KMITL Innovation Expo 2025 Logo

ก๊าซชีวภาพและชีวภัณฑ์เพื่อการเกษตรและสิ่งแวดล้อม

ก๊าซชีวภาพและชีวภัณฑ์เพื่อการเกษตรและสิ่งแวดล้อม

รายละเอียด

-

วัตถุประสงค์

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่สามารถผลิตผลิตผลทางการเกษตรส่งออกเป็นลำดับต้นๆ ของโลก รวมถึงการบริโภคภายในประเทศก็สูงเช่นกัน ความต้องการผลิตผลที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวส่งผลให้มีการจัดการการเพาะปลูกแบบเข้มข้น (intensive agriculture) โดยเน้นการใช้พื้นที่น้อยแต่ให้ผลผลิตมาก จึงทำให้เกษตรกรหันไปใช้การเพาะปลูกแบบเกษตรเคมีมากขึ้น แต่ปัญหาที่พบตามมาคือ สารเคมีที่ใช้หรือตกค้างในผลิตภัณฑ์ ส่งผลต่อสุขภาพของเกษตรกร ผู้บริโภค หรือก่อให้เกิดปัญหากับแหล่งบริเวณเพาะปลูกนั้นๆ เป็นต้น จากปัญหาดังกล่าวจึงทำให้มีการเริ่มหันมาใช้ทฤษฏีที่เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์มากขึ้น จนก่อเกิดเป็นนโยบายของประเทศ โดยหันไปใช้สารหรือผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติ เพื่อช่วยเร่งการเจริญเติบโตของพืช รวมถึงยับยั้งเชื้อก่อโรคพืชอีกด้วย สารจากธรรมชาติที่นิยมนำมาใช้ คือ สารจากพืชในธรรมชาติ จุลินทรีย์ในธรรมชาติ หรือสารที่ผลิตจากเชื้อจุลินทรีย์ ปัจจุบันได้มีการค้นคว้าวิจัยเชื้อจุลินทรีย์หลากหลายกลุ่มเพื่อนำมาตอบโจทย์ดังกล่าว ได้แก่ เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อรา เช่น Trichoderma sp. และ Mycorrhiza sp. เป็นต้น สำหรับแบคทีเรียที่นิยมศึกษา ได้แก่ แบคทีเรียที่อาศัยอยู่ร่วมกับรากพืช (rhizobacteria) ซึ่งอาจจะเป็นทั้งกลุ่มที่อาศัยอยู่ที่พื้นผิวภายนอกของส่วนต่างๆ ของพืช เช่น ใบ ลำต้น และราก (epiphytic bacteria) และในเนื้อเยื่อพืช (endophytic bacteria) ทั้งแบคทีเรียเซลล์เดี่ยว เช่น สกุล Pseudomonas และ Bacillus เป็นต้น และแบคทีเรียในกลุ่มแอคติโนมัยสีท เช่น Streptomyces และ Micromonospora เป็นต้น แบคทีเรียในสกุลดังกล่าวมีความสามารถในการผลิตสารปฏิชีวนะที่ดี ปรับตัวตามสิ่งแวดล้อมได้ง่าย และทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเจริญได้ดี เนื่องจากบางสกุลสามารถสร้างสปอร์ได้ ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ หรือ natural products คือผลผลิตหรือสารที่เป็นผลพลอยได้ (by–products) ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเมทาบอลิซึมในสิ่งมีชีวิตที่พบในธรรมชาติ ทั้งที่เป็นสิ่งมีชีวิตในกลุ่มจุลินทรีย์ พืช และสัตว์ การศึกษาและการวิจัยสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่ผ่านมาในอดีตได้แสดงให้เห็นว่าสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจำนวนมากจัดเป็นสารที่ออกฤทธิ์ทางชีวภาพซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับมนุษย์ได้ทั้งทางการเกษตร และการแพทย์ นอกจากนี้สารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติยังมีข้อดีที่เหนือกว่าการใช้สารเคมีสังเคราะห์ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าสารเคมีสังเคราะห์รวมทั้งสารชีวภาพทำให้เกิดการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม และถูกส่งผ่านมายังมนุษย์ผ่านทางห่วงโซ่อาหารในระดับ นอกจากพืชแล้วจุลินทรีย์ทั้งกลุ่มของแบคทีเรีย รา โดยเฉพาะแอคติโนมัยสีทจัดเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญที่สามารถผลิต สารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่ออกฤทธิ์ที่สำคัญเช่นกัน ในกลุ่มของจุลินทรีย์ทั้งหมดแบคทีเรียกลุ่มแอคติโนมัยสีทจัดเป็นกลุ่มเชื้อจุลินทรีย์ที่สามารถผลิตสารปฏิชีวนะได้ดีที่สุด ทำให้มีการศึกษาทางด้านผลิตภัณฑ์ทางธรรมชาติกันอย่างมากมาย โดยเฉพาะการนำไปประยุกต์ใช้ทางการเกษตร สิ่งแวดล้อม และการแพทย์ เนื่องจากสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจากแอคติโนมัยสีทจัดได้ว่ามีความหลากหลายและซับซ้อนของโครงสร้างทางเคมีของ สารมากกว่าสารที่ได้จากการสังเคราะห์จากกระบวนการหรือปฏิกิริยาทางเคมี ปัจจุบันจุลินทรีย์ก่อโรคได้มีการพัฒนาขบวนการเมตาบอลิซึมในเซลล์จนสามารถต้านยาหรือ สารเคมีที่ใช้กันอยู่ได้มากขึ้นทำให้ต้องใช้สารเคมีปริมาณและความเข้มข้นสูงขึ้นซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการผลิตโดยตรง แนวทางหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์มุ่งเน้นเพื่อแก้ปัญหานี้ คือการหาสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติชนิดใหม่มาพัฒนาเป็นสารทางชีวภาพเพื่อใช้ในการทำลายเชื้ออย่างจำเพาะเนื่องจากจุลินทรีย์ก่อโรคยังไม่คุ้นชินกับสารชนิดใหม่จึงเป็นการง่ายต่อการทำลายจุลินทรีย์ดื้อยานั้น รวมถึงการสร้างสารส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชได้ กลยุทธ์ที่จะใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติชนิดใหม่ จึงมุ่งเน้นการหาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติชนิดใหม่มาใช้ในการผลิต สารปฏิชีวนะนั้นๆ โดยใช้สมมุติฐานว่าหากสามารถค้นพบสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ใหม่ โอกาสที่จะได้สารทุติยภูมิชนิดใหม่ที่สร้างจากสิ่งมีชีวิตใหม่นั้นก็จะมีมากขึ้นด้วย แบคทีเรียกลุ่มแอคติโนมัยสีทจัดเป็นแบคทีเรียกลุ่มสำคัญที่มีศักยภาพในการผลิตสารชีวภาพได้สูงสุด ด้วยเหตุนี้การค้นหาเชื้อ แอคติโนมัยสีทชนิดใหม่มีความจำเป็นอย่างมากในการเพิ่มโอกาสถึงการค้นพบสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพต้นแบบ ตัวใหม่เพื่อใช้เป็นทางเลือกสำหรับงานทางด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อม การศึกษาวิจัยหาสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่ออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากแอคติโนมัยสีทชนิดใหม่จึงมีความน่าสนใจและท้าทาย และน่าจะเป็นประโยชน์ในด้านการวิจัยและพัฒนาต่อยอดเพื่อผลิตสารปฏิชีวนะชนิดใหม่จากทรัพยากรในประเทศไทย ด้วยเหตุนี้จึงสนใจศึกษาวิจัยเพื่อแก้ปัญหาการผลิตด้านการเกษตรอย่างครบวงจร ซึ่งการวิจัยในโครงการนี้เริ่มตั้งแต่การแยกเชื้อจุลินทรีย์ คัดเลือกเชื้อแบคทีเรียกลุ่มแอคติโนมัยสีท โดยจะมุ่งเน้นเพื่อค้นหาแอคติโนมัยสีทสปีชีส์ใหม่หรือ สายพันธุ์ที่สามารถผลิตสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่ดี เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสารต้นแบบเพื่อพัฒนาเป็นสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติชนิดใหม่ ศึกษาอนุกรมวิธานของเชื้อ ทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพทั้งฤทธิ์ต้านเชื้อราก่อโรคพืช การสร้างสารส่งเสริมการเจริญของพืช การหมักเพื่อผลิตสารทุติยภูมิ การสกัด การแยกสารออกฤทธิ์ การศึกษาโครงสร้างทางเคมีของสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพดังกล่าว ตลอดจนการนำแอคติโนมัยสีทสปีชีส์ใหม่ หรือสายพันธุ์ที่สร้างสารออกฤทธิ์ต้านเชื้อก่อโรคพืชที่ดีมาผลิตและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทางการค้า เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาการทำเกษตรอินทรีย์และนำไปใช้สำหรับบำบัดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมให้เป็นที่แพร่หลายและยั่งยืนต่อไปในอนาคต ก๊าซชีวภาพจัดเป็นพลังงานทดแทนประเภทหนึ่งที่อยู่ในแผนของการพัฒนาและส่งเสริมจากกระทรวงพลังงาน โดยหัวใจหลักของการผลิตเกิดจากจุลินทรีย์กลุ่มผลิตก๊าซชีวภาพ ซึ่งประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่จัดว่ามีความหลากหลายชีวภาพสูง ไม่ใช่เฉพาะจุลินทรีย์ แต่ความหลากหลายของวัตถุดิบอินทรีย์ก็มากตามไปด้วย จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการนำมาใช้เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การค้นหาเชื้อจุลินทรีย์ผลิตก๊าซชีวภาพ การหาสภาวะที่เหมาะสมกับวัตถุดิบที่คัดเลือก และการออกแบบถังหมักเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพ และตอบสนองของนโยบายเรื่องพลังงานได้ในอนาคต

นวัตกรรมอื่น ๆ

ผลของวิธีการรักษาสภาพความสดของปลาทรายแดง (Nemipterus furcosus) จากการทำประมงพื้นบ้านต่อคุณภาพเนื้อปลาเพื่อการบริโภคแบบซาชิมิ

คณะเทคโนโลยีการเกษตร

ผลของวิธีการรักษาสภาพความสดของปลาทรายแดง (Nemipterus furcosus) จากการทำประมงพื้นบ้านต่อคุณภาพเนื้อปลาเพื่อการบริโภคแบบซาชิมิ

ปลาทรายแดงเป็นปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจสามารถพบเจอได้จากการทำประมงทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามันและมีราคาถูก อีกทั้งในปัจจุบันการบริโภคปลาดิบแบบซาชิมิได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย จึงต้องมีการส่งเสริมการบริโภคเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับปลาทรายแดง การศึกษานี้ได้ศึกษาวิธีการรักษาสภาพปลาทรายแดง (N. furcosus) เพื่อการบริโภคแบบดิบหรือซาชิมิ โดยการรักษาสภาพปลาทรายแดงประกอบไปด้วยการฆ่าปลาแบบ Ikejime (K) และ น็อคด้วยน้ำทะเลเย็น (S) และเก็บรักษาปลาแบบผ่าท้อง (G) และทั้งตัว (W) และเก็บรักษาไว้ 3 วัน ด้วยน้ำแข็ง (I) หรือตู้เย็น (F) ประเมินคุณภาพความสดของปลาทรายแดงด้วยวิธีทางประสาทสัมผัส, ทางเคมีกายภาพ (TVB-N, TMA-N และ pH) ดัชนีความสด (Ki-value) และทางจุลชีววิทยา พบว่าหลังจากเก็บรักษาไว้นาน 3 วัน ปลาทรายแดงกลุ่ม KGF มีคะแนนทางประสาทสัมผัสโดยรวมมากที่สุด คือ 8.36±0.80 คะแนน และปลาทรายแดงกลุ่ม KWI, SWI และ SWF มีคะแนนทางประสาทสัมผัสโดยรวมน้อยที่สุด คือ 8.13±0.77, 8.13±0.77 และ 8.13±0.81 คะแนน ตามลำดับ และคะแนนทางประสาทสัมผัสโดยรวมของปลาทุกกลุ่มการทดลองเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ค่าTVB-N ของปลาทรายแดงกลุ่ม KGF มีค่า TVB-N น้อยที่สุด คือ 1.37±0.93 มิลลิกรัมไนโตรเจน/ตัวอย่าง 100 กรัม ปลาทรายแดงกลุ่ม SGI มีค่า TVB-N มากที่สุด คือ 2.36±1.15 มิลลิกรัมไนโตรเจน/ตัวอย่าง 100 กรัม และ TVB-N ของปลาทุกกลุ่มการทดลองเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ค่า TMA-N ของปลาทรายแดงกลุ่ม KGF มีค่า TMA-N น้อยที่สุด คือ 1.56±0.88 มิลลิกรัมไนโตรเจน/ตัวอย่าง 100 กรัม ปลาทรายแดง กลุ่ม SWF มีค่า TMA-N มากที่สุด คือ 2.17±1.22 มิลลิกรัมไนโตรเจน/ตัวอย่าง 100 กรัม และ TMA-N ของปลาทุกกลุ่มการทดลองเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ค่า pH ของปลาทรายแดงกลุ่ม KGF มีค่า pH น้อยที่สุด คือ 6.40±0.12 ปลาทรายแดงกลุ่ม SWF มีค่า pH มากที่สุด คือ 6.78±0.25และ pH ของปลาทุกกลุ่มการทดลองเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) Ki value ของปลาทรายแดงกลุ่ม KGF มีค่า Ki value น้อยที่สุด คือ 9.05±0.73% ปลาทรายแดงกลุ่ม KWI มีค่า Ki value มากที่สุด คือ 12.88±4.19% และ Ki value ของปลาทุกกลุ่มการทดลองเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) และ คุณภาพความสดทางด้านจุลชีววิทยาพบว่าในปลาทรายแดงทุกกลุ่มการทดลองพบจุลินทรีย์ชนิด Salmonella spp., S. aureus, B. cereus, C. perfringens และ E. coli และจุลินทรีย์ทุกชนิดของปลาทรายแดงทุกกลุ่มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) โดยเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับเกณฑ์คุณภาพความสดทั้งทางด้านประสาทสัมผัส เคมีกายภาพ ดัชนีความสดและจุลชีววิทยาพบว่าปลาทรายแดงทุกกลุ่มมีความสดมากและเหมาะสมต่อการบริโภคแบบดิบในระหว่างการรักษาสภาพและเก็บรักษาไว้นาน 3 วัน หลังจากการเก็บรักษาไว้นาน 3 วัน ควรบริโภคปลาทรายแดงแบบปรุงสุกเนื่องจากคุณภาพความสดของปลาไม่เหมาะสมต่อการนำมาบริโภคแบบดิบจากการเพิ่มขึ้นของค่าพารามิเตอร์ต่างๆ ซึ่งการเพิ่มขึ้นของค่าพารามิเตอร์ต่างๆมีผลมาจากการเสื่อมสภาพของปลาและกิจกรรมจากจุลินทรีย์ ดังนั้นปลาทรายแดงเหมาะสมที่จะมีการส่งเสริมให้มีการบริโภคแบบดิบในระยะเวลาการเก็บรักษาภายใน 3 วัน อีกทั้งการรักษาสภาพปลาโดยเฉพาะวิธี Ikejime แล้วผ่าท้องและเก็บรักษาไว้ในตู้เย็น สามารถช่วยให้ปลามีคุณภาพความสดที่ดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งผลการศึกษานี้สามารถนำไปพัฒนาเทคนิคในการรักษาสภาพปลาที่เกิดขึ้นหลังการจับให้กับชาวประมงและสามารถส่งเสริมให้มีการเพิ่มมูลค่าปลาทรายแดงได้ในอนาคต

โครงการออกแบบ Micro car สำหรับนักศึกษาโดยแบรนด์ Nike

คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ

โครงการออกแบบ Micro car สำหรับนักศึกษาโดยแบรนด์ Nike

-

การปรับปรุงคุณภาพน้ำผิวดินด้วยวิธีการตกตะกอนโดยสารสกัดเมล็ดมะรุม เมล็ดกระเจี๊ยบแดง และเมล็ดมะขาม

คณะวิทยาศาสตร์

การปรับปรุงคุณภาพน้ำผิวดินด้วยวิธีการตกตะกอนโดยสารสกัดเมล็ดมะรุม เมล็ดกระเจี๊ยบแดง และเมล็ดมะขาม

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของสารสกัดจากเมล็ดมะรุม เมล็ดกระเจี๊ยบแดง และเมล็ดมะขาม ในการเป็นสารช่วยตกตะกอนในแหล่งน้ำผิวดินเพื่อการปรับปรุงคุณภาพน้ำ สารสกัดจากเมล็ดมะรุม เมล็ดกระเจี๊ยบแดง และเมล็ดมะขาม เป็นสารตกตะกอนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นทางเลือกในการปรับปรุงคุณภาพของน้ำผิวดิน แหล่งน้ำผิวดินมีความขุ่นอยู่ในช่วง 14-24 NTU นำมาทำการตกตะกอนความขุ่นในน้ำด้วยวิธีการทดลองจาร์เทส (Jar test) โดยการใช้สารสกัดจากเมล็ดมะรุม เมล็ดกระเจี๊ยบแดง และเมล็ดมะขาม เป็นสารตกตะกอน (Coagulant) และ เป็นสารช่วยตกตะกอน (Coagulant aid) โดยวิธีการคือนำเมล็ดมะรุม เมล็ดกระเจี๊ยบแดง และเมล็ดมะขามมาบดให้ละเอียด จากนั้นสกัดด้วยสารละลายโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) 0.5 โมลาร์ และนำสารสกัดที่ได้มาใช้เป็นสารตกตะกอนเพื่อลดความขุ่นและปรับปรุงคุณภาพน้ำ โดยแต่ละความเข้มข้นใช้ปริมาตรน้ำ 300 มิลลิลิตร ผลการศึกษาบ่งชี้ว่าสารสกัดจากเมล็ดมะรุมที่ความเข้มข้น 2,000 มิลลิกรัมต่อลิตร มีประสิทธิภาพมากที่สุด และมีประสิทธิภาพในการลดความขุ่นประมาณ 73.19% โดยมีค่าใช้จ่าย 0.0309 บาทต่อน้ำ 300 มิลลิตร รองลงมาเป็นสารสกัดจากเมล็ดมะขามที่มีความเข้มข้น 4000 มิลลิกรัมต่อลิตร มีประสิทธิภาพในการลดความขุ่นประมาณ 56.75% โดยมีค่าใช้จ่าย 0.0933 บาทต่อน้ำ 300 มิลลิตร และเมล็ดกระเจี๊ยบแดงที่มีความเข้มข้น 6000 มิลลิกรัมต่อลิตร มีประสิทธิภาพในการลดความขุ่นประมาณ 32.67% โดยมีค่าใช้จ่าย 0.0567 บาทต่อน้ำ 300 มิลลิตร