หุ่นจำลองเด็กสำหรับใช้ฝึกการกู้ชีพ (CPR) ภายในตัวหุ่นมีกลไกหลอดลม กลไกคอ กลไกปอด กลไกการปั้มหัวใจ ผิวหนังเทียม และระบบเซนเซอร์ ทั้งหมดทำงานร่วมกันทำหน้าที่คล้ายเด็กจริง สามารถใช้ฝึกการปั้มหัวใจ และการผายปอดได้ โดยหุ่นได้รับการออกแบบและตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญการกู้ชีพ มีระบบประเมินความถูกต้องของการฝึกพร้อมแสดงผลในคอมพิวเตอร์สำหรับการตรวจสอบแบบทันที
ปัจจุบันในท้องตลาดมีหุ่นสำหรับฝึกการกู้ชีพมากมาย แต่หุ่นจำลองเด็กสำหรับฝึกการกู้ชีพยังไม่พบมากนัก นอกจากนี้หุ่นที่มีขายในท้องตลาดยังขาดระบบการประเมินผลการฝึกที่แม่นยำ ไม่มีการรับรองความถูกต้องของผลที่ได้จากการใช้งาน ดังนั้นในงานวิจัยนี้จึงประดิษฐ์หุ่นจำลองเด็กอัจฉริยะสำหรับฝึกการกู้ชีพ โดยหุ่นมีกลไกหลอดลม กลไกคอ กลไกปอด กลไกการปั้มหัวใจ ผิวหนังเทียม และระบบเซนเซอร์ ทั้งหมดทำงานร่วมกันคล้ายเด็กจริง โดยมีระบบผู้เชี่ยวชาญ (Expert System) ทำหน้าที่ประเมินผลการฝึกฝนและแสดงแบบทันทีบนหน้าจอ หุ่นนี้ได้รับการตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องจากการใช้งานโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการกู้ชีพตัวจริง
คณะวิทยาศาสตร์
แบคเทอริโอซินเป็นเปปไทด์ต้านจุลชีพชนิดหนึ่งที่จุลินทรีย์เป็นคนผลิตออกมาซึ่งมีความสามารถในการยับยั้งจุลชีพก่อโรคได้ จากงานวิจัยนี้นั้นได้มีการศึกษาความสามารถในการยับยั้งจุลชีพก่อโรคและระบุชนิดของแบคเทอริโอซินของแบคเรียกรดแลคติกสายพันธุ์ TKP1-5 ที่คัดแยกมาจากอุจจาระเป็ด ซึ่งมีการระบุลักษณะสปีชีส์ของสายพันธุ์ TKP1-5 โดยใช้การวิเคราะห์จากลำดับ 16s rRNA และลำดับจีโนมทั้งหมด พบว่าจากค่า ANIb, ANIm, และค่า dDDH พบว่าสายพันธุ์นี้คือ Lactococcus lactis อีกทั้งยังมีการทดสอบลักษณะเฉพาะของสายพันธุ์นี้พบว่ามีความสามารถในการเจริญเติบโตใดในสภาวะแวดล้อมดังต่อไปนี้ สามารถโตได้ที่เปอร์เซ็นต์เกลือที่ 2-6% อุณหภูมิ 25-45 องศาเซลเซียส และพีเอช 3-9 ตามลำดับ โดยการศึกษาและระบุชนิดของแบคเทอริโอซินผ่านการวิเคราะห์ลำดับจีโนมนั้นพบว่าเป็นชนิด ไนซิน-ซี (Nisin-Z) ที่ค่าคะแนนเท่ากับ 114.775 รวมไปถึงการวิเคราะห์ความสามารถในการยับยั้งจุลชีพก่อโรคพบว่ามีความสามารถในการยับยั้งจุลชีพก่อโรคดังนี้ Pediococcus pentosaceus JCM5885, Listeria monocytogenes ATCC 19115, Enterococcus faecalis JCM 5803T, Salmonella Typhimurium ATCC 13311ᵀ, Aeromonas hydrophila B1 AhB1, Streptococcus agalactiae 1611 และ Streptococcus cowan I ตามลำดับ การวิเคราะห์ลำดับจีโนมทั้งหมดยังยืนยันได้อีกว่า L.lactis TKP 1-5 นี้ไม่พบยีนที่สามารถจะเป็นจุลชีพก่อโรค ยีนดื้อยา และพลาสมิด อีกด้วย อีกทั้งยังพบยีนที่มีความเกี่ยวข้องในการเป็นโพรไบโอติกหรือยีนที่ก่อให้เกิดประโยชน์อีกด้วย ทั้งนี้หวังว่าสายพันธุ์ TKP1-5จะเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่อุตสาหกรรมอาหารนั้นนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารในการต้านจุลชีพก่อโรคในอนาคต
คณะวิทยาศาสตร์
อัลบูมินสมาร์ทเทสท์ เป็นนวัตกรรมอุปกรณ์ตรวจคัดกรองโรคไตโดยการตรวจวัดโปรตีนอัลบูมินในปัสสาวะด้วยมือถือ ประกอบไปด้วย (1) ชุดภาชนะและน้ำยาทดสอบ ที่มีความจำเพาะเจาะจงกับอัลบูมิน และ (2) โทรศัพท์มือถือที่ลงแอพพลิเคชันชื่อ “อัลบูมินสมาร์ทเทสท์” โดยขั้นตอนการตรวจวัดจะนำน้ำยาทดสอบหยดลงบนตัวอย่างปัสสาวะ อัลบูมินจะทำปฏิกิริยาเคมีกับน้ำยาทดสอบ แล้วใช้มือถือถ่ายรูปสีของผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้น จากนั้นแอพพลิเคชันจะประมวลผลภาพเพื่อเปลี่ยนความเข้มสีของผลิตภัณฑ์ให้เป็นความเข้มข้นของอัลบูมิน รายงานผลผ่านหน้าจอมือถือ การตรวจวัดเสร็จสิ้นภายใน 3 นาทีสามารถทดลองได้สะดวก รวดเร็ว ผู้ทดสอบทำได้ด้วยตนเอง
คณะวิศวกรรมศาสตร์
ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ทดแทนเทคโนโลยียานยนต์พลังงานน้ำมันเชื้อเพลิง (Internal Combustion Engine: ICE) เพื่อลดปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยเริ่มมีการผลักดันนโยบายการส่งเสริมยานยนต์พลังงานไฟฟ้าผ่านหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้องตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เช่น การนำรถโดยสารไฟฟ้ามาทดสอบให้บริการประชาชนผ่านหน่วยงาน ขสมก. แต่อุปสรรคสำคัญของโครงการคือต้นทุนเริ่มต้นของราคายานยนต์ไฟฟ้ามีราคาสูง แม้ว่ายานยนต์ไฟฟ้าจะมีค่าดำเนินการต่อระยะทางต่ำกว่าการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมากก็ตาม จึงทำให้ผู้ประกอบการยังไม่ให้ความสนใจในการเปลี่ยนการใช้งานจากรถเครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นยานยนต์ไฟฟ้า ดังนั้นการดัดแปลงรถเดิมเป็นรถไฟฟ้าจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดต้นทุนส่วนนี้ลงได้ โครงการนี้จะใช้เทคโนโลยีนี้กับการดัดแปลงรถกระบะเก่าให้เป็นรถ 2 แถวไฟฟ้า เพราะการใช้งานรถ 2 แถวมีระยะทางเฉลี่ยต่อวันค่อนข้างคงที่ ทำให้การออกแบบที่เหมาะสมมีเงื่อนไขที่ไม่เป็นอุปสรรคมากนัก และผู้ประกอบการขับรถ 2 แถว มีข้อจำกัดด้านงบประมาณในการเปลี่ยนไปใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ดังนั้นโครงการนี้จะส่งผลให้เป็นการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปใช้งานยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น นอกจากนี้เมื่อรถเครื่องยนต์สันดาปลดลงจะช่วยทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นด้วย