KMITL Innovation Expo 2025 Logo

การพัฒนาวิธีการวิเคราะห์ปริมาณกรดแทนนิกเชิงสีในตัวอย่างเครื่องดื่มด้วยอนุภาคแพลทินัมนาโนที่ปรับปรุงด้วยกรดแกลลิกโดยอาศัยปรากฎการณ์การแทนที่ของสารรักษาเสถียรภาพ

รายละเอียด

งานวิจัยนี้ได้นำเสนอการวิเคราะห์เชิงสี (Colorimetric detection) สำหรับตรวจวัดกรดแทนนิก (tannic acid) ในตัวอย่างเครื่องดื่มจากพืช โดยอาศัยปรากฏการณ์การแทนที่ (displacement phenomenon) ของสารรักษาเสถียรภาพบนพื้นผิวของอนุภาคแพลทินัมนาโน (PtNPs) ที่ถูกรักษาเสถียรภาพด้วยกรดแกลลิก (gallic acid) ซึ่งกรดแกลลิกสามารถรักษาเสถียรภาพของ PtNPs ให้อยู่ในรูปของอนุภาคที่รวมตัวกันและให้สารคอลลอยด์ที่เป็นสีเขียว โดยกรดแทนนิกสามารถแทนที่กรดแกลลิกบนพื้นผิวของ PtNPs ได้ง่าย ส่งผลให้อนุภาคที่รวมตัวกันเกิดการกระจายตัวและเปลี่ยนสีจากเขียวเป็นส้ม−น้ำตาล และภายใต้สภาวะที่เหมาะสม ตัวตรวจวัดเชิงสีแสดงค่าการตอบสนองเชิงเส้นในช่วงความเข้มข้น 1−2,000 µmol L⁻¹ (R² = 0.9991) โดยมีขีดจำกัดในการตรวจวัด (LOD) และขีดจำกัดเชิงปริมาณ (LOQ) ที่ 0.02 และ 0.09 µmol L⁻¹ ตามลำดับ ตัวตรวจวัดเชิงสีที่พัฒนาขึ้นมีความจำเพาะสูงต่อกรดแทนนิกและไม่ถูกรบกวนจากสารอื่น อีกทั้งยังมีค่าความแม่นยำที่ดี (RSD = 1.00%−3.36%) ที่สำคัญคือ ให้ค่าการคืนกลับ (recovery) อยู่ในช่วง 95.0−104.7% แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเซนเซอร์คัลเลอริเมตริกที่สามารถตรวจวัดกรดแทนนิกได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำในตัวอย่างเครื่องดื่มจริง แม้ว่าวิธีการตรวจวัดกรดแทนนิกที่ถูกพัฒนาขึ้นจะเป็นเทคนิคที่รวดเร็วในการตรวจวัดกรดแทนนิก แต่ยังคงมีปัญหาเกี่ยวกับความไว (sensitivity) และความแม่นยำ (accuracy) ของการวิเคราะห์ โดยเฉพาะเมื่อมีสารแอนโทไซยานิน (anthocyanin) รบกวน ดังนั้น จึงพัฒนาวิธีเตรียมตัวอย่างเพื่อย่อยสลายแอนโทไซยานินในเครื่องดื่มเพื่อลดการรบกวนของสารที่มีสีต่อการตรวจวัดเชิงสีสำหรับวิเคราะห์ปริมาณกรดแทนนิกในเครื่องดื่ม

วัตถุประสงค์

กรดแทนนิก (Tannic acid) เป็นสารโพลีฟีนอลประเภทไฮโดรไลซิส (hydrolysable polyphenol) ที่พบได้ตามธรรมชาติในพืชหลากหลายชนิด รวมถึงเครื่องดื่มที่มาจากพืช เช่น ชา กาแฟ น้ำผลไม้ เบียร์ และไวน์แดง ปริมาณของกรดแทนนิกในเครื่องดื่มจากพืชแตกต่างกันอย่างมากขึ้นอยู่กับชนิดและส่วนประกอบของเครื่องดื่มนั้นๆ เครื่องดื่มที่มีปริมาณกรดแทนนิกสูงมักมีรสขมและฝาดเด่นชัด นอกจากนี้ อัตราส่วนของกรดแทนนิกต่อองค์ประกอบด้านรสชาติที่ไม่สมดุล อาจทำให้รสชาติของเครื่องดื่มขาดความกลมกลืน หากกรดแทนนิกมีปริมาณสูงเกินไปจนไปกลบองค์ประกอบอื่นๆ เช่น ความเป็นกรด ความหวาน หรือแอลกอฮอล์ อาจทำให้เกิดความรู้สึกไม่สอดคล้องกันของรสชาติและลดทอนประสบการณ์ในการบริโภคลง อีกทั้งการบริโภคกรดแทนนิกในปริมาณมากอาจส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินอาหาร โดยทำให้เยื่อบุทางเดินอาหารเกิดการระคายเคือง ส่งผลให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย นอกจากนี้ การได้รับกรดแทนนิกในปริมาณสูงยังสามารถยับยั้งการดูดซึมสารอาหารที่จำเป็น เช่น ธาตุเหล็ก สังกะสี และแคลเซียม โดยรบกวนกลไกการดูดซึมผ่านทางลำไส้ผ่านการขัดขวางการก่อตัวของสารประกอบที่ร่างกายสามารถดูดซึมได้ โดยงานวิจัยนี้ได้พัฒนาวัสดุนาโนพลาสโมนิก (plasmonic nanomaterial) โดยการสังเคราะห์ผ่านกระบวนการรีดักชันทางเคมีอย่างง่าย ซึ่งใช้กรดแกลลิก (gallic acid) จับกับพื้นผิวของอนุภาคแพลทินัมนาโน (PtNPs) อนุภาคนาโนแพลทินัมที่ถูกดัดแปรด้วยกรดแกลลิกนี้สามารถตอบสนองต่อกรดแทนนิกในตัวอย่างเครื่องดื่มจากพืชได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ โดยอาศัยปรากฏการณ์การแทนที่ (displacement phenomenon) ของอนุภาค PtNPs ที่จับตัวกันอยู่กับกรดแกลลิก ซึ่งเมื่อมีกรดแทนนิกเข้ามาแทนที่ อนุภาคแพลทินัมนาโนจะเกิดการกระจายตัว ส่งผลให้สีของสารละลายเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีส้ม-น้ำตาล ทำให้สามารถตรวจวัดกรดแทนนิกในตัวอย่างเครื่องดื่มได้ด้วยตาเปล่า อีกทั้งเพื่อเพิ่มความแม่นยำของการวิเคราะห์ วิธีการเตรียมตัวอย่างถูกนำมาพัฒนาขึ้นเพื่อกำจัดการรบกวนการวิเคาะห์จากแอนโทไซยานิน (anthocyanin) ในตัวอย่างเครื่องดื่ม ซึ่งแอนโทไซยานินอาจส่งผลต่อการตอบสนองของระบบคัลเลอริเมตริก ขั้นตอนการเตรียมตัวอย่างนี้ใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (H₂O₂) ร่วมกับการให้ความร้อนเพื่อฟอกสีแอนโทไซยานินในตัวอย่างเครื่องดื่ม โดยได้ทำการศึกษาจลนศาสตร์และค่าครึ่งชีวิตของกระบวนการย่อยสลายแอนโทไซยานินอย่างละเอียด พบว่าขั้นตอนเตรียมตัวอย่างนี้สามารถลดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ของแอนโทไซยานินต่อการเปลี่ยนแปลงสีของระบบคัลเลอริเมตริกได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ งานวิจัยนี้ยังใช้วิธีวิเคราะห์ทางสถิติโดยอาศัยแบบจำลองทางสถิติคือ Response Surface Methodology (RSM) เพื่อออกแบบการทดลองและเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการเตรียมตัวอย่าง ทำให้สามารถวิเคราะห์ปริมาณกรดแทนนิกในเครื่องดื่มจากพืชได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพสูงสุด

นวัตกรรมอื่น ๆ

ทองโบราณ ขนมพราวแดนดิน

วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์

ทองโบราณ ขนมพราวแดนดิน

ขนมทองโบราณ หรือที่พื้นที่เรียกกันว่าขนมขี้มัน ซึ่งเป็นขนมที่มีส่วนผสมของแป้งที่ทำมาจากข้าวเหลืองปะทิว

การถอดรหัสผลกระทบการแปรผันทางพันธุกรรมของยีน RGL3 ต่อโครงสร้างโปรตีนและจุดจับลิแกนด์: การใช้ชีวสารสนเทศเพื่อค้นหาความเชื่อมโยงที่อาจเกี่ยวข้องกับภาวะความดันโลหิตสูง

คณะแพทยศาสตร์

การถอดรหัสผลกระทบการแปรผันทางพันธุกรรมของยีน RGL3 ต่อโครงสร้างโปรตีนและจุดจับลิแกนด์: การใช้ชีวสารสนเทศเพื่อค้นหาความเชื่อมโยงที่อาจเกี่ยวข้องกับภาวะความดันโลหิตสูง

ความเป็นมา: ยีน RGL3 มีบทบาทในการส่งสัญญาณระดับเซลล์ที่สำคัญ และมีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูงเนื่องจากการกลายพันธุ์ของยีนในเอ็กซอน 6 การศึกษาความสัมพันธ์เชื่อมโยงในจีโนม (GWAS) แสดงให้เห็นว่า RGL3 เกี่ยวข้องกับภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งทำให้เห็นถึงข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพื้นฐานทางพันธุกรรมของภาวะนี้ และอาจช่วยให้ค้นพบผลที่สามารถปกป้องหัวใจและหลอดเลือดจากยีนนี้ แม้ว่าจะมีการค้นพบดังกล่าว แต่ปัจจุบันก็ยังขาดข้อมูลที่ยืนยันบทบาทที่ชัดเจนของ RGL3 ในภาวะความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ ผลกระทบทางด้านโครงสร้าง และหน้าที่ของการแปรผันทางพันธุกรรมที่ไม่ทราบนัยยะสำคัญ (VUS) ยังคงไม่มีข้อมูลอธิบายชัดเจน วัตถุประสงค์: การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ในการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างโปรตีน RGL3 ที่เกิดจากการกลายพันธุ์และตรวจสอบตำแหน่งของจุดที่จับลิแกนด์ วิธีการ: รูปแบบการแปรผันทางพันธุกรรมของยีน RGL3 จะถูกสืบค้นจากฐานข้อมูล NCBI ClinVar การแปรผันทางพันธุกรรมที่ไม่ทราบนัยยะสำคัญ และการแปรผันทางพันธุกรรมที่มีแนวโน้มเป็นปกติจะถูกนำมาวิเคราะห์ รูปแบบการแปรผันทางพันธุกรรมจะถูกจัดเรียงตามลําดับเบสหลายลําดับโดยใช้ BioEdit v7.7.1 โปรแกรม AlphaFold 2 จะถูกใช้ในการทำนายโครงสร้าง 3D ของทั้งสองกลุ่ม จากนั้นจะทำการประเมินคุณภาพโดยใช้ PROCHECK โดเมน RasGEF, RasGEF_NTER และ RA ของโปรตีนจะถูกนำมาวิเคราาะห์ และ BIOVIA Discovery Studio Visualizer 2024 จะถูกใช้ในการประเมินการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างและลักษณะทางฟิสิกส์เคมี ผลการศึกษา: การวิเคราะห์รูปแบบการแปรผันทางพันธุกรรมของ RGL3 จำนวน 81 ตัว พบว่ามี 5 ตัวที่มีแนวโน้มเป็นปกติ และ 76 ตัวที่เป็นการแปรผันทางพันธุกรรมที่ไม่ทราบนัยยะสำคัญ (VUS) ซึ่งทั้งหมดเป็นการกลายพันธุ์แบบ missense การสร้างแบบจำลองโครงสร้างโดยใช้ AlphaFold 2 แสดงให้เห็นโดเมนที่สำคัญสามโดเมน ได้แก่ RasGEF_NTER, RasGEF และ RA ซึ่งการกลายพันธุ์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้าง จากการตรวจสอบโดยใช้ Ramachandran plot พบว่ามีกรดอะมิโน 79.7% อยู่ในพื้นที่ที่ถูกต้อง ทำให้โครงสร้างโดยรวมเชื่อถือได้ นอกจากนี้ การกลายพันธุ์ในโดเมน RasGEF และ RA ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของค่าความเป็นขั้ว ประจุ และความเสถียร ซึ่งอาจส่งผลส่อประสิทธิภาพในการทำงานของโปรตีน ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงผลกระทบทางโครงสร้างของการกลายพันธุ์ของยีน RGL3 และช่วยในการศึกษาเกี่ยวกับหน้าที่เชิงโมเลกุลต่อไป อภิปรายและสรุป: การกลายพันธุ์ที่พบใน RGL3 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางฟิสิกส์เคมีในโดเมนสำคัญ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงประจุ ความเป็นขั้ว และความยืดหยุ่น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้น่าจะส่งผลต่อการปฏิสัมพันธ์กับ Ras-like GTPases การแลกเปลี่ยน GDP-GTP และการส่งสัญญาณในเซลล์ การวิเคราะห์ทางโครงสร้างแสดงให้เห็นว่าการกลายพันธุ์ในโดเมน RasGEF และ RA อาจรบกวนสภาพการถูกกระตุ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อหน้าที่และความเสถียรของโปรตีน การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าการกลายพันธุ์ในยีน RGL3 อาจมีผลกระทบในเชิงหน้าที่ของโปรตีน โปรตีนดังกล่าวจึงควรถูกศึกษาเพิ่มเติมถึงคุณสมบัติเชิงโมเลกุลที่อาจมีผลต่อการเกิดโรค

การเปรียบเทียบรูปแบบโรงเรือนที่เหมาะสมสำหรับการผลิตพิทูเนียกระถาง

คณะเทคโนโลยีการเกษตร

การเปรียบเทียบรูปแบบโรงเรือนที่เหมาะสมสำหรับการผลิตพิทูเนียกระถาง

การวิจัยนี้มีวัตถุเพื่อศึกษาเปรียบเทียบระหว่างโรงเรือนพรางแสงและโรงเรือนอีแวปสำหรับการ ผลิตพิทูเนียกระถางที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต การออกดอกและประสิทธิภาพการสังเคราะห์ ด้วยแสงของพิทูเนีย โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มประชากรดังนี้ 1) โรงเรือนอีแวป (evaporative cooling house) 2) โรงเรือนพรางแสง (shade net house) โดยแต่ละกลุ่มใช้พิทูเนียจำนวน 50 กระถางในการบันทึกผล ผลการทดลองพบว่า การปลูกพิทูเนียในโรงเรือนอีแวปส่งผลให้ลำต้นมี ความสูงมากที่สุด ดอกมีขนาดใหญ่และบานได้นานกว่า แต่การปลูกในโรงเรือนพรางแสงส่งผลให้ พิทูเนียแทงตาดอก ออกดอกได้เร็วกว่า รวมถึงดอกมีสีเข้มกว่า และมีจำนวนดอกใหม่ต่อต้น มากกว่าเท่าตัวหลังการย้ายปลูก 21 วัน ในส่วนของประสิทธิภาพการสังเคราะห์แสงในรอบวันหลัง การย้ายปลูก 30 วัน พบว่าในช่วงเวลา 12.00 น. ทำให้อัตราการสังเคราะห์ด้วยแสงสุทธิทั้ง 2 โรงเรือนสูงสุด และทำให้ค่าการนำไฟฟ้าของปากใบและอัตราการคายน้ำเพิ่มขึ้นสูงสุดในโรงเรือน อีแวป หลังการย้ายปลูก 60 วัน พบว่าอัตราการสังเคราะห์ด้วยแสงสุทธิ ค่าการนำไฟฟ้าของปาก ใบและค่าการคายน้ำมีค่าสูงสุดในโรงเรือนพรางแสงในช่วงเวลา 10.00 น. ส่วนการสังเคราะห์ด้วย แสงในความเข้มแสงที่แตกต่างกัน หลังการย้ายปลูก 30 วัน พบว่าอัตราการสังเคราะห์ด้วยแสง สุทธิ ค่าการนำไฟฟ้าปากใบและอัตราการคายน้ำสูงสุดเมื่อให้ความเข้มแสงที่ 2000 µmol m-2 s-1 โดยมีค่าสูงสุดในโรงเรือนพรางแสง หลังการย้ายปลูก 60 วัน อัตราการสังเคราะห์ด้วยแสงสุทธิ สูงสุดเมื่อให้ความเข้มแสงที่ 1400 µmol m-2 s-1 โดยมีค่าสูงสุดในโรงเรือนพรางแสง จากการศึกษา จึงสรุปผลได้ว่า การปลูกพิทูเนียในโรงเรือนพรางแสง เหมาะสมสำหรับการผลิตพิทูเนียกระถาง และมีประสิทธิภาพการสังเคราะห์ด้วยแสงของพิทูเนียมากกว่าการปลูกพิทูเนียในโรงเรือนอีแวป