งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อเลือกทำเลที่ตั้งศูนย์กระจายสินค้าประเภทเครื่องดื่มของบริษัท ไทย สพิริท อินดัสทรี จำกัด ที่มีต้นทุนรวมของการขนส่งสินค้าต่ำที่สุด โดยอาศัยตัวแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ โดยพิจารณาอำเภอเมืองของทั้ง 76 จังหวัด ไม่รวมจังหวัดฉะเชิงเทราซึ่งที่เป็นที่ตั้งของโรงงาน ในการศึกษาครั้งนี้ได้ทำการแบ่งสถานการณ์ออกเป็น 4 สถานการณ์ ได้แก่ 1) เมื่อกำหนดให้มีศูนย์กระจายสินค้าได้เพียงหนึ่งแห่ง 2) เมื่อกำหนดให้มีศูนย์กระจายสินค้าได้มากกว่าหนึ่งแห่ง 3) เมื่อแบ่งเป็น 4 ภูมิภาค โดยกำหนดให้มีศูนย์กระจายสินค้าได้เพียงหนึ่งแห่งในหนึ่งภูมิภาค และ 4) เมื่อแบ่งเป็น 4 ภูมิภาค โดยกำหนดให้มีศูนย์กระจายสินค้าได้มากกว่าหนึ่งแห่งในหนึ่งภูมิภาค เมื่อประมวลผลด้วยโปรแกรม IBM ILOG CPLEX Optimization Studio ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ สถานการณ์ที่ 1 เมื่อกำหนดให้มีศูนย์กระจายสินค้าได้เพียงหนึ่งแห่ง มีต้นทุนการขนส่งรวม 786,107.75 บาท/เดือน สถานการณ์ที่ 2 เมื่อกำหนดให้มีศูนย์กระจายสินค้าได้มากกว่าหนึ่งแห่ง มีต้นทุนการขนส่งรวม 252,338.98 บาท/เดือน สถานการณ์ที่ 3 เมื่อแบ่งเป็น 4 ภูมิภาค โดยกำหนดให้มีศูนย์กระจายสินค้าได้เพียงหนึ่งแห่งในหนึ่งภูมิภาค มีต้นทุนการขนส่งรวม 401,499.61 บาท/เดือน สถานการณ์ที่ 4 เมื่อแบ่งเป็น 4 ภูมิภาค โดยกำหนดให้มีศูนย์กระจายสินค้าได้มากกว่าหนึ่งแห่งในแต่ละภูมิภาค มีต้นทุนการขนส่งรวม 258,666.22 บาท/เดือน
ในปี พ.ศ. 2562 ต้นทุนการขนส่งสินค้ายังคงเป็นองค์ประกอบใหญ่ที่สุดของโครงสร้างต้นทุนโลจิสติกส์คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 49.7 ของต้นทุนโลจิสติกส์รวม (รายงานโลจิสติกส์ของประเทศไทยประจำปี, 2562) โดยในปี พ.ศ. 2560 และ พ.ศ. 2561 จะเห็นได้ว่าสัดส่วนต้นทุนการขนส่งสินค้าสูงเกินครึ่งของต้นทุนโลจิสติกส์รวม สัดส่วนรองลงมาที่มีค่าใกล้เคียงกับต้นทุนการขนส่งสินค้าคือสัดส่วนต้นทุนการเก็บรักษาสินค้าคงคลัง และสุดท้ายคือต้นทุนการบริหารจัดการ ดังนั้นจากสัดส่วนข้างต้นแสดงให้เห็นว่าควรให้ความสำคัญกับการวางแผนการขนส่งสินค้าเป็นอันดับแรก กล่าวคือ ถ้าหากผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนในการขนส่งสินค้าลงได้จะทำให้สามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์รวมได้เช่นกัน การสร้างโครงข่ายการขนส่งเป็นหนึ่งในวิธีการที่ช่วยลดต้นทุนในการขนส่งและเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งด้วย ซึ่งประกอบไปด้วยหลายวิธีการ โดยการสร้างศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center: DC) เป็นหนึ่งในวิธีการสร้างโครงข่ายการขนส่ง เพื่อเป็นแนวทางบริหารจัดการการขนส่งสินค้าในอนาคต อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนในการขนส่งสินค้าอีกด้วย การเลือกทำเลที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม โกดังหรือคลังสินค้าย่อมมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ที่มีผลต่อความสำเร็จขององค์การธุรกิจ หากเลือกทำเลที่ไม่เหมาะสมจะมีผลกระทบอื่นๆ ตามมา ได้แก่ ค่าใช้จ่ายและระยะเวลาที่ใช้ในการขนส่งมากหากอยู่ห่างไกลแหล่งวัตถุดิบ การเลือกที่ดินในเขตเมืองเป็นทำเลจะมีราคาสูงและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ตามมาก็จะสูงตามไปด้วย นอกจากนี้อาจขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพ ขาดแคลนวัตถุดิบ รวมไปถึงปัจจัยอื่นที่เป็นอุปสรรคต่อองค์การธุรกิจ บริษัท ไทย สพิริท อินดัสทรี จำกัด เป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มหลายประเภท ที่เชี่ยวชาญในผลิตภัณฑ์ไวน์จากผลไม้ที่รู้จักกันในชื่อ RTD ภายใต้แบรนด์ TSI ด้วยกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์ไวน์ผลไม้ 60 ล้านลิตรทุกปี โดยปัจจุบันมีจำนวนโรงงานอยู่ 1 แห่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื่องจากมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจทำให้ความต้องการในกลุ่มธุรกิจไวน์จากผลไม้เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งบริษัท ไทย สพิริท อินดัสทรี จำกัด ได้มองหาแนวทางในการเพิ่มขีดความสามารถของการให้บริการที่ครอบคลุมและครบวงจรมากขึ้น ยกระดับความสามารถด้านการจัดเก็บและการกระจายสินค้าให้กับลูกค้าได้อย่างทันเวลาและมีประสิทธิภาพ ซึ่งมุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าการตลาดแบบดั้งเดิม (Traditional Trade) ได้แก่ตัวแทนจำหน่ายในแต่ละจังหวัด โดยใช้บริการจากภายนอกองค์กร(Outsource) ในการขนส่งสินค้าจากโรงงานเต็มคันรถตรงไปให้ลูกค้าแต่ละราย (Full Truck Load: FTL) ทางบริษัทจึงมีแนวคิดที่จะวิเคราะห์ความเหมาะสมของที่ตั้งโดยพิจารณาจากค่าใช้จ่ายเป็นหลักพร้อมทั้งพิจารณาทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมสำหรับศูนย์กระจายสินค้า อย่างไรก็ตามการเลือกทำเลที่ตั้งสถานที่สำหรับประกอบธุรกิจให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงยอดขายที่คาดว่าจะได้รับ ค่าใช้จ่ายในการขนส่ง พนักงาน รวมทั้งเวลา ลักษณะและสภาพของเส้นทาง การจราจร ตลอดจนความสัมพันธ์กับลูกค้า (พอพันธ์, 2521) โดยจะพิจารณาลักษณะที่ดีของแต่ละทำเลนำมาประกอบการตัดสินใจในการเลือกใช้ ซึ่งส่งผลทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ รวมทั้งปัจจุบันได้มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไมโครคอมพิวเตอร์มากขึ้น ทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลทำได้ง่าย สะดวก ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและประหยัดเวลา ทำให้การประมวลผลข้อมูลมีประสิทธิภาพมาก จึงมีผู้ผลิตโปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติสำหรับเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์มากขึ้น (วรลักษณ์, 2560) ดังนั้นคณะผู้วิจัยได้ทำการศึกษาปัญหาการเลือกตำแหน่งที่ตั้งศูนย์กระจายสินค้าที่เหมาะสมที่มีต้นทุนรวมต่ำที่สุดโดยอาศัยข้อมูลของบริษัท ไทย สพิริท อินดัสทรี จำกัด เป็นกรณีศึกษา และพัฒนาตัวแบบทางคณิตศาสตร์และประมวลผลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป IBM ILOG CPLEX ทั้งนี้ทางบริษัทสามารถใช้เป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจในการเลือกตำแหน่งที่ตั้งของศูนย์กระจายสินค้า หรือเป็นแนวทางในการปรับปรุง พัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินงานของบริษัทในอนาคต
คณะวิศวกรรมศาสตร์
โครงงานนี้มุ่งเน้นการพัฒนาอุปกรณ์ทดสอบเครื่องอัดประจุของยานยนต์ไฟฟ้าแบบกระแสสลับ (AC Charger) ตามมาตรฐาน IEC 61851-1 ภาคผนวก A โดยการจำลองวงจรทดสอบภายในยานยนต์ไฟฟ้าตามมาตฐาน เพื่อใช้ทดสอบการทำงานของเครื่องอัดประจุไฟฟ้ากระแสสลับ โดยในหัวข้อการทดสอบเกี่ยวข้องกับการสื่อสารระหว่างยานยนต์ไฟฟ้ากับเครื่องอัดประจุผ่านระบบวงจรควบคุมด้วยสัญญาณ Pulse Width Modulation (PWM) และจัดทำคู่มือปฏิบัติงาน (WI) เพื่อเตรียมการทดสอบให้เป็นไปตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 ซึ่งเป็นข้อกำหนดทั่วไปว่าด้วยความสามารถห้องปฏิบัติการในการดำเนินการทดสอบและ/ หรือสอบเทียบ ซึ่งภาพรวมของโครงการนี้คือ พัฒนาอุปกรณ์ทดสอบและจัดทำคู่มือปฏิบัติงาน โดยได้นำเอาองค์ความรู้และอุปกรณ์ต่างๆมาทำการเก็บข้อมูล จากนั้นนำข้อมูลมาเปรียบเทียบให้เป็นไปตามมาตรฐานข้างต้น เพื่อทดสอบเครื่องอัดประจุไฟฟ้ากระแสสลับ Type II ในแต่ละสถานะ อุปกรณ์การทดสอบประกอบไปด้วยส่วนของการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ทดสอบกับเครื่องอัดประจุไฟฟ้ากระแสสลับ โดยใช้ PLC S7-1200 และ HMI เพื่อควบคุมการทำงานของสวิตช์ในวงจรอุปกรณ์ทดสอบ รวมถึงการควบคุมพารามิเตอร์และแสดงผล ส่วนของอุปกรณ์ที่ใช้วัดค่าออสซิโลสโคปและมัลติมิเตอร์ที่ผ่านกระบวนการสอบเทียบเครื่องมือวัด เพื่อให้สอดคล้องกับมาตฐานที่กำหนดไว้
คณะวิศวกรรมศาสตร์
การบูรณาการระบบหุ่นยนต์อัจฉริยะเข้าสู่สภาพแวดล้อมที่มุ่งเน้นมนุษย์ เช่น ห้องปฏิบัติการ โรงพยาบาล และสถาบันการศึกษา มีความสำคัญมากขึ้นเนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับผู้ช่วยที่เข้าถึงได้และตระหนักถึงบริบท อย่างไรก็ตาม โซลูชันในปัจจุบันมักขาดความสามารถในการปรับขนาด เช่น การพึ่งพาบุคลากรเฉพาะทางเพื่อตอบคำถามเดิมซ้ำๆ ในฐานะผู้ดูแลระบบของแผนกเฉพาะ และการขาดความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมแบบไดนามิกที่ต้องการการตอบสนองตามสถานการณ์แบบเรียลไทม์ งานวิจัยนี้นำเสนอกรอบแนวคิดใหม่สำหรับผู้ช่วยหุ่นยนต์เชิงโต้ตอบ (Beckerle et al., 2017) ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยในระหว่างการเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการและบรรเทาความท้าทายที่เกิดจากข้อจำกัดด้านทรัพยากรบุคคลในการให้ข้อมูลที่ครอบคลุมแก่ผู้เยี่ยมชม ระบบที่นำเสนอทำงานผ่านหลายโหมด รวมถึงโหมดสแตนด์บายและโหมดจดจำ เพื่อให้แน่ใจว่ามีการโต้ตอบที่ราบรื่นและสามารถปรับตัวได้ในบริบทต่างๆ ในโหมดสแตนด์บาย หุ่นยนต์จะแสดงสัญญาณความพร้อมผ่านแอนิเมชันใบหน้ายิ้มขณะลาดตระเวนตามเส้นทางที่กำหนดไว้ล่วงหน้าหรือประหยัดพลังงานเมื่อต้องหยุดนิ่ง การตรวจจับสิ่งกีดขวางขั้นสูงช่วยให้มั่นใจในความปลอดภัยขณะเคลื่อนที่ในสภาพแวดล้อมแบบไดนามิก ส่วนโหมดจดจำจะเปิดใช้งานผ่านท่าทางหรือคำปลุก โดยใช้เทคโนโลยีวิชันคอมพิวเตอร์ขั้นสูงและระบบรู้จำเสียงพูดแบบเรียลไทม์เพื่อตรวจจับผู้ใช้ การจดจำใบหน้าช่วยจำแนกบุคคลว่าเป็นที่รู้จักหรือไม่รู้จัก พร้อมทั้งมอบคำทักทายเฉพาะบุคคลหรือคำแนะนำตามบริบทเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้ใช้ หุ่นยนต์ต้นแบบและการออกแบบ 3 มิติแสดงไว้ในรูปที่ 1 ในโหมดโต้ตอบ ระบบได้บูรณาการเทคโนโลยีขั้นสูงหลายประการ เช่น การรู้จำเสียงพูดขั้นสูง (ASR Whisper) การประมวลผลภาษาธรรมชาติ (NLP) และโมเดลภาษาขนาดใหญ่ Ollama 3.2 (LLM Predictor, 2025) เพื่อมอบประสบการณ์ที่ใช้งานง่าย รับรู้บริบท และสามารถปรับตัวได้ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากความต้องการมีส่วนร่วมกับนักศึกษาและส่งเสริมความสนใจในภาควิชา RAI ซึ่งมีผู้เยี่ยมชมมากกว่า 1,000 คนต่อปี ระบบนี้ช่วยแก้ไขปัญหาการเข้าถึงข้อมูลในกรณีที่ไม่มีเจ้าหน้าที่มนุษย์ ด้วยการตรวจจับคำปลุก การจดจำใบหน้าและท่าทาง และการตรวจจับสิ่งกีดขวางด้วย LiDAR หุ่นยนต์จึงสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างราบรื่น พร้อมทั้งนำทางอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ระบบปฏิสัมพันธ์แบบ Retrieval-Augmented Generation (RAG) สื่อสารกับหุ่นยนต์เคลื่อนที่ที่สร้างบน ROS1 Noetic โดยใช้โปรโตคอล MQTT ผ่านเครือข่าย Ethernet ระบบนี้เผยแพร่เป้าหมายการนำทางไปยังโมดูล move_base ใน ROS ซึ่งจัดการการนำทางและหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางโดยอัตโนมัติ แผนผังอธิบายระบบแสดงไว้ในรูปที่ 2 กรอบแนวคิดนี้ประกอบด้วยสถาปัตยกรรมแบ็กเอนด์ที่แข็งแกร่ง โดยใช้ MongoDB สำหรับการจัดเก็บและดึงข้อมูล รวมถึงกลไก RAG (Thüs et al., 2024) ในการประมวลผลข้อมูลหลักสูตรในรูปแบบ PDF เพื่อให้แน่ใจว่าหุ่นยนต์สามารถให้คำตอบที่ถูกต้องและเหมาะสมกับบริบทแก่ผู้ใช้ นอกจากนี้ การใช้แอนิเมชันใบหน้ายิ้มและระบบแปลงข้อความเป็นเสียง (TTS BotNoi) ยังช่วยเพิ่มอัตราการมีส่วนร่วมของผู้ใช้ ผลลัพธ์จากการศึกษาสังเกตการณ์และแบบสำรวจพบว่าระบบมีการปรับปรุงอย่างมีนัยสำคัญในด้านความพึงพอใจของผู้ใช้และการเข้าถึงข้อมูล เอกสารฉบับนี้ยังกล่าวถึงความสามารถของหุ่นยนต์ในการทำงานในสภาพแวดล้อมแบบไดนามิกและพื้นที่ที่เน้นมนุษย์ เช่น การจัดการกับการรบกวนระหว่างปฏิบัติภารกิจ การออกแบบแบบแยกส่วนช่วยให้สามารถผสานรวมฟีเจอร์เพิ่มเติม เช่น การจดจำท่าทางและการอัปเกรดฮาร์ดแวร์ได้ง่าย ซึ่งช่วยให้ระบบสามารถขยายขีดความสามารถในระยะยาวได้ อย่างไรก็ตาม มีข้อจำกัดบางประการ เช่น ต้นทุนการติดตั้งเริ่มต้นที่สูงและการพึ่งพาการกำหนดค่าฮาร์ดแวร์เฉพาะ ในอนาคต งานวิจัยจะมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มความสามารถในการรองรับภาษาต่างๆ การขยายกรณีการใช้งาน และการสำรวจปฏิสัมพันธ์แบบร่วมมือกันระหว่างหุ่นยนต์หลายตัว โดยสรุป ผู้ช่วยหุ่นยนต์เชิงโต้ตอบที่นำเสนอในงานวิจัยนี้เป็นก้าวสำคัญในการเชื่อมโยงความต้องการของมนุษย์เข้ากับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ด้วยการผสานรวมเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ล้ำสมัยเข้ากับโซลูชันฮาร์ดแวร์ที่ใช้งานได้จริง งานวิจัยนี้จึงนำเสนอระบบที่สามารถขยายขีดความสามารถ มีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรกับผู้ใช้ ซึ่งช่วยเพิ่มการเข้าถึงข้อมูลและการมีส่วนร่วมของผู้ใช้ในสภาพแวดล้อมที่มุ่งเน้นมนุษย์
คณะศิลปศาสตร์
ชิ้นงานนวัตกรรมไม้เท้าBuddy take care มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยพยุงร่างกายให้ผู้สูงอายุหรือผู้ฟื้นฟูจากการบาดเจ็บให้ สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างสะดวก ลดความเสี่ยงต่อการหกล้มและเพิ่มความปลอดภัยในการเดิน โดยออกแบบเป็นไม้เท้า พวงกุญแจ ที่สามารถเปิด-ปิด One Touch ได้ นอกจากนี้ยังมีการต่อยอดจากสินค้าที่มีอยู่ในตลาด ณ ปัจจุบันโดยไม้เท้า บัดดี้มีฟังก์ชั่น การใช้งานด้านไฟฉายพกพา ช่องเก็บยา แอร์แทก เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้งาน โดยออกแบบให้ เหมาะแก่ผู้สูงอายุให้สามารถใช้งานได้ง่าย สะดวกและปลอดภัย