งานวิจัยการออกแบบต้นแบบเมตาเวิร์สหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เป็นการศึกษารูปแบบการสร้างประสบการณ์เสมือนจริง (Immersive Experience) โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ข้อคือ เพื่อ 1) ศึกษารูปแบบแนวคิดและเทคโนโลยีที่ใช้ในการสร้างประสบการณ์การรับรู้ดิจิทัลเสมือนจริง 2) สร้างสรรค์งานออกแบบประสบการณ์การรับรู้ดิจิทัลเสมือนจริงและนำเสนอบนโลกต้นแบบเมตาเวิร์สหอภาพยนตร์ ใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติ 3) ประเมินผลการออกแบบและสรุปเป็นองค์ความรู้การออกแบบนิทรรศการเสมือนจริง โดยวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ จัดให้มีการทดสอบตัวต้นแบบ พร้อมทั้งสัมภาษณ์แบบกลุ่ม สอบถามทัศนคติและประเมินความพึงพอใจ ผลการวิจัยพบว่า หลักการออกแบบต้นแบบเมตาเวิร์สหอภาพยนตร์นั้น ประกอบไปด้วย 1) การใช้แนวคิดการออกแบบสถาปัตยกรรม 2) แนวคิดการออกแบบนิทรรศการ 3) แนวคิดการออกแบบประสบการณ์ จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการสร้างงานในโลกเสมือนจริง ประกอบไปด้วย 1) สร้างโมเดลโครงสร้าง3มิติ 2) สร้างการใช้งานปฏิสัมพันธ์ 3) การออกแบบนิทรรศการ 4) ดำเนินการทดสอบตัวต้นแบบ จากนั้นทดสอบพร้อมประเมินผล โดยมีขั้นตอนคือ 1) ทดสอบโดยผู้ทดสอบ 10 คน 2) สัมภาษณ์แบบกลุ่มทั้ง 4 ประเด็นคือ ประเด็นหมวดประสบการณ์โดยรวม ประเด็นหมวดหอภาพยนตร์เนื้อหาคุณค่า ประเด็นหมวดการออกแบบเมตาเวิร์ส และประเด็นหมวดส่งเสริมการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์ ผลการประเมินการออกแบบหมวดที่หนึ่ง 1) หมวดประสบการณ์โดยรวม ได้รับประสบการณ์ที่ดี ร้อยละ 70 การใช้งานเสถียร ร้อยละ 50 อุปสรรคในการรับชมร้อยละ 90 เสียงบรรยายดังรบกวนร้อยละ 50 รับชมภาพยนตร์ติดขัดร้อยละ 40 มีความต้องการคำอธิบายการใช้งาน ร้อยละ 60 ต้องการสัญลักษณ์นำทางร้อยละ 70 หมวดที่สอง 2) หมวดหอภาพยนตร์ สามารถรับรู้และเข้าใจเนื้อหาร้อยละ 80 หมวดที่สาม 3) หมวดเมตาเวิร์ส ได้มีการสื่อสารพูดคุยปฏิสัมพันธ์ร้อยละ 70 หมวดที่สี่ 4) หมวดการส่งเสริมการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์ เห็นว่าสามารถส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ได้ร้อยละ 90 จากผลสรุปการประเมินการออกแบบต้นแบบเมตาเวิร์สหอภาพยนตร์เพื่อสร้างประสบการณ์ดิจิทัลเสมือนจริง พบว่าประสบการณ์ที่ผู้ทดสอบได้รับ อยู่ในเกณฑ์ดี คือร้อยละ 70 แต่ปัญหาที่พบจะอยู่ที่ระบบและอุปกรณ์ที่รองรับการทดสอบยังไม่เสถียรเนื่องจากความพร้อมของเทคโนโลยีในปัจจุบัน (2566) ส่วนอุปสรรคในการใช้งานประสบการณ์ปฏิสัมพันธ์ภายในจำเป็นต้องมีการทดสอบและปรับปรุงซ้ำหลายครั้ง ส่วนเรื่องของคุณค่าการสนับสนุนการเรียนรู้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี
จากสถานการณ์โควิด 19 ที่ผ่านมา โลกได้เปลี่ยนไปหลายด้าน ทั้งด้านการดำรงชีวิต การทำงาน การเดินทาง การศึกษา และที่กระทบหนักคือการท่องเที่ยว จากเอกสารรายงานผลการดำเนินงานของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) (หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน), 2565ก) พบว่าการเข้าชมหอภาพยนตร์ลดลง กิจกรรมต่างๆมากมายที่มีแผนดำเนินงานถูกยกเลิก ผู้ชมทั้งไทยและต่างชาติ ไม่สามารถเข้ารับชมได้ จึงเกิดการเร่งพัฒนาช่องทางสื่อสาร หรือช่องทางอื่นๆ เพื่อให้คนสามารถเข้ามาใช้บริการหอภาพยนตร์ได้หลากหลายช่องทาง มีการจัดนิทรรศการออนไลน์ ร่วมกับ Google Thailand ใน Google Arts & Culture โดยมีผู้ใช้งาน มีผู้เข้าชมทั้งสิ้น 4,138 ครั้ง จาก 105 ประเทศทั่วโลก ซึ่งถือว่าเป็นสื่อใหม่ที่ทางหอภาพยนตร์ได้สร้างช่องทางสำหรับสนับสนุนการเรียนรู้เพื่มเติม และเพื่อเผยแพร่สิ่งที่หอภาพยนตร์อนุรักษ์ไว้ ตามวัตถุประสงค์หลักขององค์การ การสร้างช่องทางสื่อออนไลน์ทางเว็บไซต์ ถือเป็นการเผยแพร่ความรู้ ให้กับผู้ชม ที่ไม่มีโอกาสได้เข้ามาเยี่ยมชมหอภาพยนตร์ได้เป็นอย่างดี หากแต่ว่าช่องทางบนเว็บไซต์นั้น เป็นเพียงช่องทางการรับชม ที่ให้การรับรู้ของข้อมูลภาพนิ่ง,ภาพเคลื่อนไหว,เสียง เพียงด้านเดียว ยังขาดการมีปฏิสัมพันธ์การตอบสนองหรือโต้ตอบ หรือการสร้างประสบการณ์การรับรู้ใหม่ๆ ที่ดียิ่งขึ้นไปกว่าการรับชมในรูปแบบเดิม ซึ่งการพัฒนาการสนับสนุนการศึกษาความรู้จากหอภาพยนตร์ในรูปแบบที่เกิดจากการสร้างประสบการณ์การรับรู้แบบเสมือนจริง มีการเข้าถึงได้จากทุกสถานที่ทุกเวลา ไม่มีข้อจำกัดของระยะทาง ผู้คนสามารถเข้ามารับชมได้ตลอดผ่านทางประสบการณ์เสมือนจริง ย่อมเป็นผลดีต่อการพัฒนา เป็นการสร้างโอกาสการรับรู้และเรียนรู้แบบใหม่ๆ ให้กับผู้ชมที่ยังไม่มีโอกาสเดินทางมารับชม อีกทั้ง เพื่อพัฒนาจำนวนผู้ชมที่เข้ามาจากโลกออนไลน์ให้แพร่หลาย ให้มีการเข้าชมตามเป้าหมายขั้นสูงที่ตั้งไว้ในแบบประเมินองค์การมหาชน เช่น พ.ศ. 2565 ที่ตั้งเป้าหมายให้มีการเข้าชมนิทรรศการออนไลน์ที่เผยแพร่บน Google Art& Culture ไม่น้อยกว่า 8,000 ครั้ง หรือจำนวนที่มากขึ้นในปีต่อไป
วิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง
งานวิจัยเรื่องการปรับปรุงความแข็งแรงของเซลล์อิเล็กโทรไลต์ชนิดแข็ง มีวัตถุประสงค์ในการหาแนวทางปรับปรุง คุณสมบัติของเซลล์อิเล็กโทรไลต์ชนิดแข็ง ซึ่งผลิตจากซีเมนต์และสารที่เป็นตัวช่วยในการพัฒนาโครงสร้างของซีเมนต์ให้กำเนิดกระแสไฟฟ้าได้ มีองค์ประกอบของ Sodium chloride (NaCl) และ Graphite เป็นองค์ประกอบหลัก ที่มีความสามารถในการให้กระแสไฟฟ้าในระดับอ่อนๆได้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งกำเนิดกระแสไฟฟ้าสำหรับการใช้เป็นวัสดุปูพื้น ในงานวิจัยนี้มีขั้นตอนการดำเนินงาน โดยประกอบด้วยการเตรียมซีเมนต์กับน้ำ Sodium chloride (NaCl) และ Graphite เพื่อเพิ่มความสามารถในการนำไฟฟ้าของวัสดุงานวิจัยนี้คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะสามารถพัฒนาคอนกรีตปูพื้นที่สามารถให้กำเนิดแสงไฟฟ้าและสามารถที่จะพัฒนาต่อยอดเพื่อประยุกต์ใช้ในงานอื่นๆในอนาคต
คณะอุตสาหกรรมอาหาร
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ไส้อั่วจากพืชโดยใช้ขนุนอ่อนเป็นวัตถุดิบหลัก เพื่อเป็นทางเลือกแทนเนื้อสัตว์ โดยศึกษาการพัฒนาสูตร การเปลี่ยนแปลงทางเคมีกายภาพระหว่างการเก็บรักษาของผลิตภัณฑ์ ขนุนอ่อนมีคุณสมบัติเด่นด้านเส้นใยที่คล้ายเนื้อสัตว์และสามารถดูดซับกลิ่นและรสชาติของเครื่องเทศได้ดี ผลการศึกษาพบว่า ขนุนอ่อนที่ผ่านการต้มที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 30 นาที มีเส้นใยใกล้เคียงกับเนื้อไก่ปรุงสุกมากที่สุด นอกจากนี้ การศึกษาการเปลี่ยนแปลงระหว่างการเก็บรักษา ในอุณหภูมิที่แตกต่างกัน พบว่า สีและค่า Water Activity (Aw) มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ในขณะที่ค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ลดลง และค่า Thiobarbituric Acid Reactive Substances (T-BARS) เพิ่มขึ้น ด้านเนื้อสัมผัส พบว่าค่าความเหนียวเพิ่มขึ้นและค่าความยืดหยุ่นลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับสูตรควบคุม ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าขนุนอ่อนเป็นวัตถุดิบที่เหมาะสมสำหรับการผลิตไส้อั่วจากพืช และสามารถใช้เป็นทางเลือกทดแทนผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปได้
คณะอุตสาหกรรมอาหาร
ซอสมะม่วงมหาชนกพัฒนาจากมะม่วงตกเกรดจากบ้านหนองบัวชุม จ.กาฬสินธุ์ ใช้เทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์การอาหารเพื่อลดของเสียทางการเกษตรและปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ซอสนี้เสริมใยอาหารพรีไบโอติก ช่วยส่งเสริมจุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้ มีน้ำตาลต่ำ ดีต่อสุขภาพ ปราศจากการแต่งสีและกลิ่น เหมาะกับอาหารหลากหลายประเภททั้งคาวเเละหวาน