KMITL Innovation Expo 2025 Logo

การศึกษาวัสดุดูดซับเสียงจากผงยางรถที่ใช้แล้ว

รายละเอียด

ในปัจจุบันประเทศไทยมีแนวโน้มของปริมาณยางรถที่ใช้แล้วเพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งยางรถเป็นขยะที่ย่อยสลายได้ยาก แต่ยางรถยนต์เป็นวัสดุที่มีรูพรุนอยู่ภายในซึ่งมีความเป็นไปได้ในการนำมาทำเป็นวัสดุดูดซับเสียง เนื่องจากรูพรุนมีคุณสมบัติที่ทำให้วัสดุสามารถกักเสียงไว้ภายในได้ โครงงานนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและพัฒนาวัสดุดูดซับเสียงจากผงยางล้อรถที่ใช้แล้ว โดยนำผงยางรถยนต์ที่ใช้แล้วผสมกับน้ำยางพาราสดในอัตราส่วน 1:2 และทำการอบที่อุณหภูมิ 120 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 4 ชั่วโมง หลังจากนั้นทำการทดสอบคุณสมบัติทางกายภาพที่มีผลต่อการดูดซับเสียง ได้แก่ ความหนาแน่น ค่าความพรุนและค่าความสามารถในการดูดซึมน้ำ พบว่า วัสดุดูดซับเสียงจากผงยางรถยนต์ที่ใช้แล้วมีค่าความหนาแน่นเท่ากับ 0.96 กรัมต่อลบ.ซม. ค่าความพรุนเท่ากับ 0.45 และค่าความสามารถในการดูดซึมน้ำเท่ากับร้อยละ 11.03 ซึ่งมีความเป็นไปได้ในการนำผงยางรถยนต์ที่ใช้แล้วมาทำเป็นวัสดุดูดซับเสียงได้

วัตถุประสงค์

ปัญหาปริมาณขยะจากยางล้อรถที่ใช้งานแล้วที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้หลายประเทศต้องเผชิญกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการขยะ ประเทศไทยมียางล้อรถที่ใช้งานแล้วประมาณ 60,000 – 70,000 ตันต่อปี ซึ่งยางล้อรถมีขนาดใหญ่และมีความต้องการพื้นที่จัดเก็บบริเวณกว้างเพื่อรอกำจัด ยางล้อรถเป็นขยะที่ย่อยสลายได้ยากตามธรรมชาติ เนื่องจากในการผลิตยางล้อรถมีขั้นตอนการพันเส้นใยไนลอนโพลิเอเทอร์หรือใยเหล็กเข้ากับเนื้อยางเพื่อเสริมด้านการรับแรงที่ดีขึ้น เรียกว่า ชั้นโครงผ้าใบ และเมื่อพื้นที่จัดเก็บไม่เพียงพอต่อปริมาณขยะจากยางล้อรถที่ใช้แล้ว ยางล้อรถที่ใช้แล้วอาจกลายเป็นขยะที่ปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม หากทิ้งยางล้อรถไว้เป็นเวลานานและมีน้ำขังอาจกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลายอันเป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออกได้ นอกจากนี้การกำจัดยางล้อรถที่ใช้แล้วอย่างไม่ถูกวิธีจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยการเผายางรถยนต์จะทำให้เกิดมลพิษทางอากาศที่อาจส่งผลให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพมนุษย์ได้ ในปัจจุบันการจัดการยางรถยนต์ที่ใช้แล้วในประเทศไทยทำได้โดยการนำไปรีไซเคิลเป็นแผ่นยาง เม็ดยางหรือยางเหลว รวมถึงบดและปั่นจนเป็นผง ตัวอย่างการนำยางที่ผ่านการรีไซเคิลแล้วมาใช้ในการผลิตเป็นสินค้าใหม่ เช่น ใช้ในการผลิตพื้นผิวสนามกีฬา สนามเด็กเล่น และสนามหญ้าเทียม เนื่องจากยางมีความยืดหยุ่นสามารถดูดซับแรงกระแทกและการรองรับแรงกระแทกได้ ในด้านการเกษตรและภูมิทัศน์ใช้ยางล้อรถเป็นวัสดุคลุมดิน ช่วยกำจัดวัชพืช รักษาความชื้นของดิน นอกจากนี้โครงสร้างของยางล้อรถยังมีการออกแบบให้มีร่องและช่องว่าง ช่วยลดการสะท้อนและการกระแทกของเสียง เสียงที่เกิดจากการสัมผัสระหว่างยางกับพื้นถนนจะถูกดูดซับโดยเนื้อยาง ซึ่งช่วยให้เสียงที่เกิดจาการขับขี่เบาลงและลดความรำคาญที่เกิดจากเสียงรบกวนขณะขับรถได้ ซึ่งคุณสมบัตินี้มีความคล้ายคลึงกับคุณสมบัติของวัสดุดูดซับเสียงที่ในเนื้อวัสดุจะมีช่องว่างหรือรูพรุนภายในเนื้อวัสดุจำนวนมาก เมื่อเสียงมากระทบกับเนื้อวัสดุจะถูกดูดซับไว้ส่วนหนึ่งและสะท้อนส่วนที่เหลือกลับไป โดยตัวอย่างวัสดุดูดซับเสียงที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันจะผลิตจากวัสดุจำพวกโฟมโพลีเอทิลีน ผ้าหรือเส้นใย ยิปซัมบอร์ด เป็นต้น และในปัจจุบันมีการนำยางมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตวัสดุฉนวนกันเสียงทั้งในอาคารหรือรถมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงทำการศึกษาและพัฒนาวัสดุดูดซับเสียงจากผงยางรถที่ใช้แล้ว โดยศึกษาคุณสมบัติของผงยางรถที่ใช้แล้วและศึกษาวิธีการผลิตวัสดุดูดซับเสียงจากผงยางรถที่ใช้แล้ว เพื่อให้ได้วัสดุดูดซับเสียงที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในอาคารสถานที่ได้ สามารถเป็นแนวทางในการนำยางรถที่ใช้แล้วมาต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าและใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นแนวทางการจัดการและลดปริมาณยางรถที่ใช้แล้วที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นวัตกรรมอื่น ๆ

นวัตกรรมเครื่องยนต์สเตอร์ลิงพลังงานสะอาด

คณะวิศวกรรมศาสตร์

นวัตกรรมเครื่องยนต์สเตอร์ลิงพลังงานสะอาด

เนื่องจากความต้องการพลังงานที่มีมากขึ้น แต่เชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักมีอยู่อย่างจำกัดและเป็นสาเหตุหนึ่งของมลพิษและภาวะโลกร้อน ดังนั้นพลังงานทางเลือกจึงเป็นกุญแจสำคัญเพื่อความยั่งยืนด้านพลังงาน ประเทศไทยมีศักยภาพของพลังงานชีวมวลจากเกษตรกรรม ดังนั้นการพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าที่มลพิษต่ำและสามารถใช้ได้กับแหล่งพลังงานทดแทนจึงจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเครื่องยนต์สเตอร์ลิงซึ่งมีโครงสร้างชิ้นส่วนไม่ซับซ้อน ปราศจากการสันดาปภายในเครื่องยนต์จึงเป็นเครื่องยนต์ที่มีศักยภาพผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อ งานวิจัยนี้จึงมุ่งเน้นพัฒนาออกแบบและสร้างต้นแบบเครื่องยนต์สเตอร์ลิงร่วมกับแหล่งพลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาดเพื่อผลิตไฟฟ้าและสาธิตการทำงานจริง เกิดองค์ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีเครื่องยนต์ผลิตไฟฟ้าปราศจากมลพิษในประเทศ ตลอดจนสามารถขยายผลนำไปใช้ประโยชน์กับคนไทย

โครงการออกแบบและจัดวางแนวปะการังเทียมจากเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์สามมิติบริเวณชายฝั่งทะเลจังหวัดชุมพร

คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ

โครงการออกแบบและจัดวางแนวปะการังเทียมจากเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์สามมิติบริเวณชายฝั่งทะเลจังหวัดชุมพร

การศึกษานี้มุ่งเน้นการออกแบบ การผลิต และการติดตั้งแนวปะการังเทียมแบบแยกส่วนที่พิมพ์ด้วยเทคโนโลยี 3 มิติ (3DMARs) บริเวณเกาะไข่ จังหวัดชุมพร ประเทศไทย โดยใช้กรอบแนวคิดการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ร่วมมือกับบริษัท เอสซีจี จำกัด (มหาชน) และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง งานวิจัยนี้กำหนดเกณฑ์การออกแบบและวิธีการติดตั้งโดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหาและการวิจัยเชิงคุณภาพ หลักการสำคัญที่ระบุได้ ได้แก่ ความเป็นโมดูลาร์ (Modularity), ความยืดหยุ่น (Flexibility), ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability) และการใช้งานได้จริง (Usability) โดยใช้แนวทางที่มุ่งเน้นผู้ใช้งานเพื่อให้แนวปะการังเทียมสามารถขนส่งและติดตั้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นและการปฏิบัติที่ยั่งยืน การออกแบบแบบโมดูลาร์ช่วยให้สามารถขยายขนาดได้ง่าย ส่งเสริมการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลและการตั้งถิ่นฐานของตัวอ่อนปะการัง นอกจากนี้ เทคนิคการติดตามผลใต้น้ำยังช่วยให้สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลเฉพาะพื้นที่ ซึ่งนำไปสู่การสร้างแบบจำลองดิจิทัลทวิน (Digital Twin) งานวิจัยนี้นำเสนอกรอบแนวทางปฏิบัติสำหรับการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล และช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้กับชุมชนชายฝั่งในประเทศไทยและในระดับสากล

สัมผัสใหม่แห่งการดูแลมือ ครีมบำรุงจากต้นแก้ว

คณะวิทยาศาสตร์

สัมผัสใหม่แห่งการดูแลมือ ครีมบำรุงจากต้นแก้ว

การพัฒนาครีมบำรุงมือจากสารสกัดต้นแก้ว ด้วยกระบวนการสกัดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยงานวิจัยนี้มุ่งเน้นการสกัดสารสำคัญจากต้นแก้วโดยใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สารสกัดที่ได้มีคุณสมบัติเด่นในการต้านแบคทีเรียและต้านอนุมูลอิสาระ และถูกนำไปพัฒนาเป็นส่วนผสมของครีมบำรุงมือ