณะวิศวกรรมศาสตร์
การศึกษานี้จัดทำขึ้นเพื่อสร้างต้นแบบผ้าคลุมเย็นสำหรับการขนส่งน้ำนมดิบเพื่อเสนอแนวทางการรักษาคุณภาพน้ำนมดิบระหว่างการขนส่งไปยังศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ ผ้าคลุมเย็นนี้ผลิตจากการนำวัสดุเปลี่ยนสถานะ (Phase Change Material, PCM) ผลิตจากน้ำผสมสารสร้างเนื้อเจล ปริมาณ 5.6 กิโลกรัม มาประกบรอบถังนมอะลูมิเนียม (ปริมาตรความจุ 25 ลิตร) แล้วคลุมด้วยผ้าเคลือบสารสะท้อนรังสียูวี 2 ชนิด ได้แก่ ผ้าพอลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) และผ้าพอลิเอทิลีนความหนาแน่นสูง (HDPE) ประสิทธิภาพการรักษาอุณหภูมิของผ้าคลุมทั้งสองแบบประเมินจากการวัดอุณหภูมิของน้ำที่จุดต่าง ๆ ตามแนวรัศมีและตามความสูงของถังนม จำนวน 6จุด ด้วยสายเทอร์มอคัปเปิลชนิดที ภายใต้สภาวะแวดล้อม 3 สภาวะ ได้แก่ ที่อุณหภูมิคงที่ 25 °C และ 35 °C และที่อุณหภูมิบรรยากาศกลางแจ้ง (อุณหภูมิเฉลี่ย 35.5 °C) เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 180 นาที ผลการทดลองพบว่า ที่เวลา 120 นาที น้ำในถังคลุมด้วยผ้า PCM-PVC และผ้า PCM-HDPE มีอุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิบรรยากาศ 12.6 °C และ 12.9 °C ตามลำดับ ภายใต้อุณหภูมิบรรยากาศคงที่ 25 °C ในขณะที่ภายใต้อุณหภูมิบรรยากาศคงที่ 35 °C มีอุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิบรรยากาศ 16.7 °C และ 16.4 °C ตามลำดับ และอุณหภูมิบรรยากาศกลางแจ้งมีอุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิบรรยากาศ 12.7 °C และ 13.8 °C ตามลำดับ เนื่องจากผ้า PCM-PVC และผ้า PCM-HDPE มีประสิทธิภาพการรักษาอุณหภูมิไม่ต่างกัน การประเมินประสิทธิภาพการรักษาคุณภาพทางจุลินทรีย์ของน้ำนมดิบจึงศึกษาเฉพาะผ้า PCM-PVC เทียบกับกรณีไม่ใช้ผ้าคลุม (ควบคุม) ด้วยการตรวจนับปริมาณเชื้อโคลิฟอร์มและเชื้อ Escherichia coli โดยใช้อาหารเลี้ยงเชื้อสำเร็จรูป ผลการทดลองพบว่าเมื่อเวลาผ่านไป 120 นาที น้ำนมในถังที่คลุมด้วยผ้า PCM-PVC มีปริมาณเชื้อโคลิฟอร์มเฉลี่ยเท่ากับ 1.6 × 10^4 CFU/ml และเชื้อ E. coli เท่ากับ 2 × 10^3 CFU/ml ซึ่งน้อยกว่ากรณีไม่มีผ้าคลุมซึ่งมีปริมาณเชื้อโคลิฟอร์ม เฉลี่ยเท่ากับ 1.5 × 10^4 CFU/ml และเชื้อ E. coli เท่ากับ 1.1 × 10^4 CFU/ml จากการศึกษานี้สรุปได้ว่าอุณหภูมิที่ลดได้นี้สามารถช่วยชะลอการเจริญของเชื้อโคลิฟอร์มให้มีปริมาณน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานน้ำนมดิบซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของผ้าคลุมเย็นในการรักษาคุณภาพและความปลอดภัยของน้ำนมดิบระหว่างการขนส่งอันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมไทย
คณะวิทยาศาสตร์
เนื่องจากสายพันธุ์ Enterococcus lactis มีความใกล้ชิดกับ E. faecium และ ด้านคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์และมีผลทางโปรไบโอติก ในการศึกษานี้ สายพันธุ์ RRS4 ถูกแยกจากหัวไช้เท้าดอง (Raphanus sativus Linn.) และทำการระบุชนิดโดยอาศัยลักษณะทางฟีโนไทป์และจีโนไทป์ สายพันธุ์ RRS4 แสดงความสามารถในการอยู่รอดในสภาวะแวดล้อมที่มี NaCl 2-8% ค่า pH ระหว่าง 4 ถึง 9 และอุณหภูมิระหว่าง 4°C ถึง 45°C การวิเคราะห์จีโนมแบบครอบคลุมยืนยันว่า RRS4 เป็น E. lactis นอกจากนี้ E. lactis RRS4 ยังแสดงฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ E. faecalis JCM 5803 ที่ดื้อต่อวานโคมัยซิน การประเมินความปลอดภัยโดยใช้วิธี in silico รวมถึงการวิเคราะห์ด้วย KEGG annotation พบว่า E. lactis RRS4 ไม่มียีนที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงของเชื้อหรือยีนที่ไม่พึงประสงค์ การวิเคราะห์ด้วย VirulenceFinder พบว่ายีนที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงของเชื้อมีความสอดคล้องกับยีนใน E. lactis สามสายพันธุ์ และ E. faecium สี่สายพันธุ์ แม้ว่าจะพบว่ายีนต้านทานยาปฏิชีวนะยังคงมีอยู่ แต่ไม่มีความสัมพันธ์กับลักษณะการก่อโรคที่สำคัญ นอกจากนี้ การประเมินความปลอดภัยยังชี้ให้เห็นว่า E. lactis RRS4 มีความปลอดภัยโดยทั่วไป แม้ว่าจะมียีนที่เกี่ยวข้องกับการดื้อยาปฏิชีวนะก็ตาม สุดท้ายนี้ เราขอเสนอแนวทางในการประเมินความปลอดภัยของสายพันธุ์จุลินทรีย์โดยใช้การวิเคราะห์จีโนมทั้งหมด ซึ่งผลการศึกษานี้เป็นก้าวสำคัญในการวิจัยโปรไบโอติก