แอปพลิเคชันจัดการมื้ออาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เป็นเครื่องมือด้านสุขภาพดิจิทัลที่ออกแบบมาเพื่อเสริมศักยภาพผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ในการจัดการด้านอาหารและระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยฟีเจอร์ต่าง ๆ เช่น คำแนะนำมื้ออาหารที่ปรับให้เหมาะกับแต่ละบุคคล การติดตามสารอาหาร และการเชื่อมต่อแอปพลิเคชันกับอุปกรณ์วัดระดับน้ำตาลในเลือด (CGM) แอปพลิเคชันนี้ช่วยให้ผู้ใช้สามารถติดตามระดับน้ำตาลได้แบบเรียลไทม์ และปรับเปลี่ยนการเลือกรับประทานอาหารได้อย่างเหมาะสม พัฒนาด้วยเฟรมเวิร์ก Flutter และรองรับด้วย Back-end Express.js และ MongoDB แอปพลิเคชันนี้ให้ความสำคัญกับการออกแบบส่วนติดต่อผู้ใช้ที่ใช้งานง่าย เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถส่งเสริมการวางแผนมื้ออาหารและการติดตามสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ การทดลองใช้งานเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่าแอปพลิเคชันนี้มีส่วนช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดมีความคงที่มากขึ้นและเพิ่มการปฏิบัติตามคำแนะนำด้านอาหารได้ดีขึ้น ช่วยให้ผู้ใช้ลดความเสี่ยงด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน ด้วยการนำเสนอแนวทางในการหลักเลี่ยงตัวแปรของการเกิดโรคเบาหวาน แอปพลิเคชันนี้ช่วยลดความจำเป็นในการเข้ารับการรักษาทางคลินิกบ่อยครั้ง จึงมีศักยภาพในการลดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ในระยะยาว โดยแสดงให้เห็นถึงบทบาทที่น่าสนใจของโซลูชันด้านสุขภาพดิจิทัลในการสนับสนุนการดูแลโรคเบาหวานแบบเฉพาะบุคคล และเน้นย้ำถึงศักยภาพของการขยายขนาดและเน้นผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง ซึ่งส่งเสริมการพัฒนาสุขภาพในระยะยาวสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
ในปัจจุบันโรคเบาหวานเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยที่พบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลในปี 2566 จำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในประเทศไทยมีมากกว่า 5.2 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 1 ใน 11 ของประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป โรคเบาหวานชนิดที่ 2 คิดเป็น 90-95% ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมดในประเทศไทย ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินชีวิตที่ไม่เหมาะสม พบว่ามีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการรักษาพยาบาลโดยประมาณคือ 28,200 บาทต่อคนต่อปี และหากมีภาวะแทรกซ้อน หรือเป็นโรคเรื้อรังอื่น ๆ เช่น โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือด อาจมีค่ารักษาสูงถึงหลักแสนบาทต่อคนต่อปี โดยผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่มักไม่ได้รับการดูแลในเรื่องโภชนาการให้ดีเท่าที่ควร ส่งผลให้การรักษาระดับน้ำตาลในเลือดไม่อยู่เกณฑ์ที่เหมาะสม จนนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ดังนั้น การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน จึงมีความสำคัญในการช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย และโอกาสการเสียชีวิตได้ การควบคุมอาหารถือเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดที่มีประสิทธิภาพ แต่ผู้ป่วยจำนวนมากยังขาดความรู้และทักษะในการเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม จึงจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำด้านโภชนาการที่ถูกต้อง โครงงานแอปพลิเคชันจัดการอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถช่วยผู้ป่วยในการวางแผนเมนูอาหารและติดตามระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งยังช่วยลดความซับซ้อนในการคำนวณสารอาหารที่ได้รับในแต่ละวัน นอกจากนี้ การเชื่อมต่อแอปพลิเคชันกับอุปกรณ์ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถรับข้อมูลได้ทันท่วงที เพื่อใช้ในการบริหารจัดการสุขภาพของตนเอง
คณะวิทยาศาสตร์
การผลิตน้ำตาลจากอ้อยเป็นกระบวนการที่มีความซับซ้อนและต้องการการควบคุมที่แม่นยำ หนึ่งในปัญหาสำคัญคือการสูญเสียน้ำตาล ซึ่งอาจเกิดจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะ “การเผาอ้อย” ก่อนนำเข้าหีบ ที่ลดคุณภาพอ้อยและประสิทธิภาพการสกัดน้ำตาล รวมถึง ประสิทธิภาพเครื่องจักรและคุณสมบัติของอ้อย ที่ส่งผลต่อปริมาณน้ำตาลที่ได้ งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการสูญเสียน้ำตาลในกระบวนการผลิตน้ำตาลจากอ้อย โดยใช้ข้อมูลเชิงปริมาณจากโรงงานน้ำตาล ครอบคลุม 9 ตัวแปร ได้แก่ ประสิทธิภาพเครื่องจักร (Mechanical efficiency), จำนวนชั่วโมงหยุดเครื่องจักรในหนึ่งวัน (Stoppage), จำนวนชั่วโมงหยุดรออ้อยในหนึ่งวัน (Due to Cane), ปริมาณทรายในน้ำอ้อย (Sand), ประสิทธิภาพการหีบสกัดอ้อย (Pol Extraction), ประสิทธิภาพเวลาการทำงานโดยรวม (Overall Time), ค่าความบริสุทธิ์ของน้ำอ้อย (Purity), ค่าปริมาณน้ำตาลในอ้อย (C.C.S.), และปริมาณอ้อยไฟไหม้ (Burn Cane) โดยจะทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าสหสัมพันธ์ (Correlation) เพื่อตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร และแบบจำลองการถดถอย (Regression Model) เพื่อพยากรณ์การสูญเสียน้ำตาล ผลการวิจัยพบว่า ประสิทธิภาพเครื่องจักร, ค่าปริมาณน้ำตาลในอ้อย และปริมาณทรายหรือสิ่งปนเปื้อนในน้ำอ้อย มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับการสูญเสียน้ำตาล โดยประสิทธิภาพเครื่องจักร มีความสัมพันธ์โดยตรงกับปริมาณอ้อยเข้าหีบ ซึ่งช่วยเพิ่มผลผลิตน้ำตาล ขณะที่ อ้อยไฟไหม้หรืออ้อยที่ถูกเผาก่อนการเก็บเกี่ยว ส่งผลให้การสกัดน้ำตาลลดลงและกระทบต่อคุณภาพน้ำตาล ดังนั้น การลดการสูญเสียน้ำตาลในกระบวนการผลิตสามารถทำได้โดย การเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักร, ลดสิ่งปนเปื้อนในน้ำอ้อย และจัดการอ้อยไฟไหม้ ซึ่งจะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลให้สูงขึ้นได้ในอนาคต
คณะอุตสาหกรรมอาหาร
ผลิตภัณฑ์ "ไพรวารี" คือเครื่องดื่มเจลลี่สมุนไพรที่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยควบคุมน้ำหนักและส่งเสริมสุขภาพด้วยคุณค่าจากสมุนไพรไทย 4 ชนิด ได้แก่ กระเจี๊ยบแดง ดอกคำฝอย เก๊กฮวย และมะระขี้นก ซึ่งอุดมด้วยสารสำคัญ เช่น Flavonoid, Beta-Carotene และ Anthocyanin ที่ช่วยลดไขมันในเลือด ป้องกันการอักเสบ และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ผลิตภัณฑ์นี้เน้นความสะดวกและตอบโจทย์คนรักสุขภาพ ผ่านกระบวนการผลิตที่ทันสมัย เช่น Inverse และ External Gelation เพื่อสร้างเม็ดสเฟียร์ที่กักเก็บสารสำคัญ นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ยังคำนึงถึงความยั่งยืนและการเพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทยในชุมชน
คณะเทคโนโลยีการเกษตร
ปัจจุบันการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชในภาคเกษตรกรรมเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกร สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยเฉพาะสารพาราควอตซึ่งเป็นสารกำจัดวัชพืชที่ถูกห้ามใช้ในประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ งานวิจัยนี้จึงมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาผลิตภัณฑ์สารธรรมชาติกำจัดวัชพืช ที่สามารถใช้ทดแทนสารเคมีเหล่านี้ได้ โดยทำการสกัดสารออกฤทธิ์จากพืชที่มีศักยภาพในการยับยั้งการเจริญเติบโตของวัชพืช และทดสอบประสิทธิภาพในการกำจัดวัชพืชเป้าหมาย ผลการศึกษาพบว่า สารธรรมชาติที่พัฒนาขึ้นสามารถควบคุมวัชพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในระบบเกษตรอินทรีย์ได้ ช่วยลดการพึ่งพาสารเคมีที่เป็นอันตราย และส่งเสริมแนวทางการทำเกษตรกรรมที่ยั่งยืน การพัฒนาผลิตภัณฑ์นี้จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำคัญในการสนับสนุนการเกษตรที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม