การออกแบบแผ่นวงจรพิมพ์ขั้นสูงสำหรับงานอุตสาหกรรมเป็นการทำงานในหลากหลายขั้นตอนและหลากหลายวิธีขึ้นกับแต่ละบริษัท โดยจากที่ได้รับการเรียนรู้การทำงานแล้วนั้น ได้ทำการใช้โปรแกรม Cadence Allegro ในการออกแบบแผ่นวงจรพิมพ์ และการทำสหกิจในครั้งนี้ได้รับการออกแบบในหลากหลายบอร์ดมีความยากและง่ายที่แตกต่างกันไปและการเรียนรู้ในการทำสหกิจนี้ไม่สามารถเรียนรู้รายละเอียดภายในมหาวิทยาลัยได้ โดยต้องทำงานกับหลายฝ่ายภายในบริษัท Analog Devices (Thailand) การออกแบบที่ได้จัดทำนี้ได้ความช่วยเหลือจากพี่เลี้ยงที่ดูแลและสอนงานช่วยให้การทำสหกิจผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
โครงงานนี้ออกแบบมาเพื่อศึกษา หาประสบการณ์ในการทำงานและการใช้ชีวิตวัยทำงาน โดยเป็นการทำโครงการสหกิจศึกษาเพื่อเรียนรู้ถึงกระบวนการทำงานของแผนก Global Hardware Development ของ บริษัท Analog Devices (Thailand) และได้ทดลองปฏิบัติงานจริงในโรงงานอุตสาหกรรม กระบวนการทุกอย่างตั้งแต่เริ่มแรกจนกระทั่งออกมาเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับการทดสอบ IC ใน Final Test และ ทดสอบ wafer ใน Wafer Sort โดยฝ่ายที่เข้าไปทำสหกิจในบริษัทคือ PCB Layout Design และได้ออกแบบผ่านโปรแกรม Cadence Allegro
คณะวิทยาศาสตร์
งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาการผลิตน้ำมันไพโรไลซิสจากขยะพลาสติกฝังกลบที่ผ่านการคัดแยกจากหลุมฝังกลบขยะมูลฝอยอายุ 15 ปี จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี เพื่อนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงทดแทนด้วยเตาปฏิกรณ์แบบเบดนิ่ง (Fixed-Bed Reactor) ที่อุณหภูมิ 450 องศาเซลเซียส ระยะเวลา 1 ชั่วโมง 30 นาที โดยใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เป็นเชื้อเพลิงในการให้ความร้อน มีการออกแบบการทดลองออกเป็น 4 สภาวะ คือ ตัวอย่างขยะพลาสติกฝังกลบที่ยังไม่ผ่านการล้างแต่ทำการตัดลดขนาด ตัวอย่างขยะพลาสติกฝังกลบที่ผ่านการล้างและตัดลดขนาด ตัวอย่างขยะพลาสติกฝังกลบที่ยังไม่ผ่านการล้างและตัดลดขนาด และตัวอย่างขยะพลาสติกฝังกลบยังไม่ผ่านการล้างแต่ทำการตัดลดขนาด และใช้ถ่านกัมมันต์เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา พบว่าผลิตภัณฑ์ที่ได้มีทั้งหมด 3 ประเภท คือ น้ำมัน (Py-oil) ถ่าน (Char) และก๊าซ (Gas) ในปริมาณที่แตกต่างกันออกไป นอกจากนี้ยังมีการเปรียบเทียบลักษณะและคุณภาพของน้ำมันไพโรไลซิสจากขยะพลาสติกฝังกลบ ได้แก่ ค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ค่าความร้อน (Heating Value) ค่าความชื้น (Moisture content) เถ้า (Ash) และหมู่ฟังก์ชั่น (Functional group) รวมไปถึงองค์ประกอบทางเคมี โดยใช้การอ้างอิงมาตรฐานน้ำมันเตาตามประกาศกรมธุรกิจพลังงานเป็นเกณฑ์ ผลการวิเคราะห์ ที่ได้จึงสามารถอธิบายได้ว่าน้ำมันจากการไพโรไลซิสขยะพลาสติกฝังกลบในสภาวะใดที่มีความเหมาะสมและมีความคุ้มค่ากับการนำมาผลิตเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันเตาที่มีการใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้ งานวิจัยนี้เป็นอีกหนึ่งแนวทางเลือกที่ช่วยในการจัดการขยะพลาสติกในบ่อฝังกลบให้มีปริมาณลดน้อยลง โดยเปลี่ยนขยะมูลฝอยให้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
คณะวิศวกรรมศาสตร์
โครงงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอแนวทางการออกแบบห้องแปรรูปเครื่องในแดงสำหรับโรงงานแปรรูปสุกร ที่มีการแปรรูปสุกร 500 ตัวต่อวันหรือ 80 ตัวต่อชั่วโมง น้ำหนักสุกรเฉลี่ยประมาณ 105 กิโลกรัม/ตัว มีเครื่องในแดงอยู่ร้อยละ 3.47 เพื่อทำการแยกชิ้นส่วน ตับ ขั้วตับ หัวใจ ปอด ม้ามและไต ตามต้องการ และทำการแช่ในน้ำเย็นเพื่อลดอุณหภูมิให้ต่ำกว่า 7 องศาเซลเซียส แล้วจึงนำบรรจุและปิดผนึก การคัดแยกใช้จำนวนชิ้นและน้ำหนักเป็นเกณฑ์ในการคัดแยกตามแต่ชนิด เวลาในการแปรรูป การแช่น้ำเย็นและการบรรจุมีความแตกต่างกันตามชนิดและขนาดสินค้า ข้อมูลในการออกแบบได้จากการเก็บข้อมูลในสายการผลิตปัจจุบันและข้อมูลอ้างอิงตามมาตรฐานต่าง ๆ ออกแบบห้องแปรรูปตามหลักการวางผังโรงงานอย่างเป็นระบบ (Systematic Layout Planning: SLP) วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของกิจกรรมภายในห้อง จัดทำแผนผังสำหรับการกำหนดพื้นที่ใช้งาน คำนวณขนาดอุปกรณ์และจำนวนผู้ปฏิบัติงานที่จำเป็นต่อการใช้งาน พื้นที่ของห้องเครื่องในแดงถูกออกแบบมีขนาด 56 ตารางเมตร หลังจากออกแบบแผนผังได้มีการจำลองห้องในรูปแบบ 3 มิติด้วยโปรแกรม SketchUp 2024 พร้อมทั้งจำลองและวิเคราะห์การทำงานในห้องด้วยโปรแกรม Flexsim 2024
คณะเทคโนโลยีการเกษตร
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) วิเคราะห์ปัญหาและความต้องการในการออกแบบฉลากผลิตภัณฑ์ปลาดุกเส้นของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนลำไทรพัฒนา 2) พัฒนาฉลากสินค้าปลาดุกเส้น และ 3) ประเมินระดับความพึงพอใจของผู้บริโภคและสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีต่อฉลากสินค้าที่พัฒนาขึ้น โดยศึกษาจาก สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนลำไทรพัฒนา จำนวน 17 คน และผู้บริโภค จำนวน 151 คน วิธีการวิจัยประกอบด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกและการใช้แบบสอบถาม เพื่อรวบรวมข้อมูลความพึงพอใจ ผลการศึกษาพบว่า ฉลากผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนามีความสามารถในการดึงดูดความสนใจและสร้างความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ได้ โดยสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนลำไทรพัฒนาและผู้บริโภคมีระดับความพึงพอใจต่อฉลากสินค้าในระดับมาก (x ̅= 4.17 และ 3.75 ตามลำดับ)